คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ถ้าไม่ให้ฉีดยาหมาพ่นฆ่ายุงลายแล้ว… เรามี ส.ส.ไว้ทำอะไร?

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตที่ว่างลงต่างกรรมต่างวาระในช่วงนี้ทำให้ข้อถกเถียงเรื่อง “ส.ส.มีไว้ทำไม” นั้นกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งเป็นจุดแข็งที่เอาไว้ให้อดีต ส.ส.หรือผู้สมัครหน้าเก่าใช้หาเสียงกัน และเป็นประเด็นโจมตีสำหรับผู้สมัครหน้าใหม่ที่ไม่เคยเป็นผู้แทนในพื้นที่นั้น

ฝ่ายที่เป็นอดีต ส.ส.หรือเคยลงพื้นที่อันเป็นเขตเลือกตั้งนั้นมาก่อนก็นำผลงานในอดีตมาทบทวนความจำให้พ่อแม่พี่น้องในท้องที่เลือกตัวเองกลับเข้าสภา ผลงานในอดีตที่ว่าก็ได้แก่ การดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านในพื้นที่นั้น เช่น นำข้าวของไปแจกให้ชาวบ้านตอนน้ำท่วม ประสานงานหารถพยาบาลในช่วงโควิด พ่นยาป้องกันยุงลาย หรือฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้หมาแมว รวมถึงการดูแลในเรื่องต่างๆ ปลีกย่อย เช่น ดูแลผู้ตกทุกข์ได้ยาก เหยื่อความรุนแรงทางการเมือง หรือเด็กด้อยโอกาส แต่พลันก็มีเสียงลอยๆ ออกมาจากฝ่ายผู้สมัครอีกฟากฝั่งว่า หน้าที่อันแท้จริงของ ส.ส.นั้น คือการไปออกกฎหมายและควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหารในสภา ส่วนเรื่องการช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมถนนทรุด หรือฉีดยาหมาพ่นฆ่ายุง ควรเป็นเรื่องของรัฐบาลส่วนกลาง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่ผู้สมัคร ส.ส.อวดอ้างว่าเคยทำเช่นนั้นเช่นนี้และจะทำต่อไป หากได้เป็น ส.ส.อีกครั้ง จึงช่างผิดฝาผิดตัว ไม่ถูกไม่ควร

บ้างก็มองไกลไปถึงขนาดว่า “กิจกรรม ส.ส.” เหล่านั้นคือ การใช้เงินเล่นการเมือง ใครมีเงินมากได้เปรียบ ปิดทางคนหน้าใหม่ที่มีศักยภาพ หรือความตั้งใจจริง แต่ขาดไร้ทุนทรัพย์ในการไปดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นได้

คงไม่มีใครเถียงว่า “ตามทฤษฎี” การแบ่งแยกหน้าที่และอำนาจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยรูปแบบรัฐสภาแล้ว “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” นั้นอยู่ในฝั่งองค์อำนาจนิติบัญญัติซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมายรวมถึงกิจการทางรัฐสภาอื่นๆ รวมถึงเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ตั้งคณะรัฐมนตรีมาเป็นฝ่ายบริหาร

Advertisement

คณะรัฐมนตรีก็ต้องบริหารประเทศตามนโยบายที่ได้แถลงไว้กับรัฐสภา และยังมีอีกบทบาทหนึ่งในการเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการฝ่ายประจำทั้งหลายด้วย สำหรับประเทศที่มีรูปของรัฐเป็นรัฐเดี่ยวที่มีรัฐบาลและราชการหนึ่งเดียว ก็ต้องมีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจทางปกครอง รวมถึงอำนาจการบริหารออกไปจากราชการส่วนกลางและรัฐบาลไปให้ท้องถิ่น ผ่านทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น อบต. อบจ. และเทศบาล

