ฆ่าเพื่อชาติ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

ตอนที่ภาพยนตร์สารคดีดังระดับเข้ารอบชิงรางวัลออสการ์ 2016 ฝีมือของ โจซัว ออพเพนไฮเมอร์ ผู้กำกับหนังชาวอเมริกัน ได้นำเข้ามาฉายในบ้านเรา โดยเป็นภาคต่อเนื่องกัน 2 เรื่อง The Act of Killing และ The Look of Silence

นอกจากสร้างความตื่นตะลึง ในการถ่ายทอดเรื่องราวการเข่นฆ่ากวาดล้างคอมมิวนิสต์นับล้านศพที่อินโดนีเซีย ในช่วงระหว่างปี 1965-1966 หรือปี พ.ศ.2508-2509

สำหรับคนไทยเรา ดูแล้วยังต้องนึกถึงเหตุการณ์ฆ่าหมู่กลางเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไปพร้อมกันด้วย

เพราะเหล่านักฆ่าคอมมิวนิสต์ที่อินโดนีเซีย เล่าถึงวีรกรรมตัวเองอย่างภาคภูมิใจผ่านหนังสารคดีดังกล่าวว่า เป็นการฆ่าเพื่อชาติ

Advertisement

ขณะที่บ้านเรา ความโหดเหี้ยมเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เกิดขึ้นท่ามกลางการโหมประโคมคำกล่าวที่ว่า ถ้าต้องกำจัดนักศึกษาสักหมื่นสองหมื่นคน เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข ก็จำเป็นต้องทำ

ไปจนถึงวลีสยองของพระฝ่ายขวาจัดที่ว่า การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป

ทั้งนี้เพราะ คำสั่งสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน เกิดขึ้นในช่วงที่สังคมไทยเรากำลังหวาดผวาลัทธิคอมมิวนิสต์ อันเนื่องจากสงครามในเวียดนาม กัมพูชา และลาว จบลงด้วยการโค่นล้มของรัฐบาลฝ่ายขวา

Advertisement

จนกลัวกันว่าไทยจะเป็นโดมิโนตัวถัดไป ต้องล้มตาม เป็นคอมมิวนิสต์ต่อเนื่องไปด้วย

จึงต้องมีดีเดย์กวาดล้างฝ่ายซ้ายในเมืองให้หมดสิ้น แถมใช้วิธีปลุกระดม สร้างเรื่องบิดเบือน จนฝูงชนฝ่ายขวาพร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าเข่นฆ่าคนในธรรมศาสตร์อย่างบ้าคลั่ง ทั้งทุบตี ตอกลิ่ม ย่างสด โดยเฉพาะการแขวนคอกับต้นมะขามสนามหลวง แล้วเอาเก้าอี้ฟาด เอาท่อนไม้หวด

ราวกับว่า นั่นไม่ใช่คน

เมื่อได้ดูหนังของ “โจซัว” ว่าด้วยมหกรรมการเข่นฆ่าคอมมิวนิสต์เพื่อชาติในอินโดนีเซีย หลายคนคงอยากให้มาทำหนังว่าด้วยการฆ่าโดยมองไม่เห็นความเป็นคน ที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อวันที่ 6 ตุลาฯดูบ้าง

เพื่อการค้นหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และประกาศให้สังคมไทยได้เรียนรู้ จะได้ไม่ถูกปลุกปั่นจนขาดสติทำเช่นนั้นกันอีก

เช่นเดียวกัน โลกในยุคผวาปีศาจคอมมิวนิสต์ ยังได้สะท้อนผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด Bridge Of Spies ซึ่งเพิ่งฉายไปไม่นานนัก ย้อนให้เห็นสังคมอเมริกันยุคปี 1957 อันอยู่ในช่วงสงครามเย็น หวาดหวั่นและเกลียดชังลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างสุดกู่

ขนาดเมื่อมีการจับตัวสายลับโซเวียตมาดำเนินคดี แล้วต้องจัดหาทนายความมาแก้ต่างให้ ส่งผลทนายความคนนั้นต้องตกอยู่ท่ามกลางเสียงป่าวประณามของทั่วทั้งสังคมสหรัฐ คล้ายคนทรยศต่อชาติที่ไปช่วยเหลือศัตรูของอเมริกา

ถึงขั้นข่มขู่คุกคามถึงบ้านถึงครอบครัว

การต่อสู้คดีในศาล ต้องฝ่าด่านทัศนคติชาตินิยมของผู้พิพากษา และเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ถูกครอบงำด้วยความเกลียดชัง ซึ่งต้องการเห็นสายลับศัตรูของชาติโดนจับไปนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าสถานเดียว

สิ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามเรียกร้องก็คือ ผู้ต้องหา ไม่ว่าคดีอะไรต้องได้รับความเสมอภาคทางกฎหมาย ตามหลักสิทธิมนุษยชน

ที่สำคัญ ความเป็นชาติ ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนแบ่งแยกกัน โกรธเกลียดกัน จนมองไม่เห็นความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกใบเดียวกัน

สังคมโลกในยุคผวาคอมมิวนิสต์ได้สร้างบาดแผลไปทั่ว รวมทั้ง 6 ตุลาคม 2519 ในไทย

หากไม่นำอดีตมาตีแผ่เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน

สังคมไทยก็ยังคงเดินซ้ำ ดังเช่นที่ยกย่องมือปืนป๊อปคอร์นเป็นฮีโร่ของฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปยังไม่อยากเลือกตั้ง

การรัวปืนสงครามใส่คนที่เรียกหาการเลือกตั้ง คือ วีรบุรุษ!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image