โคทม อารียา : สันติวิธีและขันติ

“สวัสดีปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย … ความพลั้งพลาดล่วงเกิน อย่าหมางเมินระทม รวมน้ำใจให้เกลียวกลม และถืออารมณ์อภัย” ขึ้นปีใหม่แล้ว ขอให้คนไทยพ้นภัยจากโรคโควิด-19 และภัยจากความรุนแรงอันเนื่องมาแต่ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในส่วนกลางและในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากเห็นคนไทยให้คุณค่าอย่างสูงแก่สันติภาพ และเห็นพ้องต้องกันว่า การได้มาซึ่งสันติภาพที่สถาพรนั้น พึงใช้สันติวิธีและพึงมีความอดกลั้น (มีขันติ) และมีการยับยั้งชั่งใจที่จะไม่ใช้ความรุนแรง

เมื่อเกิดความขัดแย้ง เรามักใช้วิธีหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนี ไม่ยอมเผชิญหน้ากับคู่ขัดแย้งหรือเผชิญกับปัญหาโดยตรง ทั้งนี้ อาจจะยังพอทนกันได้ หรือไม่อยากเสี่ยงต่อการทำลายสายสัมพันธ์ก็ตามที แต่วิธีการแก้ไขความขัดแย้งมีหลายวิธี ที่รวมถึงการหลีกหนีด้วย ดังนี้

1) หนีหน้า

2) พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการและพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน

Advertisement

3) การเจรจา

4) การเจรจาโดยมีคนกลาง

5) การตัดสินโดยใช้อำนาจบริหารจัดการขององค์กรหรือของรัฐ

Advertisement

6) การตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการ

7) การตัดสินโดยกระบวนการยุติธรรม

8) การตัดสินโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

9) ปฏิบัติการไร้ความรุนแรง (เป็นสันติวิธีแบบหนึ่ง)

10) การใช้ความรุนแรง

จะเห็นได้ว่าด้วยวิธีการที่ 1-9 เป็นสันติวิธี โดยที่วิธีการที่ 1-4 การตัดสินใจอยู่ที่คู่ขัดแย้ง วิธีการที่ 5-6 เป็นการตัดสินโดยฝ่ายที่สาม (ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง) วิธีการที่ 7-8 เป็นการตัดสินในระดับสาธารณะ

วิธีการที่ 9 (nonviolent action) มักใช้ในกรณีความขัดแย้งอสมมาตร (asymmetrical) คือใช้โดยผู้มีอำนาจน้อยเพื่อประท้วงหรือเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจมาก โดยหวังว่าฝ่ายตนรวมถึงพันธมิตรจะสามารถเข้าสู่การเจรจาโดยมีอำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น หรือโดยหวังว่าฝ่ายตนรวมถึงพันธมิตรจะเป็นผู้ชนะในที่สุด ส่วนวิธีการที่ 10 เป็นการต่อสู้เพื่อหวังเอาชนะเป็นหลัก ตราบใดที่ยังอยู่ในโหมดเอาชนะ ก็ยากที่จะเจรจาหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ดี อาจมีการพักรบมาเจรจากันพอเป็นพิธี หรือรบไปเจรจาไปโดยหวังให้ฝ่ายตนได้ตั้งหลักใหม่ หรือโดยหวังลดความชอบธรรมของฝ่ายตรงกันข้าม หรือโดยหวังให้ความรุนแรงที่ยืดเยื้อจะบั่นทอนกำลังหรือความมุ่งมั่นของอีกฝ่าย

การจำแนกระหว่างวิธีการที่ 9 กับวิธีการที่ 10 อาจจะคลุมเครืออยู่บ้าง แม้วิธีการที่ 9 ถือเป็นสันติวิธี และวิธีการที่ 10 ถือเป็นวิธีรุนแรง แต่ผู้มีอำนาจน้อยอาจใช้วิธีการที่ 9 เป็นหลัก เพียงแต่บางเวลาอาจแทรกด้วยการใช้ความรุนแรง (บางคนเรียกว่าสันติวิธีเชิงรุก) ส่วนผู้มีอำนาจมากเมื่อรู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้อำนาจ ก็อาจกล่าวว่าต้องทำตามกฎหมายเพื่อรักษาความสงบของสังคม ทั้ง ๆ ที่อันจริง คือการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง และดำรงตนอยู่ในอำนาจต่อไปนั่นเอง

