‘ให้โอกาสสันติภาพ’ในเมียนมา ‘สงคราม คือ ส่วนต่อของงานการทูตที่ล้มเหลว’

Give Peace a Chance …“ให้โอกาสสันติภาพ” เป็นเพลงที่แต่งโดย จอห์น เลนนอน… 1 ในคณะวงดนตรีเดอะบีเทิลส์ ของอังกฤษ ประพันธ์ขึ้นในปี พ.ศ.2512 เพื่อพยายามส่งเสริมสันติภาพของโลก และต่อมากลายเป็นเพลงต่อต้านสงครามสหรัฐในเวียดนาม

ขอใช้หน้ากระดาษของ “มติชน” ตรงนี้ สะท้อนภาพที่ประจักษ์ชัด… “สงครามกลางเมือง” ในประเทศเมียนมา ที่ยังคงส่งผลต่อความมั่นคงของไทยอย่างรุนแรง ยืดเยื้อ ยาวนาน และเชื่อว่าจะยังคงลากไปอีกยาวนาน…

ปัจจุบัน…ประเทศไทยกำลังแบกภาระและสุ่มเสี่ยง :

ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่ค้างคาในไทยมา 37 ปี ราว 8 หมื่นคน

Advertisement

ผู้หนีภัยสงครามที่ข้ามชายแดน เข้า-ออก มากขึ้น ต่อเนื่อง

ผู้ลักลอบเข้าประเทศมาทำงาน ขอมาตั้งหลักชีวิตในไทย

โรคภัยไข้เจ็บ… อาชญากรรม ปัญหาสังคมยาเสพติด…

Advertisement

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายทศวรรษเมื่อสะสมและกลายพันธุ์ …จะก่อเกิดธุรกิจ “การค้ามนุษย์” (Human Trafficking)

ทหารที่อยู่ตามแนวชายแดน สกัดกั้น ตรวจ จับกุม ผลักดัน เป็นข่าวทุกวัน ทั้งกลางวัน กลางคืน ในป่าเขา ในไร่ บนถนน

ช่วงแรก… ชุดลาดตระเวนไปจับกุมกันในป่า ในไร่ ในสวน

กลางปี พ.ศ.2564 เป็นต้นมา “ขบวนการค้ามนุษย์” เหิมเกริม ถึงขนาดใช้รถบรรทุกขนลำเลียงชาวเมียนมาเข้าเมือง ไปส่งยังตำบลจ่าย ผู้ถูกจับทั้งหมดยอมรับว่า “เสียเงิน” ให้นายหน้ากันมาทั้งนั้น รายละ 1-2 หมื่นบาทขึ้นไป

มันฟ้องสังคมว่า…มีขบวนการค้ามนุษย์จริง

18 มกราคม 2565 …ที่เห็นจากข่าวโทรทัศน์…ทหารจับได้ทั้งหมด 92 คน ขณะถูกลำเลียงบนรถบรรทุกในพื้นที่ อ.แม่สอด

กระแสคลื่นผู้ทะลักเข้าเมืองกำลังโหมมาไทยไม่หยุด และยังไม่เห็นทางแก้ไข…ตรงนี้คือ ปลายเหตุ

เจ้าหน้าที่ที่เข้าไป ตรวจสอบ จับกุม ต้อนขึ้นรถ ถ่ายภาพ คือ นักรบที่ “สุ่มเสี่ยง” ต่อการติดโควิด มากกว่าใครทั้งปวง

สถานที่ควบคุม อาหาร น้ำ ห้องน้ำ ที่ขับถ่าย ไม่ใช่เรื่องเล็ก มันคือภาระที่ “เกินเลย” ของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในประเทศนี้

ข่าวการสู้รบแบบ “สงครามกลางเมือง” ทางโซเชียลมีเดีย แสดงภาพการใช้กำลังทหารปราบปราม กวาดล้างกลุ่มต่างๆ ในเมียนมา เน้นการใช้อากาศยาน และปืนใหญ่ระดมยิงใส่ หมู่บ้าน ชุมชน ฟุ้งกระจายไปทั่วโลก

ประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่มีอะไรจะเสีย …จับอาวุธพลีชีพต่อสู้กับทหาร ตำรวจ วางระเบิดตามสถานที่ของรัฐแทบทุกเมือง

