ปูตินด็อกทรินกับวิกฤตยูเครน! : สุรชาติ บำรุงสุข

หนึ่งในวิกฤตใหญ่ของการเมืองโลก ที่นอกเหนือจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ในปีปัจจุบันผันตัวเป็น “โอไมครอน” แล้วนั้น วิกฤตการณ์ในยูเครนเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังถูกจับตามองอย่างน่ากังวล และอาจส่งผลต่อการเมืองในเวทีโลกอย่างมากด้วย โดยเฉพาะในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ ที่มิติของการแข่งขันในวันนี้มีแนวโน้มที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้น และผลที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้จะมีนัยอย่างมากกับการจัดระเบียบระหว่างประเทศของยุโรปในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านหนึ่งของปัญหา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตนี้เป็นผลสืบเนื่อง ที่เกิดตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย อันส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียสิ้นสุดลงไปกับการยุติของสงครามเย็น การล่มสลายของสหภาพโซเวียตครั้งนั้นทำให้พื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองมีโอกาสแยกตัวออกเป็น “รัฐเอกราช” และหนึ่งในนั้นคือ “ยูเครน”

ในอีกด้านนั้น เมื่อการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเกิดขึ้น จึงกลายเป็นโอกาสทางการเมืองครั้งใหญ่ให้แก่องค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (หรือเนโต้) ขยายสมาชิก ด้วยการไปดึงเอารัฐเอกราชใหม่ที่เคยตกอยู่ภายใต้การควบคุมทางการเมืองของโซเวียตแต่เดิม เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ การขยายสมาชิกของเนโต้ในครั้งนี้ถูกมองจากฝ่ายรัสเซียว่า เป็น “ภัยคุกคามสำคัญ” ต่อสถานะด้านความมั่นคงของรัสเซียในยุคหลังสงครามเย็น เพราะเป็นเสมือนการรุกประชิดของฝ่ายตะวันตกต่อรัสเซียโดยตรง ซึ่งแต่เดิมในยุคสงครามเย็นนั้น อย่างน้อยยังมีพื้นที่ด้านยุโรปตะวันออกทำหน้าที่เป็นดัง “พื้นที่กันชน” ในทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อขวางกั้นภัยคุกคามของทางตะวันตก

นอกจากนี้ในมุมมองของทางฝ่ายรัสเซีย “สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคง” ของยุโรปในยุคหลังสงครามเย็น วางอยู่บนมิติ “ความมั่นคงยุโรป-แอตแลนติก” (Euro-Atlantic Security) และส่วนหนึ่งของการออกแบบระเบียบเช่นนี้มีสหรัฐฯ เป็นแกนกลาง จนผู้นำรัสเซียมีความรู้สึกว่า รัสเซียไม่มีส่วนร่วม และไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายตะวันตกให้เข้ามาร่วมในการออกแบบ อันทำให้เกิดทัศนะว่า ระเบียบการเมืองและความมั่นคงของยุโรปในยุคหลังสงครามเย็นเป็นผลผลิตของฝ่ายตะวันตก และในขณะเดียวกัน ผู้นำรัสเซียอย่างประธานาธิบดีปูติน ก็ถือว่า รัสเซียไม่มีพันธะใดๆ ที่จะต้องยอมรับต่อระเบียบใหม่เช่นนี้

Advertisement

ดังนั้น เมื่อรัสเซียสามารถที่จะฟื้นสถานะทางการเมืองของตนเองในเวทีโลกได้บ้างแล้ว รัสเซียจึงแสดงตนในการเป็น “ผู้ท้าทาย” ต่อการจัดระเบียบดังกล่าว อีกทั้ง ประธานาธิบดีปูตินเองมักจะกล่าวในเวทีสาธารณะเสมอว่า การจัดระเบียบที่เกิดขึ้น เป็นเสมือนรัสเซีย “ถูกละเลย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การละเลยต่อความกังวลด้านความมั่นคงของรัสเซีย อีกทั้ง ผู้นำรัสเซียยังเรียกร้องให้ฝ่ายตะวันตกยอมรับถึง “สิทธิพิเศษ” ของรัสเซียในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ที่รัสเซียเคยครอบครองไว้แต่เดิม

การขยายอิทธิพลของรัสเซียต่อยูเครนในครั้งนี้ จึงมิใช่เพียงการรุกเพียงเพื่อผนวกดินแดนอย่างเช่นในกรณีของไครเมีย หรือการแทรกแซงในดอนบัสในช่วงปี 2014 หากแต่ในครั้งนี้ เป็นการรุกทางทหารที่พุ่งเป้าไปสู่ยูเครนโดยตรง อันมีนัยถึงการท้าทายที่เกิดต่อ “การจัดระเบียบยุโรป” ในยุคหลังสงครามเย็น และทั้งยังเป็นสัญญาณสำทับถึง การกลับมาของรัสเซียในการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งรัสเซียเชื่อว่า การเปิดเกมการเมืองครั้งนี้ เป็นเสมือนกับ “การทวงสิทธิ์” ของรัสเซียในเวทียุโรป

หากลองพิจารณาจากมุมมองของรัสเซียแล้ว ประธานาธิบดีปูตินเชื่อว่า การเปิดเกมครั้งนี้เป็นจังหวะเวลาที่ดีที่สุด ด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการ คือ

