แรงสะเทือนทางการเมือง หลังการเลือกตั้งซ่อม?

ด้วยเงื่อนไขของการส่งต้นฉบับและการตีพิมพ์บทความทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 ได้ทันการส่งต้นฉบับ ก็เลยคิดว่าจะมานำเสนอในสัปดาห์นี้แทน

และอาจจะถือเป็นโชคดีที่ได้วิเคราะห์การเมืองหลังการเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร และสงขลา ในฐานะส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดในช่วงนี้ (ซึ่งจนถึงวันที่เขียนต้นฉบับ และวันที่ตีพิมพ์ก็ยังคงคาดเดาไม่ได้)

ประการแรก เมื่อพิจารณาเรื่องของการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ผมคิดว่ายังมีเรื่องที่น่าสนใจที่น่าจะนำมาอภิปรายกันอีกมาก แม้ว่าจะผ่านไปเป็นสัปดาห์แล้ว

ในภาพรวมของการเลือกตั้งซ่อมภายใต้ยุคสมัยรัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงวันนี้มีการเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด 8 ครั้งแล้ว (ยังไม่นับการเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ และลำปาง)

Advertisement

แต่การไล่เรียงประเด็นที่ผมจะพูดในรอบนี้จะไม่ได้ไล่เรียงทีละครั้ง แต่จะขอไล่เรียงทีละปี เพื่อให้เป็นภาพที่ชัดเจน เชื่อมโยงกับความเป็นไปของพัฒนาการของรัฐบาลประยุทธ์ภายใต้การเมืองหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562

ในปีแรก 2562: มีการเลือกตั้งซ่อม 3 ครั้งคือ เชียงใหม่ เขต 8 (26 พ.ค.) นครปฐม เขต 5 (23 ต.ค.) และขอนแก่น เขต 7 (22 ธ.ค.)

การเลือกตั้งซ่อมครั้งแรกที่เชียงใหม่ เขต 8 เมื่อ 26 พ.ค.2562 เป็นการเลือกทดแทน สุรพล เกียรติไชยากร ของเพื่อไทย อันเนื่องมาจาก กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้งไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี
(ใบส้ม) ภายหลังที่นายสุรพลถวายปัจจัยให้พระภิกษุสงฆ์ระหว่างการทอดผ้าป่า (ให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ชุมชน เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง) และผู้ชนะในการเลือกตั้งซ่อมคือ ศรีนวล บุญลือ จากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต่อมาก็ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย ศรีนวลเมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไปมีคะแนนเป็นอันดับ 3 ส่วนในการเลือกตั้งซ่อมนั้น นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ จากพลังประชารัฐ ก็ยังมาเป็นอันดับ 2 ทั้งในการเลือกตั้งทั่วไป และในการเลือกตั้งซ่อม ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่เขต 8 เชียงใหม่ก็ยังแข็งแกร่งเหมือนเดิม

Advertisement

การเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 2 ที่ นครปฐม เขต 5 เมื่อ 23 ต.ค.2562 เป็นการเลือกทดแทน จุมพิตา จันทรขจร จากอนาคตใหม่ ซึ่งลาออกโดยให้เหตุผลเรื่องปัญหาสุขภาพ (ประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้) โดยผู้ที่ชนะในการเลือกตั้งซ่อม คือ เผดิมชัย สะสมทรัพย์ จากชาติไทยพัฒนา ซึ่งครั้งก่อนได้คะแนนเป็นอันดับ 4 รอบนี้ชนะไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร จากอนาคตใหม่ แต่ให้สังเกตว่า พรรคพลังประชารัฐไม่ลงแข่ง แต่ประชาธิปัตย์ก็ลงแข่งกับเขาเฉยทั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

การเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 3 ที่ ขอนแก่น เขต 7 เมื่อ 22 ธ.ค.2562 เป็นการเลือกทดแทน นวัธ เตาะเจริญสุข จากเพื่อไทย เนื่องจากศาลฎีกาสั่งจำคุกตลอดชีวิตนายนวัธ เตาะเจริญสุข เหตุจ้างวานฆ่าปลัด อบจ.ขอนแก่น เมื่อปี 2556 ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “นวัธ เตาะเจริญสุข”พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากถูกจำคุกระหว่างการดำรงตำแหน่งมาในรอบนี้ สมศักดิ์ คุณเงิน จากพลังประชารัฐ ชนะ ธนิก มาสีพิทักษ์ จากเพื่อไทย สมศักดิ์นั้นในการเลือกตั้งทั่วไปมีคะแนนเป็นอันดับ 2

