ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาไม่ใช่ผู้ลี้ภัย (จบ)

เขียนเรื่องนี้ไปเมื่อ 7 มกราคม มีท่านผู้อ่านสนใจถามไปว่ารัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลืออะไรกับ “ผู้หนีภัยฯ” บ้าง และทำไมรัฐบาลไทยไม่ยอมรับว่าผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาเป็นผู้ลี้ภัย ขออนุญาตตอบสั้นๆ ซึ่งสำหรับคำถามหลังก็ได้บอกแล้วว่าเป็นเพราะไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (Convention Relating to the Status of Refugees 1951) (ขอเรียกสั้นๆ ว่าอนุสัญญาผู้ลี้ภัย)

และขอเพิ่มเติมว่า นอกจากอนุสัญญาผู้ลี้ภัยแล้ว อีกเงื่อนไขหนึ่งคือเป็นเพราะไทยไม่ได้เข้าร่วมภาคยานุวัติพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1967 (Protocol Relating to The Refugee Status 1967) ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากอนุสัญญาผู้ลี้ภัยมีข้อจำกัดสำคัญสองประการ ได้แก่ (1) ข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯจะต้องเป็นผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในทวีปยุโรป และ (2) ข้อจำกัดด้านเวลา เนื่องจากเหตุการณ์ที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯนี้ได้ ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2494 คือเมื่อจบสงครามโลกใหม่ๆ

จากข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้ผู้ที่มีเหตุแห่งการลี้ภัยเกิดขึ้นหลัง 1 มกราคม พ.ศ.2474 และนอกยุโรปไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาฯฉบับนี้ได้ จึงได้มีการตราพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ.2510 ขึ้นเพื่อยกเลิกข้อจำกัดของอนุสัญญาฯดังกล่าว โดยถือว่าประเทศที่เข้าร่วมพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย 1967 ยอมรับอนุสัญญาผู้ลี้ภัย คือถ้าไม่ร่วมพิธีสารนี้ถือว่าอนุสัญญาผู้ลี้ภัยไม่มีผลบังคับใช้ (กฤษฎีกาฯ 2017)

Advertisement

สำหรับความช่วยเหลือที่ผ่านมาของรัฐบาล ขอตอบย่อๆ ว่าตลอดเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน
ตามหลักสากลในการรับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากเมียนมาให้เข้ามาอยู่ในค่ายพักพิงตามแนวชายแดนไทย-พม่าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี จำนวน 9 แห่งหลักๆ โดยได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ที่พักอาศัย บริการสุขภาพ การศึกษา และการฝึกอบรม พอเพียงแก่การดำรงชีพเท่าที่หน่วยงานต่างๆ ของไทยจัดสรรให้ เช่น ข้าวสารคนละ 8 กิโลกรัม ที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งก่อสร้างแบบไม่ถาวร เป็นวัสดุธรรมชาติหลังคามุงด้วยใบตองตึง บางแห่งคลุมทับด้วยพลาสติกสีดำ ตัวบ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ เครื่องนุ่งห่มได้จากการบริจาค เช่นเดียวกับยาและการศึกษา เป็นไปตามการจัดสรรของหน่วยงานภายนอก ผู้ลี้ภัยจะไม่สามารถออกนอกพื้นที่ค่ายได้นอกจากจะได้รับอนุญาตจากปลัดอำเภอก่อน บางคนอาจจะหลบหนีไปโดยไม่ได้ขออนุญาตก็จะถูกจับกุมข้อหาเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522) (กสม. 2559)

สำหรับคำถามหลัง ทำไมรัฐบาลไทยไม่ยอมเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัยและพิธีสารดังกล่าว

ผู้เขียนคิดว่าเหตุผลหลักคือ รัฐบาลไทยไม่อยากแบกรับภาระและเงื่อนไขการดูแล “ผู้ลี้ภัย” ตามกฎ กติกา มารยาท ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาผู้ลี้ภัย รวมทั้งหลักการไม่ผลักดันกลับสู่อันตราย (ทางการเมือง) และภาระในการคัดเลือกผู้หนีภัยที่มีคุณสมบัติและการประสานงานกับประเทศที่สามที่จะส่งไป

Advertisement

ภาระที่ว่าประกอบด้วย 1) ภาระตามอนุสัญญาผู้ลี้ภัย และ 2) ภาระอื่นๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงและการเมืองของรัฐบาลไทย

