เดินหน้าชน : ค่าข้าวแพงค่าแรงถูก

ดูเหมือนปัญหาสินค้าราคาแพงจะลุกลามขยายวงไปเรื่อยๆ หลังจากสถานการณ์โควิดทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย

แม้ว่าจะยังคงมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน

ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันบางประเทศพุ่งขึ้นเป็นแสนคน

แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง เหมือนในอดีต

Advertisement

ทำให้หลายประเทศเดินหน้าจัดกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลายขึ้น

จะเห็นได้จากการจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ แทบจะไม่ค่อยได้เห็นคนใส่หน้ากากเชียร์ฟุตบอลในหลายประเทศ

เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ทำให้ความต้องการสินค้าเริ่มกลับมา

Advertisement

แต่ในด้านการผลิตยังไม่สามารถฟื้นกลับมาผลิตป้อนความต้องการได้เหมือนเดิม

รวมทั้งยังมีพนักงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต และให้บริการสินค้าบางส่วน ต้องถูกกักตัวเพราะติดโควิด

จึงทำให้ไม่สามารถป้อนสินค้าหรือวัตถุดิบ หรือที่เรียกว่าซัพพลาย เข้าสู่ตลาดได้ทันต่อความต้องการ

สิ่งที่ตามมาก็คือราคาสินค้าแพงขึ้น ลุกลามไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า เงินเฟ้อ

หมายถึงเงินเท่าเดิม เพิ่มเติมคือซื้อสินค้าได้น้อยลง ลุกลามไปหลายประเทศ

ภาคการผลิต ผู้ประกอบการต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่สามารถเพิ่มเงินเดือนหรือค่าตอบแทนให้กับพนักงานลูกจ้างได้ เพราะพิษโควิด

ในขณะที่ราคาสินค้าแทบทุกประเภทต่างพาเหรดกอดคอกันปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น

ทั้งราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน แก๊ส อาหารการกิน สินค้าอุปโภคบริโภค

แม้แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ต่างก็ขยับขึ้นอย่างถ้วนทั่ว แบบไม่มีใครเกรงใจใคร

เมื่อมาเจอกับการบริหารจัดการของหน่วยงานผู้มีส่วนรับผิดชอบ ค่อนข้างล่าช้า

ทำให้ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากราคาอาหารปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งปัญหาเรื่องสุกรขาดแคลนเพราะปัญหาโรคระบาด

การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต อย่างอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น

กลายเป็นว่าตอนนี้ เนื้อสัตว์แทบทุกประเภทราคาขยับสูงขึ้นไปตามๆ กัน

ดังนั้น ถือเป็นเรื่องดี ทางรัฐบาลโดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน

หารือร่วมกับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์

ตกลงเลื่อนมาตรการคนละครึ่งเฟส 4 เร็วขึ้นจากเดิมมีนาคม 2565 มาเป็นเปิดให้ลงทะเบียน 14 ก.พ.65

เพราะสภาพตอนนี้ปัญหาต้นทุนการใช้ชีวิตของคนไทยขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทางไหนที่สามารถเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ต้องรีบทำก่อน

โดยเฉพาะคนยากคนจน จะโดนแรงกระแทกมากกว่าคนกลุ่มอื่น

นอกจากมาตรการควบคุมราคาสินค้า และลดต้นทุนการผลิต จะเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยลดภาระให้ประชาชน

การขยายเวลา และเพิ่มมาตรการเยียวยาต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ ทำควบคู่กันไป

ตราบใดที่ธุรกิจจำนวนมากยังคงนอนซมจากพิษโควิด โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ

ยังคงต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกนาน เพราะยังไม่เปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้

ยังมีคนตกงานอีกมาก มีเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาอีกเยอะ

เพราะต้องปากกัดตีนถีบ หาอาหารมาประทังชีวิตไปวันๆ ต้องเอาชีวิตให้รอด

สภาพตอนนี้คือ ค่าข้าวแพง ค่าแรงถูก

ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ คิดให้ได้ และต้องทำให้เร็ว

นอกจากเรื่องลดภาระให้กับประชาชน สิ่งสำคัญก็ต้องหารายได้ให้เก่งด้วย

จะทำให้มีทุนเข้ามาช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น เพราะถ้าเก่งแต่ใช้เงิน แต่หาเงินไม่เก่ง

แนวโน้มอนาคตประเทศชาติลำบาก เพราะหนี้ท่วม ตามใช้หนี้กันอ่วมแน่นอน

ดังนั้น ที่นักข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ม.ค.65 ว่า ราคาสินค้าเกือบทั้งหมดขึ้นหมดแล้ว ค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า “เอาเงินมาจากไหนล่ะ เธอพูดก็ได้หมด แต่เธอต้องหาเงินมาให้ได้ก่อน รัฐบาลจะต้องมีเงินก่อนนะ”

ควรจะต้องย้อนถามกลับท่านนายกฯในฐานะผู้นำรัฐบาลว่า ท่านมีฝีมือหาเงินได้แค่ไหน ถ้าคิดจะอยู่ยาว ไม่ใช่มาถามนักข่าว

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image