ระบบเครดิตทางสังคม ใช้กับข้าราชการก่อนดีไหม?

มีข่าวแว่วๆ มาว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังสนใจการใช้ระบบเครดิตทางสังคม ซึ่งเป็นระบบที่ให้คะแนนประชาชนในประเด็นที่รัฐเห็นว่าสำคัญต่างๆ แล้วเอาคะแนนนี้เป็นเกณฑ์เพื่อสร้างแรงจูงใจในรูปแบบของรางวัลหรือชดเชยในเรื่องรายได้ให้แก่ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ หรือในกรณีที่เป็นการประเมินพฤติกรรมด้านสังคมก็มีการลงโทษผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้วย เช่น การงดหรือละเว้นการให้สิทธิใช้บริการสาธารณะหรือไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง

ระบบเครดิตทางสังคมที่เป็นที่รู้จักในโลกนี้ได้แก่ ประเทศจีนที่มีการให้คะแนนพฤติกรรมใน 3 ด้านด้วยกันคือ หนึ่ง ด้านการใช้จ่าย เช่น มีการจ่ายภาษีชำระหนี้ การจ่ายบัตรเครดิตตรงเวลาหรือไม่ อย่างไร สอง ด้านสังคม มีตัวชี้วัดที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดพฤติกรรมทางสังคม เช่น มีการปฏิบัติตามกฎจราจร การมีประวัติอาชญากรรม การจ่ายหรือการเบี้ยวค่าตั๋วการเดินทางสาธารณะหรือในด้านดีก็คือเป็นอาสาสมัครสังคม ส่วนในด้านที่สามคือ พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นการประเมินประวัติการซื้อของออนไลน์หรือพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมต่างๆ ในทางบวกและทางลบ ทั้งนี้เป็นการประมวลจากข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า แล้วเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประเมินและแปลงออกเป็นค่าคะแนนมาตรฐานของการมีทัศนคติและการแสดงออกในพฤติกรรมเชิงบวก แล้วใช้บังคับระบบนี้ร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาคม (สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2564) ซึ่งธนาคารกลางของจีนได้มอบหมายให้บริษัทเอกชน 8 บริษัท นำไปดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 (สันติธาร เสถียรไทย, 2562)

ถ้ามองในด้านบวก ระบบเครดิตสังคมก็คือการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนคิดดีทำดี โดยมีระบบตรวจสอบที่สามารถวัดความน่าเชื่อถือของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนทุกคนจะมีค่าคะแนนของตนที่ขึ้นลงตามพฤติกรรม แต่ระบบของจีนนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการใส่กรอบชีวิตของประชาชนไปในทางที่รัฐบาลกำหนดไว้ อาจมีผลไปลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่อาจเป็นลบต่อรัฐบาล และเป็นการก้าวล่วงเสรีภาพในการใช้ชีวิตเช่น ถ้าหากเราบังเอิญเป็นคนที่ติดเกมออนไลน์อาจจะทำให้มีภาพลบในสังคม การติดตามของรัฐทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจเหมือนถูกใครจ้องมองอยู่ตลอดเวลา หรืออาจจะมองในแง่ร้ายสุดๆ ก็คือ รัฐกำลังทำตัวเป็นรัฐตำรวจคอยติดตามสอดส่องพฤติกรรมอย่างเข้มข้น และรัฐอาจใช้ข้อมูลนี้ไปเพิ่มอำนาจทางการเมือง และทำลายผู้สนับสนุนฝ่ายตรงกันข้ามอย่างไม่เป็นธรรม

ที่จริงแล้วหลายมาตรการที่ประเทศจีนใช้ ไทยเองก็มีมาตรการเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น เรื่องไม่จ่ายหนี้จ่ายสินก็มีเครดิตบูโรซึ่งจะมีข้อมูลของคนที่เบี้ยวหนี้ อีกไม่นานระบบอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งจะเข้ามาเต็มที่ ข้อมูลเหล่านี้ธนาคารจะแลกเปลี่ยนกันเองอยู่แล้วเราไม่จำเป็นต้องไปทำระบบนี้ การรักษากฎจราจรเราก็มีระบบจ่ายค่าปรับอยู่แล้วจากกล้องถ่ายรูปอัตโนมัติที่ติดตั้งตามสี่แยกต่างๆ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรวบรวมระบบใหญ่ทั้งหมดเพื่อที่จะรู้ว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไร เพราะเป็นการลงทุนที่มักไม่ใช้กันในประเทศที่ไม่ใช่รัฐเผด็จการ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เทคโนโลยีดิจิทัลเช่น AI ยังไม่ก้าวหน้า ทำการสร้างระบบขนาดใหญ่เช่นนี้จะไม่สำเร็จ ดังเช่นแอพพลิเคชั่นติดตามผู้เดินทางจากต่างประเทศในช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อไม่นานมานี้ก็ติดตามตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้

