ประกวดเพลงสุขภาพ โดย สุกรี เจริญสุข

มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งทางด้านสุขภาพ ปีหนึ่งๆ มีผู้ป่วยใช้บริการโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยมหิดลถึง 7 ล้านคน โรงพยาบาลที่ให้บริการ 5 โรง ทุกโรงพยาบาลพยายามสร้างอาคารผู้ป่วยเพิ่ม เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น ต้องหาอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น รัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมากที่จะดูแลรักษาประชาชนให้ปลอดจากความเจ็บป่วย

ความเจ็บป่วยส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเอง การกิน การอยู่ “กินอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น” จากพฤติกรรมของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคมากขึ้น อาทิ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การทำงานโดยไม่พักผ่อน การไม่ได้ออกกำลังกาย การพูดไม่ดี คิดไม่ดี รวมทั้งการกระทำที่ไม่ดี ก็ทำให้จิตป่วย มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ชอบรสหวาน อาหารที่มีมัน อาหารรสเค็ม กินอาหารที่ทำให้เกิดโรคอ้วน โรคที่อุดมสมบูรณ์ โรคที่เกิดจากความอดอยาก โรคที่มาจากความสกปรก สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นปัจจัยทำให้เจ็บป่วยได้

หากผู้ป่วยได้เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ว่าการกิน อาทิ การเปลี่ยนจากอาหารทอดหรือผัด ซึ่งใช้น้ำมัน (โรคไขมัน) หันไปปรุงอาหารโดยวิธีอื่น (ต้ม ตุ๋น นึ่ง ปิ้ง ย่าง) เพื่อลดมัน เป็นต้น เรื่องที่อยู่อาศัย การละเว้นพาหะที่จะนำไปสู่ความเจ็บป่วยได้ (ยุง แมลงสาบ หนู สุนัข แมว เป็ด ไก่ นก) ซึ่งความรู้พื้นฐานเหล่านี้ ผู้ป่วยสามารถที่จะป้องกันได้ด้วยตนเอง หากผู้ป่วยได้ดูแลอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังตัว ก็จะช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยได้ โดยไม่ต้องพึ่งหมอ ไม่ต้องไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

ทำไมต้องดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยยิ่ง ศีลข้อที่เจ็ดในพุทธศาสนา “ให้ละเว้นการฟ้อนรำขับร้องและประโคมดนตรี เพราะเป็นข้าศึกแห่งกุศล” ดูเหมือนว่าศาสนาพุทธห้ามเรื่องดนตรี เล่นดนตรีแล้วเป็นบาป แต่ความจริงศาสนาพุทธไม่ได้พูดถึงดนตรีที่ละเอียด แต่จะห้ามดนตรีที่หยาบ เพราะดนตรีหยาบจะชักจูงจิตใจให้หยาบไปด้วย สำหรับดนตรีที่ละเอียดนั้น มีใช้อยู่ในพุทธศาสนา อาทิ เสียงพระสวด (เพลงสวด) เสียงดนตรีที่อยู่ในวัด (ฆ้อง ระฆัง กลอง ปี่พาทย์) ซึ่งมีให้เห็นอยู่ตำตาทุกวัด ทำไมวัดมีดนตรีเหล่านี้ โดยไม่มีคำอธิบาย

Advertisement

เมื่อไม่มีคำอธิบาย ทุกคนก็ได้แต่สงสัย ก็ได้แต่ท่องบ่นกันว่า พุทธศาสนาห้ามใช้เสียงดนตรี

ในหนังสือนางนพมาศได้สาปแช่งเรื่องการเรียนดนตรีและเล่นดนตรีเอาไว้ว่า “พวกที่ร้องรำทำเพลงเล่นดนตรี ดีดสีตีเป่านั้น ตายไปแล้วจะต้องตกนรกชั้นโลหะกุมภี ต้องเวียนว่ายตายเกิดชั่วพุทธันดร” ดนตรีเป็นวิชาของคนบาป ชาวบ้านก็สั่งสอนลูกหลานไว้ว่า “อย่าร้องเพลงในครัวได้ผัวแก่” เป็นต้น ก็เป็นข้อสงสัยว่าทำไมต้องเรียนดนตรี และแท้จริงแล้ว ดนตรีมีประโยชน์อย่างไร

