ตู้หนังสือ : ไม่นาน-ภาษาไทย จะกลายเป็นไทยสากล

ตู้หนังสือ : ไม่นาน-ภาษาไทย จะกลายเป็นไทยสากล

ตู้หนังสือ : ไม่นาน-ภาษาไทย

จะกลายเป็นไทยสากล

ไม่ได้หมายความว่า อีกหน่อยภาษาไทยจะเป็นภาษาที่คนใช้กันทั่วโลก แต่ภาษาที่คนใช้กันทั่วโลกจะกลายเป็นภาษาไทย – ฮะฮ่า ลองพิจารณาดู

● ก่อนจะไปถึงประเด็นดังกล่าว ขอสนทนากับเพื่อนนักอ่านเป็นปฐม โดยเฉพาะอยากเชิญชวนผู้สนใจประวัติศาสตร์และสังคมตนเอง ได้อ่าน “ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่อัลไต ไม่ใช่น่านเจ้า ไม่ได้เริ่มที่สุโขทัย แต่คือสุวรรณภูมิ” จากรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ที่แพร่ภาพใน มติชน ออนไลน์ ล่าสุด 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่จะเปิดโลกประวัติศาสตร์รูปใหม่ให้รู้

Advertisement

นั่นคือการไปมาหาสู่ ทำมาหากินกันระหว่างผู้คน ไม่ได้เป็นเรื่องของผู้นำ ผู้ครองเมือง ศักดาภินิหารการรบพุ่ง แต่เป็นเรื่องการครองชีวิตของชาวบ้านหลากหลายชาติเชื้อเผ่าพันธุ์ ก่อนเส้นกั้นอาณาเขตทางการเมืองจะขีดขึ้นเป็นรัฐปัจจุบันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องของคนเดินดินกินข้าวกินปลาแท้ๆ
โดยขณะที่อ่านไปอ่านมา จะรู้สึกขึ้นอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวว่า นี่เป็นภาพของผู้คนทั้งนั้น ที่กำลังดำเนินชีวิตผ่านวันเวลานับร้อยนับพันปี ซึ่งมิได้มีแต่สงครามระหว่างเมืองระหว่างอาณาจักรเช่นประวัติศาสตร์ที่เคยท่องจำ พ.ศ. กันมา แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมเลือดเนื้อและชีวิตเป็นจริงเป็นจัง จนทำให้อยากรู้ต่อ

สุวรรณภูมิไม่ใช่อาณาจักร ไม่ใช่รัฐ เป็นชื่อ “พื้นที่” ที่มิใช่อาณานิคมของใคร-ปรากฏในแผนที่บันทึกของ “ปโตเลมี” นักภูมิศาสตร์ดาราศาสตร์กรีกเมื่อ 1,800 ปีที่แล้ว-ไม่เกี่ยวกับหมู่เกาะเลย-ก่อนพุทธมา พ่อค้ามาแล้ว โรมันมาแล้ว สุวรรณภูมิไม่ได้เกิดเพราะพุทธศาสนา-ดินแดนทอง ก็ไม่ใช่ทองคำ ทองอะไร?

ล้วนเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นต่อการเรียนรู้ทั้งสิ้น นี่คือประวัติศาสตร์แสนสนุก

Advertisement

● อ่านครบถ้วนกระบวนความแล้ว ถัดมาอีกวันต้องไม่พลาด เมื่อมติชน ออนไลน์เสนอเรื่อง “ศ.ดร.พิริยะเสนอ “ทวารวดี” เป็นราชธานีแห่งแรกเมื่อ 1,400 ปีก่อน ฟันธงอยู่ที่ “ศรีเทพ” ไม่ใช่นครปฐม” ซึ่งเต็มไปด้วยรสชาติครบถ้วนเหมือนกัน เพราะเต็มไปด้วยหลักฐานที่ปราชญ์ทางโบราณคดียกมาให้เราได้พิจารณากันเข้มข้น หักล้างความเชื่อที่ร่ำเรียนมาแสนนาน-เอาล่ะสิ

สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ศึกษาค้นคว้าโบราณคดีประวัติศาสตร์เรืองนาม ถึงกับออกปากเมื่อฟังข้อเสนอดังกล่าวนั้นว่า นี่เป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ทีเดียว

ถัดจากนั้นมาอีกวัน อาจารย์ประวัติศาสตร์ศิลป รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง โบราณคดี ศิลปากร ก็ออกมาบอกว่าเร็วเกินไปที่อดีตอาจารย์ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จะสรุปเช่นนั้น เพราะหลักฐานที่ปรากฏ….. ฯลฯ ทั้งฝ่ายความคิดเดิม และฝ่ายความเห็นใหม่ ที่ยกมาให้นักอ่านเห็นอย่างหนักแน่น (ชนิดน่าเชื่อถือ) ทั้งสองทาง ซึ่งทำให้นักอ่านติดตามได้อย่างเอร็ดอร่อยเพราะอยากรู้ว่า ฝ่ายใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากันนั้น ชั่งน้ำหนักกันเหนื่อยทีเดียว

จนเมื่อรู้ตัว จึงได้เข้าใจว่า การถกเถียง โต้แย้ง กันเช่นนี้เอง คือรสชาติการเรียนประวัติศาสตร์อันน่าตื่นเต้น สนุกสนาน เปี่ยมความรู้จากข้อเท็จจริงนานา ให้ดวงตาและสติปัญญาได้เห็น ขัดเกลา ประกอบสร้างภาพทุกแง่มุมที่ควรจะเป็น

● สุดท้ายประจำสัปดาห์สำหรับนักอ่านนักคิด โดยเฉพาะสำหรับผู้ “ไม่เห็นภาพดี” ของนักการเมือง หรือผู้เห็นนักการเมืองไทยเป็นเพียง “นักเลือกตั้ง” คือการอ่าน “แด่ “ผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ” ของเรา” ของ กล้า สมุทวณิช ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ให้ภาพนักการเมืองอันยากจะโต้แย้ง

ยิ่งต่อให้ไม่ชอบนักการเมือง (นักเลือกตั้ง) ไทยมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องอ่าน และยิ่งเห็นว่า นักกฎหมายที่เที่ยงแท้ ผู้ตระหนักที่จะยึดกุมความยุติธรรมให้เที่ยงแท้นั้น มีตรรกะความคิด และเหตุผล อันเปี่ยมน้ำใจ ยากจะหักล้างเพียงใร

ต่อให้ไม่ชอบใจเหตุผลที่ยกมาเหล่านั้น ก็ได้แต่ขบฟันกลืนเลือด เออ, นายเก่ง ฝากไว้ก่อนเหอะ คราวหน้าค่อยมาเถียงกันใหม่ – ฮ่าฮ่า

● เข้าเรื่องส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ “ไม่นาน-ภาษาไทย จะกลายเป็นไทยสากล” ซึ่งไม่ได้หมายความว่า อีกหน่อย ภาษาไทยจะเป็นภาษาที่คนใช้กันทั่วโลก แต่ภาษาที่คนใช้กันทั่วโลกจะกลายเป็นภาษาไทย ลองพิจารณากันดูนะขอรับ ผิดถูกประการใดก็กรุณาแนะนำสั่งสอนกันให้การใช้ภาษาได้คึกคักครื้นเครงยิ่งขึ้น

ย้อนไปสักเกือบ 3 ทศวรรษที่คอมพิวเตอร์กำลังเริ่มก่อรูปเข้ามา ก่อนจะแพร่หลายเช่นปัจจุบัน ตอนนั้น สื่อกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และสังคมจะวิพากษ์วิจารณ์คนที่พูดไทยคำอังกฤษคำกันมาก ยิ่งประเภทที่รู้ว่าไปเมืองนอกมาปีครึ่งปี ไปเรียนหรือไปทำอะไรมาไม่รู้ แล้วกลับมาพูดไทยสำเนียงฝรั่งให้ได้ยินละก็ เป็นถูกค่อนขอดหนักทีเดียว

