พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก : พลร่มอังกฤษ ชื่อ ‘ป๋วย’ ถูกจับที่ จ.ชัยนาท

หนังสือ “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2” ของ ศ.ดิเรก ชัยนาม พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยไทยวัฒนาพานิช ราคา 98 บาท พิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2509 เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เลอค่ายิ่งนัก …ผู้เขียนได้รับมอบมาจากญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว…

ในหนังสือเล่มนี้ มีบันทึกของ นายทวี บุณยเกตุ พระพิศาลสุขุมวิท และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวมอยู่ด้วย เป็นบันทึกเกร็ดประวัติศาสตร์ห้วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เป็น “แก่นสาระ” ที่มาจาก “หัวใจของผู้อุทิศชีวิตเพื่อแผ่นดิน”

ผู้เขียนได้รับอนุญาตด้วยวาจา จากทายาทของตระกูล “ชัยนาม” ให้นำมาเปิดเผยต่อชนรุ่นหลังได้….โดยขอรวบรัด-ย่อความดังนี้…

Advertisement

ราวตี 2 ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นชายฝั่งประเทศไทยทางอ่าวไทย 7 พื้นที่ ทหาร ตำรวจ ยุวชนทหารทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ยิงต่อสู้ดุเดือด…ก่อนเที่ยงวัน..มีคำสั่ง “หยุดยิง”

21 ธันวาคม พ.ศ.2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำพิธีลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ในกรุงเทพฯ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว

ทหารญี่ปุ่นนับหมื่น…ผ่านไทย…บุกเข้าไปในพม่า

Advertisement

25 ธันวาคม พ.ศ.2484 รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485

บันทึกของ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาทุนเล่าเรียนหลวงระดับปริญญาเอก วิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ในกรุงลอนดอน…

“…บรรดาคนไทยที่อยู่ในสหรัฐและอังกฤษ…ถูกรัฐบาลไทยเรียกตัวให้กลับ แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมกลับ …ผู้ที่ไม่ยอมกลับประเทศไทยเหล่านั้นเรียกตนเองว่า เสรีไทย…”

ในอเมริกา มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าเสรีไทย เจรจากับรัฐบาลสหรัฐเป็นผลสำเร็จ เป็นปึกแผ่น ใช้เครื่องแบบทหารไทย …ส่วนในสหราชอาณาจักรอังกฤษ ปราศจากผู้ใหญ่ที่พอจะก่อตั้งรวบรวมกันได้อย่างที่สหรัฐ …สรุปได้ว่าในอังกฤษไม่มีหัวหน้าเป็นหลักฐานอย่างในอเมริกา เมื่อได้รับอนุญาตให้เป็นทหาร ต้องเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ แต่งเครื่องแบบทหารอังกฤษ…

…รัฐบาลอังกฤษ ถือว่าคนไทยเป็นชนชาติศัตรู (Enemy Aliens) เมื่อเข้ารับราชการต้องเข้าไปอยู่ในหน่วยที่เรียกว่า “Pioneer Corps” (หน่วยการโยธา) แบบชนชาติศัตรูอื่นๆ เช่น เยอรมัน ออสเตรียน อิตาเลียน ฯลฯ

ดร.ป๋วยถ่ายทอดความหลังต่อไปว่า…

“นักเรียนไทยในอังกฤษกระจายกันอยู่ในที่ต่างๆ ที่มีมากสักหน่อยก็ที่เคมบริดจ์ ซึ่งมีทั้งนักเรียนเคมบริดจ์แท้ เช่น นายเสนาะ ตันบุญยืน นายเสนาะ นิลกำแหง ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ นายยิ้มยล แต้สุจิ ม.จ.ภีศเดช รัชนี กับนักเรียนไทยที่อพยพไปอาศัยเคมบริดจ์ เช่นนักเรียนเศรษฐศาสตร์จากลอนดอน (รวมทั้งข้าพเจ้า : นายป๋วย) และนักเรียนแพทย์บางคน…การเคลื่อนไหวทางด้านนักเรียน จึงเกิดที่เคมบริดจ์เป็นแหล่งแรก…”

นายมณี สาณะเสน เป็นลูกของอัครราชทูตไทยในลอนดอน เรียนหนังสือ ทำงานในสันนิบาตชาติ (Leagues of Nations) เป็นคนสำคัญที่เปิดห้องในโรงแรมบราวน์ในลอนดอน เป็นสำนักประสานงาน ติดต่อกับทางวอชิงตันและกรุงเทพฯ ได้

