มหาอำนาจแย่งกันซื้อ‘ยาง-ดีบุก’จากไทย

เครื่องจักรสังหารทั้งหลายในสภาวะสงคราม…เครื่องบิน เรือรบ รถถัง รถบรรทุก มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ ถ้าขาด “น้ำมันเชื้อเพลิง” …มันจะกลายเป็น “เป้าซ้อมยิง”ของข้าศึก

ทำสงครามต้องใช้เงิน ใช้คน ใช้ทรัพยากรมหาศาล “ฝ่ายส่งกำลังบำรุง” ต้องไปหามาให้ได้ จะใช้การเจรจาทางการทูต ข่มขู่ จี้-ปล้น วิธีการใดก็ได้ “ของต้องไม่ขาด”

ถ้าทหารในแนวหน้านับหมื่นนาย ขาดแคลนน้ำ อาหาร เสื้อผ้า กระสุน รถยนต์ยางแตก แบตเตอรี่เสื่อม รองเท้าพัง เจ็บป่วย ฯลฯ มันคือการพ่ายแพ้ หายนะ อาจต้องเสียบ้าน เสียเมือง

สิ่งที่จับต้องไม่ได้ สำคัญที่สุด คือ “ขวัญ-กำลังใจของทหาร”

Advertisement

ทหารในสนามรบ ต้องไม่ขาดแคลนอะไรทั้งนั้น ต้องสมบูรณ์ แม้กระทั่ง “จดหมายจากครอบครัว” ที่อยู่แนวหลัง

นี่คือ…ช่วงหนึ่งในกาลเวลา…ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 …

ขอเจาะประเด็นที่ประเทศมหาอำนาจอย่าง อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น มาขู่-กดดัน จะขอซื้อ “ยางดิบ” รวมทั้งสินค้าอื่นๆ จากไทย…

หนังสือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ ศ.ดิเรกชัยนาม ที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล จอมพล ป. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านได้บันทึกข้อมูลแบบ “ทะลุทะลวง” มีประเด็นที่ “นึกไม่ถึง” ว่าในเวลานั้น “ยางและดีบุก” ของไทย คือ ยุทธปัจจัยที่มหาอำนาจที่โหยหา

ขอคัดลอกข้อมูลบางตอน เพื่อมาเรียบเรียง-เปิดเผยครับ…

ยาง…คือ แก้วสารพัดนึก ที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน และทวีความสำคัญยิ่ง สำหรับทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอาวุธ ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ต้องเร่งการผลิตทั้งวันทั้งคืน

1 กันยายน 2482 กองทัพนาซีเยอรมันบุกเข้าสู่โปแลนด์

ชาวโลกตกตะลึงในการตัดสินใจของ ฮิตเลอร์ ที่เฉียบขาด

อังกฤษ ฝรั่งเศส และพันธมิตรในยุโรปประกาศสงครามกับเยอรมัน

ประเทศไทยที่ห่างออกมาค่อนโลก ประกาศ “ขอเป็นกลาง”

เวลานั้น กองทัพนาซีพร้อมรบ ห้าวหาญ ก้าวหน้ากว่าใคร

ทหารที่รบกันในแนวหน้า… น้ำมัน อาวุธ กระสุน อาหาร ต้องพอเพียง สงครามดำเนินไปพร้อมกับการจัดหา “ทรัพยากร” มาเติมให้เต็ม กักตุน สำรอง สร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา

แนวหลังของกองทัพเยอรมัน ผลิตยุทโธปกรณ์แบบ “จัดเต็ม”

สงครามเกิดขึ้นในยุโรป…ช่วงแรก…อเมริกาที่อยู่ห่างออกไป…ไม่ขอข้องแวะ แต่ก็มีน้ำใจ แอบสนับสนุน อังกฤษ ที่นับญาติกันได้ …มะกันแอบส่งอาวุธ กระสุนให้อังกฤษ

ขอตัดฉาก…มาส่องมองที่ในทวีปเอเชีย

เยอรมันทำสงครามในยุโรป ไฟลุกท่วม เลือดนอง…มหาอำนาจญี่ปุ่นกำลังทำสงคราม “รุกรานจีน”

สตรีชาวญี่ปุ่นบนเกาะ คือ “มดงาน” ผลิตทุกสรรพสิ่งเพื่อป้อนให้กับกองทัพ เดินเครื่องยนต์อุตสาหกรรมหนักเบาทั้งวันทั้งคืน

ญี่ปุ่นเห็นจังหวะที่อังกฤษกำลังเป๋ ทำศึกป้องกันประเทศจากการบดขยี้ของนาซีเยอรมัน กองทัพและประชาชนอังกฤษระส่ำ

