สุจิตต์ วงษ์เทศ : มิวเซียมไทย ไม่พ้น ‘อาณานิคม’

มิวเซียมไทย ไม่พ้น ‘อาณานิคม’

นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในงานเที่ยวพิพิธภัณฑ์วันคริสต์มาส จัดโดยศูนย์ข้อมูลมติชน มติชนอคาเดมี และสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร เมื่อวันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม 2564

มิวเซียมในโลกมีหลากหลาย แต่ไทยถูกครอบงำด้วยมิวเซียมแบบเดียว

Advertisement

การจัดแสดงมิวเซียมในสากล คุณค่าอยู่ที่ “เนื้อหา” ไม่ใช่ “รูปแบบ” แต่ไทยถูกทำให้เขวเป็นเรื่อง “รูปแบบ” เพื่อปิดปากเรื่อง “เนื้อหา”

มิวเซียมในสากลโลกมีมากหลากหลาย “ร้อยแปดพันเก้า” และ “ร้อยสีพันอย่าง” นับไม่ถ้วน แต่ในไทย รัฐราชการรวมศูนย์จัดให้มีมิวเซียมอย่างจำกัด โดยยกความสำคัญประเภทเดียวคือมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งเรียก “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”

ทำให้สังคมไทยถูกหล่อหลอมครอบงำจนเข้าใจทั่วไปว่าในโลกนี้มีมิวเซียมประเภทเดียวคือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ที่พบเกือบทั่วประเทศ (แต่ไม่จัดแสดงบอกประวัติศาสตร์ไทยทางสังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจการเมืองตามแนวสากล ขณะเดียวกันไม่มีบอกประวัติพระแก้วมรกต และไม่บอกความเป็นมาของกรุงธนบุรีกรุงเทพฯ)

Advertisement

ทัศนะทางสังคมและการเมืองต่างกันย่อมเข้าใจไม่ตรงกันเรื่องมาตรฐานของมิวเซียม ดังที่พบในไทยนานมากหลายสิบปีมาแล้ว ความคิดเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างภาครัฐราชการรวมศูนย์กับภาคพลเมือง นับตั้งแต่ พ.. 2510 เปิด “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ที่จัดแสดงใหม่ และเป็นต้นทางการจัดแสดงทุกวันนี้

สากลโลกจัดมิวเซียมเพื่อรับใช้สังคมและการเมืองของประเทศนั้นๆ ดังนั้นมิวเซียมตามมาตรฐานสากลทั่วโลกอาจจำแนกได้กว้างๆ 2 แบบ คือ มิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” และมิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” ดังนี้

1. มิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย”

เป็นประเภทมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ สนองการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นมิวเซียมมรดกตกทอดสืบเนื่องจากสมัยอาณานิคมที่เน้นรวบรวม “ของเก่า” หรือโบราณวัตถุ (จากดินแดนอาณานิคม และจากอาณานิคมภายใน) แล้วเลือกสรรจัดแสดงอวดอลังการ “มาสเตอร์พีซ” ตามรสนิยมของคนชั้นสูงหรือชนชั้นนำสมัยนั้น โดยมีต้นแบบสำคัญและยิ่งใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส (เช่น มิวเซียมลูฟร์และกีเมต์), อังกฤษ (เช่น บริติชมิวเซียม) เป็นต้น

[ต้นแบบมิวเซียมอาณานิคมเป็นที่รู้กันทั่วโลกจนปัจจุบัน กระทั่งล่าสุดไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ยูเนสโก “เตือน” ซ้ำอีกให้ส่งคืน “มาสเตอร์พีซ” ที่เจ้าอาณานิคมล่ามาจากประเทศกรีซ]

มิวเซียมแบบนี้ต่อมาบรรดารัฐชาติเกิดใหม่ที่ตกเป็น “อาณานิคม” เรียกอย่างเลิศว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา ฯลฯ และไทยซึ่งเป็น “อาณานิคมทางอ้อม” มีแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” (แต่ไม่ตามมาตรฐานสากลแบบอื่นซึ่งมีอีกมากโดยไม่อาณานิคมและ ไม่ “เจ้าขุนมูลนาย”)

[ข้อมูลเหล่านี้มีในหนังสือสำคัญของโลก ชื่อ ชุมชนจินตกรรม ของ เบน แอนเดอร์สัน (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ แปลจาก Imagined Communities Reflections on the Origin and Spread of Nationalism) มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.. 2552]

ลักษณะร่วมของมิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” หรือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ได้แก่

(1.) อาคารใหญ่โตโอ่อ่า ขรึม ขลัง เสมือนข่มขู่ผู้เข้าชมคนพื้นเมืองต้องนอบน้อมยอมจำนนต่ออาคารสถานที่ซึ่งเทียบได้กับ “เจ้าขุนมูลนาย”

(2.) วัตถุ “มาสเตอร์พีซ” ถูกจัดวางแวดล้อมด้วยอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ “ไฮเทค” เพื่อกำหนดระยะห่างระหว่างวัตถุกับคนดู ทำให้ “มาสเตอร์พีซ” ในมิวเซียมกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนดูต้องสงบและสำรวมเหมือนอยู่ในโบสถ์วิหารตลอดเวลาที่อยู่ในมิวเซียม

(3.) ป้ายคำอธิบายข้อมูลความรู้ในมิวเซียม เหมือน “รหัสที่รู้กัน” สำหรับนักปราชญ์ราชบัณฑิตหรือเจ้าอาณานิคมผู้เป็น “เจ้าขุนมูลนาย” อ่านกันเอง แต่ไม่เหมาะให้สามัญชนคนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจ

