คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ธง, ชาติ, ธงชาติ, อธิปไตย, และเครื่องบินรบของเขา

แม้ฝ่าย “ก้าวหน้า” จะเห็นว่า “ชาติ” นั้นหาใช่อะไรเลยนอกจากเรื่องเล่า เป็นชุมชนจินตกรรม หรือมายาคติอะไรต่างๆ ก็เถิด แต่ก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่ว่าจะ “ก้าวไกล” ไปเพียงไหนก็ยอมละๆ วางๆ หลักการอะไรที่ว่ามาข้างต้นลงได้หมด นั่นก็คือการเชียร์กีฬาทีมชาติ

ยิ่งถ้าเป็นกีฬาที่โปรดปราน หรือมหกรรมกีฬาสำคัญ เราพร้อมจะร่วมเฮและปลื้มปริ่มร่วมไปกับชาวชาตินิยม
ไม่ว่าจะสายกลาง สลิ่ม หรือล้าหลังคลั่งสุดโต่ง

“ธงชาติ” ที่แสดงในการแข่งขันกีฬา สำหรับฝ่ายที่มีความรักชาติอย่างเข้มข้นจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นชาติอันยิ่งใหญ่ ส่วนฝ่ายที่ชัง… เอ้อ อาจจะไม่ได้อินอะไรกับความเป็นชาติขนาดนั้น ธงชาติก็ยังเป็นตราสัญลักษณ์แห่งทีมกีฬาที่พวกเขาเชียร์ เช่นนี้ไม่ว่าในโดยมุมมองใด “ธงชาติ” ในการแข่งขันกีฬาจึงไม่ต่างจากธงชัยของทหารกล้า

จึงเป็นความเจ็บปวดอย่างยิ่งที่ในการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติแล้ว เราชาวไทยกลับพลาดที่จะไม่ได้เห็นธงชาติไทยถูกเชิญขึ้นโบกสะบัดบนยอดเสาทั้งๆ ที่มีสิทธิและโอกาสเต็มที่โดยแท้ เช่นในกรณีของสองนักแบดมินตันที่สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกแบดมินตันคู่ผสมที่ประเทศสเปน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หรือล่าสุดที่ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยไปแข่งในฟุตบอลอาเซียนซูซูกิคัพและประสบความสำเร็จคว้าแชมป์สมัยที่ 6 ได้สำเร็จ

Advertisement

แม้รายการนี้จะเป็นการแข่งขันของสมาคมฟุตบอลซึ่งจะใช้ตราสมาคมฟุตบอลภาคีเป็นสัญลักษณ์ เช่นของไทยเป็นตราช้างศึก อินโดนีเซียเป็นตราครุฑ ไม่ได้ใช้ธงชาติเป็นสัญลักษณ์ประจำทีมอยู่แล้ว แต่ก็มีปัญหาอยู่บ้างในช่วงแรกเกี่ยวกับสิทธิการใช้ธงชาติไทยในการร่วมฉลองหรือนำเข้าไปเชียร์

สาเหตุที่ธงชาติไทยต้องถูกเก็บในมหกรรมกีฬานั้นคงพอทราบกันแล้ว สรุปสั้นๆ ได้ว่ามาจากปัญหาจากกฎหมายควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของไทย ซึ่งในฐานะชาติภาคีจะต้องมีเนื้อหาสอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือวาด้า (WADA) ซึ่งองค์กรดังกล่าวได้เตือนว่ากฎหมายของไทยยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่ว่า และเราก็ติดขัดจากความล่าช้าในกระบวนการตรากฎหมาย นำไปสู่การออกคำเตือนจนถึงที่สุดคือบทลงโทษให้สมาคมกีฬาไทยถูกแบนห้ามจัดการแข่งขันทุกชนิดในกีฬาระดับนานาชาติ ส่วนที่เจ็บปวดที่สุดของเรื่องนี้คือแม้นักกีฬาทีมชาติของไทยจะไม่ถูกแบนในการแข่งขันต่างๆ แต่ก็ต้องห้ามแสดงธงชาติไทยในมหกรรมกีฬานั้นๆ หากจะใช้ได้ก็คือธงของสมาคมกีฬาของตน คล้ายกรณีของทัพนักกีฬารัสเซียในการแข่งขันโอลิมปิกที่ผ่านมาที่ลงแข่งในนาม “ทีมสมาคมโอลิมปิกแห่งรัสเซีย”