กล่าวโดยภาพรวมในปีแรกหลักการเลือกตั้งใหม่ๆ อนาคตใหม่ยังได้รับความนิยมอยู่มาก หลังจากนั้นกลยุทธ์ใหม่ของรัฐบาลและพลังประชารัฐก็คือ สนับสนุนพรรคพันธมิตรอย่างชาติไทยพัฒนาที่นครปฐม ทั้งที่พลังประชารัฐได้คะแนนมากกว่าชาติไทยพัฒนาในการเลือกตั้งทั่วไป และ การกลับมายึดขอนแก่นเขต 7 ได้จากเพื่อไทย

ในปีที่ 2 ของรัฐบาลประยุทธ์ (คือคาบเกี่ยวระหว่างปีกับการตั้งรัฐบาล) คือ 2563 มีการเลือกตั้งซ่อม 2 ครั้งคือ ที่กำแพงเพชร เขต 2 (23 ก.พ.) และลำปาง เขต 4 (20 มิ.ย.)

การเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 4 ที่กำแพงเพชร เขต 2 เมื่อ 23 ก.พ.2563 เป็นการเลือกทดแทน พันตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ จาก พลังประชารัฐ จากการที่ศาลฎีกายืนจำคุกพันตํารวจโทไวพจน์ 4 ปี และปรับ 200 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดีบุกโรงแรมรอยัลคลิฟบีชพัทยา เพื่อขัดขวางการชุมนุมอาเซียนซัมมิท ส่งผลทําให้ต้องพ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที เนื่องจากถูกจําคุกระหว่างการดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งซ่อมนั้น เพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ จากพลังประชารัฐ ก็ได้รับชัยชนะเหนือ กัมพล ปัญกุล จากเพื่อไทย ที่ถูกส่งมาแทนคนเก่าของเพื่อไทย คือ อดุลรัตน์ แสงประชุม

การเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 5 ที่ ลำปาง เขต 4 เมื่อ 20 มิ.ย.2563 เป็นการเลือกทดแทน อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ จากเพื่อไทย เนื่องจากเสียชีวิต ผลคะแนนการเลือกตั้งซ่อมเป็นของวัฒนา สิทธิวัง จากพลังประชารัฐ ซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับ 2 เมื่อการเลือกตั้งทั่วไป โดยเอาชนะสมบูรณ์ กล้าผจญ จากเสรีรวมไทยที่ได้อันดับ 5 จากการเลือกตั้งทั่วไป โดยเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครในครั้งนี้

โดยสรุปในปีที่ 2 นั้น พลังประชารัฐได้เก้าอี้เพิ่มมา 1 และรักษาเก้าอี้เดิมได้หนึ่ง และบทบาทของ ร.อ.ธรรมนัสก็โดดเด่นตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นเลขาฯพรรค แต่เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคในภาคเหนือ

ในปีที่ 3 ของรัฐบาลประยุทธ์ อาจจะนับเนื่องมาตั้งแต่ 2564-2565 มีการเลือกตั้งซ่อมแล้ว 3 ครั้งที่ นครศรีธรรมราช เขต 3 (7 มี.ค.2564) สงขลา เขต 6 และชุมพร เขต 1 (พร้อมกันเมื่อ 16 ม.ค.2565) และจะมีที่ กทม. เขต 9 (30 ม.ค.) เป็นอย่างน้อย

การเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 6 ที่ นครศรีธรรมราช เขต 3 เมื่อ 7 มี.ค.2564 เป็นการเลือกทดแทน เทพไท เสนพงศ์ จากประชาธิปัตย์ เนื่องจากศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชตัดสินจำคุก 2 ปีและตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ในคดีทุจริตเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องของ กกต. ให้เทพไทพ้นจากความเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้น อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ จากพลังประชารัฐ ซึ่งเคยได้อันดับสองจากการเลือกตั้งทั่วไปได้รับชัยชนะเหนือตัวแทนใหม่จาก พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ ของประชาธิปัตย์ แต่ต้องตั้งข้อสังเกตว่าถ้ารวมคะแนนพรรคกล้าเข้าไปด้วยแล้ว ประชาธิปัตย์จะสามารถกำชัยชนะในพื้นที่นั้นได้

นอกจากนี้ แล้ววาทกรรมที่จะไม่ลงเลือกตั้งในเขตเก่าของพรรคเดิมไม่ได้มีกระแสในรอบนั้น และประชาธิปัตย์นั้นเคยแพ้พลังประชารัฐ ซึ่งมาเป็นที่สองในครั้งที่แล้ว ก่อนที่วาทกรรมใหม่นี้จะถูกจุดอีกครั้งเมื่อการเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้ทั้งสงขลาและชุมพรครั้งที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ

