สุจิตต์ วงษ์เทศ : ผู้ดีกรุงเทพฯ สมัยก่อน รังเกียจเหยียดหยามไม่ดูลิเก

ลิเกเป็นการแสดงของชาวบ้าน ผู้ดีกรุงเทพฯ สมัยก่อนดูถูกเหยียดหยาม

ยุคอยุธยา, ยุคสุโขทัย, ยุคธนบุรี ยังไม่มีลิเก เพราะลิเกมีครั้งแรกสมัย ร.5 ยุครัตนโกสินทร์

มักพูดเป็นสูตรสำเร็จรูปตามๆ กันอย่างเดาๆ ว่าลิเกเป็นการแสดงเก่าแก่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถ้าคนไหนคลั่งมากก็ย้อนได้ถึงครั้งกรุงสุโขทัย ทั้งนี้ว่าไปตามความเคยชินว่า “คิดอะไรไม่ออก บอกพ่อขุนกรุงสุโขทัยเอาไว้ก่อน ครูสอนไว้”

ลิเก มีครั้งแรกสมัย ร.5 นอกจากมีพยานหลักฐานเป็นลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังมีข้อเขียนของเจ้านายเก่าๆ จะคัดมาโดยสรุป ต่อไปนี้

บ่อเกิดของลิเก

Advertisement

โดย ว. ชยางกูร

[คัดอย่างสรุปโดยจัดย่อหน้าใหม่ จาก

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มิ.ย.-ส.ค. 2510 หน้า 41-46]

Advertisement

“คำว่าลิเกนั้นไม่เป็นที่นิยมชมชอบของชนชั้นที่เรียกว่า ‘ผู้ดี’ มาแต่ไหนๆ แล้ว ถึงเมื่อสมัยเริ่มมี ‘ลิเกทรงเครื่อง’ พวกผู้ดีทั้งหญิงและชายก็มิใคร่มีใครสนใจในมหรสพอย่างนี้นัก เว้นเสียแต่พวกเด็กๆ และหญิงสาวกับหญิงชรา

เด็กชอบเพราะเห็นว่าเป็นของแปลก และคนที่แปลกๆ ก็ชอบมาก จนถึงขนานนามใหม่ว่า ‘นาฏะดนตรี’ แต่ฝ่ายสตรีเพศนั้นเล่าว่าตามธรรมชาติก็คือคนแก่ชอบพระเอกจนถึงหลงใหลคลั่งไคล้ไปเลย ส่วนสาวๆ ก็มีบ้างที่ไปติดพระเอกหนุ่มๆ รูปหล่อของลิเกเหมือนกัน”

 

“ลิเกมิใช่เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยเลย เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 5 เท่านั้นเอง ข้อพิสูจน์นั้นหาไม่ยาก ถ้าท่านขยันค้น โปรดเปิดดูพงศาวดารไทยตั้งแต่ต้นลงมา ท่านจะไม่พบคำว่า – ลิเก ยี่เก หรือดิเก เลยเป็นอันขาด”

 

“ข้าพเจ้าได้ดูลิเกเป็นครั้งแรกที่วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร คิดตามอายุของข้าพเจ้า คงจะเป็นราว ร.ศ. 108 ลิเกวงนี้เป็นของจางวางแย้ม (นามสกุลยังไม่มี) เป็นจางวางในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

วิธีดำเนินการเล่นนั้นหาเหมือนละครไม่ คือไม่มีพระเอก นางเอก เล่นแสดงเป็นชุดๆ เรียกว่า ชุดสิบสองภาษา เครื่องประกอบดนตรีก็มีแต่รำมะนา (กลองหน้าเดียว) ใช้ตีให้จังหวะในการร้องเท่านั้นเอง

