ลลิตา หาญวงษ์ : พม่าจะได้อะไรจากฮุน เซน

In this photo provided by An Khoun Sam Aun/National Television of Cambodia, Cambodian Prime Minister Hun Sen, left, poses for photographs together with Myanmar State Administration Council Chairman, Senior General Min Aung Hlaing, right, before holding a meeting in Naypyitaw, Myanmar, Friday Jan. 7, 2022. Cambodian Prime Minister Hun Sen's visit to Myanmar seeking to revive peace efforts after last year's military takeover has provoked an angry backlash among critics, who say he is legitimizing the army's seizure of power. (An Khoun SamAun/National Television of Cambodia via AP)

การไปมาหาสู่กันของผู้นำประเทศเป็นเรื่องปกติ แต่ในสถานการณ์การเมืองที่ผิดปกติและบิดเบี้ยวสุดสุด แบบพม่า การที่บุคคลระดับวีไอพีเดินทางไปพม่า โดยเฉพาะเมื่อได้เข้าพบกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำคณะรัฐประหาร ที่ฝ่ายผู้ประท้วงในพม่าพร้อมใจกันเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย” ย่อมมีวาระซ่อนเร้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การไปเยือนพม่าของสมเด็จฯฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา เป็นข่าวใหญ่ในพม่าต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่สอง press release ที่ทั้งสองฝ่ายออกร่วมกันเน้นหนักไปที่ข้อตกลงหยุดยิง ที่กองทัพพม่าประกาศว่าจะหยุดการสู้รบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) เป็นเวลา 5 เดือน เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2021 และจะมาสิ้นสุดในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ในการหารือกับฮุน เซน พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ให้คำมั่นว่าจะต่อข้อตกลงหยุดยิงไปอีก 5 เดือน

แต่ในความเป็นจริง ข้อหยุดยิงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกระดาษบางๆ ใบเดียว เพราะกองทัพยังมีปฏิบัติการถล่มทั้งฐานที่มั่นของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และหมู่บ้านของประชาชนธรรมดาในหลายรัฐ ที่หนักที่สุดคือในรัฐกะยาห์ ใกล้ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน การเปิดฉากโจมตีพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับว่าข้อตกลงหยุดยิงเป็นเพียงเอกสารทางการที่มีไว้แสดงให้ทั่วโลกเห็นว่ากองทัพพม่าไม่ต้องการใช้ความรุนแรง แต่เมื่อเกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้น ข้ออ้างที่มักจะตามมาคือกองทัพพม่าทำไปเพื่อป้องกันตัว และเพื่อปราบปราม “ผู้ก่อการร้าย”

เมื่อฮุนเซนไปเยือนพม่า เขาเข้าใจเป็นอย่างดีว่าต้องเข้าหามิน อ่อง ลายแบบไหน การหยิบยกประเด็นเรื่องข้อตกลงหยุดยิงขึ้นมาเป็นเหมือน “มารยาท” ที่ทำให้ทั่วโลกมองว่าฮุนเซนเข้าไปพม่าด้วยมีเจตนาเป็นตัวกลางเพื่อเปลี่ยนหนักเป็นเบา ให้สถานการณ์ในพม่ามีความรุนแรงน้อยลงบ้าง แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกระดับ ฮุนเซน ต้องการเน้นเรื่องสันติภาพ ข้อตกลงหยุดยิง และการปรองดอง เพราะเขาเชื่อว่าเขาผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาอย่างโชกโชนในยุคหลังเขมรแดงในกัมพูชา ฮุนเซนเสนอสมาชิกอาเซียนตั้ง “ทรอยก้า” (troika) หรือคณะทำงานสามฝ่าย ประกอบด้วยกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ บรูไน ในฐานะประธานอาเซียนปี 2021 และอินโดนีเซีย ประธานอาเซียนปี 2023 เพื่อทำให้ข้อตกลงหยุดยิงบังเกิดผล และเป็นประโยชน์กับประชาชนในพม่ามากที่สุด แต่ไม่ได้กล่าวออกมาชัดเจนว่าคณะทำงาน “ทรอยก้า” นี้จะทำงานกันอย่างไร

อีกประเด็นที่สร้างความฮือฮาคือฮุนเซนกล่าวถึงชื่อของโยเฮอิ ซาซากาวะ (Yohei Sasakawa) ประธานมูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation) และทูตพิเศษด้านการปรองดองแห่งชาติจากญี่ปุ่น หลายปีที่ผ่านมา เรามักเห็นชื่อซาซากาวะเรื่อยๆ ในฐานะคนที่เข้าไปนั่งเป็นตัวกลางช่วยเจรจาระหว่างรัฐบาล NLD กองทัพ และกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีข่าวออกมาว่าเขามีส่วนกับการล็อบบี้ให้กองทัพพม่าปล่อยตัวแดนนี่ เฟนสเตอร์ (Danny Fenster) นักข่าวอเมริกันด้วย ซาซากาวะอาจเข้ามาเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านพม่าให้กับกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน

Advertisement

ท่าทีของฮุนเซนทำให้สมาชิกอาเซียนบางส่วนอึดอัดพอสมควร การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนที่ควรจะมีขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วก็ถูกเลื่อนออกไป อาเซียนให้เหตุผลของการเลื่อนประชุมในครั้งนี้ว่าเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน แต่เหตุผลที่แท้จริงอาจมาจากการที่ชาติสมาชิกในอาเซียนยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมด้วยหรือไม่ เมื่อครั้งบรูไนเป็นประธานอาเซียน อาเซียนมีท่าทีต่อพม่าไปในทางแข็งกร้าว และเคยไม่เชิญผู้นำพม่าให้เข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทมาแล้ว แต่เมื่อกัมพูชาขึ้นมาเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ นโยบายของฮุนเซนคือเขาต้องการให้ตัวแทนจากพม่าเข้าร่วมการประชุมอาเซียนทุกครั้ง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย และนายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง ของสิงคโปร์ ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของกัมพูชาและความต้องการเชิญตัวแทนจากพม่าให้เข้าร่วมการประชุมอาเซียน ตราบใดที่พม่ายังไม่สามารถทำตามมติ 5 ข้อของอาเซียน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในพม่าได้

เราอาจมองท่าทีของฮุนเซนและกัมพูชาว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน แต่ผลที่ได้กลับทำให้ความน่าเชื่อถือของอาเซียน โดยเฉพาะในการแก้ไขวิกฤตในพม่า ลงต่ำลงไปอีก ไซฟุดดิน อับดุลลา(Saifuddin Abdullah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ว่าท่าทีของกัมพูชาในครั้งนี้ไม่เป็นผลดีกับอาเซียน และการเจรจาระหว่างอาเซียนกับคณะรัฐประหาร กัมพูชาควรปรึกษาชาติสมาชิกอื่นๆ ในอาเซียนก่อนเดินทางไปเยือนพม่า เพราะยิ่งจะทำให้ทั่วโลกเข้าใจผิดว่าอาเซียนเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อรัฐประหารในพม่า

อย่างไรก็ดี กัมพูชาไม่ได้สนใจท่าทีของอาเซียนมากนัก เพราะจีนกับญี่ปุ่นดูจะตอบรับกับการไปเยือนพม่าของฮุนเซนเป็นอย่างดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นออกมากล่าวชมฮุนเซนว่าทำถูกแล้วที่ไปเยือนพม่า เพราะการเจรจาจะทำให้สถานการณ์ในพม่าดีขึ้น ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ออกมาให้ความเห็นเช่นกันว่าจีนยังคงสนับสนุนอาเซียนในการเป็นผู้นำจัดการปัญหาในพม่า แต่ก็เห็นด้วยกับแนวทางของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน และในฐานะที่กัมพูชาต้องการเป็นตัวกลางเพื่อนำคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายในพม่ามาพูดคุยกันให้ได้

Advertisement

ประชาชนในพม่าตอบรับการมาเยือนของผู้นำกัมพูชาต่างออกไป และมองว่าฮุนเซนพยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารมากกว่าต้องการสร้างความปรองดอง กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights หรือ APHR) ออกมาแถลงว่านโยบายต่อพม่าของฮุนเซนเป็นภัยคุกคามต่อทั้งอาเซียนและพม่า

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนมองว่าฮุนเซนรู้ดีว่ากองทัพพม่าสังหารประชาชนไปมากมายตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และพม่าเป็นพื้นที่สงครามที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ข้อตกลงหยุดยิงไม่มีผลจริงในทางปฏิบัติ และกองทัพพม่ายังเดินหน้าโจมตีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไป เพิ่งจะเข้าปี 2022 ไม่นาน แต่กัมพูชาชี้ให้เห็นแล้วว่าในฐานะประธานอาเซียน เขามีแนวทางแตกต่างออกไปจากชาติสมาชิกอื่นๆ ที่คัดค้านรัฐประหารในพม่าอย่างรุนแรง โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ และกองทัพพม่าก็รู้ดีว่าต้องเร่งหาความชอบธรรมให้ตนเอง ผ่านชาติสมาชิกในอาเซียนที่ยังเป็นมิตรกับตนอยู่ โดยเฉพาะกัมพูชาและไทย และยังต้องเดินหน้าพูดคุยกับประเทศที่แสดงความเห็นอกเห็นใจพม่าเป็นพิเศษอย่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลในพม่า

ฮุนเซนในฐานะผู้นำกัมพูชา และกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ อาจเป็นใบเบิกทางให้คณะรัฐประหารพม่ามีที่ยืนในเวทีการเมืองโลกได้มากขึ้น แต่ยังไงเสียผู้เขียนก็มองว่าหมากเกมนี้ของฮุนเซนที่ต้องการโอบอุ้มพม่าไว้ไม่ให้ร่วงหล่นจะไม่มีทางสำเร็จ นอกจากกัมพูชาจะเป็นประธานอาเซียนเพียงปีเดียวแล้ว แรงกดดันจากทั่วโลก รวมทั้งมติของอาเซียนจะทำให้คณะรัฐประหารพม่าถูกประณามต่อไปตราบชั่วกัลปาวสาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image