อารยะขัดขืน แบบตาต่อตา-ฟันต่อฟัน… ประชาชนเกือบทั้งหมด ไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้ามานานหลายเดือน ท้าทายให้ทางการตัดไฟฟ้า เพราะสถานที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องใช้ไฟฟ้าเช่นกัน

บริษัทผลิตไฟฟ้าที่เป็นของ “กองทัพและนายทุน” กำลังกระอักเลือดต่อการทำธุรกิจ ต้องดับไฟฟ้าเป็นบางช่วง บางเวลา

ประชาชน พร้อมใจกันใช้ตะเกียง ใช้ฟืน หุงหาอาหาร

เสาโทรคมนาคม ที่ใช้ถ่ายทอดสัญญาณสื่อสาร-มือถือ ถูกวางระเบิดหักโค่น ระเนระนาด อดใช้ด้วยกันทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน

สงครามครั้งนี้ ระหว่างรัฐกับประชาชน…ใครจะอึดกว่ากัน

ทหาร ตำรวจ เสียชีวิต และวางอาวุธ ไปเข้ากับฝ่ายประชาชนจำนวนไม่น้อย นักเรียน นักศึกษา ประชาชน คนหนุ่มสาว เข้าป่าไปฝึกอาวุธ เสริมกำลังเพื่อยืนหยัดต่อสู้กับกองทัพเมียนมา

ข่าวภาคประชาชนจากโทรศัพท์มือถือ ในบางจุดที่รายงานออกมาได้ เห็นกันจะจะ บางส่วนรายงานเป็นภาษาอังกฤษ เพราะชาวเมียนมาหลายกลุ่มใช้ภาษาอังกฤษจากนักสอนศาสนาชาวอังกฤษและอเมริกันในอดีต

(ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่ง นับถือคริสต์ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี)

10 มกราคม 2565 ประชาชนหนีตายจากการโจมตีของทหารออกจากเมืองลอยก่อ (Loikaw) ในรัฐฉาน (Shan State) นับหมื่นคนไปทางเหนือ กองทัพกำลังบดขยี้ ไล่ติดตาม กดดัน

การปราบปรามทางทิศตะวันตก ประชาชนหนีเข้าไปในอินเดีย

ทางตอนเหนือ…จีนนำกำลังทหารมาตรึงบริเวณชายแดน

นี่คือ มิคสัญญี ที่ทุกฝ่ายรับรู้…เรื่องของ “การสังหารหมู่”

ที่ร่ำเรียนหนังสือกันมา เราทราบว่า …สหประชาชาติ (UN) คือ องค์การระหว่างรัฐบาลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ…

ปกป้องสิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และค้ำจุนกฎหมายระหว่างประเทศ…

นั่นมันเป็นเพียง “ตัวหนังสือ” เอาไว้เรียน เอาไว้คุยกัน อำนาจและมติต่างๆ ที่ออกมา ไม่มีสภาพบังคับ

มีผู้แทนเกือบทุกประเทศในโลก ณ ที่ทำการสหประชาชาติ ใครได้ทำงานในองค์กรแห่งนี้ ถือว่า “โก้ที่สุด” เพราะเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมกันของคนในโลกนี้

สงครามกลางเมืองในเมียนมา คือ บทพิสูจน์ว่าล้มเหลว

ที่ผ่านมา สหประชาชาติทำงานตามวัตถุประสงค์ได้เพียง “บางส่วน” ในบางพื้นที่ของโลก…

ตราบถึงทุกวันนี้ UN ไม่สามารถทำอะไรได้เลยสำหรับวิกฤตในเมียนมาที่ “ส่งผลกระทบไทย” ชาติเดียวในอาเซียน

UN เน้นหนัก คือ ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง-ประณาม

ขอให้เข้าใจตรงกันนะครับว่า…“UN ก็ทำได้แค่นี้แหละ”