อนุสัญญาผู้ลี้ภัยมี 46 มาตรา มีหลายมาตราที่ผูกมัดรัฐบาลเจ้าบ้านแต่ขอยกเฉพาะบางตัวอย่างเช่น มาตราที่เกี่ยวกับแรงงาน (ตัวเอนในวงเล็บท้ายมาตราเป็นข้อสังเกตของผู้เขียน) เช่น

มาตรา 15 สิทธิในการสมาคม-ในการเข้าร่วมสมาคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่แสวงผลกำไร รวมถึงสหภาพแรงงาน ให้รัฐภาคีปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมาย อย่างเป็นคุณที่สุด เสมือนที่ปฏิบัติต่อบุคคลสัญชาติของรัฐตนในสถานการณ์เดียวกัน

(ไทยยังไม่ได้ร่วมอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง ดังนั้น ผู้ลี้ภัยย่อมไม่มีสิทธิแต่อย่างใด)

มาตรา 17 การรับจ้างเพื่อค่าแรง

1.รัฐภาคีต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่พำนักอยู่ในอาณาเขตรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นคุณที่สุดเสมือนกับที่ปฏิบัติต่อบุคคลสัญชาติรัฐของตนในสถานการณ์เช่นเดียวกัน ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิในการประกอบอาชีพรับจ้างเพื่อค่าแรง

2. ……

3.รัฐภาคีต้องคำนึงอย่างเมตตาต่อการปรับสิทธิของผู้ลี้ภัยที่เกี่ยวกับการรับจ้างเพื่อค่าแรงให้เท่าเทียมกับบุคคลสัญชาติของรัฐตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในอาณาเขตรัฐตนผ่านโครงการรับสมัครแรงงานหรือคนเข้าเมือง

(ในมาตราที่ 17 นี้ ประการแรกคำว่า “ผู้ลี้ภัยที่พำนักอยู่ในอาณาเขตรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมาย” จะต้องมีการคัดกรองและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในทางปฏิบัติการให้สถานะ “ผู้ลี้ภัย” มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ ประการที่สอง ไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว มีการทำความตกลงกับประเทศต้นทาง มีการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีการตรวจโรคและประกันสังคม มีการกำหนดงานที่ห้ามทำ ฯลฯ ผู้ลี้ภัยจึงไม่ควรมีอภิสิทธิ์เหนือแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายด้วยช่องทางอื่นๆ)

มาตรา 18 การประกอบธุรกิจส่วนตัว

รัฐภาคีจะต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นคุณเท่าที่เป็นได้ และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ด้อยกว่าที่ปฏิบัติต่อคนต่างด้าวอื่นๆ ในสถานการณ์เช่นเดียวกัน ในกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิในการประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม การพาณิชย์ และการจัดตั้งบริษัทการค้าหรืออุตสาหกรรมของตน (ประการแรก “คนต่างด้าวอื่นๆ ในสถานการณ์เช่นเดียวกัน” หมายความถึงใคร เพราะคนอื่นๆ ที่จะสามารถเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยได้ ต้องเป็นไปตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เช่น WTO/GATS (General Agreement on Trade in Services) หรือ AEC (ASEAN Economic Community), AFAS (ASEAN Framework Agreement on Services) และ MRA (Mutual Recognition Agreement) ดังนั้น ถ้าผู้ลี้ภัยมาจากประเทศที่ไม่มีความตกลงดังกล่าว ย่อมไม่มีอภิสิทธิ์เท่าเทียมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจตามข้อตกลงทางการค้า)

มาตรา 24 กฎหมายว่าด้วยแรงงานและประกันสังคม

1.รัฐภาคีจะต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐตนโดยชอบด้วยกฎหมาย เสมือนกับที่ปฏิบัติต่อบุคคลสัญชาติรัฐของตน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

(ข) ประกันสังคม (…การบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ โรคต่างๆ อันเกิดจากการประกอบอาชีพ การตั้งครรภ์ การเจ็บป่วย การทุพพลภาพ ชราภาพ การว่างงาน ภาระหน้าที่ต่อครอบครัว และการจัดการชั่วคราวอื่นๆ ที่ประกันสังคมให้การคุ้มครอง ตามที่กฎหมายภายในรัฐกำหนด) …

