90 ปีประชาธิปไตย

อีกห้าเดือนประชาธิปไตยไทยจะมีอายุครบ 90 ปี ในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 เป้าหมายของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือการเปลี่ยนจากการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) บทความนี้เป็นการเชิญชวนให้คิดย้อนหลังไปบ้าง แต่จะชวนให้มองไปข้างหน้ามากกว่า

คณะราษฎรได้ทูลถวายร่าง “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” ซึ่งพระปกเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามทรงลงพระบรมนามาภิธัยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ธรรมนูญชั่วคราวได้บัญญัติถึงระบอบประชาธิปไตยว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรคือ “กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร ศาล” “กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี การอื่น ๆ ซึ่งจะมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะก็ดี จะต้องทำในนามของกษัตริย์” และ “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึ่งจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”

ต่อมามีการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งพระปกเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามทรงลงพระบรมนามาภิธัยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งมีบทบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร … ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี … ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย” และ “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ”

เมื่อจะครบรอบ 90 ปี ขอให้เจตจำนงของพระปกเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามและของคณะราษฎร ในอันที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ดำเนินต่อไปทั้งในด้านสปิริตและในทางพฤตินัย ขอให้ค่านิยมที่โน้มไปในทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตลอดจนความชื่นชอบการรัฐประหาร จงอ่อนกำลังลงโดยไม่ฟื้นคืนกลับมา

Advertisement

คณะรัฐมนตรีคณะที่ 1 ซึ่งมีพระยามโนปกรณนิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบาย เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2475 โดยถือเอาหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีคณะนี้คือ

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

Advertisement

3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4, จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

หลัก 6 ประการดังกล่าว มีลักษณะคล้ายเป็นวิสัยทัศน์ ส่วนพันธกิจของแต่ละรัฐบาลเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ยุคสมัย อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปในอนาคต ผมขอเสนอพันธกิจที่สำคัญ 3 ประการดังนี้

1. จัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง โดยยึดมั่นในสปิริตของระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

2. บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่หมายถึงการที่ทุกคนอยู่อย่างสุขสมบูรณ์และพอเพียง ที่สำคัญคือ รัฐบาลมีโครงการที่ปฏิบัติได้จริงในอันที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม

3. สร้างประชาธิปไตยจากฐานราก หมายรวมถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การถ่ายโอนอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคสู่ส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งส่งเสริมจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของพลเมือง

ในเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ถึงอย่างไรก็เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลปัจจุบัน ที่เขียนไว้ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยจะแก้มาตรา 256 ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรนิ่งดูดาย ปล่อยเวลาผ่านไปจนหมดวาระ หรือจนพ้นจากการเป็นรัฐบาลก่อนหมดวาระก็เป็นได้ หากควรเร่งรีบดำเนินการ เพื่อจะได้ไม่เป็นรอยด่างให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปอีกนาน

ในเรื่องความเสมอภาคนั้น รัฐธรรมนูญมีบัญญัติไว้โดยตลอด ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 บัญญัติว่า “ประชาชนชาวสยามไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน” รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” หมายความว่า แม้คนเราจะเกิดมาไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน ย่อมมีศักดิ์ศรีเหมือนกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง … สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง … จะกระทำมิได้” ดังนั้น การที่บางคนพูดอย่างไม่ระวัง เช่นว่า “คนรวยมีสตางค์ก็ใช้ทางด่วน คนมีสตางค์น้อยเลือกใช้ถนนข้างล่างก็ได้” หรือ “เลือก ส.ส. รวยที่พึ่งพาได้ไม่ดีหรือ” แม้ไม่ตั้งใจกระทบความรู้สึกของใคร แต่ก็สะท้อนความคิดบางอย่าง ที่ทำให้คนที่มีเงินน้อยฟังแล้วไม่สบายใจ

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังมีอยู่มาก ยังมีคนจำนวนมากที่มีค่านิยมแบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย แบบเจ้าใหญ่นายโตเพราะมีตำแหน่งสูง หรือเป็นผู้กว้างขวางมีลูกน้องมาก หรือถือตนเป็นผู้ดีมีมารยาทที่ชอบเหยียดคนที่ต่ำต้อย ฯลฯ อย่างไรก็ดี ระบบการศึกษาได้พยายามแก้ไขความเหลื่อมล้ำในทางสังคมเช่นนี้ โดยให้โอกาสการศึกษาแก่ทุกคน แต่ค่านิยมเรื่องที่ต่ำที่สูงก็ยังแพร่หลายแม้ในแวดวงการศึกษาเอง ยังดีที่มีช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเวลาที่คนใหญ่คนโตต้องมาขอคะแนนเสียง โดยอ่อนน้อมถ่อมตนและยกมือไหว้ไปทั่ว ก็ยังดีที่มีนักการเมืองบางคนหาเสียงโดยชี้ข้อเสียของระบบอุปถัมภ์และของการมองคนเหมือนเป็นไพร่หรือไม่เท่าเทียมกับตน

