‘กิเลส’ทำให้คนตายทั้งเป็น??

หลังหรรษาปีใหม่ได้เพียงสัปดาห์ วันที่ 7 มกราคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. นั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ครั้งที่ 1 ผ่านระบบวิดีโอ
คอนเฟอเรนซ์ นอกจากขอบคุณ ศบค.ที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มกำลัง ทำให้ไทยผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตในปี 2563-2564 และในการจัดงานช่วงปีใหม่ได้รับความร่วมมือตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง

แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ยุติ เพราะหลังปีใหม่ไม่กี่วันกลับมีการแพร่ระบาดของไวรัส
สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ทำให้หลายประเทศทั่วโลกนำมาตรการเข้มข้นกลับมาใช้อีกครั้ง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า “สายพันธุ์โอมิครอน” ติดเชื้อได้เร็ว แม้มีความรุนแรงน้อยกว่า แต่ก็ต้องไม่ประมาท ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขทั้งเรื่องวัคซีน ยาเวชภัณฑ์ การครองเตียงต่างๆ ให้พร้อม ชุดตรวจ ATK รวมถึงยารักษาที่จำเป็นต้องพร้อม และเพียงพอ รวมถึงโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย HI/CI ในพื้นที่ หากมีการระบาดรุนแรง เพื่อช่วยดูแลประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และเร่งรัดแผนการ “ฉีดวัคซีน” ให้ครอบคลุมได้มากที่สุด

รายงานสถานการณ์โควิด-19 พบว่า จากปลายปี 30-31 ธันวาคม 2564 ผู้ติดเชื้อใหม่
2 พันเศษ ณ วันที่ 7 มกราคม 2565 พุ่งขึ้น 8.5 พัน
เสียชีวิต 19 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม ตั้งแต่ปี 2563 รวม 21,799 ราย ยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 ทั้งสิ้นมากกว่าหนึ่งร้อยล้านโดส (105,419,287 โดส) ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 300,800,312 ราย เสียชีวิตสะสม 5,419,717 ราย

Advertisement

สำหรับประเทศไทยมีวางฉากทัศน์ (Scenario) ว่าหากประชาชนหย่อนยานการปฏิบัติตัว ปลายเดือนมกราคม หรือต้นกุมภาพันธ์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งถึง 3 หมื่นรายต่อวัน กระทรวงสาธารณสุข โดยรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ปรับระดับการเตือนภัยขึ้นเป็นระดับ 4 เข้มข้น “ป้องกันดีกว่าตามแก้”

หากภาวะวิกฤตโควิด-19 รุนแรงซ้ำเติมอีกรอบปัญหาการเจ็บป่วย ตาย วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี การเมือง ก็จะซ้ำเติมมากขึ้น ส่งผลให้คนทุกข์ทั้งกายและใจ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรง

นอกจากความรุนแรงทางร่างกายแล้ว ภาวะจิตใจก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ซึ่งการบีบรัดของสภาพแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะ “โทสะ หรือความโกรธ” ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อใด จะรู้จักเมื่อนั้นว่าความใจร้อนเกิดขึ้นพร้อมกันทันที “ยิ่งกว่าความโลภ หรือความหลง”

มีตัวอย่างที่เกิดกับทุกคนอยู่ทุกวัน คือ “คนขับรถโกรธคนเดินถนน คนเดินถนนโกรธคนขับรถ” แม้คนขับรถจะต้องพบคนเดินถนนทุกวัน วันละหลายครั้ง แต่ก็ต้องเกิดโทสะกันและกันอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็นของธรรมดา แต่กระนั้นทั้งคนขับรถและคนเดินถนนก็คงยอมรับว่าเมื่อเกิดโทสะทุกครั้งก็ร้อนเร่าใจทุกครั้ง นี่เป็นผลของความโกรธที่จะต้องเกิดคู่ไปกับความโกรธเสมอ ไม่มีแยกจากกัน ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อใด “ความร้อนใจ” ไม่สบายใจ ก็ต้องเกิดขึ้นเมื่อนั้นเสมอ

สามัญชนทุกคนย่อมมีความโกรธ แต่ความโกรธของทุกคนไม่เท่ากันนี้เป็นที่รู้กังวลอยู่
เห็นกันอยู่ ติกันอยู่ ชมกันอยู่ บางคนโกรธง่าย โกรธแรงเป็นคนที่มี “กรรม” และเรียกคนประเภทหลังที่โกรธง่ายว่าเป็นคนมี “บุญ”

