สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลิเก เป็นการแสดงสร้างสรรค์ ขบถ แหกคอก นอกครู จากละครแบบเก่า

ลิเกป๊อปยุคนี้ต้องแพรวพราวทั้งเครื่องแต่งตัวและเวทีแสดง [ภาพจาก วัฒนธรรม วารสารของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (ปีที่ 55 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2559 หน้า 30]

ลิเก เป็นการแสดงอย่างใหม่ มีครั้งแรกสมัย ร.5 เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ของสามัญชนชาวบ้านยุคนั้นที่ไม่โดนใจแล้วกับละครแบบเก่า (เช่น ละครใน, ละครนอก, ละครชาตรี)

อีกด้านหนึ่ง ลิเกเป็นการแสดงอย่างใหม่ที่แหกคอก นอกครู ขบถจากจารีตเดิม (คือ ละครแบบเก่า) เพื่อสนองความต้องการของสามัญชนคนกลุ่มใหม่ยุค ร.5 ในโลกไม่เหมือนเดิม โดยมีพระยาเพชรปาณีเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อย่างของลิเก

ละครในเป็นของหลวง ดูไม่รู้เรื่อง, ละครนอก เคยเป็นละครชาวบ้าน แต่ได้รัดเครื่องแต่งตัวร้องรำเล่นเลียนแบบจนทับซ้อนใกล้กันแล้วกับละครใน, ละครชาตรีเป็นละครแก้บน เล่นแต่เรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ไม่อร่อย

ผู้ดีกระฎุมพี ยุค ร.5 มีโรงละครแบบฝรั่ง (อยู่ท่าเตียน) เรียกด้วยคำฝรั่งว่า วิก (ทับศัพท์คำฝรั่งว่า week แปลว่า สัปดาห์ เพราะเล่นสัปดาห์ละครั้ง) ละครที่เล่นแม้จะเป็นละครแบบเก่า เช่น ละครใน, ละครนอก แต่ปรุงใหม่แบบฝรั่ง นั่งดูละครบนเก้าอี้ม้านั่งอย่างฝรั่ง เก็บค่าเข้าดู ซึ่งเท่ากับกีดกันและตัดขาดจากสามัญชนชาวบ้านทั่วไปแล้วยุคนั้น

Advertisement

ดังนั้นเมื่อพระยาเพชรปาณี สร้างวิกลิเกที่ป้อมมหากาฬ หน้าวัดราชนัดดา (เลียนแบบวิกละครของผู้ดีที่ท่าเตียน) บรรดาแม่ค้าสามัญชนชาวบ้านจึงพากันไปดูลิเกพระยาเพชร ด้วยความรู้สึกทันสมัย

นายดอกดิน เสือสง่า (ภาพจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 27 พิมพ์ครั้งแรก, 2546.)
(ซ้าย) นายดอกดิน เสือสง่า (ภาพจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 27 พิมพ์ครั้งแรก, 2546.) (ขวา) นายหอมหวล นาคศิริ (ภาพจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 27 พิมพ์ครั้งแรก, 2546.)

รานิเกลิงของลิเก

รานิเกลิง เป็นทำนองร้องลิเกที่ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญมาก เพราะไม่มีในการแสดงแบบอื่น

Advertisement

เพลงรานิเกลิง หรือเพลงลิเก เกิดขึ้นโดยนายดอกดิน เสือสง่า ในยุคลิเกทรงเครื่อง และต่อมานายหอมหวล นาคศิริ ได้นำเพลงรานิเกลิงไปร้องด้นกลอนสดอย่างยาวหลายคำกลอน ทำให้มีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์มากมาย ช่วงปลายยุคนี้เริ่มมีการออกอากาศลิเกทางวิทยุแพร่หลายไปทั่วประเทศ

รานิเกลิง หรือราชนิเกลิง สันนิษฐานว่ามาจากภาษามอญ พระมหาจรูญ ญาณจารี ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญ แห่งวัดชนะสงคราม อธิบายคำมอญ แลฺ (ออกเสียงสระ แ- และ -า ด้วยกัน) แปลว่า บอก, กล่าว, เล่า รา ภาษามอญออกเสียงเป็น แรฺ แปลว่า วิงวอน อ้อนวอน เชิญชวน หฺนิฮ แปลว่า คน เกฺลิง แปลว่า มา รวมความแล้วอ่านได้ว่า แลฺ/แรฺหฺนิฮเกฺลิง หมายถึง อ้อนวอน, เชิญชวนให้คนมาดู หรือกริยาที่แสดงอาการอ้อน เช่น อ้อนแม่ยกลิเก

ลิเกพระยาเพชรปาณี หลักฐานจากโปสการ์ดเก่า

“ลิเกพระยาเพชรปาณี” รูปจากโปสการ์ดเก่า พร้อมคำอธิบายใช้ประกอบเรื่องลิเกหลายครั้ง ผมไม่ได้เป็นเจ้าของรูปนี้ ไม่เคยมีรูปอย่างนี้ เพราะไม่สะสมของเก่า และไม่ได้แต่งคำอธิบายเอง เพราะไม่ฉลาดขนาดนั้น แต่บอกไว้หลายครั้งแล้วว่าได้จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2542

ล่าสุดเพิ่งได้อ่านคำอธิบายใหม่รูปโปสการ์ดลิเกพระยาเพชรปาณี จากข้อเขียนของ  ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ว่าเป็นภาพถ่ายจากงานภูเขาทอง วัดสระเกศ แสดงว่า