Advertisement

1)สหรัฐอเมริกาในสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในความอ่อนแอทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอีกส่วนคือ ผลสืบเนื่องที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีผลในทางลบต่อสังคมอเมริกันอย่างหนัก

2)สังคมอเมริกันมีความแตกแยกภายในอย่างมาก ทั้งจากปัญหาความเห็นต่างทางการเมืองที่เกิดตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ และปัญหาเรื่องสีผิว ตลอดรวมถึงปัญหาชนกลุ่มน้อยในสังคมด้วย

3)ความอ่อนแอของสหรัฐฯ ในเวทีโลก ส่งผลให้การผลักดันนโยบายที่เกิดขึ้น ไม่มีพลังเช่นในอดีตของยุคสงครามเย็น

ดังนั้น แม้การเปลี่ยนผู้นำที่ทำเนียบขาวมาสู่ประธานาธิบดีไบเดน แต่รัสเซียเชื่อว่า สหรัฐฯ ยังไม่อยู่ในจุดที่จะพลิกฟื้นสถานะทางการเมืองในเวทีโลกได้จริง เพราะในอีกด้านของโลก สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการรุกทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงจากจีนในเอเชียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการ
เติบโตของจีนที่ขึ้นมาเป็นคู่แข่งของความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่กับสหรัฐฯ จึงเป็นอีกภาพสะท้อนอีกประการหนึ่งของความอ่อนแอของสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้โดยรวมมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ปูติน เชื่อว่า เวลาของรัสเซียมาถึงแล้วในการเปิดเกมรุก

นอกจากนี้ รัสเซียมองว่า สหภาพยุโรปเองก็ไม่แข็งแรงแบบเดิม การเปลี่ยนแปลงผู้นำในเยอรมนี ทำให้ผู้นำใหม่ต้องยุ่งกับปัญหาภายใน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาโรคระบาด อีกทั้งในมิติด้านพลังงาน รัสเซียมีสถานะเป็น “แหล่งพลังงาน” ให้กับยุโรป ซึ่งเป็น “ไพ่ที่เหนือกว่า” อีกใบ และในอีกด้านเชื่อว่า การเปิดเกมรุกกับฝ่ายตะวันตกของรัสเซียในครั้งนี้จะได้รับความสนับสนุนจากจีนด้วย เหมือนที่จีนเคยให้การสนับสนุนรัสเซียมาแล้วในตอนวิกฤตการณ์ไครเมียในปี 2014 ซึ่งก็คือ การตอกย้ำว่า การตัดสินใจเปิดเกมรุกในครั้งนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุด

แม้จะยังเป็นประเด็นที่คาดคะเนได้ยากว่า สุดท้ายแล้ว ประธานาธิบดีปูตินจะตัดสินใจด้วยการเปิดการรุกทางทหารเข้าสู่ยูเครนหรือไม่ แต่การเปิดเกมการเมืองใหญ่ครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนถึงทิศทางการเมืองที่รัสเซียต้องการให้สหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตกยอมรับบทบาทของตนมากขึ้นในเวทียุโรป หรือในอีกด้านคือ การบ่งบอกว่า การออกแบบระเบียบของยุโรปจะต้องมีส่วนร่วมจากรัสเซีย

การแสดงออกในเชิงนโยบายเช่นนี้ เราอาจเรียกว่าเป็น “หลักการปูติน” หรือ “ปูตินด็อกทริน” (Putin Doctrine) ที่รัสเซียต้องการเห็นฝ่ายตะวันตกตกยอมรับสถานะของตนเช่นในยุคสงครามเย็น กล่าวคือ รัสเซียต้องการได้รับการยอมรับในฐานะของการเป็น “รัฐมหาอำนาจใหญ่” ที่ควรได้รับการ “ยอมรับ” และ “เกรงกลัว” อีกทั้ง โลกตะวันตกควรจะต้องยอมรับต่อ “สิทธิพิเศษ” ในทางภูมิรัฐศาสตร์เหนือพื้นที่ที่เป็นรัฐเพื่อนบ้าน และขณะเดียวกัน รัฐเพื่อนบ้านเหล่านี้ก็ควรยอมรับถึงสถานะของการเป็นรัฐที่อยู่ใน “เขตอิทธิพล” ของรัสเซียด้วย

หลักการปูตินจึงเป็นดังความพยายามของการพลิกฟื้นสถานะของรัสเซียในยุคหลังการล่มสลาย และสร้างการยอมรับใหม่ต่อความเป็นรัฐมหาอำนาจในปัจจุบัน และหวังว่า การออกแบบระเบียบใหม่ของยุโรปในอนาคตจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัสเซีย

ดังนั้น ไม่ว่าการบุกยูเครนจะเกิดขึ้นหรือไม่ อีกทั้ง สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกจะเตรียมรับการบุกทางทหารของรัสเซียอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นภาพสะท้อนสำคัญของวิกฤตยูเครนครั้งนี้ คือ ความต้องการของรัสเซียที่ต้องการจัดทำ “แผนที่ทางภูมิรัฐศาสตร์ยุโรปใหม่” โดยมีรัสเซียเป็นผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญ ฉะนั้น แม้วิกฤตทางทหารที่ยูเครนอาจจะสามารถขยับออกไปได้ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่เป็นพื้นฐานสำคัญของนโยบายความมั่นคงรัสเซียคือ “หลักการปูติน” ที่ไม่เปลี่ยนแปลง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image