สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนกับโบราณสถานอยู่ร่วมกันได้ มีให้เห็นทั่วประเทศ

นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะ รู้อยู่เต็มอกแล้วปฏิบัติสม่ำเสมอว่าคนกับโบราณสถานอยู่ร่วมกันได้

แต่น่าประหลาดมหัศจรรย์ที่ครูบาอาจารย์ในสถาบันมีการเรีนยการสอนวิชาความรู้เรื่องเหล่านี้ ไม่บอกความจริงแก่สังคมและแก่หน่วยงานอื่น เช่น กทม. ที่กำลังทำร้ายและทำลายชุมชนแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของกรุงเทพฯ ที่ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร

คนกับโบราณสถานอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหา และอยู่มาแล้วในหลายแห่งเป็นร้อยปี พันปีก็มี สืบจนทุกวันนี้

เมืองโบราณเกือบทุกแห่งมีชุมชนอยูกับคูน้ำคันดินและกำแพงเมืองมีพยานหลักฐานมากมายทั่วประเทศ เช่น เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี), เชียงแสน, เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, แพร่, ลำพูน, ลำปาง, พิษณุโลก, นครราชสีมา, ลพบุรี,  อยุธยา, ธนบุรี ฯลฯ

Advertisement

โดยเฉพาะเมืองนครปฐม มีชุมชนกับคูน้ำอยู่ด้วยกันอย่างแออัดยัดเยียดที่สุดเป็นหลายๆ จุด แต่พร้อมใจกันจัดระเบียบที่อยู่อาศัยโบราณสถานอย่างดีและมีประสิทธิภาพเข้าที่เข้าทาง แล้วกำลังพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป

กรุงรัตนโกสินทร์ คนกับโบราณสถานอยู่ร่วมกันทุกหนทุกแห่งตั้งแต่ยังไม่เรียก “โบราณสถาน” (และยังไม่มี กทม.)

ถ้าครูบาอาจารย์ที่เกี่ยวข้องด้านนี้โดยตรง ไม่แสดงตนตรงไปตรงมาว่าชุมชนกับโบราณสถานอยู่ร่วมกันแล้วเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ เพื่อรักษาแหล่งประวัติศาสตร์สังคมชุมชนป้อมมหากาฬ ต่อไปภายหน้าอย่าหวังว่าสังคมจะเชื่อถือเชื่อมั่นศาสตร์และศิลป์ทางโบราณคดีกับประวัติศาสตร์ศิลปะ

Advertisement

 

ชุดความคิดเก่าของกรรมการเกาะกรุงฯ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ลานกลางชุมชนชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทางประธานชุมชน นักวิชาการ และเครือข่ายชุมชนออกแถลงการณ์หลัง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ดำเนินการรื้อถอนชุมชนต่อ ระหว่างประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวชุมชนมีข้อเสนอและเอกสารที่เตรียมนำเสนออย่างเป็นกลาง แต่กลับไม่มีโอกาส มีเพียงการนำเสนอข้อเสนอข้อมูลของ กทม. เพียงด้านเดียวและเป็นข้อมูลเก่า คือ การระบุว่าสวนสาธารณะและโบราณสถานต้องไม่มีชุมชนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นชุดความคิดตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ที่ไม่ได้มองมิติวัฒนธรรม ไม่พิจารณาข้อมูลทางวิชาการ ทำให้เกิดข้อสรุปเดินหน้าการรื้อถอน

[มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559 หน้า 11]

 

ผู้แทนกรมศิลป์ว่าชุมชนอยู่ร่วมกันได้กับโบราณสถาน

“ป้อมมหากาฬเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2492 หน้าที่กรมศิลป์คือควบคุมสิ่งก่อสร้างไม่ให้เกิดใหม่ ทำได้เพียงการสร้างทดแทนของเก่า โดยใน พ.ร.บ. โบราณสถานให้อำนาจแก่อธิบดีว่าจะอนุญาตให้อยู่อาศัยได้หรือไม่ แต่จะมีคณะกรรมการช่วยกลั่นกรอง ส่วนตัวมองว่าชุมชนอยู่อาศัยกับโบราณสถานได้ โดยต้องไม่ทำลายภูมิทัศน์” ผู้แทนกรมศิลปากร กล่าวเมื่อ 9 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งวัฒนะ ในการประชุมหารือทางออกในประเด็นไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ

(มติชนออนไลน์ 9 สิงหาคม 2559)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image