โคทม อารียา : อยากเห็นเมียนมาที่สันติและยุติธรรม

เมื่อปี 2561 สื่อออนไลน์ของพม่าเต็มไปด้วยภาพข่าวการทำร้ายชาวพุทธและชาวฮินดูในรัฐยะไข่และมีข่าวว่ากองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญา (ARSA) เข้าโจมตีฐานที่ตั้งทางทหารของพม่าหลายสิบแห่ง ก่อนหน้านั้น มีข่าวการทำร้ายชาวโรฮิงญาเป็นระยะ ๆ เช่นกัน ในสายตาของชาวพม่าส่วนใหญ่ โรฮิงญาเป็นคนต่างศาสนาและชาติพันธุ์ แม้หลายคนตั้งถิ่นฐานอยู่เดิมในรัฐยะไข่ แต่หลายคนเพิ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานประมาณหนึ่งร้อยปีที่แล้ว ชาวพม่าส่วนใหญ่จึงถือว่าเขาเป็นพวก ‘กะลา’ (หมายถึงชนต่างถิ่น คล้ายคำว่าแขก) และรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้สัญชาติแก่พวกเขา เมื่อถูกรังแก ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่พยายามต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่มีกลุ่มใหม่ที่ใช้ชื่อว่ากองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญา ที่เลือกการต่อสู้ด้วยอาวุธ ซึ่งเข้าทางทหารพม่าที่มีกำลังเหนือกว่ามาก อีกทั้งทหารบางคนมีความเกลียดชังชาวโรฮิงญาในจิตใจ แทนที่จะตอบโต้ตามสัดส่วนเมื่อถูกโจมตี กลับใช้วิธีโจมตีและขับไล่ชาวบ้านโรฮิงญาอย่างไม่เลือกหน้า ดังที่เราเห็นภาพการยิงและการเผาหมู่บ้าน รวมทั้งได้รับฟังประจักษ์พยานของผู้ที่ถูกทำร้าย ถูกข่มขืน ถูกขับไล่ไปจากบ้านช่องของตน ฯลฯ ที่เห็นชัดที่สุดคือ ภาพชาวบ้านนับแสนที่เดินเท้าหนีภัยข้ามพรมแดนไปอยู่ในบังคลาเทศ

สาเหตุแห่งโศกนาฏกรรมนี้ จะว่าเป็นเรื่องความรักชาติก็ว่าได้ เพราะเป็นการปะทะกันระหว่างผู้รักชาติพม่าและผู้รักชาติพันธุ์โรฮิงญา หรือจะว่าเป็นเรื่องการเข้ากันไม่ได้ของคนต่างศาสนาก็ว่าได้ เพราะเป็นการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม หรือจะว่าเป็นเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรหรือการขาดการบริหารจัดการอย่างมีวิสัยทัศน์ ฯลฯ ก็ว่าได้เช่นกัน แต่ที่น่าพิจารณาคือสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ อันได้แก่วิบากกรรมที่ก่อไว้แต่ในอดีต ทุกความขัดแย้งรุนแรงมีความเป็นมาและสาเหตุที่ซับซ้อน มีปัจจัยและตัวละครมากมายที่ก่อปฏิสัมพันธ์ต่อกันเรื่อยมา เรื่องที่จะนำมาเล่าต่อไปนี้ บางส่วนมาจากหนังสือชื่อ “ผ่าพม่า: เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด” เขียนโดย ตั้น เมี่ยน-อู แปลโดย สุพัตรา ภูมิประภาส

พม่าเป็นชื่อเรียกชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่เดิมอยู่ทางภาคเหนือของเมียนมา พม่าเป็นชาตินักรบ ทำการรบพุ่งกับกลุ่มอื่น ๆ มาโดยตลอด จึงมีจิตวิญญาณนักรบและยกย่องทหาร ในบริเวณหน้าโรงเรียนเตรียมทหารที่เมืองเมย์เมื้ยว มีรูปปั้นสามกษัตริย์ ได้แก่ อะยอนะทา (อโนรธา มังช่อ) บะยิ้นหน่อง (บุเรงนอง) และ อะลองมินตะยา (อลองพญา) ทั้งสามพระองค์ขึ้นครองราชย์ต่างวาระกัน แต่ที่เหมือนกันคือการตั้งราชวงศ์และการรวบรวมพม่าให้เป็นปึกแผ่น พระเจ้าอะยอนะทาก่อตั้งอาณาจักรพุกาม ทรงครองราชย์ระหว่างปี 1597-1630 ทรงรวมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิรวดีเป็นหนึ่งเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมทั้งบริเวณรอบนอก เช่น รัฐชาน รัฐยะไข่ และลุ่มน้ำเจ้าหระยาตอนบน พระเจ้าบะยิ้นหน่อทรงก่อตั้งราชวงศ์ตองอู ครองราชย์ระหว่างปี 2093-2124 อาณาเขตของพระองค์รวมถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง รัฐมณีปุระ (ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งของอินเดียที่อยู่ติดกับพม่า) และอาณาจักรอยุธยา พระเจ้าอะลองมินตะยาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โกนบองที่เป็นราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ทรงครองราชย์ระหว่างปี 2293-2301 ทรงกอบกู้ล้านนาคืนจากอยุธยา ขับไล่ชาวอังกฤษและฝรั่งเศสที่สนับสนุนอาณาจักรห