จึงเป็นเรื่องสะเทือนใจทั้งฝ่ายที่รักชาติและไม่ค่อยอินแต่ก็เชียร์สุดใจนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่า “ฝ่ายรัฐ” ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะต้องรับผิดชอบมีคำตอบ

Advertisement

ผู้ตอบเรื่องนี้คือ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตอบกระทู้
ถามสดในสภาเกี่ยวกับปัญหานี้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา สรุปได้ว่า เหตุที่เกิดนั้นเป็นเรื่องของเนื้อหาในกฎหมายที่มีบางข้อที่ฝ่ายไทยยังไม่สามารถยอมรับปรับแก้ตามวาด้าได้ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับอธิปไตยของชาติ

ท่านรัฐมนตรีกล่าวขึงขังว่าประเทศไทยเป็นรัฏฐาธิปัตย์ (ท่านคงหมายถึงว่าเป็นรัฐเอกราชมีอำนาจอธิปไตย) ส่วนวาด้าเป็นองค์กรเอกชนจะมามีอำนาจกดดันให้ทำตามสิ่งที่ต้องการได้อย่างไร ตัวเขาเชื่อว่าคนไทยทั้งชาติไม่น่าจะยอมรับอยู่ใต้อาณัติองค์กรต่างประเทศนี้ได้

ในทางรัฐศาสตร์ กฎหมายมหาชน และกฎหมายระหว่างประเทศ เอาจริงๆ คำอธิบายของท่านรัฐมนตรีก็ถือว่าฟังได้และมีเหตุผลในระดับหนึ่งทีเดียวว่ารัฐประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยย่อมมีอธิปไตย อันเป็นอำนาจอันบริบูรณ์สูงสุดที่จะออกจะปกครองซึ่งรวมถึงการตรากฎหมายอย่างไรก็ได้ที่จะให้มีผลบังคับใช้กับบุคคลในสัญชาติ หรือต่อผู้ใดก็ได้ในดินแดนของประเทศ หรือในเขตที่ประเทศเรามีสิทธิอธิปไตยหรือมีอำนาจบังคับได้ โดยไม่มีประเทศใด รัฐใด หรือองค์กรใดสามารถมายุ่มย่ามหรือมาชี้มาบอกว่ากฎหมายของเราไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม หรือกำหนดกะเกณฑ์ว่าจะต้องออกกฎหมายหรือปฏิบัติปกครองอย่างไร

แต่เพราะประเทศต่างๆ ไม่ได้อยู่กันอย่างโดดเดี่ยวดังดาวเคราะห์น้อย เรายังมีสิ่งที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ซึ่งมีหลักเกณฑ์และกระบวนการสืบทอดกันมาหลายร้อยปีทั้งในรูปของจารีตประเพณีและที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นลายลักษณ์อักษร

จริงอยู่ว่าไม่มีประเทศไหนบังคับให้ประเทศไหนออกกฎหมายอะไรอย่างไรได้ แต่ถ้าประเทศสองประเทศหรือมากกว่านั้นมาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่จะให้มีผลบังคับใช้แล้ว หากประเทศผู้ร่วมลงนามนั้นอยากจะรับสิทธิประโยชน์หรือเรียกร้องหน้าที่จากประเทศร่วมภาคี ก็จำต้องไปออกกฎหมายให้สอดคล้องกับสัญญาหรือข้อตกลงนั้น หรือในบางระบบกฎหมายอาจถือว่าข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายภายในได้เลย