ถ้าตอนนั้นมีสื่อสาธารณะแล้วละก็ ไม่อยากคิด ว่าใครจะเละตุ้มเป๊ะกันขนาดไหน

ต่างกับปัจจุบัน ที่บรรดาหนุ่มสาวซึ่งปรากฏหน้าเป็นพิธีกร หรือดำเนินรายการต่างๆ ในโทรทัศน์ ที่พูดภาษาอังกฤษกันฉาดฉาน คล่องแคล่ว น่านิยมชมเชย สัมภาษณ์ฝรั่งแม้แต่ในคลิปยูทูบก็ชัดเจนได้ความได้สำเนียง เหมาะกับเป็นผู้คนร่วมสมัยในยุคที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าประเทศมาปีละถึง 30-40 ล้านคน

ดังนั้น เดี๋ยวนี้ การพูดไทยคำอังกฤษคำในชีวิตประจำวัน หรือในสื่อต่างๆ จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไปแล้ว แถมหลายคำใช้คำอังกฤษจะเข้าใจกว่าคำไทยเสียด้วยซ้ำ-เห้ย, ล้อเล่น-ขนาดนั้นจริงๆ ลองนึกดู มีคำอะไรบ้างที่แม้แต่เรายังใช้แทนคำไทยที่เคยใช้กันเมื่อก่อน โดยไม่รู้ตัวแทบจะทุกวัน

นี่เป็นอิทธิพลโลก หรือความจำเป็นในการสื่อสาร หรือเราเองชอบที่จะใช้ภาษาต่างประเทศกล้ำไปกับคำไทยด้วย ไม่ว่าโดยเหตุผลใดก็ตาม

● เป็นความจริงอยู่ว่า ผู้สร้างนวัตกรรม เป็นผู้กำหนดศัพท์แสง อย่างเราเรียนรู้เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจากสื่อ เราย่อมเห็นว่า นักวิชาการที่ช่วยกันไขความรู้ความเข้าใจแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์นักเรียนนอก หรือนักเรียนไม่นอกแต่เรียนจากตำราฝรั่ง ก็มีศัพท์เฉพาะ (technical term เทคนิคอล เทอม) ในเรื่องต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาโดยเฉพาะจากทิศอัสดงคต มาใช้อธิบายให้ฟัง ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หรือกินแดนไปเรื่องอื่นๆ ก็ไม่มียกเว้น

เว้นแต่มีความคิดแปลง หรือมีเวลาคิดที่จะแปลง หรือมีเวลามากพอจะให้ใช้ได้จนติด

เช่น หนอนหนังสือ (bookworm บุ๊กเวิร์ม) ที่คนไม่น้อยอาจนึกว่าเป็นศัพท์ไทยที่ใช้กันแต่ต้นไปแล้ว หรือแปลกหูหน่อยที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ใช้ แมงบาร์ (barfly บาร์ฟลาย) หรือขยับใกล้เข้ามาอีกเช่น วัยทอง (golden age โกลเดน เอจ) ก็ล้วนเอามาจากความรู้ฝรั่งที่สามารถแปลตรงได้ จนเป็นคำที่ผู้ใช้ใช้ได้กลมกลืน

อย่างเรียกคนรากหญ้า (grassroots กราสรูตส์) หรือเรียกคนชายขอบ (marginal people มาร์จินอล พีเพิล) ก็ล้วนมาจากศัพท์ฝรั่งที่พอใช้ให้ถูกปากได้ทั้งสิ้น