นอกจากนั้นแล้ว ดูเหมือนว่า ร.อ.ธรรมนัสจะมีบทบาทหลักในการเลือกตั้งในรอบนั้น แม้จะเป็นรองหัวหน้าพรรค ยังไม่ได้เป็นเลขาฯพรรค

การเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 7 ที่ สงขลา เขต 6 เมื่อ 16 ม.ค. 2565 เป็นการเลือกตั้งเพื่อทดแทน ถาวร เสนเนียม จากประชาธิปัตย์ เนื่องจากศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องแกนนำกลุ่ม กปปส.จำนวน 39 คน ซึ่งรวมถึงถาวรด้วย โดยศาลได้มีคำพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 5 ปี ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องของ กกต.ให้พ้นจากความเป็น ส.ส. เนื่องจากถูกจำคุกระหว่างการดำรงตำแหน่ง โดยผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ สุภาพร กำเนิดผล จากประชาธิปัตย์ ได้รับชัยชนะ โดยมี อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ จากพลังประชารัฐ ตามมาเป็นอันดับ 2 ข้อสังเกต คือ ทั้งสองคนที่แข่งขันกันครั้งนี้เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ทั้งคู่

การเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ 8 ที่ ชุมพร เขต 1 เมื่อ 16 ม.ค. 2565 เป็นการเลือกตั้งเพื่อทดแทนชุมพล จุลใส จากประชาธิปัตย์ เนื่องจากศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องแกนนำกลุ่ม กปปส.ซึ่งนายชุมพลเป็นหนึ่งในแกนนำด้วย โดยศาลอาญาได้มีคำพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 9 ปี 24 เดือนและตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่มีคำพิพากษา ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องของ กกต.ให้พ้นจากความเป็น ส.ส. ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ อิสระพงษ์ มากอำไพ จากประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะเหนือชวลิต อาจหาญ จากพลังประชารัฐซึ่งเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปก็ได้อันดับ 2 เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าในสามรอบหลังนี้คือ ภาคใต้ ทั้งนครศรีธรรมราช สงขลา และชุมพร นั้นเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ทั้งสองฝ่าย และต่างมีคะแนนมากขึ้นทั้งคู่ ซึ่งสวนกระแสกับความเชื่อที่ว่าในการเลือกตั้งซ่อมนั้นจะมีคะแนนเลือกตั้งน้อยลง

นอกจากนี้ จะเห็นว่าในการเลือกตั้งซ่อม 8 ครั้ง มีกรณีของสุรพลกรณีเดียวที่เกี่ยวข้องกับการซื้อเสียง ขณะที่กรณีที่เหลือเป็นเรื่องของการขาดคุณสมบัติถึง 5 ครั้ง (ถ้านับกรณีคุณสิริในการเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ที่ยังมาไม่ถึง ก็จะรวมเป็น 6 จาก 9 ครั้ง) และอีกสองครั้งเป็นเรื่องสุขภาพคือ ประสบอุบัติเหตุจนปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และเสียชีวิต

ดังที่ผมได้วิเคราะห์ว่า การเมืองสมัยนี้เป็นการเมืองยุคหลังการซื้อเสียง หมายถึงว่าใครๆ ก็ซื้อ หรือการซื้อเสียงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะเอามาจับกัน เพราะจับกันยากมาก อย่างมากก็ใบส้ม หรือใบเหลือง ส่วนมากแล้วจะร้องเรียนกันเรื่องคุณสมบัติมากกว่า และเมื่ออธิบายรายละเอียดเรื่องการเมืองเรื่องคุณสมบัติ ก็เป็นเรื่องของคำตัดสินของศาลมากกว่าบทบาทจริงของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง และตัดสินเรื่องราวต่างๆ

เรื่องที่ต้องพิจารณาต่อก็คือ ถ้า กกต.ไม่สามารถทำอะไรเรื่องของการขาดคุณสมบัติได้ อาจจะทั้งไม่มีอำนาจ หรือ ไม่กล้าใช้ดุลพินิจตั้งแต่ต้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติในการที่นักการเมืองหลายคนที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือขาดคุณสมบัติตั้งแต่แรก หรืออยู่ในคดีความอยู่นั้นใครจะเป็นคนรับผิดชอบ เรื่องนี้สำคัญมากแต่ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน

และเมื่อดูภาพรวมแล้ว เราจะพบว่าจนถึงวันนี้ การเลือกตั้งซ่อมในทุกครั้งนั้นพรรคฝ่ายรัฐบาลจะได้เปรียบในการเลือกตั้งและกำชัยชนะมาตลอด แม้แต่ครั้งที่เชียงใหม่ที่ศรีนวลชนะ สุดท้ายก็ย้ายไปอยู่กับรัฐบาล