เรื่องนี้ง่ายๆ เพียงว่า ถ้าอยากเล่นกับเขา ก็ต้องยอมรับและเล่นในกติกาเดียวกัน คล้ายว่าถ้าเราซื้อกระดานหมากรุกหรือบอร์ดเกมมาเล่นกันเองในบ้านเรา เราจะกำหนดให้ตัวหมากไหนเรียกว่าอะไร มีตาเดินหรือกติกาการเล่นอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าอยากเอาหมากรุกหรือเกมนั้นไปเล่นกับชาวบ้าน ก็ต้องเล่นตามแบบแผนวิธีที่บ้านอื่นเขาเล่นกัน

กฎหมายเรื่องสารกระตุ้นต้องห้ามในทางกีฬาเป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ประเทศไทยและภาคีจะต้องตราหรือแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามพันธสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะมีเจ้าภาพเป็นเพียงองค์กรเอกชนอย่างที่ท่านรัฐมนตรีว่า ซึ่งองค์กรเอกชนนั้นก็ไม่มีอำนาจอะไรมาบังคับเอากับประเทศเอกราชที่มีอธิปไตยได้ เว้นแต่กำหนดว่า ถ้าเราไม่แก้ไขหรือเขียนตามที่ “เพื่อน” เขาเขียนกัน เขาจะไม่ให้เรา “เล่นด้วย” หรือถึงให้เล่นก็ห้ามติดธงชาติอย่างที่เราโดนกันไปนั่นเอง

ข้ออ้างข้อเถียงของท่านรัฐมนตรีจึงพอจะมีเหตุผลอธิบายได้ จนกระทั่งในอีกสัปดาห์ คณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบให้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาขึ้นมาเป็นการด่วน ลงประกาศราชกิจจานุเบกษาไปในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม พอดี

หมดกันอธิปไตยและเอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่ของท่านรัฐมนตรีกีฬา

อันนี้ถ้าว่ากันตามหลักการตามรัฐธรรมนูญแล้ว เหตุผลในการตราพระราชกำหนดฉบับนี้ก็ออกจะแสบสีข้างนิดหน่อย เพราะสรุปได้ประมาณว่าหากไม่มีการแก้ไขกฎหมายที่ว่านี้โดยเร่งด่วนจะส่งผลกระทบต่อการจัดและเสนอจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติและระดับนานาชาติหลายรายการ จึงจะส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรงทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนควรออกพระราชกำหนดมาแก้ไขปัญหานี้

กระนั้นก็เชื่อว่าเรื่องนี้ประชาชนไม่ว่าจะฝั่งไหนฝ่ายใดก็เข้าใจทั้งนั้น และไม่คิดว่าจะมีฝ่ายค้านหรือฝ่ายใดอุตริเข้าชื่อร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบความชอบด้วยเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดให้โดนทัวร์ลงเป็นแน่

อย่างไรก็ตาม ใครที่ติดตามการเมืองระหว่างประเทศหรือศึกษามาในทางนี้ คงยอมรับและรู้กันแหละว่า ใดๆ ก็ตามในเรื่องของกิจการระหว่างประเทศนั้น สิ่งที่เป็นสภาพบังคับอันแท้จริงซึ่งเหนี่ยวรั้งการยึดถือปฏิบัติตามข้อตกลงหรือจารีตประเพณีระหว่างประเทศทั้งหลาย คือ “ผลประโยชน์” ของแต่ละชาติที่เป็นตัวละครในเรื่องนั้น

หรือกรณีแย่กว่านั้น คืออาจเป็นเพียงประโยชน์ของตัว “ผู้นำประเทศ” หรือกลุ่มคนชั้นนำในบางประเทศเพียงเท่านั้น

เช่นที่เราได้เห็นประเทศเผด็จการ ซึ่งมีกฎหมายหรือการใช้อำนาจรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและกติกาสากลต่างๆ โดยไม่แคร์โลกา เพราะเขาอาจจะเห็นว่า “ประโยชน์” (ของใครก็ไม่รู้) ของการใช้กฎหมายและมาตรการนั้นสำคัญกว่าประโยชน์ในการให้ประชาคมโลกยอมรับเพื่อเข้าอยู่ในกติการะหว่างประเทศก็ได้

