‘ชั่วโมงปฐมนิเทศวิชาภาษาไทย-ภาษาแห่งชาติ’

วันภาษาไทยแห่งชาติ มักจะมีคนออกมาเขียนบทความเกี่ยวกับภาษาไทยกันมากมายในสื่อต่างๆ แต่ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นว่าจะมีประเด็นที่น่าสนใจสักเท่าไร
เหตุที่เป็นดังนั้น อาจจะเป็นได้สองประการด้วยกันคือ หนึ่ง-ไม่กล้าพูดความจริง หรือพูดความจริงกันน้อย สอง-มองไม่เห็นความจริง

ผู้เขียนเคยเห็นอาจารย์ภาษาไทยที่ควรนับถือท่านหนึ่งคือ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ในหลายประเด็นเกี่ยวกับภาษาไทย ดูท่านกล้าพูดความจริงมากกว่าใคร ผู้เขียนบังเอิญมีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์ เคยฟังท่านพูด เคยอ่านหนังสือที่ท่านเขียน ดังตัวอย่างชื่อหนังสือที่ยังคงเป็นความจริงมาถึงทุกวันนี้ นั่นคือ “ภาษาไทย-วิชาที่ถูกลืม” ผู้สนใจอาจจะค้นคว้าหามาอ่านกันได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะพูดต่อไปนี้ แม้เป็นเรื่องวิชาภาษาไทยที่ถูกลืม แต่ก็ย่อมต่างประเด็นกันไป กล่าวคือ ในฐานะผู้สอนภาษาไทยเหมือนกัน ผู้เขียนมักได้ยินลูกศิษย์ถามคำถามที่น่าสนใจในชั่วโมงแรกของการปฐมนิเทศ หรือชั่วโมงแนะนำตัวผู้สอน แนะนำตัวผู้เรียน เนื้อหารายวิชา และวิธีการประเมินผลการเรียน คำถามนั้นคือว่า ทำไมอาจารย์จึงมาสอนวิชาภาษาไทย

ถามกันบ่อยครั้งเข้า ผู้เขียนก็ประหลาดใจว่าเหตุใดจึงถามเช่นนั้น คำตอบของผู้เขียนก็เลยพิสดารออกไปทุกที เป็นต้นว่า ผู้เขียนรู้สึกว่าตัวเองทำหน้าที่ไม่ต่างจากทหาร คือทำงานเพื่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากภาษาไทยแสดงความเป็นชาติไทยอย่างชัดเจน ถ้าหากสังคมไทยไม่พูดภาษาไทย ทุกวันนี้คงจะมองหาความเป็นไทยให้เห็นในทันทีได้ไม่ง่ายนัก มองไปที่ฝูงชน อาจยากระบุว่าเป็นคนชาติไหน ถ้าไม่ได้ยินเสียงพูดภาษาไทย หรือไม่เห็นตัวเขียนหนังสือไทย การสอนภาษาไทยจึงเป็นช่องทางการส่งมอบมรดกของวัฒนธรรมเพื่อแสดงความเป็นชาติไทยได้อย่างดี

Advertisement

แท้จริงน่าสนใจว่า นักศึกษาถามทำไม เสียยิ่งกว่าคำตอบของอาจารย์

ถ้าจะลองเดาดูว่าเหตุใดนักศึกษาถามเช่นนั้น คงมีทางเป็นไปได้หลายทาง แต่ทางหนึ่งที่ผู้เขียนคาดเดาโดยสังเกตเอาจากภาษาท่าทางของผู้ถาม รวมถึงบรรยากาศในห้องเรียนขณะนั้นดังนี้คือ นักศึกษาคงจะเคยเบื่อหน่ายชั่วโมงภาษาไทย เลยสงสัยว่าอาจารย์จะทำชั่วโมงภาษาไทยที่เขาเคยเบื่อหน่ายนี้อย่างไร โดยดูท่าอาจารย์ไม่เบื่อเลย อย่างไรก็ตาม คำถามของนักศึกษาเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้ปลูกฝังทัศนคติทางบวกต่อวิชาภาษาไทยได้มากมายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการกล่าวเปรียบเทียบกับนานาชาติที่มองเห็นและตระหนักในความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาแห่งชาติของเขา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นต้น ต่อเมื่อผู้เขียนให้นักศึกษาออกมาแนะนำตัวเอง พร้อมกับแสดงทัศนคติต่อวิชาภาษาไทยที่ได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษา พบว่านักศึกษาต่างพูดในประเด็นที่คล้ายกันคือ เราต้องรักษาภาษาไทยไว้ โดยระมัดระวังการพูดการเขียนให้ถูกต้อง และน่าแปลกที่มักเป็นทิศทางในเชิงอนุรักษ์เช่นกัน ดังนั้น ไม่เคยปรากฏว่ามีความคิดในเชิงสร้างสรรค์ หรืออาจเป็นเพราะผู้เขียนโชคร้ายที่ไม่ค่อยได้พบนักศึกษาภาษาไทยในลักษณะก้าวหน้า