หรือหากจะย้อนเป็นเรื่องเป็นราวลึกไปอีกสัก 87 ปี เกือบศตวรรษ เราก็มีอัจฉริยบุรุษด้านภาษาองค์หนึ่งคือ พระองค์วรรณ (ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ – พล.ต.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ 2434-2519) ผู้บัญญัติศัพท์จากคำฝรั่งให้เราใช้ติดกันอยู่ทุกวันนี้มากมาย เช่น ประชาธิปไตย (democracy เดมอคเครซี) รัฐธรรมนูญ (constituition คอนสติติวชั่น) ซึ่งเป็นเพียงสองคำจากคำศัพท์นับร้อยที่ทรงบัญญัติขึ้น จนทุกวันนี้ คนจำนวนมากมายคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทรงบัญญัติทั้งๆ ที่ใช้กันอยู่คล่องมือคล่องปาก เช่น คำว่า สื่อสารมวลชน (mass communication แมส คอมมิวนิเคชั่น) หรือคำที่เพิ่งนำกลับมาใช้จนคิดว่าเป็นศัพท์ใหม่อย่าง นวัตกรรม (innovation อินโนเวชั่น) นอกเหนือคำเศรษฐกิจพื้นๆ ไปแล้ว เช่น อุปสงค์ (demand ดีมานด์) อุปทาน (supply ซัพพลาย) เป็นต้น

จนแม้คำว่า บริการ (service เซอร์วิส) ที่ทรงออกพระโอษฐ์ว่าชอบคำนี้มาก หรือสงคราม (war วอร์) หรือกระทั่งธนาคาร (bank แบงก์) ใครจะนึกว่าพระองค์ทรงเป็นผู้บัญญัติคำที่เห็นกันเป็นคำธรรมดาๆ ในทุกวันนี้

ที่ควรรู้อีกคำหนึ่งก็คือ ทรงเปลี่ยนคำที่ใช้ในเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ที่คณะราษฎรมักใช้ว่า “เปลี่ยนแปลงการปกครอง” หรือการ “ยึดอำนาจ” หรือ “รัฐประหาร” แม้กระทั่งที่หลวงวิจิตรวาทการใช้คำว่า “พลิกแผ่นดิน” โดยทรงอธิบายว่า ล้วนเป็นคำเก่า แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “เรฟโวลูชั่น” (revolution) ขึ้น ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จึงควรถอดคำให้เกิดศัพท์ใหม่ขึ้นจากคำนี้คือ “ปฏิวัติ” อันหมายถึงการหมุนกลับจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ซึ่งแฝงนัยทางการเมืองอย่างสำคัญ

ทั้งที่ยังมีฝ่ายชอบใช้คำซึ่งถอดจากฝรั่งเศสว่า “ยึดอำนาจ” (coup d’etat คู เดตา) มากอยู่ก็ตาม เพราะเห็นว่าราษฎรเข้าใจการเปลี่ยนแปลงจากคำนี้มากกว่า

จึงเห็นได้ว่า แม้จะคิดได้ แต่ก็ต้องมีเวลาในการใช้ให้ติดหูติดปากชาวบ้านด้วย มิได้หมายว่า จะบัญญัติศัพท์คำใดขึ้นแล้ว ผู้คนจะนิยมใช้ทั่วกันทันที

อย่าง กระด้างภัณฑ์ (hardware ฮาร์ดแวร์) หรือละมุนภัณฑ์ (software ซอฟต์แวร์) ที่ได้ยินแล้วอึ้งเป็นตัวอย่าง

● ลองมาดูกันว่า คำไทยในชีวิตประจำวัน มีกี่คำหรือคำไหนบ้าง ถูกคำอังกฤษรุกเข้ามาอาศัยอยู่ในปากและความคิดเราแทบจะถาวรแล้วบ้าง

