สุรชาติ บำรุงสุข : สงครามยูเครน!

หนึ่งในหัวข้อข่าวใหญ่ที่ร้อนแรงในเวทีโลกหลังการฉลองปีใหม่ 2022 ผ่านไปแล้ว คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นตามแนวพรมแดนรัสเซีย-ยูเครน อันนำไปสู่ความกังวลอย่างมากว่า ความตึงเครียดดังกล่าวจะนำไปสู่สถานการณ์ “สงครามใหญ่” หรือไม่? เนื่องจากกองทัพรัสเซียได้เคลื่อนกำลังรบขนาดใหญ่เข้าประชิดชายแดนยูเครน ในขณะเดียวกัน ท่าทีของรัสเซียดูจะห่างไกลจากการใช้เครื่องมือทางการทูตในการแก้ปัญหา และยังไม่มีท่าทีที่จะลดทอนความตึงเครียดทางทหารที่เกิดตามแนวพรมแดนนี้แต่อย่างใด

แม้รัฐบาลรัสเซียพยายามยืนยันว่า รัฐบาลรัสเซียไม่มีแผนที่จะเปิดการรุกเข้าสู่พื้นที่ของยูเครน แต่คำยืนยันนี้ ดูจะไม่ช่วยคลายความกังวลในเวทีการเมืองโลกเท่าใดนัก เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่า โอกาสที่รัสเซียจะตัดสินใจสุดท้ายด้วยการใช้กำลังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก เพราะประธานาธิบดีปูตินมองว่าโอกาสของรัสเซียมาถึงแล้ว เพราะสหรัฐและสหภาพยุโรปในปัจจุบันไม่ได้เข้มแข็งในทางการเมือง มากพอที่จะเป็นปัจจัยยับยั้งพฤติกรรมเชิงรุกของรัสเซียได้จริง ดังจะเห็นได้ว่า รัสเซียเองเคยเปิดการรุกเพื่อดึงเอาไครเมียซึ่งเป็นดินแดนของยูเครน กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของตนในปี 2014 มาแล้ว

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน กำลังรบของรัสเซียจาก “พื้นที่เขตการทหารด้านตะวันออก” (EMD) ได้เคลื่อนย้ายไปทางตะวันตก พร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ขนส่งและโจมตีพร้อมกับหน่วยสนับสนุนทางทหารได้เข้าสู่พื้นที่วางกำลัง ซึ่งถือเป็นสัญญาณของการเตรียมเปิดสงครามใหญ่ แต่รัสเซียก็อ้างว่า การเคลื่อนย้ายกำลังรบดังกล่าวเป็นไปเพื่อการซ้อมรบร่วมกับเบลารุส การซ้อมรบนี้จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งการเตรียมกำลังดังกล่าวทำให้รัสเซียสามารถวางกำลังใกล้กับแนวชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้และด้านใต้ของพรมแดนยูเครนได้อย่างเต็มที่

Advertisement

ในมุมมองของผู้นำรัสเซีย การเปิด “การรุก” ทั้งทางการเมืองและการทหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐและโลกตะวันตกไม่ตอบรับกับความกังวลของรัสเซีย ที่มีมุมมองมาโดยตลอดนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นว่า การขยายสมาชิกขององค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (เนโต้) ไปสู่พื้นที่ที่เคยเป็นเขตอิทธิพลเดิมของสหภาพโซเวียตรัสเซียในยุคสงครามเย็นนั้น รัฐบาลมอสโคว์ถือเป็น “ภัยคุกคามสำคัญ” ต่อความมั่นคงของตน ดังนั้น การวางกำลังตามแนวชายแดนยูเครน ตลอดรวมถึงการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในเบลารุส และทั้งการวางกำลังรบทางเรือในทะเลดำ จึงเป็นเสมือนการส่ง “คำเตือน” ให้แก่ฝ่ายตะวันตกในเรื่องนี้

ภายใต้เงื่อนไขทางทหารดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประมาณการว่า รัสเซียอาจจะเปิดการรุกทางทหารแบบใดแบบหนึ่งในไม่ช้า อันทำให้หลายฝ่ายประเมินด้วยความกังวลว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามมีความเป็นไปได้มาก และผลของการรบที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็น “หายนะใหญ่” ของสถานการณ์โลกอีกด้วย

ฉะนั้น ถ้าเกิดการรบระหว่างรัสเซียกับยูเครน เราอาจทดลองวาด “ฉากทัศน์สงคราม” ได้ใน 3 แบบ ดังนี้

Advertisement

ฉากทัศน์ที่ 1: รัสเซียใช้มาตรการ “การทูตแบบการใช้กำลังบังคับ” โดยพื้นที่ของยูเครนที่เคยถูกกำลังรบของรัสเซียรุกเข้ายึดแบบจำกัด โดยเฉพาะพื้นที่ดอนเบสทางด้านตะวันออกของยูเครน จะมีการประกาศรับรองพื้นที่ที่ถูกผนวกโดยสภาดูมาของรัสเซีย แต่ในฉากทัศน์นี้ รัฐบาลรัสเซียจะไม่เปิดการรุกทางทหารมากเกินไป จนอาจกลายเป็นเงื่อนไขของสงครามใหญ่ และการดำนินการเช่นนี้เปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถครอบครองพื้นที่บางส่วนของยูเครนได้อย่างเป็นทางการ อีกทั้งทำให้รัสเซียสามารถสร้างแรงกดดันต่อยูเครนได้โดยตรงอีกด้วย กล่าวคือ จะเป็นโอกาสที่เปิดให้รัสเซียมีช่องทางในการแทรกแซงทางการเมืองกับยูเครนได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งการปฎิบัติเช่นนี้ จะทำให้รัสเซียหลีกเลี่ยงการยกระดับความขัดแย้ง และได้รับผลตอบแทนบางส่วน แต่อาจจะไม่ได้มากอย่างที่ประธานาธิบดีปูตินต้องการทั้งหมด