  1. ลิเกพระยาเพชรมีตัวตนจริง และมีหลักแหล่งอยู่หน้าวัดราชนัดดา
  2. เป็นลิเกเร่ (เหมือนละครเร่) หอบหิ้วไปเปิดแสดงที่ไหนก็ได้ที่มีคนว่าจ้าง
  3. ที่ไปแสดงงานภูเขาทอง ต้องศึกษาต่อไปว่าทางเจ้าภาพ (คือวัดสระเกศ) จ้างไป หรือไปเองเพื่อปิดวิกเก็บค่าดูเอาเอง

จะยกคำอธิบายของศิริพจน์มาแบ่งปันให้กว้างขวางอีก ดังนี้

วิกลิเกพระยาเพชรปาณี ที่ตรอกพระยาเพชร บริเวณป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยืนยันการเป็นชุมชนเก่าแก่ของป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกเรียกในภายหลัง จึงถูกมองจากภาครัฐว่าไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ (ภาพถ่ายโดย เจ. อันโตนิโย เจ้าของร้านถ่ายรูป เจ. อันโตนิโย ปากตรอกชาร์เตอร์ดแบงก์ ถนนเจริญกรุง)
วิกลิเกพระยาเพชรปาณี ที่ตรอกพระยาเพชร บริเวณป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยืนยันการเป็นชุมชนเก่าแก่ของป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกเรียกในภายหลัง จึงถูกมองจากภาครัฐว่าไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ (ภาพถ่ายโดย เจ. อันโตนิโย เจ้าของร้านถ่ายรูป เจ. อันโตนิโย ปากตรอกชาร์เตอร์ดแบงก์ ถนนเจริญกรุง)

ลิเกเร่ งานภูเขาทอง

ภาพถ่ายใบเดียวของวิกลิเกพระยาเพชรปาณี คือภาพที่ถูกนำมาทำเป็นโปสการ์ด ถ่ายโดย นาย เจ. แอนโตนิโย (J. Antonio) เจ้าของร้านถ่ายรูปในกรุงเทพฯ ที่เข้ามาในสยามยุค ร.5 และพิมพ์หนังสือนำเที่ยวกรุงเทพฯและสยาม ที่ชื่อ “Traveller Guide to Bangkok and Siam” เมื่อปี พ.ศ. 2447

ถึงแม้ในหนังสือเล่มนี้จะไม่พูดเรื่องวิกลิเก และไม่มีภาพโปสการ์ดนี้ประกอบอยู่ในเล่ม แต่ก็พูดเรื่องภูเขาทอง และงานเทศกาลภูเขาทอง ในขณะที่บนโปสการ์ดแผ่นนี้ก็มีคำอธิบายภาพเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นไทยได้ว่า “มุมหนึ่งในงานเทศกาลวัดสระเกศ”

จึงเป็นไปได้ว่า นายอันโตนิโย น่าจะไปงานเทศกาลแล้วไปถ่ายรูปในงานนั้นมาทำโปสการ์ดแผ่นนี้ขึ้น หมายความว่า วิกลิเกของพระยาเพชรปาณีได้มีการเคลื่อนย้ายไปเปิดการแสดงในงานเทศกาลภูเขาทองด้วยเช่นกัน เพราะงานเทศกาลดังกล่าว เป็นงานชั่วคราวไม่ได้จัดตลอดทั้งปี

ส่วนวิกลิเกถาวรของพระยาเพชรปาณีตั้งอยู่ที่หน้าวัดราชนัดดา ซึ่งก็คือบริเวณบ้านของท่านเอง ดังมีหลักฐานปรากฏในลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[จากเรื่อง พระยาเพชรปาณีสร้างสรรค์ลิเก ที่บ้านย่านป้อมมหากาฬ โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 7-13 ตุลาคม 2559 หน้า 82]

คำอธิบายชุดเก่าจากศิลปวัฒนธรรม ที่ผมเคยยกใช้งานมาก่อน มีดังนี้

บัดนี้โชคดีได้พบภาพบรรยากาศหน้าโรงลิเกพระยาเพชรปาณีแล้ว โดยผู้เขียนได้รับความเอื้อเฟื้อจากคุณสินชัย เลิศโกวิทย์ ผู้สนใจโปสการ์ดเก่า ช่วยถ่ายเอกสารภาพบรรยากาศหน้าโรงลิเกพระยาเพชรปาณี ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ส่งมาให้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542

โปสการ์ดดังกล่าวเป็นภาพหญิงนุ่งโจงกระเบน คาดผ้าแถบจำนวนหลายคนกับเด็ก และผู้ชายอีกสองคนเดิน-ยืนอยู่หน้าโรงร้านแห่งหนึ่งซึ่งขึ้นป้ายชัดๆ ว่า “ลิเกพระยาเพชรปาณี” ใต้ภาพมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสพิมพ์ว่า “No 8-Photo by J. Antonio, Bangkok Un Coin de la Fête de WATH SAKET” แปลว่า แหล่งบันเทิงที่วัดสระเกศ ภาพหมายเลข 8 ถ่ายโดย เจ. อันโตนิโย (เจ้าของร้านถ่ายรูป เจ. อันโตนิโย ปากตรอกชาร์เตอร์ดแบงก์ ถนนเจริญกรุง)

เป็นอันได้การ แต่ภาพนี้จะว่าพระยาเพชรปาณีไปตั้งโรงลิเกเล่นในงานประจำปีภูเขาทอง วัดสระเกศก็ใช่ที่ ผู้เขียนเชื่อว่า ควรจะเป็นวิกลิเกหน้าวัดราชนัดดามากกว่า สาเหตุที่เขาบรรยายว่าแหล่งบันเทิงหน้าวัดสระเกศก็เพราะวัดกับวิกอยู่คนละฝั่งคลอง (คือคลองรอบกรุง) กันเท่านั้นเอง

(รูปและคำอธิบายของเอนก นาวิกมูล พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2542)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image