เอาตามที่ชอบ ตามสบายใจ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 10-12 ตุลาคม 2559 ในโอกาสครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เทียบเคียงเหตุการณ์ยุคปัจจุบันกับยุครัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ก้าวหน้ามากกว่าเยอะ แม้แต่สมัย พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ คนเหล่านี้เป็นปัญญาชน และเขาคิดในเชิงความก้าวหน้ามากกว่านี้

“สมัยนั้นทหารรู้จักผ่อนปรนและต้องการแก้ปัญหาบ้านเมืองโดยวิธีนุ่มนวลมากกว่าปัจจุบัน”

“ตามกงล้อประวัติศาสตร์ ยังไงประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตยจะขวางโลกไม่ได้ ในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนที่เปลี่ยนจากประชาธิปไตยแล้วจะยั่งยืน พล.อ.ประยุทธ์และพวกจะฝืนกระแสได้มากขนาดไหน เพราะรัฐบาลเผด็จการไม่เคยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ การไม่ได้รับการยอมรับ มันเสียโอกาสโลกาภิวัตน์อย่างยิ่ง ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง”

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2553 จะเกิดซ้ำร้อยหรือไม่ ดร.สุธาชัยตอบว่า ไม่อยากให้มีการเข่นฆ่าประชาชนอีก ส่วนรัฐประหารจะเกิดอีกไหม เอาตามที่สบายใจแล้วกัน จะรัฐประหารกี่หน จะฉีกรัฐธรรมนูญกี่หน เอาที่ท่านชอบ”

Advertisement

ครับ อ่านแล้วน่าคิด น่าแลกเปลี่ยนและน่าขันไปพร้อมกัน โดยเฉพาะคำตอบประโยคสุดท้าย

หากเปรียบเทียบเหตุการณ์ระหว่างยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์กับปัจจุบัน ฝ่ายทหารก็คงวิเคราะห์เช่นเดียวกันว่า สถานการณ์สมัยนั้นกับสมัยนี้แตกต่างกัน ยุคพล.อ.เกรียงศักดิ์ ต่อยุค พล.อ.เปรม ยังไม่มีพรรคการเมืองที่สามารถเสนอขายนโยบายประชานิยมติดตลาดได้ จนแข็งแกร่งเหมือนพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนกลายมาเป็นเพื่อไทยในที่สุด และการเมืองมวลชนไม่เติบใหญ่ขยายตัวเท่านี้

ด้านหนึ่งเพราะนโยบายประชานิยมตอบโจทย์ตรงประเด็น สามารถแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างคนมี กับคนจน คนเมืองกับคนชนบทได้ตรงจุด ไม่ว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ อีกด้านหนึ่งทำให้นักการเมืองมีพลังอำนาจต่อรองมากขึ้น

แนวทางนโยบายต่างๆ ทำให้การเติบโตของทุนนิยมเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นทักษิโณมิกส์นำไปสู่เผด็จการทุนนิยม เสียงข้างมาก จึงเกิดความขัดแย้ง ในที่สุดตกเป็นเป้าหมายการสกัดกั้น ทุบทำลาย

คู่ขัดแย้งกับผู้กุมอำนาจรัฐในอดีตสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นกลุ่มพลังนิสิต นักศึกษา ปัญญาชนก้าวหน้า ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มองค์กรภาคประชาชนก้าวหน้า ขณะที่ยุคก่อนองค์กรตรวจสอบ องค์กรอิสระที่เข้ามามีส่วนต่อสถานการณ์ความเป็นไปทางการเมืองไม่มากเหมือนยุคนี้

ผมเชื่อว่าภาพรวมของสถานการณ์สองยุคสมัย คำถามและคำตอบเหล่านี้ ฝ่ายเสนาธิการของกองทัพก็คงติดตาม คิดวิเคราะห์ จำลองสถานการณ์ เพื่อหาบทสรุปเป็นข้อเสนอให้พิจารณาต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด

ประเด็นอยู่ที่ว่า ฝ่ายเสนาธิการกองทัพวิเคราะห์อย่างเป็นกลาง ตรงไปตรงมา หรือลำเอียงตามความคิด ความเชื่อของตัว ทำให้ได้บทสรุปและข้อเสนอเพื่อพิจารณาว่าอย่างไร นั่นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ฝ่ายผู้มีอำนาจตัดสินใจรับฟังและทำตามข้อเสนอหรือไม่ แค่ไหน ซึ่งวิธีคิด บุคลิก ท่าทีของผู้มีอำนาจตัดสินใจ มีอิทธิพลต่อการเลือกแนวทางแก้ปัญหาเช่นกัน

วิธีจัดการปัญหาของกองทัพยุคปัจจุบันจึงมุ่งไปที่การมัดมือ มัดเท้า มัดปาก จำกัดบทบาทพรรคการเมือง นักการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาเป็นด้านหลัก ทำให้มีเส้นทางเดินจำกัด ทำอะไรได้ไม่เต็มที่ โดยบทบัญญัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูกอื่นๆ

แต่วิธีจัดการจัดการกับนักการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ปัญหาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อฝ่ายเดียว แต่กระทบไปถึงคนอื่นในวงกว้าง คนกลางๆ อีกเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันเกิดประเด็นปัญหา ถูกวิจารณ์ว่า เลือกปฏิบัติ คือเข้มงวดกับคนอื่นๆ แต่ผ่อนปรน หย่อนยานกับกลุ่มพวกตัว

เหตุเพราะคิดถึงความมั่นคง ปลอดภัย เสถียรภาพของตัวเองเป็นหลักภายใต้ข้ออ้างประสิทธิภาพของงาน ละเลยหลักการความหลากหลายและความเห็นต่าง แทนที่จะมองความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ กลับกลายเป็นความขัดแย้งที่ต้องจำกัดและกำจัด

สิ่งที่ยืนยันชัดเจนการละเลยหลักการความหลากหลายและความเห็นต่าง ระหว่างกลุ่มความคิด กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ สะท้อนจากการเสนอแต่งตั้งวุฒิสมาชิกล่าสุด 33 คน มาจากนายทหาร ตำรวจ ถึง 28 นาย

สะท้อนถึงความคิด ความเชื่อเบื้องลึกที่ว่าพวกตนเท่านั้นที่เก่งที่สุด ดีที่สุด เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อเชื่อเช่นนั้น ก็ต้องตอบคำถามแบบประโยคสุดท้ายของ ผศ.ดร.สุธาชัย ที่ว่า “เอาตามที่สบายใจแล้วกัน จะรัฐประหารกี่หน จะฉีกรัฐธรรมนูญกี่หน เอาที่ท่านชอบ” อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image