เราอาจเรียกวิธีการที่ 1-8 ว่าสันติวิธีเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และเรียกวิธีการที่ 9 ว่าสันติวิธีเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่ขีดแบ่งก็ไม่ชัดเจนนัก เพราะการเปลี่ยนแปลงหรือการอนุรักษ์ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ก็ถือเป็นการแก้ไขความขัดแย้งในลักษณะหนึ่ง และการใช้สันติวิธีตามวิธีการที่ 9 ก็อาจต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีการเจรจา (วิธีการที่ 3 หรือ 4) หรืออาจต้องมีการออกกฎหมายมารองรับข้อตกลงที่เป็นผลจากการเจรจากัน (วิธีการที่ 8)

เรามักมีมายาคติว่า ความรุนแรงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าสันติวิธี แต่ผลการศึกษาวิจัยความชัดแย้งในหลายแห่งทั่วโลก พบว่าสันติวิธีมีผลสำเร็จมากกว่าวิธีรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีความขัดแย้งอสมมาตร ที่ผู้มีอำนาจมากมียุทโธปกรณ์และทรัพยากรเหนือกว่ามากมาย ผู้มีอำนาจน้อยมีโอกาสถูกปราบปรามอย่างหนัก เมื่อเข้าไปต่อสู้ในพื้นที่ความรุนแรงที่ผู้มีอำนาจมากถนัดกว่า

เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า “เราจะอยู่กันอย่างไร ในโลกซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ก็เลยต้อง ประคับประคองความขัดแย้ง ให้ดี ความขัดแย้งเป็นเครื่องจักรกลสำคัญในการผลักดันสังคม มันเลยเป็นของที่จะต้องเฝ้าระแวดระวัง คอยปกป้อง ไม่ให้กลายเป็นความรุนแรง เพราะความรุนแรงในทางกลับกันมันก็ทำลายความขัดแย้ง” จับความได้ว่า ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์และสังคม เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีความขัดแย้ง สังคมหรือองค์กรที่มีความชัดแย้งน้อย น่าจะจืดชืด เฉื่อยชา สังคมที่มีความขัดแย้งมาก หากถูกกดทับ ก็จะเป็นสังคมเก็บกดที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแฝง แต่หากสังคมปล่อยให้แสดงออกได้มาก ก็อาจร้อนระอุ จนถึงเดือดพล่าน และระเบิดเป็นความรุนแรงได้ ชัยวัฒน์จึงเสนอให้เราถนอมความขัดแย้งที่สร้างสรรค์เอาไว้ เพราะเมื่อใดกลายเป็นความรุนแรง การสร้างสรรค์ก็หมดไปกลายเป็นความมืดบอด ที่มุ่งแต่จะเอาชนะโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ

ในปี 2565 เชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะยังดำรงอยู่ และจะมีการชุมนุมที่ผู้ประท้วงจะปะทะกับตำรวจอยู่อีก ชัยวัฒน์เห็นว่า ไปบอกตำรวจว่า อย่าใช้ความรุนแรง  หรือบอกผู้ชุมนุมว่า อย่าชุมนุม มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรทั้งคู่ ตำรวจคิดว่าตนทำตามหน้าที่ นั่นคือควบคุมพื้นที่ตามที่ได้รับคำสั่งมา ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมก็ทำตามปรารถนาแห่งหัวใจของเขา เขาเชื่อในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และในประเด็นต่าง ๆ ที่เขาคิดว่าสำคัญต่อบ้านเมือง แล้วเราเป็นใครถึงไปบอกเขาว่า อย่าทำ? ชัยวัฒน์จึงเสนอเพียงว่า เจ้าหน้าที่อย่าทำตามตำราจนเกินไป ที่ว่าใช้มาตรการจากเบาไปสู่หนัก ก็ให้ใช้มาตรการที่เรียกว่าเบาให้นานที่สุด ผ่อนปรนให้มากขึ้น ให้เวลาผู้ชุมนุมให้มากขึ้นในการตัดสินใจ สำหรับฝ่ายผู้ประท้วง ชัยวัฒน์เสนอให้ทำตามตำราโดยเคร่งครัด เช่น ถ้าชุมนุมแบบแฟลชม็อบ ก็ขอให้ปรากฏตัว เสนอประเด็นว่ารัฐคุกคามประชาชน ขอให้ปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ฯลฯ คือพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด แล้วก็สลายการชุมนุมอย่างรวดเร็ว สมกับที่เป็นแฟลชม็อบ