ส่วนคริสต์ศาสนานั้น ใช้ดนตรีสื่อสารกับจิตวิญญาณ “วิญญาณกลับไปสู่พระเจ้าด้วยเสียงดนตรี” ดังนั้น ในศาสนาคริสต์ใช้ดนตรีในงานพิธีกรรม งานสั่งสอน และชีวิตประจำวัน ดนตรีจึงเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของชีวิตชาวคริสต์ ในขณะเดียวกัน คริสต์ศาสนาไม่เคยกล่าวถึงดนตรีที่เป็นบาป เพราะดนตรีที่หยาบก็จะชักจูงให้จิตใจของมนุษย์หมกมุ่นลงต่ำด้วยเสียงดนตรี

Advertisement

พุทธศาสนาพูดถึงดนตรีที่หยาบและเป็นบาป แต่ไม่ได้พูดถึงดนตรีที่ละเอียดที่เป็นส่วนดี ส่วนละเอียดก็จะชักจูงจิตใจให้ขึ้นสวรรค์ ในขณะที่คริสต์ศาสนาใช้ดนตรีละเอียดเป็นหุ้นส่วนของศาสนา แต่ก็ไม่ได้พูดถึงดนตรีที่หยาบเป็นบาป ความจริงทั้งพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนา หรือทุกๆ ศาสนา ต่างก็ใช้ดนตรีในการสวดอ้อนวอน ที่เรียกว่า “เพลงสวด” หรือ “บทสวด” ด้วยกันทั้งสิ้น

จากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี สามพราหมณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสังคม ถามพระอภัยมณีว่า

“ดนตรีมีคุณที่ข้อไหน หรือใช้ได้แต่ข้างเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง
ยังสงสัยในจิตคิดประวิง จงแจ้งจริงให้กระจ่างสว่างใจ”

พระอภัยมณีได้ตอบกับสามพราหมณ์ไปว่า

“พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช จตุบาทกลางป่าพนาสิณฑ์
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา”

พระอภัยมณี; สุนทรภู่ (พ.ศ.2329-2398)

พุทธทาสภิกขุ (พ.ศ.2449-2536) นักปราชญ์คนสำคัญของไทย ท่านได้บันทึกไว้ว่า “ดนตรีและศิลปะบริสุทธิ์มีคุณสนับสนุนความมีจิตว่าง… เราฟังดนตรีกันที่ความไพเราะ ก็เหมือนกับการศึกษาธรรมะ ก็เพราะความไพเราะของพระธรรม” เพียงแต่ไม่มีคนอธิบายให้ละเอียด

เสียงคือพลังงาน เสียงคืออำนาจ ที่ใดมีเสียง ที่นั่นมีอำนาจ ผู้มีอำนาจทั้งหลายจึงใช้เสียงเป็นอุปกรณ์ของอำนาจ อาทิ งานพิธีกรรมก็ต้องอาศัยเสียงดนตรีเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ เพื่อทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ หากไม่มีเสียงประกอบพิธีกรรม ก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด ดังนั้น เสียงดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรมทุกชนิด ทุกศาสนา ทุกผู้นำ ตั้งแต่หัวหน้าเผ่า นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี กษัตริย์ เมื่อจะทำพิธีใดๆ ก็ต้องใช้เสียงดนตรีประกอบทั้งสิ้น

เสียงคือพลังงาน พลังงานของเสียงทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา เมื่อเกิดการพัฒนาก็ทำให้เกิดความเจริญ ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ก็จะสนับสนุนให้เกิดความเจริญยิ่งๆ ขึ้น ผู้นำจึงเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญ

พลังงานของเสียงมองไม่เห็น เมื่อเข้าไปในตัวมนุษย์ เสียงก็จะเข้าทางรูขุมขน เข้าไปอยูในทุกๆ ส่วนของร่างกาย ทำให้โมเลกุลของทุกอณูในร่างกายขยายออก ทำให้เกิดอาการ “ขนลุก” อาจจะเป็นเพราะความกลัว เป็นเพราะความประทับใจ หรือเป็นเพราะเหตุผลใดๆ ก็ตาม ก็จะตอบได้ว่า พลังงานเสียงมีอำนาจทำให้อณูในร่างกายมนุษย์ขยายตัว จึงทำให้ขนลุก

การประกวดเพลงเพื่อสุขภาพ เป็นการนำเอาดนตรีและบทเพลง นอกจากจะให้ความบันเทิงและให้ความไพเราะในชีวิตประจำวันแล้ว ยังให้สาระความรู้ผ่านเนื้อเพลง ที่จะทำให้ผู้ฟังสามารถนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยที่ผู้ฟังสามารถนำไปฝึกตนเอง นำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันโดยไม่ต้องไปพบหมอทุกๆ เรื่อง ทั้งนี้ เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระหมอและการไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