กองทัพลูกซามูไรเพ่งเล็งมาที่ดินแดนที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษในเอเชีย มีแหล่งทรัพยากร อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะ เหล็ก ดีบุก ยางพารา ฝ้าย ขนสัตว์ น้ำมัน

ยาง คือ ความเร่งด่วนที่กองทัพต้องการนำไปใช้

ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น เล็งมาที่ไทยเพื่อจะขอซื้อยาง

พ.ศ.2483 โลกผลิตยางได้ 1.4 ล้านตัน ไทยผลิตได้ราว 3 หมื่นตัน มาลายู (มาเลเซีย) ผลิตได้ราว 5.4 แสนตัน ปีนั้น…ญี่ปุ่นมากว้านซื้อโดยรวมไป คิดเป็นร้อยละ 12

พ.ศ.2484 (ปีที่เกิดสงคราม) โลกผลิตยางได้เพิ่มมากขึ้น มีข้อมูลว่า…ญี่ปุ่นกวาดซื้อจากไทยและมาลายูไปได้ร้อยละ 50 นอกนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรมาซื้อไปได้หมด

พ.ศ.2483 ไทยผลิตดีบุกได้ 6.3 พันตัน ซึ่งอังกฤษและออสเตรเลียคือขาใหญ่ที่มาลงทุน เหมืองแร่ในไทย อังกฤษและอเมริกากว้านซื้อไปได้ราว 2 ใน 3 ที่เหลือไทยขายให้ประเทศอื่นๆ

สงครามในเอเชียที่ญี่ปุ่น “เป็นฝ่ายรุก” ส่งสัญญาณแรงเข้มถึงจอมพล ป. ว่า…“ต้องการยางและดีบุกทั้งหมด” จากไทย ด้วยเหตุที่ญี่ปุ่นมาเป็น “คนกลาง” ที่มาไกล่เกลี่ยยุติสงครามอินโดจีนที่ไทยรบกับฝรั่งเศส รวมทั้งการคืนดินแดนต่างๆ ให้กับไทย

อังกฤษและอเมริกาที่เฝ้าดู “ท่อน้ำเลี้ยง” ของญี่ปุ่นว่ามาจากไทย ก็เลยต้องเอ่ยปากขอบ้าง โดยอ้างว่า… “ไทยประกาศเป็นกลาง” ก็ต้องแบ่งให้สัมพันธมิตรบ้าง

รัฐบาลไทยในเวลานั้น “อึดอัด” สำหรับการแย่งชิงทรัพยากร

อังกฤษมี “หมัดเด็ด” ที่มาขู่ไทยว่า ถ้าไทยไม่ขายให้อังกฤษ… อังกฤษจะไปบีบอินเดียไม่ให้ขาย “กระสอบป่าน” ให้ไทย …ไทยก็จะขายข้าวสารไม่ได้

(เวลานั้น…ไทยยังไม่มีโรงงานผลิตกระสอบป่าน :ผู้เขียน)

สงครามดำเนินไปอย่างดุเดือด…วันหนึ่ง…ญี่ปุ่นมาประสานขอ “เหมา-ผูกขาด” ยางและดีบุกทั้งหมดของไทยที่ผลิตได้ โดยจะให้ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. เป็นผู้อนุมัติ

ซึ่ง ศ.ดิเรก ชัยนาม รมว.กต. และ พล.ต.อ.อดุลย์ อดุลย์เดชจรัส รอง นายกรัฐมนตรี คัดค้านดีลครั้งนี้ เพราะนี่เป็นภารกิจตรงของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพิจารณา ว่าจะเหมาะสม ได้-เสียอย่างไร

และถ้าอเมริกาและอังกฤษทราบ ก็จะเป็นวิกฤตที่ไทยเสียความเป็นกลาง

ที่ผ่านมา…อเมริกาและอังกฤษระแวงไทยมาตลอด เพราะเวลานั้นรัฐบาลไทยสั่งซื้อเครื่องบินรบของกองทัพอากาศจากญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเดินทางมาโดยเรือสินค้า

ไทยชำระเงินไปเรียบร้อยแล้ว… อเมริกาไปสั่งกักการลำเลียงเครื่องบินของไทยไว้ที่ประเทศฟิลิปปินส์

จอมพล ป. เห็นด้วยกับการคัดค้านของ รอง นรม.และ รมว.กต. ที่ไม่ยอมให้ญี่ปุ่นเหมา-ผูกขาดยางจากไทย…นรม.ไทยโยนไปให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณา

กระทรวงการต่างประเทศไทยคัดค้านสัญญา “เหมา-ผูกขาด” ยางและดีบุกที่ญี่ปุ่นต้องการ…สัญญาดังกล่าวตกไป ญี่ปุ่นโกรธจัด

ไทยปวดหัว…ในที่สุด…ไทยขอเล่นบท “ปล่อยให้เค้าไปคุยกันเอง” และให้ขายในตลาดเปิด ซึ่งก็เกิดการแข่งขัน แย่งกันซื้อตามกลไกตลาดปกติ

ไทยไม่สร้างศัตรู รักษามิตรภาพทุกฝ่ายไว้อย่างชาญฉลาด

เรื่องที่ “ไม่น่าเชื่อ” เกิดขึ้น…ที่คนไทยควรทราบ…

ก่อนญี่ปุ่นไปโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ของอเมริกา เมื่อ 7 ธันวาคม 2484… ญี่ปุ่นแอบมากดดันไทย เพื่อขอกู้เงินจากไทย….