แต่รูปธรรมที่ชัดเจนคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในประเทศไทย คนที่มีรายได้มาก เช่น อยู่ในย่าน 20% บน มีรายได้มากกว่าคนที่มีรายได้น้อยในย่าน 20% ล่าง กว่าสิบเท่า หลายประเทศเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษีรายได้ทำให้นักวิชาการคำนวณได้ว่า คนที่รวยมากที่สุด 1% มีรายได้ในสัดส่วนประมาณ 10 % ที่น่าติดตามคือ สัดส่วนนี้มีค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่รุ่มรวย เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ โดยเข้าใกล้ 20% หมายความว่าในยุคดิจิตัลและโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมกำลังพัฒนาเป็นทุนนิยมยิ่งยวด ซึ่งอำนวยให้อภิมหาเศรษฐียิ่งทียิ่งรวยขึ้นนั่นเอง น่าเสียดายที่นักวิชาการประเทศไทยอาจยังเข้าไม่ถึงข้อมูลด้านความเหลื่อมล้ำเท่าที่ควร จึงเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ของความเหลื่อมล้ำและแนวทางแก้ไขได้ไม่ชัดเจนนัก แต่เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแล้วฉบับเล่ามุ่งหวังจะให้ลดลงนั้น ยังเป็นเพียงนโยบายลมปากที่ขาดการกระทำ ที่สำคัญคือ ขาดปณิธานทางการเมืองที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อลดการเหลื่อมล้ำอย่างมีประสิทธิผล

ประเด็นที่สามคือการกระจายอำนาจ โกวิทย์ พวงงามเขียนบทความสั้นชื่อ “บทเรียน ‘การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ จาก Konrad Adenauer ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประเด็นที่เสนอคือ Adenauer นายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมันตะวันตก (2492-2506) ได้กอบกู้ชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งในด้านการต่างประเทศ การบูรณะประเทศโดยการปฏิรูป และการสร้างประชาธิปไตยที่มั่นคง

นโยบายที่ประสบผลสำเร็จในด้านประชาธิปไตยของ Adenauer คือ “การสร้างคนให้เป็นพลเมือง” ให้มีความรับผิดชอบและสำนึกในความเป็นชาติ โดยมาร่วมสร้างประเทศให้ก้าวหน้า ในด้านการกระจายอำนาจ รัฐบาลของ Adenauer ส่งเสริมให้พลเมืองสำนึกในความเป็นชุมชนท้องถิ่น ผูกพันกับท้องถิ่น ชำระภาษีและค่าบริการอื่น ๆ แก่ท้องถิ่น รัฐบาลใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาประเทศนั่นเอง

เหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนชาวเกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 18 ถึง 27 พฤษภาคม 2523 ที่เมืองกวางจู เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2522 การลุกฮือต่อต้านรัฐประหารครั้งนั้น สามารถทำให้เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการทหารมาสู่ยุคประชาธิปไตยเป็นผลสำเร็จ แม้ทหารจะเข้าสลายการชุมนุมในเช้าตรู่ของวันที่ 27 พฤษภาคม และจับกุมผู้ชุมนุมไป 1,740 คน โดยที่ตลอดเหตุการณ์ 10 วัน มีผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน รวมทั้งทหารและตำรวจ 26 คน อย่างไรก็ดี เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2530 ในปีถัดมา รัฐสภาสามารถเปิดการไต่สวนสาธารณะเหตุการณ์ที่กวางจู จนในที่สุดในปี 2539 ศาลได้พิพากษาจำคุกผู้ก่อการรัฐประหารตลอดชีวิต แต่ก็ได้รับการอภัยโทษในปีต่อมา

การที่เกาหลีใต้สามารถพัฒนาจนเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีประเทศหนึ่งในเอเชียได้นั้น เป็นเพราะผู้นำทหารเลิกความทะเยอทะยานทางการเมือง เปิดทางให้ผู้นำพลเรือนนำพาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้พลเมืองมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นตามลำดับ เริ่มจากการปฏิรูปที่ดินที่ปลดปล่อยพลังการผลิตในชนบท ตามด้วยนโยบายการพัฒนาชุมชน และการพัฒนาท้องถิ่น ที่ข้าราชการไทยได้ไปดูงานกันมาหลายครั้งหลายหน แต่หนทางสู่ประชาธิปไตยไทยไปสะดุดที่การรัฐประหารหลายครั้งหลายหน จึงขาดวิสัยทัศน์ในการพัฒนา หากถูกตรึงด้วยความคิดของผู้นำที่ไม่เปิดกว้าง

ถ้าจะให้เลียนแบบโกวิทย์ (ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท) ผมก็ขอส่งสาสน์ถึงผู้นำคนใดก็ตาม ที่มุ่งมั่นกระจายอำนาจและส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่น ที่เอาจริงเอาจังเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และมีนโยบายการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยความจริงใจ (ไม่เพียงรับปากแล้วคิดหลีกเลี่ยง) เราจะหาผู้นำเช่นนี้ได้ไหม เพื่อสานต่อหลัก 6 ประการของคณะราษฎร หลังจากที่พวกเขาได้ก่อการไว้เมื่อ 90 ปีก่อน

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image