ดังนั้น โดยระบบที่ควรจะเป็นก็ไม่ผิดอะไรที่มีคนทักว่าการที่ผู้สมัคร ส.ส.มาสัญญาว่าจะทำนั่นทำนี่ให้คนในพื้นที่นั้นไม่ใช่อำนาจหน้าที่อันควรของผู้แทนราษฎร ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ถูกต้องตรงเผงตามทฤษฎีและหลักการ

แล้วเช่นนั้น สิ่งที่เรา ชาวบ้าน หรือแม้แต่ตัวผู้แทนนั้นเองก็เข้าใจว่า การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนในท้องที่เขตเลือกตั้งนั้นเป็นหน้าที่ของ ส.ส.นั้นมาจากไหน เรื่องนี้อาจจะเป็นผลมาจาก “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม” ที่วางรากฐานมานานแล้วก่อนหน้านี้เมื่อราว 20-30 ปีก่อน เรามีวัฒนธรรมหรือประเพณีทางการเมืองไทยที่ยอมรับกันในทางปฏิบัติว่า “ผู้แทน” นั้นมีหน้าที่ต้องดูแล “ราษฎร” ในพื้นที่ของตน จึงมีธรรมเนียมการแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เรียกว่า “งบ ส.ส.” ขึ้นมา

“งบ ส.ส.” คือความตกลงไม่เป็นทางการที่ ส.ส.แต่ละคนจะสามารถแปรญัตติโยกงบประมาณรายจ่ายประจำปีลงไปให้ท้องที่หรือเขตเลือกตั้งของตนได้ตามโควต้าที่ตกลงกันไว้ ในยุคหนึ่งงบ ส.ส.ตกเขตเลือกตั้งละหนึ่งล้านบาท นั่นหมายถึงว่า ส.ส.คนหนึ่งสามารถแปรญัตตินำงบประมาณไปลงในโครงการของรัฐใดก็ได้ที่จัดทำขึ้นในเขตเลือกตั้งของตัวเองได้ในวงเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาทนั่นเอง

อนุมานกันว่าโครงการที่ ส.ส.โยกงบไปลงให้นั้น ก็น่าจะเป็นโครงการที่ประชาชนในท้องถิ่นหรือเขตเลือกตั้งนั้นเรียกร้องขอมา ดังที่หลายคนอาจจะเคยเห็นป้ายหรือข้อความประกาศว่า “สะพาน (หรือสาธารณูปโภค) นี้แปรญัตติโดยท่าน ส.ส….”

อย่างไรก็ตาม การมี “งบ ส.ส.” ก็มีด้านมืดของมัน เพราะในอีกทางหนึ่งมันคือวิถีทางสั่งสมอำนาจของ ส.ส.ในพื้นที่ สร้างคะแนนนิยมให้ตัว ส.ส.ผู้นั้นโดยอาศัยงบประมาณแผ่นดินจนเกิดเป็นความได้เปรียบสั่งสมต่อเนื่องกันไป อันนี้ยังไม่รวมถึงกรณีการยักย้ายให้เงินงบประมาณที่ว่านั้นวนกลับไปเป็นประโยชน์แก่ตน หรือพวกพ้องอีกต่างหาก

ในที่สุดประเพณีทางการเมืองเรื่องงบ ส.ส.นี้จึงถูกยกเลิกไปโดยการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการ) มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายนั้นมิได้ และยิ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 นี้ การแปรญัตติงบประมาณในลักษณะดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดในระดับที่มีโทษร้ายแรง ตั้งแต่ระดับ ส.ส.ผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง หรือรัฐบาลล้มทั้งคณะเสียด้วย

ในปัจจุบันนี้ ที่เห็น ส.ส.มีเงินไปช่วยชาวบ้านทำนั่นทำนี่ จึงมักจะเป็นเงินของตัว ส.ส.เองทั้งสิ้น แต่ตัวบุคคลที่เป็น ส.ส.นั้นจะเอาเงินมาจากที่ไหนก็เป็นเรื่องที่ไปว่ากันตามแต่กรณี