เวลานั้น…ญี่ปุ่นกำลัง “กรอบ-เกรียม” จากการกดดัน-ปิดล้อมของอเมริกา และโดนยึดทรัพย์สินในต่างประเทศไปหมด เพราะญี่ปุ่นไปรุกรานจีนและคุกคามเพื่อนบ้าน

กรกฎาคม 2484 ธนาคารโยโกฮามาสเปซี ในกรุงเทพฯ ต้องการเงินบาท…ญี่ปุ่นไม่มี “เงินปอนด์” จะเอามาแลกเปลี่ยน ไม่สามารถซื้อสินค้าไทยได้

อังกฤษที่ได้ข่าวว่าญี่ปุ่นจะมากู้เงินไทย พยายามขัดขวาง เพราะทราบว่าจะนำไปซื้อยุทธปัจจัยเพื่อกองทัพแน่นอน

ครม.ไทย อิหลักอิเหลื่อ…มีมติให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาประเด็นที่ละเอียดอ่อน มีผลต่อความมั่นคง

รมว.คลัง (ดร.ปรีดี พนมยงค์) กลับมารายงานในที่ประชุม ครม.ว่า… เห็นควรโอนอ่อนผ่อนตามญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นไม่มีทางออก …ญี่ปุ่นอาจจะเล่นไม้แข็งกับไทย และเมื่อเราเป็นกลาง… ก็ควรช่วยเหลือ

ครม.ไทยมีมติ…เห็นสมควรให้ธนาคารญี่ปุ่นกู้เงินจากธนาคารไทย 3 แห่ง เรียกว่า สหธนาคาร คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารนครหลวง และธนาคารแห่งเอเชีย เป็นเงิน 10 ล้านบาท

ญี่ปุ่นจึงสามารถซื้อสินค้าไทยได้ภายในเงินที่กู้ แต่การชำระหนี้นั้น รัฐบาลไทยยืนยันให้ชำระหนี้ด้วยทองคำ …ญี่ปุ่นจะขอชำระเป็นเงินเยน

รัฐบาลไทยไม่ยินยอม เพราะเงินเยนในเวลานั้นไม่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นได้

ในที่สุด…ญี่ปุ่นก็ยอมตามไทย …ซึ่งญี่ปุ่นก็สามารถใช้หนี้คืนไทยในมูลค่า 10 ล้านบาท ได้ในเวลาไม่นานนัก

สิงหาคม 2484 ญี่ปุ่นมาขอกู้เงินไทยอีกครั้ง…คราวนี้ขอกู้ 25 ล้านบาท โดยขอเอาทองคำมาค้ำประกัน โดยธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น

การกู้รอบ 2 นี้ มีเงื่อนไข มีข้อเสนอที่ตึงเครียด… พิจารณาแล้วว่า…ไทยไม่มีโอกาสจะนำทองคำมาได้เลย

ในหลักการ…รมว.คลังของไทย “ยินยอมให้กู้” โดยต้องนำทองคำมาส่งที่กรุงเทพฯ …กลายเป็นประเด็นเดือด

เกิดการโต้เถียงกันรุนแรงในที่ประชุม นายโอโนผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นเอ่ยปากว่า… ไทยดูถูกญี่ปุ่น และไปพบ จอมพล ป. รายงานว่า รมว.คลังไทย คือ ผู้ขัดขวางและดูถูกญี่ปุ่น

ทำไมรัฐบาลไทยนำทองคำไปฝากไว้ในอเมริกาและอังกฤษ

การพูดจากันด้วยภาษาดอกไม้ในเวลาต่อมา…ญี่ปุ่นก็ยอมตามรัฐบาลไทยอีก

ศ.ดิเรก ชัยนาม บันทึกว่า…ในเวลานั้น ในประเทศไทยก็ขาดแคลน แสนลำบาก เราแทบไม่มีอาวุธอะไร ไปขอพึ่งอเมริกา เค้าก็ระแวงไทยว่า “เข้าข้าง” ญี่ปุ่น