การร้องนั้นร้องทำนองลิเกเป็นพิเศษ บรรยายเรื่องราวของชุดนั้นๆ เมื่อโหมโรงด้วยการร้องเกริ่นพอสมควรแล้วแขกก็ออกมาสัมภาษณ์พวกสิบสองภาษา มีการเจรจาด้วยข้อความตลกคะนองหรือบางทีก็มีหยาบโลนบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอนาจารเอาทีเดียว ลิเกเลิกก็เมื่อแสดงจบสิบสองภาษาแล้ว

ลิเกจางวางแย้ม เห็นจะเป็นวงแรกซึ่งเล่นมหรสพเช่นนี้ในประเทศไทย เพราะไม่ปรากฏว่ามีวงอื่นอีกต่อมาเป็นเวลานาน โหมโรงเสร็จแล้ว แขก (ของวงลิเก) ก็ออกมาสนทนากับหัวหน้าชุด ถ้าลองสังเกตดูจะทราบว่าแขกที่ออกมานั้นใช้ภาษาแขกถึงสามภาษาคือ

ภาษาฮินดูในคำว่า ฮัชฉาแฮ่ แปลได้ความว่า สวัสดี และแขกว่าอะไรต่อไปเราได้ยินเป็น เต๋าระกินหนา แต่คำว่าเต๋าระกินหนานั้นแขกอะไรก็แปลไม่ได้เพราะเราฟังไม่ได้ศัพท์จับเอามากระเดียด

อีกคำหนึ่งคืออาบัง คำนั้นแปลว่าพี่ชายในภาษาชวามลายู

อีกภาษาหนึ่งที่แขก (ลิเก) ใช้คือภาษาทมิฬ ซึ่งอยู่ภาคใต้ของประเทศอินเดีย อันเป็นประเทศที่เกิดของพระนางมัทรี ภาษาทมิฬนี้ฟังเสียงได้ว่า อะเหลวังกา ลักกะตาสิงกะโป คงแปลว่าเชิญมาลักกะตา สิงกะโป สองคำหลังนั้นคือเมืองที่เราเรียกว่า กะลักกะตา และ สิงคโปร์ เป็นภาษาแขกฮินดูทั้งคู่”

 

เป็นอันว่าแขกในลิเกนั้นใช้ภาษาแขกถึงสามภาษา สักแต่ว่าอะไรเรียกว่าคำแขก เป็นใช้เอามารวมกันได้

ในลิเกชุดสิบสองภาษานี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่าชุดที่เราชอบเอามาเล่นมาร้องมากที่สุดคือ ชุดมอญ ตอนพระยาน้อยชมตลาด ขึ้นต้นร้องเกริ่นว่า ‘พระสุริยงส่องฟ้าพระสุริยาเยี่ยมอัมพร ฝ่ายสมิงพระยามอญ ให้เร่าร้อนในอุรา’ ครั้นแล้วพระยาน้อยก็เดินกรีดกรายไปช้าๆ จนมาถึงร้านขายหมากขายพลู จึงมีคำบรรยายว่า ‘ถึงร้านขายหมากพลู นักเลงเจ้าชู้ดูดีดดิ้น ขายหมากไม่อยากกิน เอานมออกปลิ้นให้ชายดู’ ในขณะนั้น แขกก็เดินตามมาด้วย คราวนั้นพวกแม่ค้าก็โจมตีอาบังเข้าบ้าง แม่ค้าถามอาบู ‘อาบังรักที่ตรงไหน จงบอกไปเสียเถิดพี่ รักเนื้อหรือรักนม หรือรักผ้าห่มของน้องนี้’ พี่บังตอบว่า ‘อะไรมันไม่สำคัญ เหมือนน้ำมันตานี’ลูกคู่ร้องรับว่า ‘เยลันยา ตูหนาลั้นกั่น อะไรมันไม่มันสำคัญเหมือนน้ำมันตานี’”

เมื่อจางวางแย้มออกโรงมาได้สักหน่อยก็เกิดมีผู้เอาอย่าง มีลิเกขึ้นอีกหลายโรง พระยาเพ็ชรปาณีตั้งโรงอยู่นอกกำแพงพระนคร ตรงหน้าวัดราชนัดดา ประชาชนเรียกว่า ลิเกพระยาเพ็ชร