สาวดีของชาวมอญ และก่อตั้งเมืองย่างกุ้ง

Advertisement

จิตมุ่งมั่นประการหนึ่งของพม่าหรืออย่างน้อยของทหารพม่าน่าจะเป็นการรวมชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้การปกครองหนึ่งเดียวกันดังที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้เคยทำ ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงตั้งชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” โดยที่คำว่าสหภาพ (Union) แสดงถึงการรวมตัวของรัฐหลายรัฐที่แน่นแฟ้นกว่าการรวมตัวแบบสหพันธ์ (Federation) ที่ให้ความเป็นเอกเทศแก่แต่ละรัฐมากกว่า แต่เรื่องการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวเป็นเรื่องยากลำบากมาก

ประการแรก รวมตัวได้ยากเพราะมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่าหนึ่งร้อยกลุ่ม ประชากรปัจจุบันแบ่งเป็นชาติพันธุ์พม่า 68%, ไทใหญ่ 9 %, กะเหรี่ยง 7%, ยะไข่ 4%, จีน 3%, อินเดีย 2%, มอญ 2%, อื่น ๆ 5% [อย่างไรก็ดี สถิตินี้ยังเป็นที่น่าสงสัย ไม่ทราบว่าการระบุชาติพันธุ์ของทางการพม่าใช้วิธีการอะไร ใช้การถามเจ้าตัวว่าอยู่กลุ่มไหน หรือใช้วิธีสังเกตด้วยว่าเวลาเขาพูดกับครอบครัว เขาใช้ภาษาอะไร เพราะภาษาแม่เป็นตัวบ่งชี้ชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี และจากการสังเกตแบบอัตวิสัยของผมเอง พบว่าแรงงานจากเมียนมา เช่น ที่เชียงใหม่และมหาชัย มีคนพูดภาษามอญกันเป็นจำนวนมาก แต่ตามสถิติของทางการพม่า ชาวมอญที่เคยครองอาณาจักรและมีวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ในอดีต จะเหลือประชากรเพียง 2% หรือประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้นหรือ]

ความยากลำบากประการที่สองอาจเนื่องมาแต่สภาพทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ค่อยสัมพันธ์กัน โดยพม่าเข้ายึดครองและปกครองพื้นที่ตามลุ่มแม่น้ำสายใหญ่ ๆ เช่น แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำชินดวิน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อาศัยอยู่ตามหุบเขาหรือลุ่มน้ำที่เล็กกว่า จึงถูกปกครองและเข้าถึงได้ยากกว่า ก่อนได้รับเอกราชจากอังกฤษหนึ่งปี นายพลอองซานผู้นำพม่าได้ลงนามในข้อตกลงปางโหลง (Panglong Agreement) กับผู้นำไทใหญ่ ชีน และกะชีน ซึ่งตกลงที่จะรวมกันเป็นสหภาพที่ให้สิทธิแก่ประชากรเท่าเทียมกันและให้ผู้นำของแต่ละดินแดนรับผิดชอบดินแดนของตนเอง พร้อมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลงประชามติเพื่อให้รัฐที่เข้าร่วมในสหภาพถอนตัวจากสหภาพได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี ข้อตกลงนี้เป็นอันระงับไป เมื่อนายพลอองซานถูกลอบสังหาร ส่วนความเป็นไปได้ที่จะลงประชามติเพื่อถอนตัวจากสหภาพก็หมดสิ้นไป เมื่อนายพลเนวินทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง

Advertisement

ในประการที่สาม มีการกล่าวโทษว่าความยุ่งยากต่าง ๆ นั้น เนื่องมาแต่การปกครองอาณานิคมของอังกฤษ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนจะมีการต่อว่าสองแบบที่แย้งกันอยู่ในที มีบางคนต่อว่าว่าอังกฤษใช้วิธีการแบ่งแยกและปกครองตามที่ตนถนัด เดิมทีชนกลุ่มน้อยไม่ได้คิดอะไรมาก แต่อังกฤษให้ท่าโดยยอมรับการจัดแบ่งพื้นที่ตามการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยจึงตระหนักรู้ถึงอัตลักษณ์ของตนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การต่อว่าอีกแบบหนึ่งคือการมองว่าอังกฤษปกครองแบบส่งเดช เอาง่ายเข้าว่า ชนกลุ่มน้อยอยู่ตามหุบเขา ตามแนวชายแดน เข้าไปบริหารได้ยาก ชาวพม่าเสียอีกที่อยู่ในที่ราบลุ่ม บริหารจัดการง่ายกว่า ชนกลุ่มน้อยอาจคิดว่าตนไม่เคยอยู่ใต้ปกครองใคร อังกฤษไม่ได้มาปกครอง แล้วอยู่ ๆ จะให้อยู่ใต้อำนาจชาวพม่าได้อย่างไร สรุปก็คืออ่านประวัติศาสตร์กันคนละเล่ม

แล้วเรื่องก็ยุ่งขึ้นไปอีกเมื่อพม่าได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเป็นช่วงสงครามเย็น อูนุที่เคยต่อสู้เพื่อเอกราชเข้าดำร

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรก เขาคงเข็ดหลาบกับอังกฤษและญี่ปุ่นจึงขออยู่ในค่ายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รัฐบาลอูนุต้องเผชิญข้อท้าทายหลายประการโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและการสู้รบกับกองกำลังของชนกลุ่มน้อย แต่รัฐบาลอูนุประสบความสำเร็จในเวทีระหว่างประเทศโดยการสนับสนุนให้ อูตั้น เข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติอยู่สองสมัย (อูตั้นเป็นตาของ ตั้น เมี่ยน-อู ผู้เขียนหนังสือที่อ้างถึงตอนต้น) ส่วนอูนุดำรงตำแหน่งสามสมัย (2491-2499; 2500-2501; 2503-2505) จนกระทั่งถูกรัฐประหารโดยนายพลเนวิน ซึ่งประกาศนโยบายสังคมนิยมวิถีพม่า โดยเน้นความเป็นชาตินิยม การพึ่งตนเองและความการเป็นอยู่อย่างพุทธที่เรียบง่ายและรักสันโดษ ผู้นำพม่าหลายคนที่ร่วมกันกอบกู้เอกราชเป็นอดีตนักศึกษาและมีแนวคิดด้านสังคมนิยมอยู่แล้ว การประกาศนโยบายสังคมนิยมอาจหวังผลในการดึงฝ่ายซ้ายเข้าร่วม ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธคอมมิวนิสต์และทฤษฎีโดมิโนไปในตัว แต่นโยบายนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแบบเสรีประชาธิปไตยที่เริ่มได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษารุ่นใหม่ กระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่มีอองซาน ซู จี เป็นผู้นำ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้ง และกวาดล้างขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์วันที่ 8 สิงหาคม 2531 (ที่เรียกว่า เหตุการณ์ 8888 ตามวันที่ในคริสต์ศักราช) การยึดอำนาจของทหารเพื่อล้มกระดานการเลือกตั้งครั้งนั้น เกิดซ้ำอีกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 คราวนี้ นอกจากจะต้องสู้กับกองกำลังชนกลุ่มน้อยแล้ว ทหารยังต้องสู้กับประชาชนที่ใช้สันติวิธีและอารยะขัดขืน เช่น เดินขบวน ไม่ให้ความร่วมมือกับทหาร/ตำรวจ ไม่จ่ายค่าไฟฟ้า เป็นต้น ทหารต้องต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลพลัดถิ่น ที่ใช้ชื่อว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่ประกอบด้วยเยาวชนและนักประชาธิปไตยที่ได้รับการหนุนช่วยจากรัฐบาลเอกภาพฯ