Advertisement

หากในระบบที่ผู้สร้างแรงจูงใจเช่นรัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาลมีระบบเส้นสาย มีอภิสิทธิ์ชน มีการคอร์รัปชั่นสูง อีกทั้งระบบข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพมีผู้ตกหล่นมากมาย หรือระบบข้อมูลถูกรบกวน เพิ่มเติมหรือแฮกได้ง่าย ระบบเครดิตสังคมที่สร้างขึ้นมาจะไม่มีประสิทธิภาพและความยุติธรรมก็จะไม่มีใครสนใจ เพราะไม่อยากส่งเสริมระบบให้กับคนที่มีอภิสิทธิ์ซึ่งไม่ต้องทำอะไร แต่จะกลายเป็นผู้ที่เข้าระบบได้จึงได้ชื่อว่าทำดีและได้ผลตอบแทน

ในสังคมเปิดที่มี “ประชาธิปไตย” รัฐบาลอาจจะไม่สามารถบังคับทุกคนได้อย่างประเทศจีน ระบบอาจกลายเป็นระบบอาสาสมัคร ผู้ที่สนใจก็จะเป็นเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างลงไป เพราะแรงจูงใจที่รัฐให้อาจไม่สูงพอที่จะชวนให้คนรายได้สูงเข้ามามีส่วนร่วม หมายความว่าระบบนี้ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับคนเพียงส่วนเดียวและเป็นคนที่มีรายได้น้อย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมมากขึ้น กลายเป็นว่ารัฐจะเข้าไปล้วงข้อมูลและบริหารจัดการชีวิตของคนชั้นล่าง รัฐบาลน่าจะเอางบประมาณแผ่นดินไปทำระบบเพื่อสนับสนุนให้คนยากจนและคนเปราะบางได้เข้าถึงทรัพยากรและสวัสดิการได้มากขึ้นจะดีกว่า

หากรัฐบาลต้องการจะทำจริง ก็ควรลองโดยทำเป็นโครงการนำร่องที่สามารถใช้ในโรงเรียนและสถานประกอบการ เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟ เมื่อมีการประหยัดการใช้ (ซึ่งก็ใช้อยู่บ้างแล้ว) ในมหาวิทยาลัยก็ให้ลดค่าหน่วยกิตกับนักศึกษาที่ทำความดีเพื่อสังคม การสร้างธนาคารเวลาในชุมชน เช่นให้ชุมชนมีธนาคารเวลาที่สมาชิกจะช่วยเหลือกันโดยไปดูแลครอบครัวของสมาชิกคนอื่นๆ เช่น ไปดูแลผู้ป่วย เด็กเล็ก หรือช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยต้องมีการบันทึกเวลาไว้อย่างเป็นระบบ เมื่อสมาชิกได้ทำกิจกรรมช่วยเหลือก็ให้บันทึกเวลาไว้ และสามารถเบิกเวลานี้ (จากสมาชิกอื่นๆ) มาใช้ได้ในเวลาที่ต้องการ ระบบนี้ต้องมีตัวกลางที่จะมาจัดการและยืนยันการใช้เวลาเพื่อให้ระบบมีความยั่งยืน สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำก่อนที่จะไปเก็บและตรวจสอบข้อมูลระดับประชาชนก็ควรเปิดข้อมูลของรัฐให้เห็นถึงความโปร่งใสต่างๆ ก่อน เช่น การให้บริการของรัฐหรือข้อมูลการให้สัมปทานต่างๆ การใช้งบประมาณของรัฐเช่น เงินที่ ครม.อนุมัติให้ใช้ไปเยียวยาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ฯลฯ หรือหากจะทำข้อมูลของประชาชน ก็ให้ทำระบบที่รวมข้อมูลประชาชนเช่น สูติบัตร บัตรประชาชน ทะเบียนเกณฑ์ทหาร โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ปล่อยข้อมูล ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมกับรัฐสะดวกง่ายดายมากขึ้น ผู้เขียนขออนุญาตยกคำพูดคุณสันติธาร เสถียรไทยที่ว่า รัฐบาลควรคิดจะทำระบบข้อมูลที่ให้ความสะดวกกับประชาชนหรือเพื่อไปเสริมพลังให้ประชาชนมากกว่าจะใช้ข้อมูลมาเพิ่มอำนาจของตน

Advertisement

หากรัฐบาลต้องการทดลองระบบเครดิตคนดีจริงๆ ก็ลองกับข้าราชการรวมทั้งผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกก่อนก็ได้ เพราะรัฐบาลมีข้อมูลขนาดใหญ่ของคนเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่เอามารวมกันก็เป็นบิ๊กดาต้าระดับหนึ่ง การใช้ระบบเครดิตทางสังคมประเมินข้าราชการจะได้ทำให้ข้าราชการเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นต้นแบบของคนดีศรีสังคม!

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image