ฉากทัศน์ที่ 2: รัสเซียเปิดปฎิบัติการ “การรุกทางทหารอย่างจำกัด” ด้วยการใช้กำลังรบทางบกและทางอากาศอย่างจำกัด โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การผนวกดินแดนบางส่วนของยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการเข้ายึดครองเมืองท่าและเมืองหลักบางเมืองของยูเครน และหากมีโอกาส รัสเซียอาจขยายพื้นที่การรุกทางทหารมากขึ้น อันจะทำให้รัสเซียสามารถเปิดการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ของรัสเซียกับไครเมียได้โดยตรง ซึ่งในฉากทัศน์เช่นนี้ อาจมีการสู้รบใหญ่ระหว่างกองทัพยูเครนกับกองทัพรัสเซีย และส่งผลโดยตรงให้ยูเครนอ่อนแอลงในอนาคต แต่ก็มิได้หมายความว่ายูเครนจะกลายเป็น “รัฐล้มเหลว” และประเทศตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซียทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า การต่อต้านรัสเซียในยูเครนจะยังคงดำเนินต่อไป

ฉากทัศน์ที่ 3: รัสเซียตัดสินใจเปิดปฎิบัติการด้วย “การรุกทางทหารเต็มรูปแบบ” อันมีนัยถึงสงครามตามแบบขนาดใหญ่ ที่รัสเซียต้องใช้กำลังรบตามแบบ ทั้งกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อเปิดการโจมตีทางทหารต่อยูเครนทั้งหมด ในฉากทัศน์นี้ กำลังทหารของรัสเซียจะต้องรุกเข้ายึดเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เพื่อทำลายรัฐบาลเดิม แน่นอนว่า ตัวแบบนี้ย่อมหมายถึง การสู้รบขนาดใหญ่ในพื้นที่ของยูเครน และอาจขยายไปสู่ “สงครามกองโจร” ของชาวยูเครน เพื่อต่อต้านการยึดครองของรัสเซีย สงครามที่เกิดอาจนำไปสู่การสูญเสียขนาดใหญ่ของรัสเซียด้วยเช่นกัน ในฉากนี้ กองทัพรัสเซียอาจจะประสบความสำเร็จในการยึดครองพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของยูเครน ตลอดรวมถึงการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล และโรงงานอุตสาหกรรมอาวุธของยูเครน ทั้งยังอาจขยายสงครามด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเป้าหมายสำคัญ อันจะส่งผลให้รัฐบาลยูเครนกลายเป็น “อัมพาต” และประเทศกลายเป็น “รัฐล้มเหลว” ซึ่งภาวะเช่นนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขในตัวเองให้รัสเซียต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อการรักษาความสงบในยูเครนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัสเซียจะดำเนินการด้วย “การรุกทางการทูต” หรือใช้มาตรการทางทหารในแบบ “สงครามจำกัด” หรือในแบบ “สงครามเต็มรูป” ก็ตาม ปัญหาสำคัญคือ ท่าทีในการตอบโต้ของสหรัฐและพันธมิตรยุโรปในกรอบของเนโต้จะเป็นเช่นไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐสภาอเมริกันได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการสนับสนุนรัฐบาลยูเครน และมาตรการที่ชัดเจนที่สหรัฐและฝ่ายตะวันตกจะใช้ในการกดดันรัฐบาลมอสโคว์คือ การ “แซงชั่น” อันเป็นเครื่องมือหลักที่จะนำมาใช้ด้วยความคาดหวังให้รัฐเป้าหมายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางการเมือง แต่ก็ไม่อาจคาดคะเนได้ว่า การแซงชั่นจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของรัสเซียได้จริง

แต่รัสเซียก็อาจตอบโต้ด้วยการตัดการส่งพลังงานให้แก่ยุโรป และส่งผลให้วิกฤตพลังงานของยุโรปทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สหรัฐต้องหันกลับมาให้ความช่วยเหลือทางด้านพลังงาน เพื่อลดแรงกดดันจากรัสเซีย เพราะความขาดแคลนพลังงานจะเป็นโจทย์สำคัญของการเมืองภายในของรัฐยุโรปเสมอ

สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครคาดเดาถึงการตัดสินใจในการเปิดการรุกทางทหารของประธานาธิบดีปูตินต่อวิกฤตยูเครนได้ ฉะนั้น สิ่งที่อาจต้องเตรียมรับในอนาคตคือ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตการณ์ยูเครน อันนำไปสู่การเกิดสงครามเต็มรูป และอาจนำไปสู่การทะลักของผู้อพยพเป็นจำนวนมากเข้าสู่ยุโรป ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลอย่างมากต่อการจัดระเบียบของการเมืองยุโรปในอนาคต และกระทบโดยตรงต่อการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในการเมืองโลกด้วย

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “วิกฤตยูเครน 2022” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของการเมืองโลกในยุคสมัยของเรา!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image