กระบวนการสันติภาพในพม่าเริ่มต้นในปี 2554 ในปี 2558 มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย 8 กลุ่ม แม้ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว แต่ก็ได้ทำให้เกิดความหวังว่าสันติภาพน่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว และหวังว่ารัฐบาลภายใต้การนำของออง ซาน ซู จี จะสานกระบวนการสันติภาพที่ได้เริ่มต้นแล้วต่อไป อันที่จริง ได้มีการพูดคุยสันติภาพกันอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้าที่เห็นชัด และสถานการณ์การสู้รบกลับเลวร้ายลงหลังการรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่ประชุมสุดยอดของอาเซียนได้บรรลุ “ฉันทามติ 5 ข้อ” เพื่อยุติความรุนแรงในเมียนมาและปูทางสู่การเจรจา โดยพลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ต่อมาก็มิได้ทำตาม “ฉันทามติ” ดังกล่าว จนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดครั้งถัดไป อย่างไรก็ดี เมื่อถึงคราวที่กัมพูชารับเป็นประธานอาเซียน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้ไปเยือนเมียนมาและพบปะกับพลเอกมิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 7-8 มกราคม 2565 ผลก็คือทหารพม่าให้คำมั่นว่าจะดำเนินการหยุดยิง แต่ไม่ชัดว่าจะทำตาม “ฉันทามติ” ข้อต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน ไม่แน่ว่าอาเซียนจะเชิญตัวแทนรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดกันใหม่หรือไม่

ดูเหมือนว่าการไปเยือนเมียนมาของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะยังไม่มีผลมากนักต่อสถานการณ์ในพื้นที่ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 มีรายงานข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงหลายแห่ง อาทิ ในเขตย่างกุ้ง ตำรวจยิงคนที่ไม่ยอมหยุดมอเตอร์ไซค์ที่ด่านตรวจเสียชีวิตหนึ่งคน จับกุมเยาวชน 2 คนโดยคนหนึ่งถูกยิงบาดเจ็บ และมีเหตุระเบิด 4 แห่ง ในเขตซะไกง์ มีการปะทะกันระหว่างทหารกับกองกำลัง PDF 5 ครั้ง และเหตุระเบิด 1 ครั้ง เมื่อนับรวมใน 7 รัฐ และ 2 เขต พบว่ามีกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เรียกรวม ๆ ว่า Ethnic Armed Organisation หรือ EAO) จำนวน 26 กลุ่ม การปะทะระหว่างทหารกับ EAO ยังมีอยู่ประปราย

เมียนมากำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่ซับซ้อนและยืดเยื้อมานาน หมายรวมถึงความขัดแย้งเชิงอัตลักษณ์ และความขัดแย้งทางการเมือง เมื่ออุดมการณ์ฝ่ายซ้ายถดถอย การขับเคลื่อนของระบบทุนนิยมภายใต้เผด็จการก็รุกคืบหน้าไปเรื่อย ๆ ระบบพวกพ้องและการทำผิดกฎหมายกำลังเฟื่องฟู ขณะที่คนจำนวนมากยากจนข้นแค้น คนจำนวนน้อยที่รุ่มรวยก็จดจ่ออยู่กับการทำเงินอย่างเต็มขั้นและวางอุบายข้ามข้อจำกัดระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา การเสื่อมถอยของสภาวะแวดล้อมก็เป็นภัยคุกคามอีกประการหนึ่ง มีการประเมินว่าเมียนมาอยู่ในกลุ่ม 5 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดจากภาวะโลกร้อน

แล้วระบอบเสรีประชาธิปไตยในเมียนมาจะเป็นความหวังได้เพียงใด หลายฝ่ายอยากเห็นการรวมกันเป็นสหภาพหรือสหพันธ์ที่เป็นการกระจายอำนาจคือไม่รวมศูนย์ ขณะเดียวกันก็เป็นรัฐบาลที่รวมทุกฝ่ายได้อย่างเป็นเอกภาพ แต่ความหวังเหล่านี้อาจยังอยู่ไกล สิ่งที่ควรคำนึงถึงในปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องสันติภาพมิใช่หรือ เริ่มด้วยสันติภาพเชิงลบที่หมายถึงการหยุดทำร้ายกัน แล้วเปิดโอกาสเท่าเทียมกันในการพัฒนาประเทศ เพราะสันติภาพที่ไม่ยุติธรรมย่อมไม่ยั่งยืน คนไทยน่าจะสนับสนุนแนวทางสันติภาพด้วยพรหมวิหารจิต และส่งความปรารถนาดีไปยังชาวเมียนมา ขอให้เกิดสันติภาพและความยุติธรรมแก่พวกเขาในไม่ช้า ส่วนในทางมนุษยธรรม เชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพมากกว่านี้ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนในยามยาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image