ลลิตา หาญวงษ์ : พม่ากับกัมพูชา ความเหมือนที่ไม่แตกต่าง

สมเด็จฯฮุน เซน (ซ้าย) ทักทายพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย (ขวา) ผู้นำคณะรัฐประหารพม่า ระหว่างไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ

ท่ามกลางกระแสต่อต้านรัฐประหารพม่าอย่างรุนแรง ท่าทีของผู้นำทุกประเทศทั่วโลกที่มีต่อคณะรัฐประหารพม่า ที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ย่อมเป็นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องติดต่อกับพม่าอย่างระมัดระวัง เพราะมีกระแสกดดันให้บริษัทขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Total จากฝรั่งเศส และ Chevron จากสหรัฐ ถอนตัวออกจากพม่าถาวร เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อช่วยกดดันรัฐบาลพม่า แต่สำหรับอาเซียน ท่าทีของหลายประเทศในอาเซียนยังติดต่อสัมพันธ์กับพม่าต่อไป ท่าทีของไทยชัดเจนว่ายังเข้าหาพม่าเหมือนเดิม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าและสายสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ แต่ผู้นำรัฐบาลไทยยังไม่เคยไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในต้นปี 2021 สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นผู้นำคนแรกที่ไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ

การไปเยือนพม่าของฮุน เซนในครั้งนี้เป็นที่จับตามองของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารทั้งในและนอกพม่า เพราะไม่มีใครเข้าใจเจตนารมณ์ที่แท้จริงว่าฮุน เซนไปเยือนพม่าและเข้าคารวะพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลายเพราะอะไร ในวันที่ฮุน เซนเดินทางถึงพม่า ยังเป็นวันสำคัญของกัมพูชา เพราะเป็นวันประกาศชัยชนะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (victory against genocide day) หรือวันที่กัมพูชาเฉลิมฉลองความพ่ายแพ้ของเขมรแดง สื่อทางการพม่ารายงานว่าผู้นำทั้งสองหารือกันหลายเรื่อง แม้แต่ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมพุทธศาสนาร่วมกัน หรือการลดกำแพงภาษีระหว่างกัน

ในฐานะที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปี 2022 นี้ ฮุน เซนก็พยายามเข้าหาพม่า และดูจะได้ผลเป็นอย่างดี เพราะมิน อ่อง ลายเองก็ดูจะให้ความสำคัญกับฮุน เซนเป็นพิเศษ กัมพูชาต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาหยุดยิงในพม่า กองทัพพม่าอ้างว่าลงนามข้อตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 5 เดือนมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 แต่ยินดีจะขยายเวลาการหยุดยิงไปจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า “การหยุดยิง” สำหรับกองทัพพม่าเป็นเพียงคำโกหกที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะยังปรากฏการโจมตีกองกำลังหลากหลายกลุ่ม ซึ่งมีผลกระทบกับประชาชน จนทำให้ประชาชนนับพันๆ คนต้องหนีตายเข้ามาในฝั่งไทย มิน อ่อง ลายยังเชิญฮุน เซนให้เข้าร่วมการเจรจาหยุดยิงด้วย แน่นอนว่าฮุน เซนและกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในพม่าได้ หากกัมพูชาและอาเซียนไม่มีมาตรการคว่ำบาตรพม่าอย่างจริงจัง หรือแม้ว่ามีมาตรการคว่ำบาตรขึ้นจริง ก็อาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภชผลใดๆ ขึ้นก็เป็นได้

เครื่องหมายการค้าที่ฮุน เซนคิดว่าตัวเองมีมาตลอดคือนโยบายแบบ “วิน-วิน” (win-win policy) ที่เขานำมาใช้ในกระบวนการเจรจาสันติภาพหลังยุคเขมรแดง เขาเชื่อว่าการเข้าหาทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันจะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่หลังจากเขมรแดงเข่นฆ่าคนในกัมพูชาไป 2 ล้านคน หรือในกรณีที่กองทัพพม่าสังหารประชาชนคนธรรมดาไปแล้ว 1,447 คน (ตัวเลขเฉพาะในปี 2021) แนวคิด “วิน-วิน” ไม่มีคุณค่าอะไรอีกแล้วในปัจจุบัน ฮุน เซนพูดถึงนโยบายวิน-วินกับคณะรัฐประหารพม่า โดยไม่ขอเข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจี แกนนำพรรคเอ็นแอลดี และฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหาร เพราะมองว่า “ไม่เป็นประโยชน์” ในการหารือกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย แค่นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า นโยบายแบบฮุน เซน ไม่ได้เป็นผลดีกับทุกฝ่ายจริงอย่างที่เขากล่าวอ้าง อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาบทบาทของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน และแนวทางที่กัมพูชาจะงัดมาใช้เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของอาเซียนในด้านการสร้างสันติภาพในพม่าและในภูมิภาคกลับมา

Advertisement

ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับกัมพูชาเป็นไปในลักษณะความสนิทสนมส่วนตัวของผู้นำมากกว่า เมื่อกล่าวถึงฮุน เซนไปเยือนพม่าแล้ว มีเกร็ดหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ผู้อ่านฟังต่อ เป็นเรื่องผู้นำพม่าที่เคยไปเยือนกัมพูชาบ้าง