(4.) ในไทยจัดแสดงยุคสมัยประวัติศาสตร์ไทยตามการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะ (ที่เป็นมรดกจากเจ้าอาณานิคม) ได้แก่ สมัยทวารวดี, สมัยศรีวิชัย, สมัยลพบุรี, สมัยเชียงแสน, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา เป็นต้น ซึ่งไม่มีจริงในประวัติศาสตร์ไทย แต่เป็นสิ่งที่เจ้าอาณานิคมศตวรรษที่แล้วอยากให้มี แล้วเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา

(5.) ไม่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (พื้นที่) และวิถีชีวิตของชุมชน “คนเท่ากัน” หลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ดังนั้น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ในประเทศไทยไม่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของดินแดนประเทศไทยว่าก่อนจะมีรูปร่างอย่าง “ขวานทอง” ทุกวันนี้ เคยมีหน้าตาอย่างไร? และคนทั้งหลายก่อนจะเรียกตนเองว่า “ไทย” เคยถูกเรียกหรือเรียกตนเองด้วยชื่ออย่างไรบ้าง? พูดภาษาอะไรบ้าง? เป็นต้น แม้เรื่องความเป็นมาของพระแก้วมรกตซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นประเทศไทยก็ไม่มี

2. มิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน”

เป็นประเภทมิวเซียมประวัติศาสตร์บอกเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (พื้นที่) และกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ตั้งแต่ยุคก่อนรัฐชาติจนถึงสมัยรัฐชาติต่อเนื่องปัจจุบัน สนองการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

เลือกสรรวัตถุทั้งของจริงและจำลองเพื่อประกอบการจัดแสดงให้เข้าใจวิถีชีวิต “กินขี้ปี้นอน” ของคนทุกระดับหรือทุกชนชั้นอย่างเสมอหน้าตั้งแต่รากหญ้าถึงยอดไม้ ถ้าจะมีวัตถุ “มาสเตอร์พีซ” ก็มีอย่างเสมอภาคทั้งของชนชั้นบนและของชนชั้นล่าง

ประเทศทางตะวันตกเป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดให้มีมิวเซียมหลากหลาย “ร้อยสีพันอย่าง” ทั้งมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะ (แบบไม่ “เจ้าขุนมูลนาย”) ขณะเดียวกันต้องมี “มิวเซียมหลัก” ไว้ทุกเมืองใหญ่ คือ มิวเซียมประวัติศาสตร์ของดินแดน (พื้นที่) และผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ (ลักษณะ Natural History Museum) ประเทศมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐจัดให้มีมิวเซียมแบบนี้เกือบทุกรัฐ นี่ยังไม่รวมมิวเซียมเอกชนซึ่งมีนับไม่ถ้วนตั้งแต่ขนาดไม่ใหญ่โต จนถึงขนาดมหึมาเป็นสถาบัน เช่น สถาบันศิลปะเมืองชิคาโกที่เคยครอบครองและจัดแสดงทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง (. บุรีรัมย์)

ส่วนกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียยิ่งมีมิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” จัดแสดงแบบปลอดโปร่งเบาสบาย แต่มีความเป็น “สมัยใหม่” ไม่อวดอลังการด้วยเฟอร์นิเจอร์ “เว่อร์” ราคาแพง

“คนเท่ากัน” ในมิวเซียมของไทย

รัฐไทยจัดให้สังคมไทยมีแบบเดียวคือมิวเซียมแบบอาณานิคม “เจ้าขุนมูลนาย” ประเภทมิวเซียมศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะในนาม “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ดังนั้นไทยไม่มีมิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย “คนเท่ากัน” ประเภทมิวเซียมประวัติศาสตร์บอกเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (พื้นที่) และกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ตั้งแต่ยุคก่อนรัฐชาติจนถึงสมัยรัฐชาติต่อเนื่องจนปัจจุบันสนองการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย

หลายปีมาแล้ว รัฐบาลสมัยนั้นปรารถนาสร้างมิวเซียมเป็นแหล่งเรียนรู้สู่สาธารณะอย่างสากลโลกในระบอบบเสรีประชาธิปไตย โดยหลีกเลี่ยงหน่วยงานเก่าที่ตามไม่ทัน “โลกไม่เหมือนเดิม” จึงสร้างหน่วยงานใหม่แล้วทำมิวเซียมแบบ “ไม่อาณานิคม” ซึ่งรู้จักทั่วไปในชื่อ “มิวเซียมสยาม” แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง รวมทั้งข้อจำกัดเรื่องอาคารสถานที่

เมื่อเกิดกรณีต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางกลางกรุงเทพฯ สังคมไทยควรร่วมกันพิจารณาแบ่งพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพงยศเส สร้างมิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย ประเภทมิวเซียมประวัติศาสตร์ไทยที่บอกเรื่องราวความป็นมาของดินแดน (พื้นที่) ประเทศไทย และกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ตั้งแต่ก่อนเรียกตนเองว่าไทย จนถึงหลังเรียกตนเองว่าไทยและคนไทย มีพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจการเมืองต่อเนื่องจนปัจจุบัน

ความรู้พื้นฐานโบราณคดีชุดเดิมที่ใช้จัดแสดงมิวเซียมแบบอาณานิคม เป็นปฏิปักษ์ต่อการจัดแสดงมิวเซียมแบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งต้องใช้พื้นฐานความรู้ประวัติศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจการเมืองเรื่อง “คนเท่ากัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image