มีคนถามความเห็นของผมว่า ทางออกอยู่ที่ไหน ผมได้แต่ตอบไปตามสูตรคือ “ให้คุยกัน” แต่ผมรู้ดีว่ายากมากที่จะมีการคุยกันในช่วงเวลานี้ ศาลรัฐธรรมนูญพยายามปิดประตูโดยบอกว่า การเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น (ให้มีการปฏิรูป) หมายถึงการมีวาระซ่อนเร้นในการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาก็ปิดประตูคือประวิงเวลาการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปเรื่อย ๆ ส่วนรัฐบาลก็บอกชัดเจนว่ามีความชอบธรรมที่จะอยู่ไปจนครบวาระ แล้วจะให้คุยกันเรื่องอะไร?

มารค ตามไท นักปรัชญาผู้มีความคิดเฉียบคมมาตลอด มีความเห็นในเรื่องการพูดคุยว่า “การพูดคุยเป็นเพียงวิธีการชะลอให้ไม่เกิดความรุนแรงเกินไป  แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคุณค่าสำคัญ” ผู้นำเยาวชนเข้าใจเจตนาของอาจารย์ที่ชวนให้เขาเข้าร่วมการพูดคุย แต่ “พอฟังอาจารย์ด้านสันติวิธีก็เหมือนไปฟังเทปบันทึกเสียงในพิพิธภัณฑ์ของสันติวิธี เหมือนมันไม่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์” คนบางคนก็เลยคิดว่าไม่ใช่ทาง ไม่อยากร่วมมือ

สำหรับมารค “การพูดคุยยังไม่ใช่จุดเริ่มต้น   จุดเริ่มต้นคือการให้แสดงออก ไม่ไปทำอะไร” เหตุผลมีสองระดับ  ในระดับที่เป็นสเกลเล็ก ได้แก่ ระดับประเทศชาติ กฎหมาย รัฐธรรมนูญ สิทธิมนุษยชน มันไม่ค่อยสำคัญ เพราะกฎหมายต่าง ๆ นั้น มนุษย์ตรามันขึ้นมา มันไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่ศักดิ์สิทธิที่สุดในสเกลเล็กคือความรู้สึกถูกผิดในแต่ละบุคคล แต่ละคนมีความรู้สึกถูกผิดอย่างไรนั่นแหละคือความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด แน่นอนมันเห็นไม่เหมือนกัน คนหนึ่งรู้สึกว่ามันผิดแต่อีกคนอาจเห็นตรงกันข้าม แต่จะไปห้ามไม่ให้แสดงความรู้สึกออกมาไม่ได้ เพราะนี่เป็นตัวตนของคนมากกว่าเรื่องกฎหมาย ถ้าเรารู้สึกว่าอะไรถูกผิดมันจะแสดงออก ที่ไม่แสดงออกมาส่วนมากเป็นเพราะความกลัว

