คาซัคสถานกับองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO)

ประเทศคาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลใหญ่ที่สุดในโลกคือมีเนื้อที่ประมาณ 2 ล้าน 7 แสนตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ครอบคลุมกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียกลางและจัดเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก คือใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 5 เท่า แต่มีพื้นที่กึ่งทะเลทรายอยู่มาก จึงมีประชากรน้อยเพียง 19 ล้านคนเท่านั้น จัดว่ามีจำนวนประชากรเป็นอันดับที่ 64 ของโลก ประเทศคาซัคสถานมีพรมแดนทิศเหนือติดกับรัสเซีย ทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และทิศใต้มีพรมแดนติดกับประเทศคีร์กีซสถาน ประเทศอุซเบกิสถาน และประเทศเติร์กเมนิสถาน และมีชายฝั่งบนทะเลสาบแคสเปียนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ประเทศคาซัคสถานมีแร่ธาตุสำคัญ อาทิ ยูเรเนียม โครเมียม ตะกั่วและสังกะสี เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีแมงกานีส ทองแดง ถ่านหิน ทองคำและเพชรอีกด้วย นอกจากนี้ คาซัคสถานยังมีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 11 ของโลก กล่าวคือมีน้ำมันดิบสำรองอยู่ถึง 3% ของปริมาณน้ำมันสำรองของทั้งโลก
คาซัคสถานจึงเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดและร่ำรวยที่สุดในบรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางที่แยกตัวมาจากอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อ พ.ศ.2534 มีเมืองหลวงดั้งเดิมคือเมืองอัลมาตี ซึ่งเป็นเมืองที่มีการประท้วงจลาจลอยู่ในขณะนี้ ต่อมาย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองอัสตานา ซึ่งเมื่อ พ.ศ.2562 ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงนูร์ซุลตัน เพื่อเอาใจ นายนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีเผด็จการคนแรกของประเทศคาซัคสถานผู้ครองอำนาจร่วม 30 ปี และได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ พ.ศ.2562 แต่ยังคงรั้งตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งยังคงมีอำนาจอยู่เบื้องหลังคณะผู้ปกครองประเทศรุ่นใหม่ที่มี นาย
คาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ อดีตนักการทูตขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศต่อไป

ประเทศคาซัคสถานเพิ่งจะจัดงานฉลองครบรอบ 30 ปี ของการประกาศเอกราชอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมานี้เอง แต่ทันทีที่คาซัคสถานผ่านเข้าสู่วันแรกของปีใหม่ พ.ศ.2565 ประชาชนชาวคาซัคต้องเจอราคาก๊าซแอลพีจีแพงขึ้นอย่างเฉียบพลันเป็นสองเท่าในคืนเดียว โดยก๊าซแอลพีจีเป็นก๊าซที่ใช้กับรถยนต์เหมือนกับรถแท็กซี่ของเมืองไทยสมัยก่อนและใช้ทำความอบอุ่นให้กับครัวเรือนส่วนใหญ่ในช่วงฤดูหนาว ถึงร้อยละ 70 ถึง 90 ของทั้งประเทศคาซัคสถานที่ต้องใช้ก๊าซแอลพีจีในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ประเทศคาซัคสถานยังมีคลังสำรองของก๊าซแอลพีจีและน้ำมันปริมาณมากอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุทำให้ประชาชนพร้อมใจกันลงถนนประท้วงรัฐบาล โดยต้นกำเนิดการประท้วงอยู่ที่เมืองฌานาเออเซนอันเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำมันที่สำคัญของประเทศคาซัคสถานในภาคตะวันตก โดยที่เมืองนี้นี่เองเมื่อ 10 ปีก่อนก็เป็นเมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นประท้วงการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงคนงาน ก่อนที่ทางการจะปราบปรามลงและแก้ไขสถานการณ์ได้ ดังนั้น เมืองนี้จึงมีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในการสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐในภาคประชาชนไปโดยปริยาย แต่ครั้งนี้การประท้วงกลายเป็นจลาจลลุกลามไปทั่วประเทศ

ผลของการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้ทำให้บ้านพักประธานาธิบดีในนครอัลมาตี ถูกทำลายพังเสียหายยับเยิน อาคารสำนักงานต่างๆ ของภาครัฐถูกจุดไฟเผา มีรายงานผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายสิบคน ทั้งฝั่งประชาชนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง สำหรับผู้ชุมนุมมากกว่า 2,200 คน ถูกจับกุม นอกจากนี้ เหตุประท้วงยังทำให้นครอัลมาตีต้องปิดสนามบิน เพราะถูกผู้ประท้วงบุกยึด ก่อนที่ทหารจะยึดกลับคืนมาได้สำเร็จ

Advertisement

ประธานาธิบดีโตกาเยฟจึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ตามมาด้วยการประกาศลาออกของคณะรัฐมนตรีตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม โดยประธานาธิบดีโตกาเยฟเองยังได้ให้คำมั่นกับประชาชนว่าจะตรึงราคาก๊าซแอลพีจีไปอีก 180 วัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

เป็นที่น่าสังเกตคือ ท่าทีของประธานาธิบดีโตกาเยฟที่ในระยะแรกนั้นยังมีความประนีประนอมโดยให้คณะรัฐมนตรีลาออกยกชุด แต่ต่อมากลับเปลี่ยนท่าทีเป็นฉวยโอกาสรวบอำนาจเข้าตัวเพียงคนเดียวโดยเบื้องต้นได้กล่าวหาว่าเหตุไม่สงบทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นจากการสมคบคิด และการบ่อนทำลายโดยแหล่งเงินทุนจากภายนอก รวมไปถึงเริ่มใช้คำว่าการก่อการร้ายกับการประท้วงหลายครั้ง และทำการปราบปรามอย่างรุนแรงและเด็ดขาด ที่สำคัญที่สุดคือการปลด นายนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ อดีตผู้นำประเทศคนแรกออกจากตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ถือกันว่าสถาปนาขึ้น เพื่อรองรับนายนาซาร์บาเยฟที่ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลเบื้องหลังของผู้นำประเทศรุ่นต่อมา โดยนายนาซาร์บาเยฟดำรงตำแหน่งนี้มาร่วม 30 ปี คู่กับตำแหน่งประธานาธิบดี แม้จะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงเรื่อยมา จนกระทั่งโดนปลดเมื่อ 5 มกราคม ปีนี้เอง

ไม้เด็ดในการรวบอำนาจเข้าตัวเองของประธานาธิบดีโตกาเยฟคือการร้องขอกำลังทหารจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security Treaty Organization, CSTO) เป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาลของบรรดาประเทศที่ในอดีตคือสหภาพโซเวียต ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2435 ปัจจุบันมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่รัสเซีย อาร์เมเนีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน ได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมคือสนธิสัญญาทาชเคนต์ โดยมีอีกสามประเทศคือ
อาเซอร์ไบจาน เบลารุส และจอร์เจีย เข้าร่วมภายหลัง แต่หลังจากปี พ.ศ.2545 ประเทศอาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และอาร์เมเนีย ไม่ต่ออายุสนธิสัญญาจึงเหลืออีก 6 ประเทศดังกล่าวข้างต้นที่ยังคงรวมกันอยู่เป็นองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารแต่ก็มิได้มีการเคลื่อนไหวอะไรมากนักตลอดเวลาร่วม 30 ปีของการก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน (CSTO) ขึ้น

Advertisement

ดังนั้น การนำทหารจากภายนอกประเทศมาช่วยค้ำจุนอำนาจของผู้เผด็จการคนใหม่ของประเทศ
คาซัคสถานดูจะสมประโยชน์กับประเทศรัสเซีย ซึ่งต้องการที่จะสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นเป็นบูรณาการสำหรับดินแดนของสหภาพโซเวียตเดิมจากการคุกคามขององค์การนาโตและสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัสเซียกำลังต่อต้านอย่างแข็งขันอยู่ทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image