เหตุผลก็น่าจะรู้กันอยู่ คือ ความโกรธไม่ทำให้ใครเป็นสุข มีแต่ทำให้เป็นทุกข์ ยิ่งโกรธง่าย โกรธแรง ก็ยิ่งเป็นทุกข์บ่อย เป็นทุกข์มาก ลองดูใจตนเองเสียบ้าง ก็จะเห็นความแตกต่างของ “จิตใจ” เวลาโกรธกับเวลาไม่โกรธ เช่นในขณะนี้ หากผู้ใดกำลังโกรธอยู่ก็ให้หยุดคิดถึงเรื่อง หรือบุคคลที่ทำให้เกิดเสียสักระยะ ย้อนกลับเข้ามาดูใจตนเอง เมื่อกำลังโกรธดูเข้ามาก็ย่อมจะเห็นว่ากำลังโกรธ ก็ดูให้เห็นความร้อน พลุ่งพล่าน
อยู่ในใจหรือไม่ โกรธมากก็ร้อนมาก โกรธน้อยก็ร้อนน้อย ดูลงอีกว่าในความร้อนนั้นทำให้
เดือดร้อนหรือไม่ หรือทำให้สบาย? ดูกันจริงๆ จะพบว่า ความร้อนทำให้เดือดร้อนไม่ทำให้สบาย เมื่อได้คำตอบเช่นนี้แล้ว “ใจเรา จิตเรา” ตัวเราจะเลือกเดินทางใด?

เราก็คงทราบกันดีอยู่แล้วข้อที่ว่า “จิตที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกต้อง” จะต้องเป็นจิตที่มีความสงบเยือกเย็นเป็นสุข และมีปัญญารู้ในสิ่งที่ควร เห็นในสิ่งที่ควร เช่น รู้ความถูกความผิด ความควรไม่ควร และรู้วิธีปฏิบัติในสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้อง หมายความว่ารู้วิธีปฏิบัติเพื่อแก้ไขหรือส่งเสริมเรื่องทั้งหลาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจอารมณ์กิเลส เช่น ไม่จำเป็นต้องโลภจึงจะขยันหมั่นเพียร ประกอบอาชีพเพื่อให้ได้ทรัพย์สินเงินทอง ไม่จำเป็นต้องโกรธจึงจะว่ากล่าวตักเตือน หรือลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ไม่จำเป็นต้องหลงจึงจะทำเสมือนไม่รู้ไม่เห็นสิ่งที่ไม่ควรเห็นเสียได้

กำลังที่เกิดจากกิเลส คือ โลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ไม่ใช่อย่างเดียวกับการปฏิบัติอย่างถูกต้องที่เกิดจากปัญญาอันเห็นถูกเห็นผิดในเรื่องทั้งหลาย ทั้งยังแตกต่างจากกันเป็นอันมาก กำลังที่เกิดแล้วเพราะกิเลส ทำให้การปฏิบัติต่อเรื่องราวทั้งหลายเป็นไปอย่างผิดพลาดโดยมาก แต่ความรู้การควรไม่ควรที่เกิดจาก “ปัญญา” ทำให้การปฏิบัติต่อเรื่องราวทั้งหลายเป็นไปอย่างถูกต้องได้ผิดพลาดเมื่อต้องการปฏิบัติต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหลายให้ได้ถูกต้องเสมอ จึงจำเป็นต้องบริหารจิตตามหลักของพระพุทธศาสนาให้ “กิเลส” ลดน้อยลง อารมณ์ลดน้อยลง จิตใจด้วยเยือกเย็น และปัญญาเจริญยิ่งขึ้น

“กิ เลส” คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นโรคร้ายทางใจที่มิได้น้อยไปกว่าโรคร้ายทางกาย ที่ร้ายที่สุดเมื่อโรคร้ายเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าทางกายหรือทางใจจำเป็นจะต้องรักษาเยียวยา มิฉะนั้นโรคมันก็จะกำเริบ ทำให้ถึง “ตาย” ถ้าเป็นโรคทางกาย และถึงทำให้เสียผู้เสียคนนั้นเป็นโรคทางใจ คนที่เสียแล้วก็มีคนที่ตายแล้วในทาง “ชื่อเสียง” และ “ทางคุณงามความดี” จะกล่าวว่า โรคร้ายทางใจมีโทษร้ายแรงยิ่งกว่าโรคทางกายก็ไม่ผิด เพราะผู้ตายตายจริงๆ ด้วยโรคทางกาย ดีกว่าผู้ตายแล้วในทาง “ชื่อเสียง” และคุณงามความดีด้วยโรคร้ายทางใจ

“กิเลส” คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ไม่ได้รับการขัดเกลาแก้ไข จะทำให้เสียผู้เสียคน หรือตายทั้งเป็นได้จริง ผู้ที่ไม่ประสงค์จะได้ชื่อว่าเป็นคนตายทั้งเป็น คือ เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ คุณงามความดี จึงจำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติขัดเกลาแก้ไข ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่มีอยู่ในใจของสามัญชนทุกคน แตกต่างกันแต่เพียงมากหรือน้อยเท่านั้น

