ที่เห็นและเป็นไป : ‘เข้าใจประชาชน’ ไม่จำเป็น

ที่เห็นและเป็นไป : ‘เข้าใจประชาชน’ ไม่จำเป็น

‘เข้าใจประชาชน’ ไม่จำเป็น

ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อข้าวของขึ้นราคาไปทุกสิ่งอย่าง ประชาชนย่อมหนีไม่พ้นความเดือดร้อน

และชีวิตที่เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องอยู่กับการทำมาหากินที่ยากลำบากมายาวนาน ความทุกข์จากที่เดือดร้อนนั้นจึงท่วมท้น

ถึงยุคสมัยเช่นนี้ ไม่ใช่แบบ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ริมรั้วมีกระถินตำลึงให้เก็บกิน” เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

Advertisement

ข้าวปลา อาหาร จะมีกินได้ ต้องมีรายได้ที่หาจากการทำงานประจำวัน

เงินหายากขึ้น แต่ของกินของใช้ขึ้นราคาแบบไม่ทันรู้ตัว ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องวิตกกังวลว่าจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร จะหากินอย่างไรให้พอเลี้ยงดูครอบครัว

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้บริหารประเทศ หรือรัฐบาลที่ดีจะต้องเริ่มต้นจากเป็นสติให้กับประชาชน จากนั้นเสนอแนะทางออกที่เป็นความหวัง และลงไม้ลงมือจัดการให้เกิดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้บรรเทาความเดือดร้อน

Advertisement

แต่นี่อะไรกัน คำพูดแต่ละคนที่ผู้บริหารประเทศพ่นออกให้แชร์แพร่หลายรับรู้กันทั่วไป กลับสะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ไม่เข้าในหัวอกหัวใจ ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน

อย่าง “ของแพงเพราะเงินเฟ้อ-ให้มองบวกว่าของแพงเพราะคนซื้อเยอะ-ขอแจ้งข่าวดีว่ามาม่าไม่ขึ้นราคาช่วยลดภาระค่าครองชีพ-ยืนยันว่าหมูไม่ขาดแต่ไม่รู้หายไปไหน” หรืออีกหลากหลายคำพูดจากคนในรัฐบาล

คำที่พูดออกมาสะท้อนว่า ความคิดของคนเหล่านี้ แค่แสดงออกในทาง “โยนความผิดให้พ้นตัว” โทษนั่นโทษนี่ไปเรื่อย จนลืมนึกไปว่าตัวเองมีหน้าที่แก้ปัญหา

หากเป็นผู้บริหารประเทศที่จิตใจอยู่กับความรับผิดชอบในหน้าที่ รู้ว่าตัวเองมีภาระต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน สิ่งแรกที่พวกเขาต้องมีคือ “ความเข้าใจ”

ต้องเริ่มที่ความเข้าใจว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องอะไร

ความเดือดร้อนของประชาชนคือ “กังวลว่าการหาเงินให้พอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะเป็นไปไม่ได้”

เหตุก็เนื่องจาก “รายได้มีแต่ลดลง ขณะที่ข้าวของเครื่องใช้แห่กันขึ้นราคาอย่างน่าตกใจ”

หากเข้าใจเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่มีหน้าที่บริหารประเทศจะไม่พูดอย่างนั้น

เพราะเรื่องที่จะต้องนึกถึงคือ จะคลายความกังวลเหล่านั้นได้อย่างไร

และหากนึกได้เช่นนั้นจะทำให้คิดได้ว่า จะหาทางเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนอย่างไร ไม่ไปเพ้อกับทฤษฎีเงินเฟ้อ ซึ่งตัวเองก็อธิบายไม่ได้ว่ามันเฟ้อได้อย่างไร ทั้งที่ชาวบ้านชาวช่องไม่มีพอจะซื้อกินซื้อใช้ หรือดีอกดีใจกับความคิดแบบให้กำลังใจตัวเองว่ากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งที่อธิบายไม่ได้ว่ามันเพิ่มขึ้นได้อย่างไร หรือให้ดีใจกับราคามาม่า โทษใครก็ไม่รู้ที่ทำให้หมูหายไป และอะไรอื่นๆ ที่แค่อ้างถึงให้พ้นไปจากความไม่เอาไหนของตัวเอง

หากบริหารเป็นจะต้องเอาจริงเอาจังกับการหาทางเพิ่มรายได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้ประชาชน

ซึ่งวิธีการไม่ได้มีแค่หาวิธีเปิดช่องทางทำมาหากิน หาทางควบคุมราคาสินค้าเท่านั้น

แต่รายจ่ายอื่นที่เกี่ยวกับบริการของรัฐ อยู่ในอำนาจของผู้บริหารประเทศที่จัดการได้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน หรือค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่างๆ และอื่นๆ ที่อยู่ในอำนาจจัดการได้

ถ้าบริหารอย่างเข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ย่อมใจจดใจจ่อกับการหาวิธีแก้ไข ไม่ใช่พูดเพ้อเจ้อเพื่อผลักความผิดให้พ้นตัวกันท่าเดียวแบบนี้

อะไรคือปัญหา อะไรคือเหตุ แบบไหนที่ทำให้ทุกข์คลายไป และอะไรคือวิธีการที่จะทำให้เกิดความอุ่นใจกับประชาชน

ต้องอาศัยจิตใจที่พร้อมจะเข้าใจประชาชน

ซึ่งก็นั่นแหละ สำหรับรัฐบาลที่ไม่ต้องอาศัยอำนาจประชาชนมากนัก หรือกลไกอำนาจจากประชาชนไม่มีความสำคัญอะไร เพราะกลไกที่ดีไซน์มาด้วยอำนาจนอกระบบ ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอำนาจจากประชาชนอยู่แล้ว

เพราะประชาชนไม่มีความสำคัญ ความรู้สึกที่จะต้องเข้าใจประชาชนจึงไม่เคยได้รับการฝึกฝนให้เกิดขึ้น หรือกดดันให้ต้องมี

กับรัฐบาลแบบนี้ เหมือนที่จะมีเสียงตะโกนให้ได้ยินว่า “จะเอาอะไรกันนักหนา”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image