การที่ ส.ส.ไปดูแลพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในแดนเทาๆ ตามสภาพทางการเมืองไทยตามความเป็นจริง ซึ่งยากที่จะฟันธงลงไปซ้ายขวาได้ง่ายนัก

ประการแรก คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2540 ตั้งใจจะให้มาแทนงบ ส.ส.อันเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้วนั้นคือความพยายามกระจายอำนาจปกครองทั้งหลายนี้ไปให้ท้องถิ่นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีหลักการทุกประการ แต่ในทางปฏิบัติจนตอนนี้ผ่านมา 20 ปีแล้ว แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็กล่าวได้ว่ายังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะมีอำนาจทำอะไรในท้องถิ่นได้ ได้เท่าที่กฎหมายต่างๆ จะถ่ายโอนอำนาจในการตัดสินใจ หรือในการบริหารไปจากราชการส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเพียงบางเรื่องหรือบางรายการเท่าที่กรอบขอบเขตของกฎหมายกำหนด

การช่วยเหลือดูแลประชาชนในท้องที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นอยู่ภายใต้อำนาจที่ถูกจำกัดนั้น การทำอะไรมากไปโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจหรือให้อำนาจไว้โดยคลุมเครือ กลับเป็นความเสี่ยงที่ส่วนท้องถิ่นนั้นต้องรับไว้เอง

ซ้ำร้ายหลายครั้งคำว่า “ผิด” นั้นก็เกิดจากการตีความของฝ่ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เช่นกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเคยทักท้วงเรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเขตท้องถิ่นนั้นว่าไม่อยู่ในอำนาจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำได้ จนมีการเรียกร้องให้คืนเงิน จนเป็นผลให้ท้องถิ่นอื่นๆ ไม่กล้าดำเนินโครงการลักษณะนี้อีก

กว่าจะเคลียร์ให้ชัดว่าเรื่องนี้ทำได้ทำไม่ได้อย่างไร ก็ส่งผลให้อัตราการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงเวลาอันคลุมเครือนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

กับอีกประการหนึ่ง โดยสภาพแล้ว ส.ส.ในระบบรัฐสภามีสถานะควบกันอยู่ระหว่างความเป็น “ผู้แทนราษฎร” ของคนในพื้นที่นั้น กับ “ผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ” หรือ “ผู้แทนราษฎรของชาติ” เพราะโดยระบบรัฐสภาแล้ว เราไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เป็นเอกเทศแยกจากการเลือกฝ่ายบริหารเหมือนประเทศที่มีระบบการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงด้วย การเลือก ส.ส.ในระบบระบอบของเราจึงถือเป็นการเลือกตัว “ผู้เลือกตั้งทางอ้อม” ที่จะไปเลือกนายกรัฐมนตรีให้เป็นฝ่ายบริหารตามกระบวนการด้วย จึงออกจะพูดยากว่าประชาชนเลือก ส.ส.มาเพราะต้องการให้มีตัวแทนไปออกกฎหมายและทำกิจต่างๆ ในอำนาจของสภา เพราะมันมีมิติของการเลือกฝ่ายบริหารทางอ้อมผ่าน ส.ส.นั้นๆ ด้วย

กลไกที่มาขจัดความคลุมเครือนี้คือ ระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ออกแบบมาเพื่อถือว่า ส.ส.ในระบบนี้จะเป็น “ผู้แทนของชาติ” ที่ไม่ขึ้นกับท้องถิ่นใดหรือจังหวัดใด ระบบที่ให้ผู้เลือกตั้งสามารถกาบัตรประชาชนได้สองใบจึงเป็นระบบที่สมเหตุสมผลและยุติธรรมเพราะเราสามารถที่จะเลือก “ส.ส.ของท้องถิ่น” และ “ส.ส.ของประเทศ” แยกออกจากกันได้

