จังหวะภาษาพูด

ภาษาพูดคงมาก่อน (ยกเว้นภาษา Esperanto กระมัง) แล้วจึงมีภาษาเขียน ซึ่งพยายามเขียนให้ออกเสียงตามภาษาพูด แต่ไม่แน่เสมอไป เพราะหน่วยเสียงในภาษาพูด มีมากกว่าหน่วยเสียงที่แทนด้วยพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ อีกทั้งภาษาพูดยังมีการเน้นเสียง และจังหวะจะโคน ที่ไม่มีในภาษาเขียน พี่ชายของผมคนหนึ่งชื่อ โฆษา อารียา เคยเป็นศาสตราจารย์สอนภาษาไทยอยู่หลายสิบปีที่ Osaka University of Foreign Studies และเขียนตำราสอนภาษาไทยสำหรับคนญี่ปุ่น และเขียนพจนานุกรม ญี่ปุ่น-ไทย, ไทย-ญี่ปุ่นด้วย โฆษาสังเกตว่า ในการสอนภาษาไทยที่เป็นภาษาพูดให้แก่คนญี่ปุ่น ควรใช้คำอธิบายแบบหนึ่งที่ต่างจากการสอนภาษาเขียน รวมทั้งควรชี้ให้เห็นข้อแตกต่างของจังหวะ (rhythm) และการเน้นเสียง (accent) ในการพูดภาษาไทย เมื่อเทียบกับภาษาญี่ปุ่นด้วย ทำให้ผมนึกเลยไปว่า การสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนไทยมีประสิทธิผลต่ำ สอนแล้วทำให้นักเรียนอาย ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ อาจเป็นเพราะเราสอนแต่ภาษาเขียน ทำให้ไม่ได้ภาษาพูดที่พอจะไปสนทนากับชาวต่างชาติได้

ในบทความนี้ ขอนำเสนอข้อคิดบางประการขอ

โฆษา อารียา เกี่ยวกับจังหวะของภาษาพูด โดยหวังให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านและผู้ที่อยู่ในวงการสอนภาษาบ้างไม่มากก็น้อย โฆษามีความเห็นว่า ภาษาย่อมสะท้อนความคิดอ่านและโครงสร้างของสังคม ภาษาญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่มีโครงสร้างเชิงมนุษยสัมพันธ์ทั้งตามแนวนอนและแนวตั้ง แม้จะเน้นหนักที่คำแรก แต่ออกเสียงคำต่อ ๆ ไปทีละคำเท่า ๆ กัน เหมือนเดินไปทีละก้าวและคุยกันไป คำลงท้ายเป็นคำเบา ส่วนภาษาไทยนั้น เป็นภาษาพูดของชาวเผ่าไตที่ดั้งเดิมชอบตั้งถิ่นฐานและทำนาตามลุ่มน้ำ ริมแม่น้ำหริอในหุบเขา สังคมไทยเป็นสังคมแนวตั้ง มนุษยสัมพันธ์เป็นแบบบน-ล่าง ไม่บนก็ล่าง ไม่สูงก็ต่ำ ไม่สั้นก็ยาว ซึ่งสะท้อนในภาษาพูดเหมือนการเดินขึ้นเดินลงตามหุบเขา อย่างไรก็ดี เมื่อประมาณ 800 ปีก่อน นักปราชญ์ไทยได้ยืมตัวอักษรและไวยากรณ์จากอินเดีย มาใช้เป็นภาษาเขียน ซึ่งไม่เข้ากับภาษาพูดเท่าใดนัก ภาษาพูดไทยนิยมพยางค์โดด และมีไวยากรณ์ที่ไม่ซับซ้อน ไม่เหมือนคำในภาษาอินเดียที่มักมีหลายพยางค์ และไวยากรณ์อินเดีย เช่น สันสกฤต ก็มีกฎและความซับซ้อนมาก

กรณีการออกเสียงคำพยางค์เดียว เช่น คำว่า ค่ะ สระที่ใช้ในภาษาเขียนเป็นสระเสียงสั้น ถ้าใช้อักษรโรมัน น่าจะเขียนว่า KHA แต่ในภาษาพูดจะออกเสียงเป็นสระยาว และออกเสียงวรรณยุกต์ให้ชัด ซึ่งถ้าเขียนว่า ค่า หรือเขียนด้วยอักษรโรมันว่า KHAAA น่าจะตรงกับเสียงพูดมากกว่า

Advertisement

กรณีคำสองพยางค์ จะขอยกตัวอย่างคำว่า มาม่า กฎการใช้วรรณยุกต์ชวนให้เขียนว่า มามา แต่ที่เขียนบนซองบะหมี่ก็คือ มาม่า ถอดเป็นอักษรโรมันได้เป็น mama สระที่ใช้เป็นสระยาวในทั้งสองพยางค์ แต่ในภาษาพูด สระที่ใช้ในพยางค์แรกเป็นสระสั้น แทบไม่เปิดริมฝีปาก ไม่พ่นลมออกมา และไม่เน้นเสียง สระที่ใช้ในพยางค์ที่สองเป็นสระที่ยาวกว่า เปิดปากกว้างกว่า พ่นลมออกมาและเน้นเสียง ถ้าจะเขียนตามภาษาพูดน่าจะเขียนว่า มะม่า หรือ maMAA มากกว่า