(ก็ใช่ว่าจะปรามาส ดูแคลน UN นะครับ…ในชีวิตรับราชการของผู้เขียนที่มีส่วนทำงานเล็กบ้างน้อยบ้าง …ต้องขอชมบทบาทของ UN ในกรณีสงครามกลางเมืองในกัมพูชา… เมื่อ พ.ศ.2531-2532 หลังเวียดนามถอนกำลังออกไปจากกัมพูชา ผู้นำของไทย นักการทูต นายทหารไทย คือ “กุญแจดอกสำคัญ” ในการนำผู้นำเขมร 4 ฝ่าย ที่ทำสงครามกันเอง ไปนั่งโต๊ะคุยกันสำเร็จ ในกรุงจาการ์ตา และต่อมาคือ ที่กรุงปารีส บรรลุข้อตกลง บางครั้งก็มาคุยกัน “ในทางลับ” ที่เมืองพัทยา หรือที่กรุงเทพฯ กล่อมกันจนพบ “จุดร่วมของสันติภาพ” และในที่สุด UN ก็เข้ามา “ต่อยอด” ในกระบวนการสันติภาพ จัดตั้ง UNTAC : United Nations Transitional Authority in Cambodia หรือองค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา เพื่อจัดการเลือกตั้งในกัมพูชา มีอุปสรรคบ้าง แต่มันคือการทำงานแบบมืออาชีพ และวิสัยทัศน์จากฝ่ายไทย ที่ต้องการ “ไปดับไฟกองโตนอกบ้าน” …และก็มีสันติภาพในกัมพูชามาถึงทุกวันนี้ ตัวบุคคลในการทำงานเพื่อสันติภาพ เหล่านี้ ก็ยังทำงานอยู่หลายท่าน นี่คือโมเดลที่ยอดเยี่ยมที่สุดของการทำงานถึงลูก-ถึงคน…)

ภาระหนัก อันตราย กำลังตกอยู่ที่ประชาชนคนไทยครับ

สงครามในเมียนมาเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษ ประชาชนมีดินแดนไทยเป็นที่พึ่งมาตลอด

(ประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุด หนีสงคราม เข้ามาในไทยปี พ.ศ.2527 ยอดสูงสุดราว 2 แสนคน ปัจจุบันยังคงตกค้างราว 8 หมื่นคน ใน 9 แคมป์ 4 จังหวัด แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี)

ตั้งแต่การยึดอำนาจในเมียนมาเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 …ประชาชนจากเมียนมาส่วนหนึ่งหนีตายเข้ามาขอหลบภัยแบบสิ้นเนื้อประดาตัว อีกพวกหนึ่ง “หลบหนีเข้าเมือง” แบบมีนายหน้านำพา เสียเงินก้อนใหญ่เพื่อจะเข้ามาในไทย

มองโลกในแง่ดี…เดี๋ยวเค้าก็คงคุยกันรู้เรื่อง …แบบฟ้าหลังฝน

ที่ไหนได้…ประชาชนลุกขึ้นสู้ยิบตา

เมื่อสู้ก็ต้องปราบ…มีพี่น้องจากฝั่งโน้นหนีเข้ามาไทยมากขึ้น และมากขึ้น ตั้งแต่เหนือจรดใต้… ไม่เคยหยุด

ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดคือเข้ามาทาง จ.กาญจนบุรี

ถ้ามา “ทางทะเล” ก็เข้ามาทาง จ.ระนอง ที่มีชาวเมียนมามากกว่าคนไทยซะแล้ว

ทหารที่วางกำลังตามชายแดน ตรวจ จับกุม ครั้งละ 20-30-70-90 คน และต้องตรวจโควิดให้ด้วย

การทะลักเข้ามา …มากขึ้นและมากขึ้น…มันเป็น “สิ่งบอกเหตุ” นะครับ…การสู้รบรุนแรงขึ้น และ/หรือ ขบวนการค้ามนุษย์เติบโตกำลังทำเงินได้มากขึ้น

การจับกุมของทหารชายแดน กำลังกลายเป็น “งานประจำ” ที่คุ้นเคย ซ้ำซาก จำเจ

แล้วไอ้ที่หลบหนีการจับกุมเข้ามาได้อีกเท่าไหร่ “บวก” กับผู้หลบหนีที่อยู่มาแล้วแบบ “ผิดกฎหมาย” ในประเทศนี้อีกเท่าไหร่?

ผู้เขียนมี “ความรู้จำกัด” ขอวิจารณ์แบบส่วนตัวดังนี้…

ตั้งแต่มีเหตุการณ์ใช้กำลัง ใช้อาวุธเกิดขึ้นในเมียนมาสหประชาชาติ (UN) ทำได้สม่ำเสมอ คือ จัดประชุม ประณาม มีแถลงการณ์ ประดิษฐ์คิดคำพูดใหม่ๆ เพื่อให้เห็นว่า นี่คือ “ก้าวย่างใหม่”

เมื่อประเทศมหาอำนาจทั้ง 5 เพิกเฉย ไม่ใส่ใจ หรือขัดผลประโยชน์ของประเทศตน ก็ปล่อยให้มันเกิดต่อไป