การประกวดเพลงสุขภาพ เป็นโครงการประกวดแต่งเพลงที่มีเนื้อหาในการดูแลรักษาสุขภาพ การรู้จักป้องกันสุขภาพ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วยตัวเอง การออกกำลังกาย การเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์ การพักผ่อน การนอน ฯลฯ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้เหล่านี้ ได้แต่งเนื้อหาเป็นเพลงส่งเข้าประกวด ไม่ว่าจะเป็นเพลงประเภทไหน ลูกทุ่ง ลูกกรุง ลูกเทศ ป๊อป ร็อก อินดี้ เพลงเพื่อชีวิต ฯลฯ ผู้ประพันธ์เพลงก็สามารถส่งบทเพลงเข้าประกวดได้หมด โดยไม่จำกัดรูปแบบและไม่จำกัดจำนวน

บทเพลงที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นบทเพลงที่ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งเนื้อร้องและทำนอง ซึ่งไม่เคยเผยแพร่มาก่อน ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากผลงานของผู้อื่น หากคณะกรรมการพบว่าเป็นเพลงเก่า ที่เคยเผยแพร่มาก่อนแล้ว หากพบว่าได้ลอกเพลงของผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นโมฆะให้ตัดสิทธิทิ้งไปโดยปริยาย รับเพลงที่แต่งขึ้นทุกลักษณะ เปิดกว้างให้เสนอความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการได้อย่างเต็มที่ ผู้ประพันธ์เพลงสามารถส่งผลงานกี่ชิ้นก็ได้

สำหรับเนื้อหาของเพลง เป็นเรื่องการป้องกันสุขภาพ การดูแลสุขภาพ การกิน การอยู่ พฤติกรรมที่จะทำให้เกิดความเจ็บป่วย หรือเป็นเหตุแห่งความเจ็บป่วย อาทิ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การเสพเครื่องดองของเมา การทำงานโดยไม่พักผ่อน การไม่ได้ออกกำลังกาย หรือพฤติกรรมการกินอาหาร ชอบรสหวาน มัน เค็ม หรือพฤติกรรมของความเป็นอยู่ที่ไม่สะอาด การเป็นโรคอ้วน ที่อยู่อาศัยสกปรก เป็นต้น

ผลงานที่ชนะการประกวดหรือได้รับการคัดเลือกให้ผ่านเข้ารอบต่างๆ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ สามารถนำไปทำซ้ำในฐานะเจ้าของสิทธิได้ในทุกรูปแบบ

การส่งบทเพลงเข้าประกวด ถือว่าเป็นการยอมรับกติกาและวิธีการดำเนินการของฝ่ายจัดประกวด ผู้ส่งผลงานไม่สามารถที่จะเรียกร้องสิทธิใดๆ ได้ การดำเนินการและการตัดสินของคณะกรรมการถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

ในขณะเดียวกัน สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ สามารถนำบทเพลงที่ชนะการประกวดไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ถือเป็นการให้ความรู้ความบันเทิงแก่ประชาชนได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และรางวัลที่ได้รับจากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นที่สิ้นสุดและเหมาะสมแล้ว

โครงการเปิดให้บุคคลทั่วไปส่งเพลงเข้าประกวดได้ตั้งแต่บัดนี้ สิ้นสุดวันรับสมัคร 31 ธันวาคม 2559 ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลและรายละเอียดได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการจะคัดเลือกโดยการฟังเพลง แล้วก็จะคัดเลือกไว้จำนวน 100 เพลง ประกาศผู้ที่เข้ารอบในวันที่ 15 มกราคม 2560 รอบสอง คณะผู้จัดงานเชิญผู้ที่เข้ารอบ 100 เพลง ให้แสดงสด ต่อหน้าคณะกรรมการ 15 คน พิจารณาคัดเลือกให้เหลือ 30 เพลง จัดที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 22 มกราคม 2560

สำหรับผลงานที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเข้าสู่รอบสุดท้าย 30 บทเพลงนั้น จะถูกนำไปเรียบเรียงเสียงประสานสำหรับวงออร์เคสตร้า (76 ชิ้น) โดยนักเรียบเรียงเสียงประสานที่มอบหมายโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้คัดเลือกให้ทำงาน ซึ่งค่าเรียบเรียงเสียงประสาน รับผิดชอบโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี 5 ระดับ คือ รางวัล 5 แสน 3 แสน 2 แสน 1 แสน และ 5 หมื่นบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image