7 สิงหาคม พ.ศ.2485 เป็นวันที่คณะ “เสรีไทยอังกฤษ” ได้รับเรียกให้เข้าเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ ต้องตรวจร่างกาย

กลุ่มที่ “มิได้เป็นทหาร” ทั้งชาย-หญิงจำนวน 17 คน

กลุ่มที่เป็นทหาร 37 คน รวมทั้ง นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ท่านสุดท้าย คือ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒน์ หรืออรุณ กองทัพอังกฤษรับเป็นนายทหารต่างหาก)

กองทัพอังกฤษแต่งตั้งให้เสรีไทยทั้งหมดเป็น “พลทหาร” แยกย้ายกันไปฝึก กองทัพอังกฤษทราบดีว่า เสรีไทยทุกคนมีปริญญาบัตรเกือบทุกคน บางคนก็เกือบสำเร็จปริญญาตรี จึงให้ปกครองกันเอง….

กลางเดือนมกราคม พ.ศ.2486 เสรีไทย 36 คน ลงเรือจากอังกฤษ เดินทางมาถึงเมืองบอมบ์เบย์ ประเทศอินเดีย

เกือบทั้งหมดต้องแยกย้ายกัน บางกลุ่มไปกรุงเดลฮีเพื่อทำหน้าที่ด้านวิทยุกระจายเสียง ด้านการทำแผนที่ บางกลุ่มไปฝึกปฏิบัติราชการลับ กลุ่มใหญ่ที่สุดถูกส่งไปฝึก “การรบแบบกองโจร” ณ ค่ายทหารแห่งหนึ่งนอกเมืองปูนา ที่อยู่ริมทะเลสาบ

ฝรั่งเรียกเสรีไทยกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มช้างเผือก” (White Elephants) กลุ่มนี้สังกัด กองกำลัง 136 ของหน่วยบริหารงานพิเศษ (Special Operations Executive : SOE)

วันหนึ่ง…นายป๋วยที่เป็นทหารอังกฤษและทีมงานเสรีไทยอีก 2 คน ต้องเดินทางด้วย “เรือดำน้ำ” ของอังกฤษ จากกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เพื่อจะเข้ามาประเทศไทย…ต้องไปฝึกวิธีขึ้นบกจากเรือดำน้ำ

ใช้ชีวิตในเรือดำน้ำของราชนาวีอังกฤษ หลายวัน แสนทารุณ มาโผล่เหนือน้ำ เพื่อจะขึ้นบกที่ประเทศไทย ณ ฝั่ง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา..แต่การนัดหมาย “ผิดพลาด” ต้องกลับไปตั้งหลัก ณ เกาะลังกา

กองทัพอังกฤษ “ปรับแผน” ต้องให้ กลุ่มช้างเผือกไป “โดดร่มลง” ในไทยให้ได้…(เพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุรับ-ส่ง ติดต่อกับฐานทัพอังกฤษในอินเดีย : ผู้เขียน)

ช้างเผือก 2-3 คน ต้องเข้ามาในไทยด้วยร่มชูชีพ พร้อมด้วยเครื่องรับ-ส่งวิทยุ การโดดร่มคราวนี้เรียกว่า “โดดอย่างสุ่ม” (Blind Dropping) หมายความว่า จะไม่มีใครมารับที่บนพื้นดิน
แผนคือจะไปโดดลงในป่า พื้นที่ระหว่างสุโขทัยและสวรรคโลก ต้องเป็นคืนข้างขึ้นหรือข้างแรมอ่อนๆ ในเดือนมีนาคมหรือเมษายน โดยจะแยกเป็น 2 คณะ คณะละ 3 คน ใช้ชื่อว่า Appreciation 1 และ 2

คณะที่ 1 จะทำการในเดือนมีนาคม และเมื่อลงถึงพื้นแล้วหาที่ซ่อนตัวในป่าสูง วิทยุกลับมาฐานทัพ และเตรียมรับคณะที่ 2 ในโอกาสเดือนหงายคราวหน้า ถ้าฐานทัพไม่ได้ยินวิทยุจากคณะ 1 …คณะที่ 2 จะกระโดดร่มสุ่มลงมาอีกทีหนึ่งในจังหวัดใกล้เคียง กำหนดหน้าที่ คือ รักษาตัวให้รอด ติดต่อทางวิทยุกับฐานทัพ รับคนที่จะโดดร่มมาภายหลัง และถ้าทำได้… ให้ติดต่อกับขบวนการต่อต้านข้างในประเทศไทย….นายเปรม บุรี “ดี” และนายระจิต บุรี “ขำ” ได้ถูกเลือกเป็นพนักงานวิทยุและแพทย์ประจำคณะ คนที่ 6 ที่เข้ามาในคณะที่ 2 คือ นายธนา โปษยานนท์ “กร”

