นโยบายเลือกตั้งตลอดกาล คือ ‘นโยบายเท่าไหร่’

ผ่านการเลือกตั้งซ่อมมาแล้ว 3 เขต ต่างจังหวัด 2 และจะมีอีก 1 ไม่นาน กรุงเทพฯปลายเดือนนี้

เมื่อมีการเลือกตั้ง ข้อกล่าวหาซึ่งกันและกันยังหนีไม่พ้น “นโยบายเท่าไหร่”

การเลือกตั้งครั้งหนึ่งคือการเลือกตั้งซ่อมในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ถึงกับมีการเรียกการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็น “โรคร้อยเอ็ด” ผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวครั้งนั้นรายงานว่า บัตรประชาชนปลิวว่อนในราคาไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ หวังว่าคอการเมืองยังจดจำกันได้ดีว่าเป็นการเลือกตั้งระหว่างใครกับใคร พรรคไหน หัวหน้าพรรคการเมืองทั้งสองพรรคถึงกับท้าไปถึงพ่อแม่

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม ที่จะถึงนี้ เป็นการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กรุงเทพมหานคร ใครเป็นใครพรรคไหนลงสมัครทราบดีอยู่แล้ว เสียง “การซื้อเสียง” มากกว่า “การหาเสียง” ปรากฏขึ้นชัดเจน ใครกล่าวหาใครเป็นข่าวมาหลายวันแล้ว

Advertisement

การหาเสียงของนักการเมืองของพรรคการเมืองเมื่อก่อนร่อนชะไร มีหลายรูปแบบ เมื่อกาลเวลาผ่านไป การเลือกตั้งมีหลายครั้ง ทั้งเลือกตั้งทั่วไป เลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งเขียนชื่อตัวเองและหมายเลขตัวใหญ่เท่าหม้อแกง (คำเปรียบเทียบ) นั่งหน้ารถเมล์มองเห็นมาแต่ไกล ระเรื่อยถึงปิดแผ่นป้ายไว้ตามเสาไฟฟ้า กำแพง ประตูบ้านของพรรคพวก หัวคะแนน เห็นว่าครั้งหนึ่งในกรุงเทพฯยามดึก ฝ่ายหนึ่งเคาะประตูบ้านให้เจ้าของบ้านไปเลือกคนของอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นที่รู้กัน

ในต่างจังหวัด แจกรองเท้าแตะระหว่างไปลงคะแนนเสียงข้างหนึ่ง บอกกับผู้รับแจกว่าขากลับมารับอีกข้างหนึ่ง รองเท้าคู่หนึ่ง แจกได้ 2 คน กลับจากลงคะแนนเสียงคนแจกหายไปแล้วผู้สมัครรายหนึ่ง เตรียม “ไต้” จุดไฟให้ผู้ไปดูหนังกลางแปลงขากลับ บอกว่าไว้ดูทางที่มันมืดได้คะแนนไปไม่น้อย

ที่จังหวัดเชียงราย ผู้สมัครคนหนึ่งหิ้วกระเป๋าใส่เงินไปใบเดียว ไม่ต้องหาเสียง เพียงบอกหมายเลขของตัวเอง แล้วกลับมานอนรอผลการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ก็ได้รับเลือกตั้ง

Advertisement

โฮ้ย…วิธีการ “โกง” เลือกตั้ง หรือจะเรียกอย่างไรมีมากมายก่ายกอง ถึงขนาดหัวคะแนนของฝ่ายหนึ่งไปบอกผู้ออกเสียงเลือกตั้งของอีกฝ่ายหนึ่ง ถามว่าฝ่ายนั้นให้เท่าไหร่ เมื่อได้รับคำตอบเท่านั้น ก็บอกไป เท่าที่รับฟังมา ว่าเขาจ่ายเท่านี้เท่านั้น คงถูกหัวคะแนนหักค่านายหน้าไปแล้วกระมัง สู้ฝ่ายนี้ไม่ได้ จ่ายเห็นๆ ว่าเท่านี้ เท่านั้นเอง เสียงส่วนหนึ่งไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง เหมือนกับกรณี บอกผู้ลงคะแนนเสียงว่าเขาให้เท่าไหร่รับไว้ทุกคนแหละ เวลาลงคะแนนลงให้ผมนะครับ หรือไม่พูดเก่ง เวลาใครเขามีงานมีการ ไม่ต้องไปหาเสียงกับแขกเหรื่อดอกเข้าครัวไปพูดคุยสนุกสนานกับพ่อครัวแม่ครัว แล้วขอคะแนนเสียงมั่งนะครับ อย่างนี้ก็มี

เมื่อก่อน หัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรคออกไปหาเสียงเรื่องนโยบาย ว่าเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จะสร้าง ไอ้โน่นทำไอ้นี่ ปล่อยให้ลูกน้องหาเสียงแจกเงินผู้มีสิทธิเลือกตั้ง บอกว่า นโยบายพรรคไหนก็เหมือนๆ กัน แต่ว่าผู้สมัครของผมนิยม “นโยบายเท่าไหร่” มากกว่า “นโยบายอย่างไร” จริงไหมครับ

ตั้งแต่นั้น เสียงผู้ลงคะแนน มักไม่ค่อยฟัง หรือไม่ค่อยรู้ว่าพรรคนั้น ผู้สมัครคนนี้มีนโยบายอย่างไร แต่สนใจ “นโยบายเท่าไหร่” มากกว่า

หรือใครว่าไม่จริง

การสมัครรับเลือกตั้งในเมืองไทยมีมาทุกรูปแบบแล้วกระมัง ตั้งแต่ไม่ต้องมีพรรคการเมือง หรือลงสมัครในนามพรรคการเมืองก็ได้ ไม่ลงคือสมัครอิสระก็ได้ เวลาหาเสียงบอกชอบพรรคไหนเลือกพรรคนั้น แต่เลือกข้าพเจ้าเข้าไปอีกคนนะ ให้สิทธิเลือก 3 คน ทางการแจ้งว่าเลือกเป็นพวงเป็นพรรคเดียวกันดีกว่า ฝ่ายที่ลงอิสระแก้ว่า เลือกเป็นพวงก็ดี แต่ให้พ่วงข้าพเจ้าในพวงนั้นด้วยคน เป็นพวงเดียวกันก็ได้

สุดท้ายไม่ว่าจะหาเสียงเลือกตั้งยังไงถึงขนาดขี่ควายเข้าสภา

เขียนชื่อฝ่ายตรงข้ามไว้บนหนังหมา

ที่สุด วันนี้สู้นโยบายดั้งเดิม “นโยบายเท่าไหร่” ไม่ได้ จริงไหมจ๊ะ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image