ที่พูดเมื่อกี้ ก็เจตนาให้ฟังดู “เว่อร์ๆ” ไปเท่านั้นเอง ภาษาเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงคลี่คลายได้ตลอดเวลา อาจนิยมใช้ช่วงเวลาหนึ่ง แต่อีกเวลาอาจมีคำใหม่มาแทนที่ได้ จึงลองดูคำที่มักใช้สม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน เช่นตอนนี้ สื่อสาธารณะแพร่หลายกว้างขวาง แทบไม่ต้องคิดก็เห็นคำมากมายที่ใช้กันอย่างเข้าอกเข้าใจ แถมตัดต่อให้สะดวกปากเข้าอีกก็มี เช่นพูดสั้นๆ ว่า เมนต์ (comment) ก็รู้แล้วว่าหมายถึงความเห็น ทั้งยังตัดให้สั้นลงสะดวกปากอีกได้ เหมือน ซิ่ง (racing) ที่หมายถึงการแข่งรถ แต่ความหมายไทยใส่อารมณ์ลบเข้าไปอีก ถึงการขับรถปรู๊ดปร๊าด ขับเร็ว ไม่ระมัดระวังทำนองนั้น

คอมพิวเตอร์ (computer) ก็เป็น “คอม” ซึ่งหากย้อนไปสักสามสี่สิบปีก็อาจเป็นอีก “คอม” ที่ติดคุกติดตะรางได้ ซึ่งล้วนเป็นศัพท์เฉพาะที่หนีไม่ออก เพราะเป็นนวัตกรรมของเขาดังกล่าวแล้ว ซึ่งใช้กันโดยไม่ต้องแปล ตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ที่พูดถึงไป มาถึงแพลตฟอร์ม (platform ฐานส่ง หรือถ้าคำโบราณหน่อยก็คือเวทีนั่นแหละ) ถึงสตรีมมิ่ง (streaming การถ่ายทอดสดต่อเนื่องบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต internet) เอาล่ะ นั่นเป็นศัพท์เฉพาะมากๆ ที่เราจำเป็นต้องใช้

ว่าถึงคำพื้นๆ ที่ใช้คล่องปากแล้วดีไหม “เคลียร์” (clear) มีความหมายให้ใช้กว้างอยู่เหมือนกัน นอกเหนือจากเข้าใจชัดเจนแล้ว ตอนดูหนังฝรั่งก็พยายามสังเกตอยู่ว่า เวลาจะตีกันไม่ว่าพระเอกกับผู้ร้าย หรือผู้ร้ายกับผู้ร้าย หรือคนที่เข้าใจผิดกัน มีการสื่อสารเพื่อจะ “เคลียร์” กันอย่างบ้านเราหรือเปล่า

ที่จริงเมื่อพูดเรื่องนี้ น่าจะจัดระบบจัดประเภทก่อนว่า เป็นคำจากงาน การเดินทาง ท่องเที่ยว งานอดิเรก กินอาหาร นางงาม บันเทิง กีฬา ฯลฯ อย่างนั้น จะมีกรอบให้พิจารณาได้ไม่เปะปะไป แต่เนื่องจากไม่ได้ทำวิจัย (ซึ่งน่าจะมีใครทำ) ก็เลยว่ากันตามมีตามเกิด ตามแต่จะคิดได้ไปก่อน เพราะยังมีคำที่ใช้เนื่องด้วยยุคสมัยอีกประเภท เช่น จากคำพ่อครัวแม่ครัวหัวป่าก์ยุคหนึ่ง ต่อมา ทรานส์ฟอร์ม (transform แปลง) เป็น “กุ๊ก” (cook) คำฝรั่งแต่บ้านเราเรียกเริ่มจากพ่อครัวจีนอยู่นานหลายสิบปี สุดท้าย (ตอนนี้) ทรานส์ฟอร์มเป็น “เชฟ” (chef) ซึ่งฝรั่งใช้เรียกหัวหน้าคนครัว แต่เราเรียกพ่อครัวหรือคนทำครัวเป็นทุกคนว่าเชฟ