(มหาอำนาจทั้ง 5 คือ สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ที่กฎบัตรสหประชาชาติปี พ.ศ.2488 มีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของ UN คือ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา)

มาถึงปัจจุบัน มกราคม 2565 ผู้แทนพิเศษของ UN ที่ได้รับมอบภารกิจตั้งแต่เกิดวิกฤตในเมียนมา ยังไม่สามารถเดินทางเข้าไปในเมียนมาได้ จนหมดวาระการทำงานไปแล้ว

ล่าสุด 17 มกราคม 2565 ดร.โนลีน เฮเซอร์ (Dr.Noeleen Heyzer) ทูตพิเศษของสหประชาชาติคนใหม่ เธอคือสตรีชาวสิงคโปร์ ผู้มากประสบการณ์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียน ทางวิดีโอคอล

ในเวลาต่อมา เธอก็ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทยเพื่อร้องขอให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลผู้หนีภัย ความปลอดภัยให้แก่ชาวเมียนมา

ผู้นำทหารเมียนมา คงไม่ให้ใครไปเยือนให้ยุ่งยาก

คงมีเฉพาะบุคคลสำคัญบางคนเท่านั้น “ที่ถูกเลือก” ให้เข้าไป “พูดคุย” กับผู้นำของเมียนมา

ซึ่งก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ได้ผลแค่ไหน อย่างไร

UN ทำได้แค่นี้ และขอโยนให้อาเซียนจัดการ

นักการทูต ก็พร่ำเพ้อ คร่ำครวญกับคำว่า ASEAN Centrality หมายถึง ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน อาเซียนต้องแสดงตัวให้ชัดเจน มุ่งมั่น แน่วแน่ เพื่อความน่าเชื่อถือ เพื่อความเคารพนับถือ และสมน้ำสมเนื้อกับการเป็นผู้นำภูมิภาค ต้องมีเอกภาพ

ซึ่งในความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะ“แตกคอกัน” ในหลายโอกาสมานานแล้ว

อาเซียนในเวลานี้ เปรียบประดุจ “ยาหมดอายุ”

คนไทยที่ “อยู่ติดกัน” เมียนมามีแนวเขตติดต่อกันยาว 2,400 กิโลเมตร ก็ต้องรับแรงกระแทกเต็มๆ

ทุกวัน…มีคนขอเข้ามาหลบภัย ต้องให้ข้าวให้น้ำกิน แล้วต้องขอร้องให้กลับไป

7-8 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา …ยังไงๆ ก็ต้องขอชมนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ที่เป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียน บินไปพูดคุยกับผู้นำของเมียนมา

ฮุน เซน ผู้มากด้วยประสบการณ์ ผ่านสงคราม กลางเมืองในกัมพูชา เป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาแล้ว 37 ปี ประกาศกร้าว…“จะใช้วิธีที่แตกต่าง” ในเชิงการทูตกับปัญหาในเมียนมา

การเดินทางไปกรุงเนปิดอว์ ทำให้อาเซียนเกิดแรงกระเพื่อมอีกครั้ง เกิดการจับกลุ่มซุบซิบนินทาว่าไม่เหมาะ ไม่ควร เป็นการฝืนมติของอาเซียนที่ตกลงกันไว้

ที่สำคัญคือ… ประชาชนในเมียนมา ออกมาประท้วงตามเมืองต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับ ฮุน เซน ที่มา “ฟอกขาว” ให้กับรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศ

ผู้เขียนเห็นเป็นส่วนตัวว่า…ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ฮุน เซน ในฐานะประธานอาเซียน ยังแต่งตั้งนายปรัก สุคน (Mr.Prak Sokhonn) รมว.กต.กัมพูชาเป็นผู้แทนของอาเซียน เพื่อภารกิจในเมียนมา

ขอภาวนาให้ประธานอาเซียนและทูตพิเศษอาเซียน ทำหน้าที่ให้สง่างาม สำเร็จภารกิจเพื่อสันติภาพในเมียนมาโดยเร็ว แสดงฝีมือให้โลกเห็น

เพื่อยุติสงครามกลางเมือง เพื่อเห็นแก่ประชาชนชาวเมียนมาที่กำลังเผชิญกับสงคราม บาดเจ็บ ล้มตายมหาศาล

เพื่อชายแดนไทย…จะกลับคืนสู่ความสงบสุข

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image