คณะที่ 1 คือ นายป๋วย (เข้ม เย็นยิ่ง) นายแดงและนายดี

คณะที่ 2 คือ นายเค็ง นายขำ และกร
(ชื่อเรียกสั้นๆ เป็นชื่อ “จัดตั้ง” ในการทำงานสงคราม : ผู้เขียน)
2 คณะรวม 6 คน อำลาพรรคพวก เดินทางไปเมืองราวัน-พินดี เพื่อฝึกโดดร่ม …เราฝึกโดดจากเครื่องบิน โดดกลางวัน 4 ครั้ง และโดดกลางคืน 1 ครั้ง รวม 5 ครั้ง…พวกเราไม่ชอบการกระโดดร่มเช่นนี้

คณะที่ 1 เดินทางต่อไปเมืองกัลกัตตา ได้พักผ่อน และวันต่อมาต้องไปขึ้นเครื่องบินไปสนามบินทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย…

เย็นวันหนึ่งต้นเดือนมีนาคม เราขึ้นเครื่องบิน ลิเบอเรเตอร์ที่จะนำเราไปสู่จุดหมาย เครื่องบินทิ้งระเบิดฝูงหนึ่งถูกส่งออกไปในคืนเดียวกัน เพื่อไปทำการใกล้เคียงกับที่เราจะไปโดดร่ม…
เราสังเกตเห็นเครื่องลิเบอเรเตอร์ขึ้นสู่อากาศก่อนเราอีก 1 เครื่อง ทราบว่านำชาวจีน 4 คนเดินทางไปโดดร่มลงที่ใกล้นครปฐม…

…อากาศเลว เมาเครื่องบินเล็กน้อย ภายนอกมืดมัว… ราว 22.30 น. มีผู้มาบอกให้พวกเราเตรียมตัว เวลา 23.00 น. พวกเราไปนั่งตรงช่องกระโดดบนเครื่องบินพร้อมโดด… นั่งอยู่ตรงนั้นราว 1 ชั่วโมง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะเป็น 1 ปี เครื่องบินวนไม่หยุด

ผลสุดท้ายมีผู้มาตบไหล่เบาๆ …‘ไม่ต้องกระโดด’ …นักบินไม่สามารถหาที่ให้เราจะลงไปได้ แผนที่ก็เลว อากาศมืด …พวกเราเดินทางกลับกัลกัตตา …พักรอคำสั่งอีกครั้งราว 1 สัปดาห์

รอบที่ 2 ….คราวนี้บินขึ้นดึกกว่าเดิมราว 4-5 ชั่วโมง มีคนมาบอกว่าบินอยู่เหนือประเทศไทย พบที่หมายแล้ว เครื่องบินต่ำ พวกเราเห็นแสงไฟบนพื้นดิน แต่ก็สงสัยว่ามาถูกหรือไม่ เพราะตามแผน… เราต้องโดดร่มลงในป่า ไม่มีไฟ…ไม่มีเวลาถาม และเราก็กระโดดลงไป ทั้ง 3 คนลงถึงพื้นดินในเวลาใกล้เคียงกัน โดยที่เท้าข้างหนึ่งของข้าพเจ้าลงไปบนคันนา อีกเท้าอยู่นอกคันนา ทำให้ข้อเท้าขวาแพลง

เรา 3 คนช่วยกันดูแผนที่อย่างรีบเร่ง พบว่าเราห่างจุดที่หมายประมาณ 25-30 กิโลเมตร และอยู่ใกล้หมู่บ้าน เราเดินหาร่มอีก 7 ร่มที่บรรจุอาหารให้เราทานได้ราว 1 เดือน ปรากฏว่าร่ม 1 ร่มลอยไปตกในหมู่บ้าน

ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 4 นาฬิกา…ชาวนา 5-6 คนเห็นเราแล้วเดินเข้ามาหา พูดคุยกัน…ทราบว่าตรงนี้ คือ บ้านวังน้ำขาว จังหวัดชัยนาท ในขณะที่เราวางแผนจะไปโดดลงแถวตากและนครสวรรค์
ราว 5 นาฬิกา เราขอร้องให้ชาวบ้านช่วยขนสัมภาระเข้าไปในหมู่บ้าน เราก็ขอบใจเขา …เรารีบเดินไปทางตะวันตก เข้าไปในป่าเพื่อรีบจัดตั้งเครื่องส่งวิทยุรายงานกองบัญชาการที่อินเดีย…แต่ไม่ได้ผล

เช้าวันรุ่งขึ้น… แดงและดี ออกไปลาดตระเวนหาน้ำ…ข้าพเจ้าเฝ้าวิทยุคนเดียวในป่า
ราว 10 โมงเช้า ชาวบ้านราว 30 คนเข้ามาปิดล้อม ชูปืนพกขู่… ข้าพเจ้าทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้ จึงตะเบ็งเสียงว่า ‘ยอมแพ้จับไปเถิด’ ข้าพเจ้าถูกมัดมือไพล่หลัง เกิดการตบตีด้วยความสนุก ชาวบ้านรุมด่า สาปแช่ง…

มาทราบภายหลังว่า แดงและดี หนีไปได้ก่อน…ทั้ง 2 เดินทางต่อไปอุทัยธานี …ไปถูกจับในตลาดระหว่างที่รับประทานอาหารเพราะไม่สวมหมวก…

ผู้ที่มาจับข้าพเจ้า คือ ปลัดอำเภอประจำตำบล มีพลตำรวจ 2 คน นอกนั้นเป็นชาวนาที่หน้าตารื่นเริงมีใจกรุณา พาข้าพเจ้าออกจากป่าไปหมู่บ้านวังน้ำขาว นายอำเภอวัดสิงห์ เป็นคนเดียวที่ขี่ม้า
ข้าพเจ้าถูกนำตัวไปวัดวังน้ำขาว มัดมือไพล่หลัง ล่ามโซ่ที่เท้า มัดตัวไว้กับเสากลางศาลา มีการซักถามของเจ้าหน้าที่…เย็นได้ทานอาหาร

วันรุ่งขึ้นถูกนำตัวใส่เกวียน ข้อเท้าล่ามโซ่ ตำรวจนั่งมาด้วย 2 คน ตอนเย็นชาวบ้านนำอาหารพร้อมเหล้ามาเลี้ยง

กลับไปสถานีตำรวจ… ถูกส่งเข้าห้องขัง มีนักโทษคดีอื่นๆ อยู่ด้วย เย็นวันนั้นชาวบ้านมารวมตัวกันที่สถานี เพื่อขอดูหน้า “พลร่ม” บางคนก็โกรธแค้น บางคนก็ดูมีเมตตา

บ่ายวันรุ่งขึ้น ข้าหลวงประจำจังหวัดชัยนาท ผู้กำกับการตำรวจ และผู้พิพากษามาพบ ข้าพเจ้าถูกโซ่ล่ามรวมกับนักโทษอีก 2 คน มีผู้คนมาคอยดูหน้า “พลร่ม” ตลอดทาง…ลงเรือไปชัยนาท

ข้าพเจ้าถูกแยกออกมา…ไปซักถามที่จวนข้าหลวง ขออาบน้ำ ข้าพเจ้าดื้อดึงไม่ตอบทั้งหมด…ถูกนำเข้าห้องขังอีกครั้ง

อยู่ในห้องขังมากกว่า 3 วัน… ถูกนำตัวขึ้นเรือยนต์เข้ากรุงเทพฯ เช้าวันรุ่งขึ้นขึ้นบกไปทานอาหารเช้าที่จวนข้าหลวงอ่างทอง เดินทางไปนอนสถานีตำรวจนนทบุรี…เดินทางต่อไปขึ้นบกที่ ‘ท่าช้าง’ ห่างจากธรรมศาสตร์ไม่กี่ก้าว… มองหาใครรู้จักสักคนก็ไม่มี

ถูกนำตัวไปกองตำรวจสันติบาล ในกรุงเทพฯ เลยทราบว่า คณะ Appreciation 2 ก็มาโดดร่มลงในเมืองไทย แล้วถูกจับมาแล้วเช่นกัน รวมทั้งแดงและดีก็ถูกจับมาก่อนแล้ว…

