ปฏิรูปหลักสูตร…การศึกษาไทยจะไปทางไหน (1)

ผลจากรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน พ.ศ.2540 ทำให้เกิดกระแสการปฏิรูปการศึกษาขึ้นในสังคมไทยอีกครั้ง จนนำมาซึ่งกฎหมายการศึกษาฉบับสำคัญคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยังใช้บังคับมาจนถึงวันนี้

23 ปีผ่านมา ปัญหาการศึกษาไทยทั้งด้านความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาส และคุณภาพ ยังเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายวิตกกังวล เพราะไม่ว่าจะวัดด้วยสัมฤทธิผลทางวิชาการ ผลการทดสอบคะแนนโอเน็ต ไอเน็ต
วีเน็ต ยูเน็ต GAT PAT ในระดับประเทศ

หรือโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิก ในระดับสากล Pisa (Programme for International Student Assessment)

หรือวัดจากพฤติกรรม ความคิดอ่าน การปฏิบัติดำรงตน ทักษะความสามารถด้านอาชีพและทักษะชีวิต ของเด็กนักเรียน ไม่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร

Advertisement

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้อถกเถียงถึงสาเหตุและทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทยยังดังอึงคะนึงอยู่ตลอดเวลาว่าระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงาน
ทางการศึกษา ปฏิรูปการบริหารจัดการซึ่งหมายรวมถึงการกระจายอำนาจให้ลงไปถึงระดับโรงเรียน

การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวหนุนเสริม การปฏิรูปกระบวนการผลิต การใช้และการพัฒนาครู การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ควรวางจุดเน้นและทุ่มเททรัพยากรลงไปในแนวทางใดก่อนหลัง จะได้ผลคุ้มค่ายิ่งกว่ากัน

วิวาทะประเด็นนี้ไม่มีวันจบสิ้น จนกระทั่งมีการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ พ.ศ.2565 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อวางโครงสร้างการบริหารการศึกษากันอีกครั้ง

Advertisement

ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวที่ดำเนินควบคู่กันมาเช่นกัน แต่เกิดปัญหาอุปสรรคระหว่างทางเรื่อยมา คือ การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ในที่นี้จะเน้นถึงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก

หลักสูตรการศึกษาเป็นสิ่งบ่งบอกว่านักเรียนในแต่ละระดับ แต่ละประเภทการศึกษา ควรเรียนรู้อะไร อย่างไร แค่ไหนในระยะเวลาเท่าใด ถึงทำให้เขามีความรู้ ความสามารถ มีทักษะครบถ้วนทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เพื่อเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีความเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา อารมณ์ และสังคม

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ยังใช้อยู่ขณะนี้คือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 หลัง พ.ร.บ.การศึกษา 2542 ใช้บังคับ แสดงว่ากระบวนการพัฒนาหลักสูตรจนกระทั่งออกใช้เป็นเวลานานถึง 9 ปี ขณะที่เกณฑ์ที่ควรจะเป็นอย่างน้อยต้องทบทวนใหม่ภายใน 5 ปี จากหลักสูตรที่ใช้อยู่เดิม

ถ้านับเวลาตั้งแต่เริ่มแรกมาจนถึงขณะนี้ หลักสูตรแกนกลาง 2551 ใช้มาแล้วเป็นเวลานานถึง 14 ปี สถานการณ์แวดล้อมทั้งในประเทศและทางสากลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จึงเป็นเหตุให้มีความพยายามปรับปรุงให้สมสมัยเกิดขึ้นเรื่อยมา

จนถึงขณะนี้การเปลี่ยนแปลงกำลังดำเนินไปอีกครั้งในนามของ หลักสูตรฐานสมรรถนะ เนื้อในทั้งหลักการแนวคิดพื้นฐานที่มา เป้าหมาย สมรรถนะที่ควรจะมีของนักเรียน กระบวนการพัฒนาหลักสูตรและผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครูผู้ใช้หลักสูตร เป็นอย่างไร แตกต่างจากหลักสูตร พ.ศ.2551 ตรงไหน ค่อยว่ากันต่อไป

ป ระเด็นที่ผมอยากชวนสนทนาสาธารณะในเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง ก็คือ ชะตากรรมของหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เริ่มตั้งไข่แล้วจะดำเนินต่อไปและจบอย่างไร รุ่งโรจน์ เรืองรองใช้ได้อย่างราบรื่น หรือจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างอดีตที่ผ่านมา การปรับปรุงหยุดชะงักลงจนกระทั่งเลิกไปในที่สุด

ตัวอย่างจากการปฏิรูปครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2556 สมัยนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างหลักสูตรฯ

มีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานด้วยตัวเอง คณะกรรมการ และคณะทำงานชุดต่างๆ ดำเนินงานคืบหน้าเป็นรูปร่างขึ้นมาตามลำดับ แต่ก็สะดุดหยุดลงภายหลังเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

รัฐบาลต่อมาในช่วง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรววศึกษาธิการ มีการ
แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ วันที่ 9 ธันวาคม 2558 มีคณะกรรมการกำหนดกรอบเนื้อหา กรรมการดำเนินงานพัฒนา ประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ หลากหลาย แต่ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ต้องสะดุดหยุดลงในเวลาต่อมา

ภายหลังการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2560 เกิดมีข้อเสนอและความพยายามปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขึ้นพื้นฐานอีกครั้ง โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เมื่อ พ.ศ.2562

กระบวนการดำเนินมาจนกระทั่งประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ปี 2565 ต่อมามีการทบทวน ตั้งคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา โดยมี นางสาว
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการอำนวยการ มีนางสิริกร มณีรินทร์
นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน เป็นประธาน

ขณะนี้หลักสูตรอยู่ระหว่างการทดลองใช้โดยการนำร่องกับโรงเรียนใน 8 จังหวัด ซึ่งเป็นเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส รวม 226 โรง ก่อนขยายต่อไปทั่วประเทศ ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน

ผลเป็นอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นระหว่างทางบ้าง

ครับ พฤหัสหน้าค่อยสนทนาสาธารณะกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image