2.สิทธิในการได้รับการชดเชยจากการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยโดยมีเหตุมาจากการบาดเจ็บระหว่างประกอบอาชีพ หรือจากโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ต้องไม่ได้รับผลกระทบด้วยเหตุที่ผู้รับประโยชน์จากสิทธินั้นอาศัยอยู่นอกอาณาเขตรัฐภาคี

(สิทธิประโยชน์บางประการที่คนไทยได้รับแต่แรงงานต่างด้าวทั่วไปไม่ได้ เช่น กรณีชราภาพ เนื่องจากยากต่อการปฏิบัติและติดตาม ในขณะที่กรณีว่างงานอาจจะขัดกับเงื่อนไขการที่แรงงานต่างด้าวขออนุญาตทำงานว่าต้องมีนายจ้างยกเว้นกรณีโควิด-19 ส่วนการชดเชยการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพนั้น แรงงานไทยจะได้รับการคุ้มครองจากกองทุนทดแทนซึ่งมีนายจ้าง (ไทย) เป็นผู้จ่ายเงินสมทบ ดังนั้น มาตรานี้จึงไม่เหมาะกับผู้ลี้ภัย)

ยังมีมาตราอื่นๆ อีกที่มีปัญหาการตีความและการกำหนดให้เป็นภาระของรัฐบาลเจ้าบ้าน

สำหรับภาระด้านอื่นๆ เคยมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า

ศูนย์พักพิงฯหรือ “แคมป์ผู้อพยพ” 9 แห่งที่กระจายอยู่ใน 4 จังหวัดชายแดนไทย-เมียนมา คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี มีสภาพไร้การควบคุม และไม่มีใครสนใจ การเจรจาส่งคนเหล่านี้กลับประเทศไม่มีความคืบหน้า และเมื่อมีการสู้รบก็จะมีคนทะลักเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย

สภาพของศูนย์พักพิงฯกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของบางกลุ่ม บางหน่วยงาน ทั้งขายข้าว ขายน้ำ บัตรเติมเงินโทรศัพท์ และยังเป็นที่ซ่องสุม ค้ามนุษย์ อาวุธสงคราม ยาเสพติด และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนชุมชนคนไทยที่อยู่ใกล้เคียง เพราะคนเหล่านี้ถือว่าอยู่ถาวร ไม่ใช่ “พักพิงชั่วคราว” ตามชื่อ

หลายครั้งเกิดอุบัติภัย บางครั้งเกิดความวุ่นวายของผู้อพยพ ทำให้ต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลมาตลอด เช่น เหตุจลาจลเมื่อ 14 ธันวาคม 2564 ในศูนย์พักพิงฯบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เกิดความชุลมุนวุ่นวายของผู้อพยพที่ก่อหวอดสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินไปไม่น้อย ขณะที่ก่อนหน้านั้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศูนย์พักพิงฯแห่งนี้ก็เพิ่งเกิดเหตุไฟไหม้ ทำให้ที่พักของผู้หนีภัยถูกไฟเผาวอดไปกว่า 100 หลังคาเรือน

นอกจากนั้นแล้ว กระบวนการผลักดันหรือส่งกลับ รวมทั้งการส่งไปประเทศที่สามที่ผ่านมาล่าช้ามาก….ลองคิดดูว่าเด็กเกิดเมื่อตอนตั้งศูนย์พักพิงฯอยู่ถึงวันนี้ก็อายุ 37 ปีแล้ว คิดว่าเด็กจะไปไหนและอยู่อย่างไร (พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อ้างโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร 2 เมษายน 2564)

ทั้งนี้ ยังไม่นับผู้ลักลอบเข้าเมืองที่แฝงตัวมาในคราบผู้หนีภัยสู้รบรวมทั้งขบวนการค้ามนุษย์ที่อยู่เบื้องหลัง

ครับ ท่านผู้อ่านที่ถามไปคงเข้าใจดีขึ้นทำไมรัฐบาลจึงไม่รับสถานะ “ผู้ลี้ภัย” ของผู้หนีภัยสู้รบจากเมียนมา ทั้งที่ปัญหาผู้หนีภัยสู้รบจากเมียนมานี้ผ่านรัฐบาลไทยมาเกือบ 20 รัฐบาลแล้ว

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image