‘ช้างเผือก’ ทั้ง 6 คนไม่มีใครเสียชีวิต

เสรีไทยจากอเมริกาถูกจับเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ… มี 2 คนจากอเมริกาถูกจับกุมและถูกสังหารในภาคอีสาน

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวในกองตำรวจสันติบาล เดินเล่นได้ มีเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นมาสอบสวน มีเจ้าหน้าที่ไทยร่วมคุ้มครองด้วย กลางวันทำงานขุดคูทำสุขาภิบาล เพื่อมิให้มีพิรุธ กลางคืนไปลักลอบส่งวิทยุ
พฤษภาคม 2488 เสรีไทยเจริญเติบโตขึ้น ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ในประเทศไทย เราได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจทั่วประเทศ รวมทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ
ต่อมา…ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้ลาพักผ่อนที่อินเดียและไปอังกฤษ ด้วยเครื่องบินคาตาลินาจากหัวหิน และกลับเมืองไทยอีกครั้งด้วยเครื่องบินดาโกต้า มาลงจอดสนามบินกองทัพอากาศในภาคอีสาน

คณะเสรีไทยจากอเมริกาที่มีจำนวนมากกว่าพวกเรา เริ่มเข้ามาทำงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2487 …คณะของเราก็แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพ

นายป๋วย…บันทึกขอบคุณ ร้อยตำรวจเอก โพยม จันทรัคคะ และ พลตำรวจเอก อดุลย์ อดุลย์เดชจรัส อธิบดีตำรวจ ที่เสี่ยงภัย ช่วยเหลือการส่งข่าวทางวิทยุ

8 พฤษภาคม พ.ศ.2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปยุติลง

นายป๋วย (ในฐานะนายทหารอังกฤษ ยศพันตรี) กลับไปรายงานตัวในฐานทัพในอินเดียและได้รับอนุญาตให้กลับไปอังกฤษเพื่อพบกับภรรยา ไปเจรจา อธิบายการทำงานให้ยอมรับการทำงานของเสรีไทย

รัฐบาลอังกฤษ ให้ได้รับการยอมรับแบบอเมริกา…

15 สิงหาคม พ.ศ.2488 จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงประกาศยอมแพ้สงคราม

นายป๋วยถูกส่งไปเจรจาที่เมืองแคนดี ศรีลังกา 2 ครั้ง ร่วมกับพลเอกหลวงเสนาณรงค์ โดยแต่งเครื่องแบบทหารอังกฤษ เพราะอังกฤษจ้องเล่นงานไทยในฐานะศัตรูของอังกฤษและเป็นผู้แพ้สงคราม

บุคคลที่ทำงานเพื่อชาติที่นายป๋วยยกย่อง คือ นายมาร์ติน บิดาของนายแพทย์ บุญสม มาร์ติน ที่เดินทางด้วยเท้าจากเมืองไทยไปถึงอินเดีย เพื่อไม่ยอมเป็นเชลยศึกของญี่ปุ่น

แถมท้ายครับ…ประวัตินายป๋วย ใช้เวลา 3 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เป็นนักเรียนดีเด่น เป็นคนไทยคนเดียวในมหาวิทยาลัยนี้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยกันในปี พ.ศ.2485 โดยได้เกรดเอ 8 วิชา และเกรดบี 1 วิชา

จากผลการเรียนอันดีเด่นของนายป๋วย ทำให้ได้รับทุนลีเวอร์ฮูล์ม สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้ทันที แต่ในระหว่างนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้นายป๋วยตัดสินใจมาทำงานเพื่อชาติ
พ.ศ.2489 พันตรี ป๋วย คืนยศทหารแก่กองทัพอังกฤษแล้วแต่งงานกับ มาร์กาเร็ต สมิท ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก

อดีตทหารพลร่มอังกฤษที่ถูกทุบตี ถูกล่ามโซ่ นอนคุกมาหลายจังหวัด สำเร็จการศึกษา …กลับเมืองไทยมารับราชการ… ซื่อสัตย์

ต่อมา…ท่านเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัย 43 ปี และได้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนที่ 10

20 ธันวาคม พ.ศ.2558 มีพิธีเปิดลานนิทรรศการ อาจารย์ป๋วย ที่มูลนิธิบูรณะชนบทฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บ้านวังน้ำขาว จ.ชัยนาท

มีรูปหล่อของ ดร.ป๋วยอยู่ด้านหน้า

ท่านน่าจะเป็นพลร่ม “คนแรก” ของประเทศไทย…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image