กรณีคำสามพยางค์ จะขอยกตัวอย่างคำว่า โตโยต้า (ถ้าจะให้ถูกตามกฎการใช้วรรณยุกต์ควรเขียนว่า โตโยตา แต่จากอิทธิพลภาษาพูด คนส่วนใหญ่จะเติมไม้โทที่พยางค์ท้าย) โดยคำนึงว่าคนไทยนิยมใช้คำหนึ่งพยางค์หรือคำสองพยางค์มากกว่า เมื่อออกเสียงคำสามพยางค์จึงมีแนวโน้มตามธรรมชาติที่จะแบ่งคำสามพยางค์เป็นสองช่วงตอนของพยางค์ วิธีแบ่งวิธีหนึ่งคือเริ่มด้วยหนึ่งพยางค์ตามด้วยสองพยางค์ และเน้นพยางค์แรกเหมือนเป็นพยางค์แม่ ตามด้วยสองพยางค์ที่เป็นพยางค์ลูกกับพยางค์พ่อ ซึ่งน่าจะเขียนตามภาษาพูดได้เป็น |โต | โยะต้า | หรือ TOOO| yoTAA การจัดช่วงตอนพยางค์อีกวิธีหนึ่งคือเอาสองพยางค์ขึ้นก่อน เหมือนเป็นพยางค์ลูกกับพยางค์แม่ และเน้นพยางค์สุดท้ายที่เป็นพยางค์พ่อ ซึ่งน่าจะเขียนตามภาษาพูดได้เป็น |โตะโย | ต้า | toYOO| TAAA

กรณีคำสี่พยางค์ จะขอยกตัวอย่างคำว่า โคคา โคล่า หรือ Coca Cola คราวนี้มีการแบ่งช่วงตอนเป็นสองคู่พยางค์ไว้ชัดเจนแล้ว แต่ละคู่พยางค์จะออกเสียงเหมือนเป็นพยางค์ลูกกับพยางค์แม่ ซึ่งน่าจะเขียนตามภาษาพูดโดยเน้นเล็กน้อยที่พยางค์ที่สองดังนี้ |โคะค่า | โคะล่า | หรือ koKHAA| kola
กรณีวลีหรือประโยคสี่พยางค์ เป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษาจังหวะการออกเสียงโดยแบ่งวลีหรือประโยคเป็นช่วงตอนของพยางค์ โดยมีกฎง่าย ๆ คือ ไม่แตะต้องหรือไม่แยกพยางค์ของคำคำหนึ่งออกจากกัน ขอยกตัวอย่างประโยค ไม่เข้าใจค่ะ ซึ่งอาจเขียนด้วยอักษรโรมันเป็น maikhaocai kha ประโยคนี้น่าจะเขียนตามภาษาพูดเป็น | ม่าย | เข้าจาย | ค่า | หรือ MAAI| khaoCHAAI| KHAAA โดยไม่แยกพยางค์ของคำ ‘เข้าใจ’ ออกจากกัน
กรณีบทสนทนา ขอยกตัวอย่างการสนทนาง่าย ๆ เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างภาษาพูดและภาษาเขียนดังนี้

Advertisement

ถ้าเรายอมรับว่าภาษาพูดต่างจากภาษาเขียน และพัฒนากฎการออกเสียงง่าย ๆ เพื่อนำมาเขียนภาษาพูดด้วยตัวอักษร โดยผลที่ได้จะต่างจากภาษาเขียน เราจะสามารถเข้าใจภาษาพูดได้ดีขึ้น และช่วยให้ผู้เรียนที่ต้องการเรียนภาษาไทยที่เป็นภาษาพูด หรือออกเสียงภาษาพูดให้คล้ายการออกเสียงของคนไทยให้มากที่สุด และช่วยลดความสับสนของเขาลง ทั้งนี้โดยถือว่า ‘เขียนอย่าง ออกเสียงอีกอย่าง’ ในภาษาเขียนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะปราชญ์ทางภาษาต้องการรักษาอักขรวิธีและหลักไวยากรณ์สำหรับภาษาเขียนไว้ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี ในที่นี้ เพียงขอมีพื้นที่ให้เขียนภาษาพูดเหมือนในตารางข้างต้นเพื่อประโยชน์ในการเรียนก็พอ
อันที่จริง เราควรเรียนวิธีเขียนภาษาต่างชาติโดยใช้อักษรไทย เพื่อการออกเสียงอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีกฎการเขียนให้เป็นไปตามเสียงพูดให้มากขึ้น ใครจะว่าว่าเป็น ‘ภาษาคาราโอเกะ’ ก็รับฟังไว้ มุมมองของผมคือ ถือความสะดวก ความเข้าใจ และความไม่สับสนของผู้เรียนเป็นหลัก แม้จะไม่มีวิธีการเขียนให้ออกเสียงตรงตามภาษาพูดได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ควรพยายามทำเพื่อช่วยการออกเสียงของผู้เรียน ในที่นี้ ขอเพียงแต่มีความตระหนักรู้ถึงความแตกต่าง และมีกฎกติกาการเขียนภาษาพูด เพื่อลดความสับสนของผู้เรียนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาของตน ก็น่าจะเป็นคำขอเบื้องต้นที่พอรับได้กระมัง นี่ดูเหมือนจะเป็นคำขอของโฆษา อารียา

สวัสดีปีใหม่ครับ/สะหวาด/ดิ/ปีหม่าย/คราบ

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image