ส่วนในระดับสเกลใหญ่ สิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์คือมนุษยชาติ ชาติเป็นของชั่วคราว การอ้างชาติอะไรไม่มีน้ำหนัก ก่อนหน้านี้ไม่มีชาติไทย 5,000 ปีข้างหน้าก็อาจไม่มีชาติไทย คือชาติเป็นของชั่วคราวที่จัดขึ้นมาเพื่อให้เราอยู่ด้วยกัน สถาบันต่าง ๆ ในชาติ เช่น  ศาสนา การปกครอง  เป็นของชั่วคราวทั้งหมด เราไม่รู้ว่าในอนาคตมันจะวิวัฒนาการเป็นอะไรอีก

ถ้ามองว่าปัจจุบันคือทุกอย่าง  มันก็จะเอาเป็นเอาตายกัน ถ้าจะมาคุยกันก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ทุกคนทำเป็นของดีในระยะยาว ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ แต่มันเป็นการสร้างพลังสำหรับอนาคตขึ้นมา ความคิดมันเปลี่ยนแปลง การใช้วิธีการแสดงออกโดยไม่กลัวเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าตรงนี้ผ่านไปได้ ก็อาจจะมาสู่ขั้นตอนที่สอง คือการหาวิธีการพูดคุย ซึ่งไม่ใช่การพูดคุยบนฐานของการขู่ แต่เป็นการพูดคุยบนฐานที่ชื่นชม เพราะมันดีต่อการสร้างศักยภาพของประเทศ ดังนั้น ต้องยอมรับฐานของการพูดคุยก่อน การพูดคุยจะต้องเริ่มต้นจากการเห็นชอบกับการแสดงออกเกี่ยวกับชาติบ้านเมืองในอนาคต ถึงแม้จะไม่เห็นชอบกับสาระที่เขาแสดงออกมา

การประท้วงไม่ใช่ของใหม่ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นของใหม่ เราต้องไม่ยกกรอบมาจับ  ต้องหาฐานใหม่ในการที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในกรอบ ต้องมองกว้างกว่านั้น

มารคให้สัมภาษณ์ในอีกวาระหนึ่งว่า สันติวัฒนธรรมเป็นหัวใจของการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ประกอบด้วย

1) ให้ความเคารพทุกคนเท่ากัน

2) รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

3) รู้จักการให้อภัย

4) อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ปัจจุบันมีศัพท์คำว่า #สันติวิธีรักษาอำนาจ เพื่อให้ตนเองอยู่ในอำนาจ ความขัดแย้งจึงมีลักษณะที่ดื้อยา (Intractable Conflict) และยืดเยื้อ ต่างฝ่ายยึดและปกป้อง #คุณค่าศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Values) ของตนเอง มีความเชื่อที่ปลูกฝังมานาน มีการใช้ภาษาคนดีขัดแย้งกับคนไม่ดี ความจริงที่ไม่ตรงกับจุดยืนตนเองคือความเท็จ  จึงจำเป็นต้องหาคุณค่าศักดิ์สิทธิ์ของทุกฝ่าย เช่น ชีวิต ความรัก สุขภาพ  ความยุติธรรม ศักดิ์ศรี ส่วนคุณค่าทางโลกที่สำคัญแต่ไม่ศักดิ์สิทธิ์คือ เงิน ความสะดวกสบาย ตำแหน่ง ฯลฯ

ผมมีความเห็นว่า น่าจะใช้คุณค่าทางศาสนาพุทธมาเสริม เพราะเป็นความเชื่อพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ในเมื่อเป็นประเด็นทางสังคม น่าจะพิจารณาถึงคุณค่าขอ

ฝ่ายมหายานด้วย เพราะเป็นยานใหญ่ที่จะช่วยนำพาสังคมให้อยู่รอดด้วยไมตรีจิตต่อกัน ในที่นี้ ขอเน้นคุณค่าเรื่องขันติ หรือความอดกลั้น ความอดทน ในแง่มุมของมหายานที่ผมจับความได้มาจากหนังสือ ชื่อ “สีหนาทบันลือ” ของ เชอเกียม ตรุงปะ ดังนี้