วอชิงตัน ไม่พอใจที่รัฐบาลไทยไปขอดินแดนในอินโดจีนคืนจากฝรั่งเศส…จึงเรียกตัวนายแกรนท์ที่เป็นทูตในไทยกลับวอชิงตัน แล้วส่ง นายเป็ก (Willys R. Peck) มาเป็นทูตแทน ท่านมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ 12 กันยายน 2484

ทูตเป็ก ทำหน้าที่อย่างราบรื่นในไทย เข้าใจปัญหาของไทยว่ากำลังอยู่ในภาวะลำบาก เป็นที่ชื่นชอบของชาวอเมริกันในไทย เพราะชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งมีธุรกิจในไทย

(ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า เหตุการณ์ข้างต้นที่กล่าวมานี้เป็นช่วงก่อนเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา 8 ธันวาคม 2484 จะเห็นได้ชัดว่า การวางตัวของไทยไม่ง่ายนัก เหมือนถูกบีบด้วยคีม แต่ก็ไม่พลาดแม้แต่ก้าวเดียว : ผู้เขียน)

ปัญหาของไทยในเวลานั้น คือ การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในไทยเวลานั้นมี 2 บริษัท คือ Dutch Royal Shell ของอังกฤษ และของอเมริกัน คือ บริษัท Standard Vacuum Oil ที่ต้องวุ่นวายไปจัดหาน้ำมันให้ประเทศของตนทำสงครามในยุโรป

กระทรวงกลาโหมไทยจึงขอจัดตั้ง “กรมเชื้อเพลิง” (ต่อมาก็คือน้ำมัน 3 ทหาร) ไปเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อขอโควต้าน้ำมันมาใช้ในประเทศเพื่อชีวิตประจำวัน แต่ก็ล้มเหลว เพราะทุกฝ่ายต้องการใช้น้ำมันในสนามรบ

ก่อนสงครามและระหว่างสงคราม ไทยต้องการใช้น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันเบนซินอากาศ (Aviation gasolene) น้ำมันเบนซินยานยนต์ (Motor gasolene) น้ำมันก๊าด (Kerosene) ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอย่างหนัก

กรมเชื้อเพลิง ไปเจรจากับทุกฝ่าย…จะเอาดีบุก เอายางไปแลก ก็ไม่มีประเทศใดแบ่งให้ได้

เรื่องไม่น่าเชื่อครับ…ท่ามกลางความขัดสนเรื่องน้ำมัน…ทูตอังกฤษไปขอพบ จอมพล ป. แจ้งว่าอังกฤษพอจะแบ่งขายให้ไทยได้ คือน้ำมันดีเซลและน้ำมันยานยนต์

โดยอังกฤษขอยื่นเงื่อนไขว่า “ยาง” ทั้งหมดต้องขายให้อังกฤษ

จอมพล ป. ตอบว่า… ไทยไปตกลงขายยางให้ญี่ปุ่นแล้ว 3 หมื่นตัน…แต่มิได้ลงนามซื้อขาย…ไทยจะ “ตัดแบ่ง” มาขายให้อังกฤษ 1.8 หมื่นตัน…ทูตอังกฤษก็ยอมรับผลการพูดคุย

ไม่ช้า ไม่นาน…เรือ 2 ลำ บรรทุกน้ำมัน 18,000 ตัน ก็เดินทางมาถึงท่าประเทศไทย

การเจรจาที่ได้ผลแบบ win-win ครั้งนี้ ทำให้วอชิงตันโกรธจัด เพราะเห็นว่า “ปล่อยให้อังกฤษเจรจากับไทยฝ่ายเดียว” และไม่เชื่อว่าสหรัฐจะได้รับประโยชน์ อเมริกาคิดว่า…ไทยอยู่กับญี่ปุ่นแน่นอน

ประเด็นต่างๆ ที่ผสมปนเปกันระหว่างการค้า-การสงคราม ทำให้ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

เมื่อไทยมีนโยบายยืนกระต่ายขาเดียว คือ เปิดขายในตลาด

ศ.ดิเรกบันทึกไว้ว่า…ในที่สุด ทุกฝ่าย คือ อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น ต่างก็แย่งกันซื้อยางและดีบุกกันในตลาดของไทยโดยเปิดเผย แต่ก็มีการมาแอบต่อรองแบบลับๆ ล่อๆ ตลอด

ท่ามกลางสภาวะ “อยู่ระหว่างเขาควาย” (Dilemma) …

รัฐบาลไทยยืนยัน…ไทยจะขายทุกอย่างในตลาดอย่างเปิดเผย ซึ่งทุกฝ่ายก็พอใจ…ไปแย่งกันซื้อ-ขายกันเอาเอง

แปลว่า…มีสินค้าอะไร…ก็ขายได้หมด แถมขายดีซะด้วย

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image