โรคประจำถิ่น

เมื่อย้อนกลับไปที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เมื่อ 17 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 20 มกราคม โดยในฝั่งของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการเตรียมมาตรการผ่อนคลายจะคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ การทำมาหากิน และการดำเนินชีวิตของประชาชนให้ปกติมากที่สุด แม้สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่ระบาดได้เร็วและสูง แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

กระทั่งมติที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในอีก 3 วัน ออกมามีการลดพื้นที่ควบคุมหรือพื้นที่สีส้ม เดิมมีทั้งหมด 69 จังหวัด เหลือ 44 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังหรือสีเหลืองจาก 0 เป็น 25 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีฟ้า หรือพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ยังคง 8 จังหวัด

ที่จัดว่าผ่อนคลายสุดสุด เป็นเรื่องของร้านอาหารเดิมไม่ใช่เป็นที่ดื่มสุรา เมื่ออยู่ในพื้นที่สีเหลือง ก็จะให้มีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้ เข้าหลักเดียวกับกลุ่มสีฟ้า 8 จังหวัด และสีฟ้าบางพื้นที่ของจังหวัดอื่นที่เปิดดริงก์ในร้านอาหาร พร้อมขยายเวลาเดิมจาก 3 ทุ่ม เป็น 5 ทุ่ม

แต่ร้านที่จะเข้ามาตรการนี้ได้ก็ต้องผ่านมาตรฐาน “ชาพลัส”-“ไทยสต๊อปเซอร์วิส” และ “โควิด ฟรีเซตติ้ง”

Advertisement

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมในวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมาถึงสถานการณ์ว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยพบแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. วันนี้ (21 ม.ค.) พบ 1,630 ราย ส่วนรอบปริมณฑลอย่าง นนทบุรี ปทุมธานี รวมถึงกลุ่ม 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เป้าหมายหลักของสาธารณสุขมีหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชน ก็ยังขอให้ประชาชนปฏิบัติอยู่ในระดับ 4 ขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยง รวมทั้งงดการร่วมกิจกรรมเป็นเวลานาน และชะลอการเดินทางที่ไม่จำเป็น

หมอเกียรติภูมิอธิบายให้เห็นภาพว่า ประเทศไทยสามารถชะลอการระบาดได้ตั้งแต่ต้นปี บางจังหวัดดีขึ้น บางจังหวัดก็ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จึงยังเตือนภัยที่ระดับ 4 ทั้งหมดโดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ขอให้เคร่งครัดมาตรการมากขึ้น เพราะมีสัญญาณการแพร่ระบาดมากขึ้น น่าสนใจอีกว่าสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดในประเทศไทย มีประมาณ 87% และที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หากตรวจพบเชื้อก็จะเป็นเชื้อโอมิครอนเกือบ 100%

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับทราบกันดีว่า สำหรับผู้ที่เข้ารับวัคซีน 2-3 เข็มไปแล้ว หากติดเชื้อโอมิครอนก็มักจะมีอาการไม่รุนแรง เป็นแล้วหายเร็ว โอกาสที่จะเป็นผู้ป่วยหนักหรือถึงขั้นเสียชีวิตก็น้อยลง แต่อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้

ส่วนการที่ กทม.ยังพบผู้ติดเชื้อสูง เนื่องจากเป็นพื้นที่สีฟ้า มีการผ่อนคลายให้เปิดร้านอาหาร ดื่มกินเหล้าและเบียร์ได้ คำเตือนและอยากให้เข้าใจมากที่สุด ต้องระมัดระวังอย่างเข้มข้น

อันนี้ ก็คงอยู่ที่แต่ละคนรับทราบดีแล้วว่า เมื่อออกไปข้างนอกจะระมัดระวังอย่างไร

แต่ต้องชื่นชมและยอมรับในร้านอาหารและดื่มกินที่จัดมาตรการดูแลได้ดี ก็มีจำนวนมากเช่นกัน เพราะไม่มีผู้ประกอบการอยากให้ร้านของตัวเองเป็นคลัสเตอร์แน่

สำหรับโควิด-19 จะเข้าสู่การทำให้เป็นโรคประจำถิ่นภายในปี 2565 ท่านปลัด สธ.ก็ยก 3 ปัจจัยถึงแนวโน้มดังกล่าว คือ 1.ตัวเชื้อโรคมีความรุนแรงลดลงสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่เชื้อมีความรุนแรงลดลง 2.ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากขึ้น และ 3.ระบบบริหารจัดการ การดูแลรักษา ที่มีประสิทธิภาพ และควบคุมการระบาดได้ดี ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องต่อไป ไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคประจำถิ่นแล้วเราไม่ต้องทำอะไร เมื่อกล่าวถึงไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันก็ยังต้องฉีดวัคซีนทุกปี นอกจากไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และมาลาเรีย เป็นต้น ก็ยังมีผู้เสียชีวิตทุกปี เพียงแต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก

ขณะนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รวมทั้งการเคร่งครัดมาตรการป้องกัน นี่เป็นความตั้งใจของประเทศไทยและทั่วโลก

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image