มหายานยอมรับคำสอนหลักของเถรวาท โดยเฉพาะคำสอนเรื่องไตรลักษณ์และขันธ์ 5 ที่ถือเป็นคำสอนพื้นฐานและเป็นต้นกำเนิดแห่งสายธรรมทั้งปวง อย่างไรก็ดี มหายานยังเชื่ออีกว่า ต้องมีอะไรบางอย่างมากกว่านี้อีก สำนักแรก ๆ ของฝ่ายมหายานคือสำนักโยคาจารย์ ที่เชื่อว่าเราทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวเรา หรือเชื่อว่าวิมุตติภาวะของดวงจิตมีอยู่จริง จึงเกิดความหวังและการมองโลกในแง่ดี ความหวังนี้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงในจีนและญี่ปุ่น และหล่อเลี้ยงให้พุทธศิลป์และสุนทรียภาพได้เจริญงอกงามในภูมิภาคนี้ สำนักมาธยมิกถือกำเนิดร่วมกันมากับโยคาจารย์ แต่มีมุมมองที่ต่างออกไปบ้าง คือเชื่อว่าธรรมชาติแห่งพุทธะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง และต้องการความเป็นนักรบมากกว่าความหวัง หรือกุศลจิตใด ๆ

ในทัศนะแห่งนักรบ ถ้ามีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง เขาจะเป็นนักรบที่อ่อนแอ ด้วยเหตุที่ยังคาดหวังในชัยชนะ แต่เมื่อใดสิ้นความคาดหวังที่จะมีชัย ก็ไม่มีสิ่งใดให้ต้องสูญเสีย จึงยากที่ศัตรูจะจู่โจมเขาได้ ด้วยเขาถือความพ่ายแพ้ดุจดังชัยชนะ ศัตรูมุ่งโจมตีขยายดินแดน แต่เขามิได้ให้คุณค่าแก่ดินแดน จึงทำให้ศัตรูหมดกำลังใจ อย่างไรก็ตาม เขายังมีความหวังบางประการอยู่ด้วย หนทางของเขาดำเนินไปบนการประจักษ์แจ้งอันยิ่งใหญ่ ที่ไม่ต้องอาศัยการยืนยันเกื้อหนุน เขาได้อธิษฐานว่าจะอุทิศชีวิตเพื่อช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์ เขาไม่ใฝ่ฝันที่จะขึ้นครองราชย์ การเป็นนักรบเป็นทั้งหนทางและจุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง การเชื่ออันมั่นคงนี้ช่วยให้เขาอยู่เหนืออัตตา ไม่มีสิ่งใดจะต้องสูญเสียหรือได้มา เล่ห์เหลี่ยมอุบายของอัตตาจึงไม่อาจหลอกล่อเขาได้อีกต่อไป

จริยาวัตรของผู้อยู่บนเส้นทางของมหายานกอปรด้วยบารมี 6 ได้แก่ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิ และปัญญา ซึ่งตรงกับบารมี 10 ของฝ่ายเถรวาท ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะสามบารมีแรก ด้วยมุมมองที่ต่างไปบ้างจากฝ่ายเถรวาท ทานในที่นี้ไม่ใช่การทำบุญสุนทานแบบ เดิม ๆ แต่คือการให้โดยไม่คาดหวังว่าจะได้รับสิ่งใดตอบแทน ให้ด้วยความเอื้อเฟื้ออย่างสุดประมาณ ไม่ใช่เสนอให้กระเบียดหนึ่งเพื่อแลกกับหนึ่งกระเบียดของอีกฝ่าย ทานไม่ใช่เรื่องของการต่อรองแลกเปลี่ยน

ปฏิปทาลำดับถัดมาคือศีลในตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องวางแผนหรือสร้างขึ้นมา หากเป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ สถานการณ์เรียกร้องให้ต้องมีศีล และคุณก็คงต้องกระทำการร่วมกับสถานการณ์เหล่านั้น สมมุติว่าเรามีโอกาสต้อนรับคนที่มีปฏิปทาเช่นนี้ เขารับรู้ถึงความเอื้อเฟื้อของเราและยอมรับทุกสิ่งอย่างหมดจด อย่างเถรตรง อย่างใกล้ชิด อย่างเป็นมนุษย์ยิ่ง ไม่มีอาการโอ้อวดใด ๆ เขาตอบรับด้วยความชื่นชม ไม่เสแสร้ง