ทั้งไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องอะไรร้ายแรงด้วย บางครั้งก็เป็นประเด็นที่หากยอมรับแล้วจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ เช่น กรณีที่สหรัฐอเมริกาเคยถอนตัวจากความตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม
เชื้อเพลิงคาร์บอน การปฏิบัติตามความตกลงปารีสเป็นภาระทางเศรษฐกิจต่อนโยบายและสหรัฐ (แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ตกลงกลับเข้าร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงโลกร้อนนี้แล้ว)

อย่างเรื่องธงชาติกับกฎหมายเรื่องสารกระตุ้นของประเทศไทย สมมุติถ้าเรื่องนี้ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศเกิดจะเห็นด้วยกับท่านรัฐมนตรีว่าอธิปไตยของชาติเราสำคัญกว่าการยอมให้องค์กรเอกชนมากำหนดกฎหมายนี่นั่นนู่นให้เรา การไม่ยอมรับอำนาจเช่นนั้นมีศักดิ์ศรีเหนือกว่าการไปโบกธงชาติเชียร์กีฬาหรือเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในมหกรรมการแข่งขัน เราก็อาจไม่จำต้องไปแก้กฎหมายตามกติกาของวาด้าก็ได้ และจากนั้นไปก็ถือเสียว่าเราเชียร์ทีมสมาคมกีฬาต่างๆ โดยตรง หรือทีมชาติในฐานะสโมสรกีฬา Thailand AC ก็ยังได้

เรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่สุดท้ายก็คุยกันด้วยผลประโยชน์นั้นรวมไปถึงเรื่องการกระทบกระทั่งทางกายภาพ เช่นกรณีที่ประเทศเพื่อนบ้านเกิดจะรบกันเองภายใน และดันยิงจรวดเข้ามาตกใส่บ้านเรือนในเขตชายแดน ถ้าว่ากันอย่างตรงไปตรงมา นี่คือการละเมิดอธิปไตยแบบชัดเจนชนิดมากันเป็นลูกเป็นลำ

แต่ประเทศจะรักษา “อธิปไตย” ด้วยการซัดกลับหรือสวนโครมไปสักดอกด้วยอาวุธหนักสมน้ำสมเนื้อกันนั้นก็อาจทำได้ตามหลักเอกราชและอำนาจอธิปไตย หากการเลือกใช้มาตรการตอบโต้แบบอื่นหรือกระบวนการทางการทูตนั้นจะเป็นประโยชน์กว่า

ทั้งที่ผ่านมา จำไม่ได้แล้วว่าประเทศเราเลือกโต้ตอบด้วยอาวุธหรือกองกำลังทางทหารกับประเทศอื่นเพื่อรักษาอธิปไตยเมื่อไร เพราะเราเลือกใช้วิธีอื่นและมันก็เป็นประโยชน์กว่าทั้งสิ้น

กระนั้นฝ่ายที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงก็ยังชอบซื้ออาวุธสงคราม ยิ่งยุคสมัยนี้ยิ่งได้ใจซื้อของใหม่ ของดี ของแพง ในวันที่ประเทศมีหนี้สาธารณะพุ่งทะลุเพดานจนต้องขยายไปแล้วรอบหนึ่ง ร็อกสตาร์คนดังต้องออกมาฉายหนังซ้ำชวนคนออกไปวิ่งหาทุนให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา จนโดนทัวร์ลงประชาชนด่าจนหน้าไหม้ เสียรังวัดอดีตฮีโร่ของประเทศ

เขาก็ยังกล้าออกมาเสนอโครงการขอซื้อเครื่องบินรบรุ่นใหม่กริบ เหตุผลเพียงเพราะผู้ขายเขาลดราคาให้และ
ขี้เกียจหาอะไหล่เครื่องรุ่นเก่า ตัดสินใจกันราวกับลูกเศรษฐีเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ

ก็เพราะเรื่องนี้มันคงจะเป็น “ประโยชน์” ของพวกเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image