โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ : เรื่องรัฐของไทยกับอำนาจอธิปไตย

รัฐ (State) เป็นหัวใจของวิชารัฐศาสตร์ โดยเกิดมีขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมภาคีชาติอเมริกาครั้งที่ 7 ที่กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ทวีปอเมริกาใต้ ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2476 โดยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของรัฐ ด้วยการบอกถึงสถานะความเป็นรัฐชาติเอาไว้อย่างแจ้งชัดในอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ (Montevideo Convention on Rights and Duties of the states) มาตราที่ 1 ว่า รัฐคือนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

1) มีดินแดนที่แน่นอน คือ มีขอบเขตของอาณาบริเวณที่แน่นอนจะมีเนื้อที่ใหญ่หรือเล็กก็ได้

2) มีประชากร คือ ต้องมีประชากรที่เป็นมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น จำนวนกี่คนก็ได้ แต่ต้องมีสภาพเป็นสังคมในดินแดนนั้น

3) มีรัฐบาล คือ ต้องมีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารและจัดการดินแดนที่แน่นอนในพื้นที่นั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพ

Advertisement

4) มีอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจในการปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐอื่นใดและอำนาจอธิปไตยนี้รวมถึงอำนาจในการสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ อย่างเสรีด้วย เรื่องอำนาจอธิปไตยนี้เป็นนามธรรม มีที่มาจากกฎหมายธรรมชาติที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีสิทธิในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าใครจะล่วงละเมิดมิได้ แต่ประชาชนได้มอบอำนาจอธิปไตยนี้ให้กับตัวแทน คือ รัฐบาล คือฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการไปดำเนินการใช้อำนาจอธิปไตยแทน ดังนั้นอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ ซึ่งทำให้รัฐมีอำนาจบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย และมีอำนาจในการดำเนินกิจการระหว่างประเทศ ในทางรัฐศาสตร์ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ในทางนิติศาสตร์ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดไม่ว่าในทางการเมือง การปกครองประเทศ หรือในทางใดก็ตาม คำว่าอำนาจอธิปไตยกับคำว่าอำนาจสูงสุด จึงมีความหมายอย่างเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมในมาตราที่ 3 ของ Montevideo Convention on Rights and Duties of the states อีกว่า “การดำรงอยู่ทางการเมือง รัฐไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับของรัฐอื่นๆ – The political existence of the state is independent of recognition by the other states.” กล่าวคือ หากรัฐใดที่มีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 4 ประการ คือ มีดินแดนที่แน่นอน มีประชากร มีรัฐบาล และมีอำนาจอธิปไตยที่จะติดต่อกับรัฐอื่นได้โดยตนเองก็ถือว่าเป็นรัฐโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะมีรัฐอื่นๆ รับรองหรือไม่

ที่อ้างถึงที่มาที่ไปของคำว่ารัฐตามที่เกริ่นไว้นี้ก็เนื่องจากรัฐไทยที่เรียนที่สอนกันมานั้น เริ่มขึ้นในสมัยอาณาจักรสุโขทัยที่สถาปนาขึ้นราว พ.ศ.1792-2006 มีอายุราว 215 ปี เป็นรัฐในอดีตรัฐหนึ่งตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ในฐานะสถานีการค้าของรัฐละโว้ หลังจากนั้นราวปี พ.ศ.1782 พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองได้ร่วมกันกระทำการยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพงเป็นผลสำเร็จ และได้สถาปนาเอกราชให้รัฐสุโขทัยเป็นอาณาจักรสุโขทัย และมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับและเพิ่มถึงขีดสุดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก่อนจะค่อยๆ ตกต่ำและประสบปัญหาทั้งจากปัญหาภายนอกและภายใน

Advertisement

จนต่อมาถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาไปในที่สุด อาณาจักรสุโขทัยมีราชวงศ์พระร่วงปกครองอยู่เพียงราชวงศ์เดียว

อาณาจักรอยุธยา เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วง พ.ศ.1893 ถึง พ.ศ.2310 รวมอายุอาณาจักรอยุธยา 417 ปี มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจ ทั้งยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายชาติ จนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าในระดับนานาชาติ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น เปอร์เซีย รวมทั้งชาติตะวันตก เช่น โปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งเคยสามารถขยายแผ่อำนาจได้ประเทศราชถึงรัฐฉาน อาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรขอม และคาบสมุทรมลายู อาณาจักรอยุธยามีกษัตริย์ปกครองรวม 5 ราชวงศ์ อันได้แก่ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณบุรี ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง

อาณาจักรธนบุรี เป็นอาณาจักรที่มีระยะเวลาสั้นที่สุดของไทย คือระหว่าง พ.ศ.2310-2325 ระยะเวลา 15 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองเพียงพระองค์เดียวคือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายหลังอาณาจักรอยุธยาล่มสลายไปพร้อมกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ทว่าในเวลาต่อมา สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และทรงย้ายเมืองหลวงไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

อาณาจักรรัตนโกสินทร์ เป็นราชอาณาจักรที่ 4 ในยุคประวัติศาสตร์ของไทย เริ่มตั้งแต่การย้ายเมืองหลวงจากฝั่งกรุงธนบุรี มายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 จึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงความเป็นรัฐไทยเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ตามสถานะความเป็นรัฐชาติในอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอ พ.ศ.2476 เนื่องจากลักษณะของรัฐสมัยอยุธยาเป็นรัฐแบบ “ศักดินาสวามิภักดิ์” (Mandala) คือ อำนาจอธิปไตยของกษัตริย์แผ่ขยายออกจากศูนย์กลางคือราชธานี แล้วลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อห่างจากศูนย์กลาง ไม่มีการปักปันพรมแดนชัดเจน อยู่ที่ว่าหัวเมืองไหนเผ่าไหนจะตกลงสวามิภักดิ์ก็ส่งส่วยส่งบรรณาการมา จึงทำให้ประเทศราชบางประเทศส่งบรรณาการให้หลายราชธานี เช่น เขมร ส่งให้ทั้งอยุธยา ทั้งญวน เป็นต้น ส่วนรัฐไทยในปัจจุบันนับตั้งแต่ “รัฐสมัยใหม่” (Territorial state) หมายถึงรัฐที่มีการปักปันพรมแดนชัดเจนแบบแผนที่สมัยใหม่ และอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นแผ่กระจายไปทั่วทุกตารางนิ้วภายในเขตพรมแดนนั้น

ซึ่งรัฐสมัยใหม่ของไทยเกิดได้จริงหลังจากยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ.2481 เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image