สุจิตต์ วงษ์เทศ : แม่น้ำเจ้าพระยา ได้ชื่อ “เจ้าพระยา” จากเทวรูป พบที่คลองสำโรง สมุทรปราการ

แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำใหญ่บริเวณที่ราบลุ่มต่ำ ที่รวมของลำน้ำใหญ่น้อยหลายสาย จึงมีน้ำล้นสองฝั่งทุกปีในฤดูน้ำหลาก แล้วนำเอาโคลนตะกอนมาทับถมเป็นปุ๋ยธรรมชาติให้ข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์ (ภาพจากกลุ่ม FRIENDS OF THE RIVER)

แม่น้ำเจ้าพระยา ได้ชื่อเจ้าพระยาจากชื่อชุมชนบริเวณปากน้ำว่าบางเจ้าพระยา ซึ่งได้ชื่อเจ้าพระยามาอีกทอดหนึ่งจากเทวรูป 2 องค์ พบใกล้ปากน้ำยุคต้นอยุธยา (หรือยุคก่อนนั้น) นานเข้าก็เรียกแม่น้ำทั้งสายว่า แม่น้ำเจ้าพระยา

เจ้าพระยา หมายถึงเทวรูป มี 2 องค์ คือ พระยาแสนตา กับ พระยาบาทสังขกร คำนี้แต่เดิมแปลว่า ผู้เป็นใหญ่ ใช้ในความหมายพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ ต่อมาลดฐานะเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนาง

[คำอธิบายนี้ปรับปรุงจากแนวคิดของ อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร (มหาวิทยาลัยศิลปากร) กับ อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (มหาวิทยาลัยรามคำแหง) น่าเชื่อถือกว่าที่ผมเคยอธิบายไว้ในหนังสือเล่มต่างๆ เมื่อนานมาแล้ว]

เทวรูป

Advertisement

เทวรูป 2 องค์ พบโดยบังเอิญในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี ราว พ.ศ. 2041 คราวชำระขุดลอกบริเวณคลองสำโรง (จ. สมุทรปราการ) แล้วสร้างศาลไว้เรียก ศาลพระประแดง (ประแดง กลายจากภาษาเขมรว่า กมรเตง ชื่อเรียกเทวรูป 2 องค์นั้น)

ต่อมาพระยาละแวกเชิญเศียรเทวรูป 2 องค์นี้ ไปเมืองละแวกในกัมพูชา ราว พ.ศ. 2112-2133 (ตรงกับต้นแผ่นดินพระมหาธรรมราชา) ทุกวันนี้จึงไม่มีในไทย และไม่มีรูป

แม่น้ำ

แม่น้ำ หมายถึงลำน้ำขนาดใหญ่หลวงที่สุดบริเวณบริเวณนั้นๆ

แม่ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า

เป็นคำร่วม มีใช้ในเกือบทุกภาษาของคนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในอุษาคเนย์ แล้วมีความหมายอย่างเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน

เมื่อจะเรียกสิ่งที่เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นสำคัญ จึงมีคำนำหน้าว่าแม่ เช่น แม่น้ำ, แม่ทัพ, แม่เหล็ก ฯลฯ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image