พระยาเพ็ชรปาณีได้ดัดแผลงจากของเดิม โดยมีเครื่องแต่งตัวขึ้นบ้าง มีพระ มีนาง และตัวลิเกต่างก็มีบทร้องและเล่นเป็นเรื่องราวตามเรื่องวงศ์ๆ จักรๆ จากหนังสือซึ่งหลังปกมีปรากฏว่า ‘เล่มละสลึงพึงรู้ท่านผู้ซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะหนักหนา ฯลฯ’ เรื่องที่ดื่นอยู่ในเวลานั้นก็คือ จันทโครบ และลักษณวงศ์ และอื่นๆ

ตั้งแต่พระยาเพ็ชรปาณีได้พัฒนามาถึงมีลิเกลูกบท ก็เกือบใกล้ ‘นาฏะดนตรี’ อยู่แล้ว คือ มีปี่พาทย์ลาดตะโพนและดนตรีประกอบคล้ายละคร ผิดกันแต่เพียงตัวลิเก ร้องเอง ไม่มีใครบอกบท

ถัดพระยาเพ็ชรปาณีมาก็มีลิเกนาวาตรี หลวงสันทนาการกิจ (โหมด) ประชาชนเรียกว่าลิเกวิกหลวงสัน ตั้งอยู่ตำบลสะพานหัน

ถัดจากวิกหลวงสันมาก็มี ลิเกวงหม่อมสุภาพ ซึ่งเป็นวงสุดท้ายที่ข้าพเจ้ารู้จัก

จำเนียรกาลนานมาก็มีราษฎรตั้งคณะยี่เกขึ้นอีกหลายคณะ และการพัฒนาก็ตามมาอย่างรวดเร็ว จนถึงบางวงมีพระเอก (ชายจริง) และนางเอก (หญิงแท้) เมื่อลิเกได้บรรลุถึงขีดมาตรฐานอันสูงส่ง ท่านที่คิดแปลกๆ ก็สถาปนาขึ้นเป็น ‘นาฏะดนตรี’ หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ‘ลิเกทรงเครื่อง’

นอกจากลิเกหรือยี่เกจะเป็นที่ติเตียนของชนชั้นสูงแล้ว ปวงปราชญ์ยังเห็นว่ามันเป็นสิ่งชั่ว เปรียบด้วย ‘ศีลสุรา’ เสียอีกด้วย

‘น.ม.ส.’ ทรงนิพนธ์ฉันท์ไว้บทหนึ่ง เย้า (Parody) หนังสือ (ตำรา) ‘เบ็ญจศีล เบ็ญจธรรม’ ในสมัยเมื่อมีหนังสือ ลักวิทยา (ประมาณ ร.ศ. 120) ขอคัดมาให้ดู เพียงศีลสุราดังต่อไปนี้

ลิเกวิเชียรหัตถ์          และบุราณละครโครม

คาวีประลองโลม            นุชะคันธะมาลี

เหล่านี้สุราเม                 รยะเมาประมาณมี

ยิ่งเหล้าบรั่นดี                ศิระกลิ้งวิหิงสา

 

ลิเกลามกตลกเล่น

หนังสือ ร้องรำทำเพลง (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532) เนื้อหาสุดท้าย หน้า 220 มีดังนี้

แม้ “ลิเก” ที่ชาวบ้านพัฒนาแบบแผนขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตน เช่น แต่งเครื่องให้สวยงาม เล่นให้ตลกคะนองสนุกสนาน และให้ทันอกทันใจรวมทั้งด้นด้วยเพลงรานิเกลิง (ซึ่งนายดอกดิน เสือสง่า “กวีชาวบ้าน” ปรุงขึ้นมา) ฯลฯ แต่ลิเกก็ถูกเหยียดลงว่า

อันลิเกลามกตลกเล่น         รำเต้าสิ้นอายขายหน้า

ไม่ควรจดจำเป็นตำรา         มันจะพาเสียคนป่นปี้เอย

(พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image