แต่เมื่อนึกถึงคำว่าเคลียร์ ก็ใกล้กับเรื่องงาน มีอีกคำที่ค่อยๆ ใช้กว้างออกไปคือ คอนเฟิร์ม (confirm) ยืนยัน จะยืนยันนัดยืนยันเรื่องอะไรก็คอนเฟิร์มไป แต่เมื่อคอนเฟิร์มแล้ว คำว่าเลื่อน (postponed โพสต์โพนด์)
ดูจะไม่ติดปากเหมือนคอนเฟิร์ม แต่คำคล้ายๆ กันเช่น ดีเลย์ (delay ล่าช้าหรือเลื่อนออกไป) ดูจะได้ยินจากปากกันบ่อยกว่า เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินของคนไทยไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศ ปัจจุบันนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ไม่ใช่ยุคใส่สูทไปส่งลูกเรียนหนังสือเมืองนอก ไม่รู้อีกกี่ปีถึงจะได้เจอกันอีก

ยังมีภาษาปาก เช่น ชิลๆ (chill) ที่ใช้กันมากกว่า คูล (cool) ซึ่งความหมายใกล้ๆ กัน แต่ยกระดับคำไปอีกขั้นแล้วคือ ชิวๆ หรือที่เดี๋ยวนี้ใช้กันมากขึ้นทั้งพูดและเขียนคือ อัพ (up ขึ้น) ทีมนี้ “อัพ” ค่าตัวให้นักกีฬาคนนั้น เธอคนนั้นน่าจะอายุสักสามสิบ “อัพ” นะ ก็น่าจะใช้กันไปได้อีกนาน เหมือนที่ไม่ได้เรียกอาทิตย์เรียกสัปดาห์กันแล้ว แต่มักเรียก วีก (week) กันมากกว่า งานนี้น่าจะสอง “วีก” เสร็จ

● นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย ที่แสดงให้เห็นว่า เราเป็นคนรับง่าย และเรียนเร็ว ลักษณะเช่นนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่ในเวลาไม่นาน คำต่างประเทศจะค่อยๆ ทะลัก (ไม่เข้ากันเลยนะ “ค่อยๆ” แต่ “ทะลัก”) เข้ามาในคำไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากโลกที่เล็กลง การสื่อสารที่เร็วมากขึ้น พหุวัฒนธรรมแพร่หลาย และนิสัยใจคอเราเองที่รับอะไรได้ทันที ต่างจากญี่ปุ่นที่ทำของคนอื่นให้กลายเป็นของตัว หรือมีกลิ่นอายของตัว จนเมื่อผู้อื่นนำกลับไปใช้ หรือกล่าวถึง ก็กลายเป็นว่ากำลังพูดถึงของญี่ปุ่นไป ไม่ใช่คำเดิมของตัวเสียแล้ว

เช่น อะนิเมะ (anime) ซึ่งญี่ปุ่นนำมาจากคำอังกฤษ “แอนิเมชั่น” (animation) ฝรั่งเศสเรียก “อะนิเม่” เป็นคำจากภาษาละตินอีกที หมายถึงภาพเคลื่อนไหวซึ่งคนไทยยังเรียกเหมารวมเป็นการ์ตูน แต่คำอะนิเมะนี้ ญี่ปุ่นใช้เรียกกันเอง จนเมื่อคำนี้ออกนอกประเทศไป กลายเป็นคำเรียกการ์ตูนของญี่ปุ่นจากญี่ปุ่นไปเสียอย่างนั้น

จากตัวอย่างโน่นนิดนี่หน่อยดังกล่าวนี้ หากจับเอาเฉพาะการใช้ภาษาไทยบรรยายกีฬาทางโทรทัศน์หรือเคเบิลทีวี จะเห็นได้เลยว่า คำไทยที่เคยใช้กัน ไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป หรือถูกทิ้งไปดื้อๆ มากขนาดไหน

แล้วจะนำมาเสนอให้พิจารณากันอีก

อารักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image