อดีตที่หอมหวาน-ตำนานรถเมล์ขาว โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ในสมัยในหลวง ร.4 สยามเปิดประเทศทำมาค้าขายกับนานาอารยประเทศ เรือสำเภา เรือกลไฟบรรทุกสินค้าแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างคึกคัก มีชาวตะวันตก (ฝรั่ง) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาราชการ แหม่มฝรั่งเข้ามาสอนภาษาอังกฤษในรั้วในวัง ฝรั่งทั้งหลายที่เข้ามาพักอาศัย ณ เมืองบางกอก มีนิสัยชอบนั่งรถม้า เดินออกกำลังกาย ชอบแสงแดด ประสงค์จะท่องเที่ยวสัญจร แต่สยามยังไม่มีถนนสำหรับยานพาหนะ คงมีเพียงทางเดินของผู้คนแบบตรอก ซอก ซอย

ฝรั่งรวมตัวกันทำหนังสือขึ้นไปถวายในหลวง ร.4 ร้องขอให้ก่อสร้างถนนในบางกอก เพื่อเดินออกกำลังยืดเส้นยืดสาย และเพื่อสะดวกต่อการใช้รถม้าดังเช่นเมืองใหญ่ในยุโรป

ชาวสยามตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ใช้เรือเป็นหลัก ในต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปลอดจากศึกสงครามกับพม่า จึงเน้นการขุดคูคลองเป็นหลักเพื่อป้องกันบ้านเมือง เพื่อการเดินทาง และเพื่อการเกษตร เรื่องถนนสำคัญน้อยกว่าคลอง ตรอก ซอก ซอย ทางเดินในบางกอก ไม่ใช่ถนน ยามหน้าแล้ง ทางเดินกลายเป็นขี้ฝุ่น ยามหน้าฝน ทางเดินเละเป็นโคลน

ประวัติศาสตร์สยามบันทึกว่า ถนนเส้นแรกที่เกิดขึ้นคือถนนเจริญกรุง ตามด้วยถนนบำรุงเมือง และถนนเฟื่องนคร

Advertisement

ต่อมาในราวปี พ.ศ.2428 ในสมัยในหลวง ร.5 เมื่อมีการสร้างถนนเพิ่มมากขึ้นอีกหลายสาย ชุมชนสยามเริ่มหันมาใช้ถนนมากขึ้น มีรถม้า รถเจ๊กลาก จนกระทั่งมีการนำรถยนต์เข้ามาใช้ ทั้งราชการและส่วนตัว

เครื่องจักร เครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า ถูกพัฒนาขึ้นมาแทนการใช้แรงงานสัตว์ แรงงานทาส และเพื่อความสะดวกสบาย

14619922_1315799451787301_1595838728_nนายเลิศ เศรษฐบุตร สุภาพบุรุษหนุ่มชาวสยามที่ถือได้ว่าเป็นนักธุรกิจชั้นนำในสังคมยุคนั้น ติดต่อค้าขายกับฝรั่งในบางกอกมานาน ผ่านการต่อสู้และบุกเบิกการตั้งห้างนายเลิศ ธุรกิจรถเช่า ม้าเช่า ขายจักรยาน ทำธุรกิจส่งออก-นำเข้า มีกิจการเรือเมล์ ทำธุรกิจที่ดิน โรงน้ำแข็ง โรงแรม ตั้งบาร์ขายเหล้า นายเลิศประสบความสำเร็จในธุรกิจทุกสาขา

Advertisement

กิจการเดินเรือเมล์ในคลองแสนแสบของนายเลิศไปได้สวย นายเลิศจึงคิดต่อยอดธุรกิจเรือเมล์ด้วยการเดินรถเมล์บนบกที่จะเชื่อมต่อกับเรือเมล์ของตน ซึ่งยังไม่มีใครลงทุนมาก่อน

พ.ศ.2450 นายเลิศทดลองกิจการรถเมล์ขั้นต้น โดยใช้ม้าลากรถโดยสารจากสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก) ถึงประตูน้ำสระปทุม กิจการพอมีกำไรเลี้ยงตัวได้ ปัญหาคือ ความเร็วที่แปรผันไปตามสภาพของม้า นายเลิศจึงหันไปมองที่รถเมล์ใช้เครื่องยนต์แทนม้า

พ.ศ.2453 รถบรรทุกยี่ห้อฟอร์ด จากต่างประเทศ คือตัวเลือกที่นายเลิศตัดสินใจนำเครื่องยนต์และโครงรถเข้ามาต่อตัวถังเป็นรถเมล์ในเมืองไทยที่ทำด้วยไม้ทั้งคันซึ่งนายเลิศออกแบบเอง รถเมล์ใช้เครื่องยนต์ที่วิ่งได้ไกลกว่าม้าลาก นายเลิศขยับขยายเส้นทางวิ่งให้ไกลขึ้น คือจากประตูน้ำสระปทุมไปจนถึงบางลำพู (ประตูใหม่ตลาดยอด)