และถ้าวิเคราะห์ลึกไปกว่านั้น หลายครั้งที่ชัยชนะไม่ได้อยู่แค่กับฝ่ายรัฐบาล แต่ยังมีนัยยะว่าเครือข่ายของนักการเมืองท้องถิ่นเดิมยังรักษาอำนาจของตนเองเอาไว้ได้ด้วย

ในแง่นี้เราน่าจะฟันธงไปได้แล้วว่า แม้จะมีปัญหารุมเร้ารัฐบาลนี้มาโดยตลอด แต่ในเกมเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลน่าจะได้เปรียบและคงจะรวมตัวกันกลับเข้าสู่อำนาจอยู่ดี เพราะนอกจากจะชนะในการเลือกตั้งซ่อมแล้ว คะแนนที่ชนะยังเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งอาจจะสวนทางกับความคาดหวังของฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาลนี้อีกหลายคน

การวิเคราะห์น่าจะจบลงตรงนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ออกจากพรรคพลังประชารัฐของ ธรรมนัสและพวกอีกยี่สิบคน และมีหลายคนวิเคราะห์ว่า เสถียรภาพของรัฐบาลมีปัญหา

แต่ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งที่สงขลากับชุมพรนั้น ธรรมนัสไม่ได้คุมตรง แม้จะเป็นเลขาฯพรรค แต่เป็นทีมที่ดูจะใกล้ชิดกับประยุทธ์มากกว่า

แม้ว่าทัวร์จะลงที่ธรรมนัสจากคลิปปราศรัย แต่คะแนนพลังประชารัฐก็ดีวันดีคืนในภาคใต้

อย่าเพิ่งฝันหวานไปนัก เพราะพรรคใหม่ที่ธรรมนัสและพวกย้ายไป ก็เป็นพรรคที่คาดว่าลูกน้องประวิตร และ น้องชายประวิตรนั้นตั้งไว้

และจะกลายเป็นว่า พรรคใหม่ๆ ที่ตั้งขึ้นในช่วงนี้ ไม่ได้มีทีท่าจะออกมาเป็นทางเลือก “จาก”
ประยุทธ์เลย และในด้านกลับกัน ก็เป็นพรรคที่ไม่ได้เป็นปัญหากับประวิตร แถมมีแต่ข่าวลือว่าสนิทชิดเชื้อกับประวิตรอยู่บ้าง

ขณะที่แนวโน้มฝั่งประชาธิปไตยดูจะไม่มีพรรคเพิ่มขึ้นมาเป็นทางเลือก และพรรคที่มีอยู่ก็ยังมีท่าทีของความขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อย

แน่นอนว่าสถานการณ์การต่อรองระหว่างนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลกับประยุทธ์น่าจะมีมากขึ้น ทั้งจากเงื่อนไขการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีและผลประโยชน์ หรืออาจจะเป็นลักษณะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลายคนก็รู้สึกว่าถ้าปล่อยให้ประยุทธ์บริหารแบบล้มเหลวแบบนี้ทุกวัน การกลับมาสู่รัฐสภาในรอบหน้าของพวกเขาก็จะยากขึ้น และต้นทุนในการกลับมาก็จะยากขึ้น

แต่กระนั้นก็ตาม แนวโน้มที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะหันมาร่วมมือกับฝ่ายค้านเองก็ดูจะเป็นไปได้ยาก

สถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องของความตึงเครียดที่ถูกยกระดับขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาล และบ้านเมืองก็ยังคงจะยังเป็นไปแบบนี้อีกสักพักใหญ่

พูดง่ายๆ ว่าอำนาจก็ยังวนอยู่ในมือ 3 ป.เหมือนเดิม แม้จะมีแรงตึงเครียดระหว่างกันอยู่บ้าง แต่ผลประโยชน์ร่วมของการอยู่ร่วมกันยังมากกว่าการแตกหักกันเอง

ดังนั้นยุทธศาสตร์การต่อสู้กับระบอบนี้ นอกจากการปะทะในและนอกสภาดังที่ผ่านมา คงต้องคิดเพิ่มว่าจะทำอย่างไรให้นักการเมืองที่อยู่ฝั่งรัฐบาลรู้สึกว่าถ้าไม่ออกจากพวกนี้แล้ว ต้นทุนในการกลับเข้าสู่สภาจะสูงขึ้นมากกว่าการยอมย้ายข้างมาอยู่กับประชาชน

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image