เรื่องมีอยู่ว่า หลังเกิดรัฐประหารปี 1962 ขึ้น อู นุและคณะรัฐมนตรีอีกหลายคนถูกควบคุมตัว กว่าจะออกมาได้อู นุใช้เวลาถึง 7 ปี หลังได้รับการปล่อยตัว อู นุเดินทางไปอินเดียและต่อมายังไทย เพื่อตั้งขบวนการล้มล้างรัฐบาลเน วิน อู นุใช้เวลาในไทยเกือบ 4 ปี ในช่วงแรก รัฐบาลจอมพลถนอมให้การต้อนรับอู นุเป็นอย่างดี ผู้เขียนเคยพูดคุยกับบุคคลในฝ่ายความมั่นคงในยุคนั้น รัฐบาลไทยปฏิบัติกับอู นุอย่างดีเยี่ยม เพราะมองว่าอย่างน้อยอู นุก็เคยเป็นนายกรัฐมนตรีพม่ามาก่อน

แม้อู นุจะเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง ขบวนการของอู นุมีปีกกองทัพอยู่ภายในพม่า และอู นุได้ใช้ไทยเป็นฐานที่มั่น ทั้งศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ และฐานปฏิบัติการที่อำเภอแม่สอด และอำเภอสังขละบุรี เพื่อแทรกซึมกลับเข้าไปในพม่า ทางการไทยก็รับรู้มาโดยตลอด แต่ก็พยายามอะลุ้มอล่วยให้ อย่างไรก็ดี ในที่สุดก็มีเหตุให้รัฐบาลไทยต้องเชิญอู นุออกจากราชอาณาจักร

Advertisement

เมื่อรู้ข่าวว่าตนจะต้องออกจากไทยแน่นอนแล้วอู นุ ซึ่งมีภารกิจอยู่ที่ฮ่องกงในขณะนั้น ส่งโทรเลขหาเจ้านโรดม สีหนุ มิตรสหายเก่าแก่ ที่อู นุคุ้นเคยมาตั้งแต่การประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 1955 สีหนุไม่ได้ตอบโทรเลขของอู นุในทันที แต่จู่ๆ ก็มีรถลิมูซีนหรูนำจดหมายฉบับหนึ่งมาให้อู นุ มีเนื้อความว่าขอเชิญอู นุ และอู ลอ-โยน (Edward Law-Yone) แกนนำคนสำคัญของขบวนการล้มล้างรัฐบาลเน วินให้ไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ มีกำหนดการทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสแนบกับจดหมายมาด้วย

จดหมายจากสีหนุเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจให้คณะของอู นุ เพราะช่วยให้รัฐบาลไทยชะลอการขับอู นุออกจากไทยได้ชั่วคราว จากฮ่องกง อู นุเดินทางกลับมากรุงเทพฯ และต่อไปกัมพูชาทันที นายพล ลอน นอล และเจ้านโรดมภูริสรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะไปต้อนรับอู นุอย่างสมเกียรติ สีหนุเองก็ต้อนรับอู นุอย่างอบอุ่น จากน้ำเสียงและเนื้อหาในโทรเลขที่ส่งมาจากฮ่องกง
สีหนุทรงทราบดีว่าอู นุกำลังตกที่นั่งลำบาก และอาจต้องการที่พักแห่งใหม่เพราะรัฐบาลไทยไม่สะดวกใจให้อู นุพำนักและเคลื่อนไหวจากไทยอีกแล้ว

“ท่านเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า” สีหนุกล่าวกับอู นุ

“ข้าพเจ้าไม่ทิ้งเพื่อนแน่ แต่ท่านก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเน วินก็เป็นเพื่อนของข้าพเจ้าเหมือนกัน ถ้าเขาไม่ยกเลิกการเดินทางเสียก่อน เขาคงมาถึงพนมเปญแล้ว” สีหนุกล่าวต่อด้วยอารมณ์ขัน

อู นุตอบสีหนุว่าเขาไม่กล้าทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสีหนุกับเน วินแน่ๆ สีหนุโพล่งขึ้นมาว่า “เออนี่! แต่ไม่ได้หมายความว่าข้าพเจ้าเห็นด้วยกับนายพลในกองทัพรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลหรอกนะ…พวกนายพลจะไปรู้เรื่องบริหารบ้านเมืองได้ยังไงล่ะ” ห้าเดือนต่อมา นายพล ลอน นอล ผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชาทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลสีหนุ และสถาปนาสาธารณรัฐกัมพูชาขึ้น

แม้ท่าทีของสีหนุจะไม่ได้ช่วยกอบกู้สถานการณ์ของอู นุมากนัก แต่สีหนุจัดพิธีต้อนรับอู นุอย่างสมเกียรติ อู นุมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมนครวัด และยังได้รับเชิญให้ไปร่วมในพิธีเปิดทางรถไฟสายใหม่ระหว่างพนมเปญกับเมืองท่าตากอากาศสีหนุวิลล์ นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอู นุกับสีหนุแล้ว พม่าไม่ได้มีความสัมพันธ์กับกัมพูชาเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกัมพูชาประสบปัญหาเสถียรภาพภายในประเทศมายาวนาน นับตั้งแต่สงครามอินโดจีนในทศวรรษ 1950 มาจนถึงสงครามกลางเมือง และการปกครองภายใต้เขมรแดง

แม้ในปัจจุบันการเมืองกัมพูชาจะถือว่า “มีเสถียรภาพ” แต่ก็เป็นเพราะการปกครองแบบ “วันแมนโชว์” ที่เด็ดขาดของสมเด็จฯฮุน เซน ที่เป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาแล้วเกือบ 37 ปี ตั้งแต่ในยุคสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้มิน อ่อง ลายชื่นชมฮุน เซนเป็นพิเศษก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image