รถเมล์ยุคแรกยาวประมาณ 1 ใน 3 ของรถเมล์ปัจจุบัน นั่งได้ 10 คน ตัวรถทาสีขาว มีเครื่องหมายกากบาทสีแดงในวงกลมแดง คนทั่วไปเรียกรถเมล์นี้ว่า รถเมล์ขาว

รถเมล์ขาวนายเลิศเริ่มขยายพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น รถเมล์ขาวชนะใจชาวบางกอกยิ่งนัก ผู้คนหันมาใช้บริการรถเมล์แทนการใช้เรือ นายเลิศมีนโยบายเฉียบขาดว่า “สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรน้อย และบริการผู้มีรายได้น้อย” พนักงานรถเมล์ขาวปฏิบัติตามได้จริงเป็นรูปธรรม

ปี พ.ศ.2468 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ นายเลิศใช้เรือเมล์อพยพประชาชน ขนย้ายสัตว์เลี้ยงให้ชาวบ้านแถวคลองแสนแสบ ขนของบรรเทาทุกข์ วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารโดยไม่คิดเงิน ในหลวง ร.6 จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์นายเลิศ เป็น เสวกตรี พระยาภักดีนรเศรษฐ เพื่อตอบแทนความดีงาม

ผู้เขียนเองยังจำภาพลักษณ์รถเมล์ขาวได้ดี พนักงานขับรถเมล์ พนักงานเก็บเงิน พนักงานตรวจตั๋วที่แต่งเครื่องแบบสีขาว มีหมวก รองเท้าสีขาว รถเมล์สะอาด ทั้งภายนอกภายในรถมีสภาพดี พนักงานพูดจาสุภาพ จอดขึ้นลงตรงป้าย กระเป๋ารถเมล์จะช่วยเหลือเด็ก คนชราขึ้น-ลงรถ มีอู่จอดรถเป็นระเบียบทุกแห่ง แม่ค้า-พ่อค้านำกระบุงปุ้งกี๋ใส่ผักไปขายที่ตลาดก็ขึ้นรถเมล์ขาวได้ โดยนั่งตอนท้ายรถเมล์ซึ่งจะมีพื้นที่วางของ รถเมล์ขาวของนายเลิศให้โอกาสคนยากจนได้มีโอกาสทำมาหากิน มีบรรยากาศของการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อต่อกัน

มีผู้ลงทุนกิจการรถเมล์ตามแบบนายเลิศเกิดขึ้นอีก 28 ราย ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในยุคที่เฟื่องฟูที่สุด กิจการรถเมล์ขาวของนายเลิศมีพนักงานกิจการรถเมล์ขาวมียอดราว 3,500 คน มีรถเมล์ขาวทั้งสิ้น 800 คัน

ธุรกิจรถเมล์ที่เกิดขึ้นใหม่ในกรุงเทพฯในช่วงเวลาต่อมา มีปัญหาเรื่องเส้นทางเดินรถที่ไม่สอดคล้อง สภาพรถและการบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง น้ำมันขึ้นราคา แต่ราคาค่าโดยสารถูกควบคุม รถเมล์หลายบริษัทเจ๊ง แต่รถเมล์ขาวอยู่ได้

ในเดือนกันยายน 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้รวมรถโดยสารประจำทางทุกสายในกรุงเทพฯ มาเป็นบริษัทเดียวกัน เรียกว่า “บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด” ดำเนินกิจการในรูปรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัด แต่ยังติดขัดด้วยปัญหาข้อกฎหมาย รถเมล์ขาวที่แสนดีที่รับใช้ประชาชนมานาน 70 ปี ใน 36 เส้นทางถูกแปรสภาพยุบรวมละลายหายไปในบริษัทมหานครฯ ดังเช่นตะวันลับขอบฟ้า

ต่อมา สมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 เพื่อฟื้นฟู ชุบชีวิตกิจการรถโดยสารทั้งหมดอีกครั้ง โดยให้มาสังกัดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจ

ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านประเมินประสิทธิภาพและสถานะการเงินของ ขสมก.ด้วยตัวเอง

พระยาภักดีนรเศรษฐ (นายเลิศ เศรษฐบุตร) เสียชีวิตเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ.2488 เมื่ออายุ 74 ปี

กิจการรถเมล์ขาวของนายเลิศที่ประชาชนกรุงเทพฯชื่นชอบในมาตรฐาน การบริการที่เป็นหนึ่งมาตลอดในแผ่นดิน จึงกลายเป็นตำนานแห่งความสำเร็จอันงดงามที่เคยมีมาในอดีต ที่ปัจจุบันเรายังโหยหาและใฝ่ฝันถึง

 

สนับสนุนโดย

เอไอเอส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image