ขันติเป็นปฏิปทาที่สำคัญ โดยเฉพาะในแง่การเป็นองค์ประกอบของสันติ ขันติคือคุณลักษณะของการแบกรับความยากลำบากนานา แต่มิได้หมายความว่ามีขีดความสามารถในการรับความเจ็บปวดได้สูงกว่า ผู้มีขันติย่อมมีความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเยี่ยงคนธรรมดา หรือยิ่งกว่าด้วยซ้ำไป เพราะผู้มีขันติพึงอ่อนไหวต่อสิ่งรบกวนทุกประการ รับรู้ได้ถึงสิ่งอันกวนใจและแลเห็นสิ่งที่ผิดพลาด ทว่ามิได้ถือสิ่งเหล่านั้นเป็นการคุกคามโดยส่วนตัว (does not take it personally) อีกประการหนึ่ง เวลาเราพูดถึงคนที่มีขันติ เรามักจะหมายถึงคนที่ไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับปัญหา เสมือนคนที่อยู่พ้นไปจากปัญหา สมมุติว่าคนเช่นนี้นั่งรถมากับเรา หากเกิดรถติดหรือมีมลพิษทางอากาศ เขาไม่รู้สึกทรมาน ยังคงยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างมีความสุข แต่การมี “ขันติ” เช่นนี้นับว่าฉาบฉวย ผู้มีขันติพึงรับรู้ปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก แต่ถือว่าสิ่งเหล่านี้คือข้อเท็จจริงของชีวิต เขามิได้หวั่นไหวไปกับปัญหาเหล่านี้ ความไม่หวั่นไหวนี้ต้องอาศัยสติปัญญาและความเว้นว่างภายใน ปัญญานั้นจะไม่ถูกกำหนดด้วยความเร่งรีบ เมื่อไม่มีความเร่งรีบ ปัญญาจะเป็นการเข้าอกเข้าใจถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ มีที่ว่างให้สัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ มีที่ว่างพอที่จะชื่นชมมัน เราจะอดทนยิ่งขึ้นเมื่อรู้ซึ้งถึงสิ่งทั้งหมด และด้วยเหตุแห่งความอดทนเช่นนี้เอง เราจะเป็นผู้มีเหตุมีผล ทรงปัญญาและมีเหตุผล ขณะเดียวกันก็ยังรู้ร้อนรู้หนาว รู้ความทุกข์ และปรารถนาให้ตนเองและผู้อื่นพ้นไปจากความทุกข์ ความอดทนอาจเป็นการยับยั้งชั่งใจไม่ให้ด่วนโกรธ ด่วนตัดสิน ด่วนตอบโต้ และทำให้มีเวลาหาข้อมูลและรับฟังซึ่งกันและกันได้รอบด้านขึ้น

ความขัดแย้งในสังคมไทยมีความซับซ้อนมาก การตีความว่าเป็นความขัดแย้งแบบทวิลักษณ์ ระหว่างเทพกับมาร เทพเป็นฝ่ายถูก มารเป็นฝ่ายผิด ใครไม่อยู่ฝ่ายเทพถือเป็นมารที่ต้องจัดการความคิดให้สิ้นไป ถึงอย่างไร เทพที่อยู่ฝ่ายธรรม จะต้องชนะฝ่ายอธรรมในที่สุด การตีความเช่นนี้ง่ายเกินไป ความเรียบง่ายที่แท้อยู่อีกด้านหนึ่งของความซับซ้อน นั่นคือ การมองเห็นความเป็นไปได้ที่คนส่วนใหญ่จะสามารถโอบรับ “ศัตรู” ทางความคิด เพราะเขาก็อยู่ในชุมชนทางธรรมเช่นเดียวกับเรา เมื่อนั้น สันติวิธีและขันติจะชี้ชวนให้เราเดินไปบนเส้นทางแห่งสันติด้วยกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image