การบริหารทางจิตใจสำหรับผู้ใหญ่ ถึงเรื่อง “โทสะ” หรือความโกรธ และวิธีปฏิบัติขัดเกลาแก้ไขมิให้โรคร้ายนี้กำเริบยิ่งขึ้น จนถึงเป็นอันตรายร้ายแรงและได้รู้แล้วว่าต้นเหตุที่แท้จริงของโทสะมิใช่อยู่ที่ “รูป” มิใช่อยู่ที่ตา มิใช่อยู่ที่เสียง มิใช่อยู่ที่หู มิใช่อยู่ที่เรื่อง มิใช่อยู่ที่การรู้เรื่อง แต่อยู่ที่ “ความคิดปรุง” หรือ “ปรุงคิด” ดังนั้น การควบคุม “ความคิด” ที่ถูกต้องมิให้เป็นเหตุนำมาทำให้เกิด “โทสะ” จึงเป็นการแก้ที่ “ต้นเหตุ” เป็นการแก้ที่ได้ผล

พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีควบคุม “ความคิด” ให้อยู่ในอำนาจใจไว้ว่า ถ้ามี “สติ” รู้ว่ากำลังคิดในเรื่องไม่ควรคิด ซึ่งเมื่อกำลังพูดถึงการแก้โทสะก็หมายความได้ถึงเรื่องที่จะทำให้ “โทสะ” เกิดหรือเกิดอยู่แล้วแต่น้อยให้เพิ่มมากขึ้น เมื่อ “สติ” รู้ว่ากำลังคิดเช่นนั้น ให้เปลี่ยนเรื่องคิดเสีย เช่น กำลังคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับ “นาย ก” กำลังเกิดโทสะเกี่ยวกับพวก ก็ให้เปลี่ยนเป็นคิดเรื่องเกี่ยวกับ นาย ข เสีย โทสะที่กำลังคิดเกี่ยวกับ นาย ก ก็จะดับไปได้ แต่ถ้าเปลี่ยนเรื่องคิดเช่นนั้นแล้วก็ยังคอยแต่ย้อนกลับไปคิดเรื่องเก่าก็จะให้เกิดโทสะอยู่นั่นเอง

ท่านให้พิจารณาโทษของความคิดเช่นนั้น คือ พิจารณาให้เห็นว่าการคิดเช่นนั้นทำให้จิตใจเร่าร้อน ไม่สบาย ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่คิดเช่นนั้นแล้วจะสบาย ตนเองก็ได้ประโยชน์จากความสบายนั้น แม้พิจารณาโทษของความคิดที่ไม่ดีนั้นแล้วยังไม่อาจยับยั้งความคิดนั้นให้สงบลงได้ ท่านก็ให้ไม่ใส่ใจในเรื่องนั้นเสีย คือ พยายามไม่สนใจเลย พยายามลืมเสีย แต่ถ้าไม่สำเร็จอีก ลืมไม่ได้ ลืมไม่ลง คือยังใส่ใจอยู่อีก ท่านให้ใช้ความใคร่ครวญพิจารณาหาเหตุผลว่าทำไม่จึงคิดเช่นนั้น

ขณะที่คิดหาเหตุผลอยู่นี้ ความโกรธอาจจะลดระดับความรุนแรงลง ท่านเปรียบว่า เหมือนคนกำลังวิ่งแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิ่งช้าลง กำลังวิ่งช้าลงก็จะเปลี่ยนเป็นเดิน กำลังเดินก็จะเปลี่ยนเป็นยืน กำลังยืนก็จะเปลี่ยนเป็นนั่ง และกำลังนั่ง ก็จะเปลี่ยนเป็นนอน ถ้าทำเช่นนั้นแล้วยังไม่ได้ผล ความคิดเดิมยังไม่หยุด ท่านให้ใช้ฟันกัดให้แน่นเอาลิ้นกดเพดานไว้ เช่นนี้แล้ว “ความคิดจะหยุด” เมื่อแก้ไขความคิดที่จะนำไปสู่ความมีโทสะได้สำเร็จ คือเลิกคิดในทางที่จะเกิดโทสะได้ ก็เท่ากับไม่เพิ่มเชื้อให้แก่ “ไฟโทสะ” ไฟโทสะก็จะเย็นลง และหากบังคับความคิดได้เสมอๆ จนเคยชินให้ไม่คิดไปในทางที่จะทำให้เกิดโทสะ โทสะก็จะลดลงทำให้ความร้อนในจิตใจเขาบางลง มีความเยือกเย็นเกิดขึ้นแทนที่

นั่นแหละจะมีความสุข ทั้งตัวเองและคนรอบข้างใกล้ชิดด้วยทั้งหลาย นับเป็นผลอันน่าปรารถนาที่เกิดจากการบริหารจิต ดีกว่าปล่อยตามใจจิต “กิเลส” ก็จะทำคนตายทั้งเป็น เกิดได้เสมอๆ ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image