ผู้เขียนต้องรีบบอกว่า การเรียนภาษานั้นเรียนเพื่อสร้างสรรค์ด้วย โดยเฉพาะการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ที่ผู้เรียนต้องตอบข้อสอบโดยแสดงความคิดเป็นตัวของตัวเอง แทนการจดจำทุกสิ่งที่อาจารย์สอนและสะท้อนกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะการเรียนภาษาเป็นภาคการปฏิบัติ ที่ผู้เรียนต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน หากผู้เรียนถนัดเรียนในเชิงอนุรักษ์อย่างเดียวจะไม่ถนัดพัฒนาสร้างสรรค์อะไร ไม่สามารถเป็นนักพูด นักฟัง นักอ่าน และนักเขียน ส่งผลทำให้การสร้างสรรค์ภาษาโดยองค์รวมไม่เกิดขึ้น

Advertisement

เรื่องน่าเป็นห่วงอย่างสำคัญยิ่งคือ ผู้ใหญ่หรือครูบาอาจารย์ในทางภาษาไทยจำนวนไม่น้อยถูกผลิตมาในเชิงมีแนวคิดแบบนักอนุรักษ์ ทำให้ผู้ที่มาเรียนด้วยเกิดอาการเกร็งในเรื่องของภาษากับความถูกต้องตามแบบแผนแต่เพียงอย่างเดียว เวลาคิดสร้างสรรค์ก็เลยไม่กล้า ทำให้เกิดภาวะฝืดเคืองกันไป และเกิดความไม่สนุก อีกประการหนึ่งคือ การไม่รู้จักครุ่นคิด

การเรียนตามแนวนักอนุรักษ์ มีความจำเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเดินไปตามหลักการพื้นฐาน เหมือนนักเต้นรำที่ต้องคล่องในขั้นตอนท่าพื้นฐานเสียก่อน ต่อจากนั้นจึงเป็นเรื่องที่อาจพลิ้วไหวเกิดเป็นท่าทีหรือบุคลิกเฉพาะตนขึ้นมา ผู้เรียนภาษาก็เช่นเดียวกัน เมื่อรู้หลักพื้นฐานต่างๆ แล้ว ต่อมาผู้เรียนภาษาต้องรู้จักคิด รู้จักสร้างสรรค์ เพราะภาษาเป็นเพียงเครื่องมือถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ต่อให้แม่นยำในหลักการพื้นฐานอย่างไรก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นคนเก่งภาษา เพราะจะเก่งอย่างไรได้ในเมื่อไม่มีความคิดที่จะแสดงออก อย่าว่าแต่การพูด การเขียน ซึ่งเป็นทักษะการส่งสารเลย แม้ว่าจะเป็นทักษะการรับสารก็ตามที การฟัง การอ่าน โดยคิดเองไม่เป็นนั้นคือการฟังและการอ่านที่เกือบจะเป็นศูนย์ทีเดียว หรือเรียกว่าเป็นการฟังการอ่านแบบไม่วัฒนา

เรื่องน่าปริวิตก อาจจะเป็นคำกล่าวที่รุนแรงสักหน่อย แต่ก็ดูเป็นความจริงอยู่มาก คือเหมือนกับว่าบ้านเราไม่ต้องการคนเก่งการครุ่นคิด ชั่วโมงสอนภาษาแห่งชาติจึงสอนหนักไปในทางการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำหรือเนื้อความ เมื่อปิดกั้นความคิดของอนุชน ทำให้อนุชนซึ่งอยู่ในวัยเติบโต สร้างสรรค์ จำต้องหยุดตนเองซึ่งขัดกับความเป็นธรรมชาติ อนุชนจำนวนไม่น้อยจึงปฏิเสธชั่วโมงการเรียนภาษาไทย ด้วยการไม่แยแส ไม่กระตุ้นตัวเองให้เกิดความคิดเห็นใดๆ นานวันไปเกิดบรรยากาศการครอบงำจากผู้สอนซึ่งก็เป็นผลผลิตที่ถูกครอบงำมาช้านาน ห้องเรียนภาษาที่ควรจะเป็นเรื่องสนุกตื่นเต้นกับความคิด สนุกกับการสร้างสรรค์ทางภาษา กลับกลายเป็นห้องเรียนที่ฝืดเคืองไปในทันที การมารื้อฟื้นเอาภายหลังทำได้ระดับหนึ่ง จะดีได้มากน้อยขึ้นกับตัวบุคคลและสนิมที่เกาะมา ถ้าหากเข้ามาอยู่ในบรรยากาศของการต่อยอดแบบเป็นสนิมเช่นเดิม ผลก็คือยิ่งเกรอะกรังกันเข้าไปใหญ่ เรื่องเช่นนี้ ผู้ทำงานอยู่ในแวดวงสื่อมวลชนของประเทศย่อมเข้าใจดี เพราะภาษาไม่ว่าจะเป็นทางการพูด ฟัง อ่าน หรือเขียน ย่อมเข้าไปมีบทบาทอยู่ในทุกสื่อ ผลสะท้อนที่กลับมาสู่สังคมเป็นเรื่องทั้งซับซ้อนและย้อนยอก ยากจะบรรยาย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่น่าจะมีใครปฏิเสธคือ คนไม่คิดเยอะ เชื่อง่ายนั้น เหมาะที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำที่ชอบลากจูงมวลชนไปตามความคิดของตน และมวลชนเช่นนั้นไม่น่าจะเหมาะกับวิถีประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image