แต่ในเมื่อการเลือกตั้งซ่อมทุกกรณีนี้ เป็นการเลือกตั้ง “ส.ส.แบบแบ่งเขต” ทั้งสิ้น ดังนั้นสถานะของผู้แทนราษฎรของท้องถิ่นและสมาชิกสภานิติบัญญัติของชาติและคณะผู้เลือกฝ่ายบริหารทางอ้อม จึงยังเกลื่อนกลืนกันอยู่เช่นนั้น

ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า “ผู้แทนราษฎร” คณะแรกๆ ในโลก ในประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบของระบบรัฐสภาไทยนั้น “ผู้แทนราษฎร” คือ ตัวแทนในการนำความทุกข์ร้อนของผู้คนในท้องถิ่นพื้นที่ ไปร้องเรียนต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์อำนาจฝ่ายบริหารก่อนที่จะถวายเงินภาษีให้ ประเพณีเรื่องที่ผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นปากเสียงและดูแลทุกข์สุขของคนในพื้นที่ และสะท้อนเสียงของผู้คนนั้นต่อรัฐบาลก็ยังปรากฏร่องรอยผ่านกลไกการตั้งกระทู้ถามสดในรัฐสภา

เมื่อ ส.ส.จะต้องเป็นผู้แทนของราษฎรในพื้นที่ เรื่องใดที่ราษฎรในพื้นที่นั้นได้รับความเดือดร้อน หรือมีปัญหาก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่จะต้องปัดเป่าบรรเทาปัญหานั้น แต่จะให้แก้ปัญหาโดยอุดมคติ ผ่านการตั้งกระทู้ถามรัฐบาล หรือไปออกกฎหมายมาแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ในขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้านั้นยังดำรงอยู่และก่อความเดือดร้อนลำบากให้กับประชาชนอยู่ทุกวี่วันเช่นนี้ หาก ส.ส.คนไหนพอจะมีกำลังที่จะแก้ปัญหานั้นไปพลางก่อนด้วยเงินหรือกำลังของตัวเองได้เท่าที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง และไม่ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ แม้มันอาจจะไม่ถูกหลักการแต่มันก็แก้ปัญหาได้สมประโยชน์ที่ประชาชนต้องการจริง

เอาจริง ถ้าจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ส.ส.ลงไปช่วยเหลือประชาชนนี้เป็นการใช้เงินซื้อใจชาวบ้านได้ ก็อาจจะเป็นการดูถูกน้ำจิตน้ำใจของประชาชนในท้องถิ่นมากเกินไปหน่อย เพราะแม้ว่าเงินอาจจะมีส่วนในการช่วยให้ ส.ส.สามารถช่วยเหลือประชาชนในท้องที่ได้ก็จริง แต่เงินก็ไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวที่ทำให้คนในพื้นที่ผูกพันกับ ส.ส.นั้น เพราะมันมีเรื่องของความตั้งใจความจริงใจความสม่ำเสมอที่ต้องพิสูจน์กันในระยะยาวด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป

แม้แต่พรรคการเมืองที่ออกมาตั้งแง่ตั้งงอนในเรื่องนี้ก็เคยพิสูจน์แล้วไม่ใช่หรือว่า ถ้าผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ของตน สามารถสร้างความผูกพันและไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชนในท้องถิ่นจนสามารถชนะการเลือกตั้งเข้ามาได้เหมือนกัน นี่ไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์หรือว่า การเมืองในพื้นที่นั้น เงินอาจจะไม่ใช่คำตอบเดียวก็เป็นได้

รวมถึงการแสดงน้ำใจ หรือสละเวลาเล็กน้อยไปร่วมงานศพของผู้อาวุโส หรือร่วมงานมงคล งานบวชงานแต่งของคนในท้องถิ่น ที่ ส.ส.คนรุ่นใหม่เคยหมิ่นแคลนไว้นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการได้มา ซึ่งหัวจิตหัวใจของชาวบ้านที่ไม่ได้ต้องใช้เงินอะไรมากมายนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image