เราจะไม่ลืม… จดจำเรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุคดิจิทัล

วันที่ 27 มกราคม ของทุกๆ ปี

คือวันที่พวกเราร่วมกับประชาคมโลกรำลึกถึงช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นั่นคือวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล (International Holocaust Remembrance Day) ซึ่งพลเรือนกลุ่มหนึ่งตกเป็นเป้าสังหารของอีกกลุ่มหนึ่ง โดยมุ่งทำลายล้างความเป็นมนุษย์ ดังนั้นแล้ว วันนี้จึงเป็นวันที่ผู้คนทั่วโลกต่างร่วมกันยืนหยัดและระลึกถึงความน่าสะพรึงกลัวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือ “โซอาห์” (Shoah) ในภาษาฮีบรู เพื่อให้แน่ใจว่าความโหดร้ายเหล่านี้จะไม่ถูกลืม และจะไม่เกิดขึ้นอีก

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยได้ร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลกเพื่อดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา “การปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” (Holocaust Denial) โดยไทยได้ร่วมสนับสนุนมติสหประชาชาติว่าด้วย “การปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” ที่เสนอโดยประเทศอิสราเอล สหประชาชาติลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ดังนั้น มติข้างต้นจะเป็นมาตรฐานสากลฉบับใหม่ในการต่อสู้กับการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยให้การศึกษาเรื่องโฮโลคอสต์กับเยาวชน

Advertisement

ทั้งนี้ ปีนี้ครบรอบ 80 ปีของการประชุมวันน์เซ (The Wannsee Conference) ที่มีการหารือและวางแผน “มาตรการสุดท้ายของการแก้ปัญหาชาวยิว” การประชุมดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างค่ายมรณะของนาซี อันเป็นสถานที่ซึ่งชาวยิวนับล้านคนถูกสังหารอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีการที่ป่าเถื่อน เช่น การรมแก๊ส อย่างไรก็ตาม แนวคิดของนาซีต่อการจัดการชาวยิวนั้น แท้จริงแล้วได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น โดยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 การเลือกปฏิบัติและกระบวนการลดทอนความเป็นมนุษย์ต่อชาวยิว ได้ค่อยๆ เริ่มก่อรูปขึ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การเพิกถอนสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจ การเลือกปฏิบัติทาง
เชื้อชาติ ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย และการคุมคาม ตลอดจนการทำลายล้างชาวยิวที่สนับสนุนโดยรัฐ

สำหรับหลายๆ คนแล้ว การดำเนินชีวิตหลังจากประสบการณ์อันน่าสะพรึงกลัวนับเป็นเรื่องยากลำบากยิ่ง ถึงแม้สงครามและเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ความบอบช้ำทางจิตใจยังคงมีอยู่

Advertisement

ประสบการณ์อันน่าเศร้าดังกล่าวนั้นได้เกิดขึ้นกับครอบครัวของดิฉันเช่นกัน กล่าวคือ คุณยายของดิฉัน ผู้ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างโฮโลคอสต์ ต้องยกลูกสาวให้ผู้อื่นเพื่อให้รอดชีวิต คุณแม่ของดิฉันผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์โฮโลคอสต์จึงถูกพรากจากครอบครัวแท้ๆ ของเธอ

และมาทราบความจริงก็เมื่อมีอายุ 60 กว่าปี ในฐานะลูกหลานของผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว บาดแผลจากเรื่องราวอันน่าเศร้าส่งผลกระทบต่อชีวิตในวัยเด็กของดิฉันอย่างมาก แต่กระนั้น สำหรับหลายๆ คนกลับมีจุดจบที่เลวร้ายยิ่งกว่า ด้วยเหตุที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาโดยที่ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงเลย และพลัดพรากจากชุมชนชาวยิว

เป็นเวลากว่าแปดทศวรรษแล้วหลังจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ขณะที่ความทรงจำในเรื่องดังกล่าวค่อยๆ เลือนหายไป เป็นเรื่องเศร้าที่ในปัจจุบันนี้ทั่วโลกต้องเผชิญกับอาชญากรรม ซึ่งเกิดจากความเกลียดชังที่เพิ่มมากขึ้น อันส่งผลให้พวกเราทุกคนต่างก็ตกอยู่ในอันตรายจากการเลือกปฏิบัติ แนวคิดสุดโต่ง การเหยียดเชื้อชาติ และอคติ นอกจากนี้ ในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า การเหยียดเชื้อชาติและความเกลียดชังชาวต่างชาติมีเพิ่มมากขึ้น กระแสแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เกิดการทำร้ายชาวยิวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป ดังนั้นแล้ว เพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่เราจะต้องให้การศึกษาเรื่องโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์และผลกระทบจากแนวคิดการเหยียดเชื้อชาติแก่คนรุ่นใหม่

การเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่นับเป็นความท้าทายสำหรับนักประวัติศาสตร์และนักการศึกษามาโดยตลอด ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงสื่อโซเชียลได้อย่างทั่วถึง แต่ทว่า เครื่องมือสื่อสารดังกล่าวกลับถูกใช้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง และกระแสการต่อต้านชาวยิว ดังนั้นแล้ว เราทุกคนควรใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงสื่อออนไลน์ เพื่อช่วยให้แน่ใจว่า ความโหดร้ายดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก รวมถึงเป็นการส่งสารไปยังเด็กและเยาวชน

สุดท้ายนี้ กลุ่มบริษัทโซเชียลมีเดียต่างต้องมีมาตรการที่ครอบคลุม เพื่อควบคุมการสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์ ก่อนที่จะเกิดเป็นอาชญากรรม ดังนั้นแล้ว เราจึงจะสามารถเก็บความทรงจำและศักดิ์ศรีของเหยื่อจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวให้กับคนรุ่นใหม่ได้ศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะไม่เกิดขึ้นอีก

ออร์นา ซากิฟ
ว่าที่เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image