แผงลอยที่ไม่ได้ลอยมาจากไหน : คอลัมน์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง โดย กล้า สมุทวณิช

ภาพของทางเดินเท้าย่านสยามสแควร์ช่วงใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS เป็นภาพที่ได้รับการแชร์ต่อไปอย่างชื่นชมของบรรดา “คนเดินเท้า” ที่น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิตก็ว่าได้ ที่ได้เห็นว่า “ทางเดิน” บริเวณนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ด้วยก่อนหน้านี้ ทางเดินตรงนั้นถูกปกคลุมครอบครองไปด้วยบรรดาแผงลอยนานา ที่เห็นกันตั้งแต่มาสยามสแควร์ครั้งแรกสมัยเป็นวัยรุ่นยันพาลูกมาเรียนพิเศษ แผงลอยเหล่านี้ก็ยังคงอยู่คู่สยาม เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบ “สยามสแควร์” ในจินตนาการหรือภาพจำเมื่อระลึกถึง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยคิดว่าจะมีความคิดจะดำเนินการ “จัดระเบียบ” แผงลอยในย่านนี้ หากใครยังจำได้ ครั้งหนึ่งช่วงปี 2553 และ 2554 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็น “ผู้ทรงสิทธิ” ตามกฎหมายได้พยายามที่จะขอคืนพื้นที่ตรงนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้นได้มีการนำแผงกระถางต้นไม้มาวางไว้ในจุดที่เป็นที่ตั้งหาบเร่แผงลอย แต่การนั้นนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรแล้ว เพราะผู้คนก็ยังคงมีพื้นที่เดินบนทางเท้าเท่าเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสิ่งกีดขวางจากบรรดาหาบเร่แผงลอยนานามาเป็นทิวกระถางต้นไม้เท่านั้น และในที่สุดในเวลาไม่นาน ผู้ค้าก็ไปยกบรรดาแผงกระถางต้นไม้นั้นออกไป และมาวางขายได้เหมือนเดิม

ในครั้งนี้ด้วยการสนธิกำลังกันจริงจังของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองจนแผงค้าบนพื้นผิวทางเดินนั้นหายวับโล่งเตียนขึ้นมาได้อย่างแท้จริง กลายเป็นภาพตื่นเต้นตื่นตาน่าปลื้มใจที่ส่งแชร์เผยแพร่ไปในโลกโซเชียล นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของฝ่าย “คนไม่เอาหาบเร่แผงลอย” ครั้งสำคัญ เพราะถือว่าเป็นชัยชนะต่อ “บอส” เบอร์ใหญ่ที่สุดเลยทีเดียว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ต้องระลึกด้วยว่า การเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของแผงลอย ไม่ว่าจะที่สยามสแควร์หรือที่ไหนก็ตาม นั้นไม่ได้อยู่ดีๆ เป็น “แผง” ที่ “ลอย” มาตกลงตรงนั้น แต่การกำเนิดขึ้นของแผงลอยนั้นอาจกล่าวว่าเป็นไปได้ตามธรรมชาติ ในย่านที่มีคนผ่านไปผ่านมาจำนวนมาก ก็จะเริ่มมีคนเอาของมาขาย กลายเป็นแผงลอยที่ผุดงอกขึ้นมา จากไม่กี่แผง ไปจนเติบโตงอกงามขึ้นมากลายเป็นตลาดนัดธรรมชาติ

การเกิดขึ้นของแผงลอยจึงไม่อาจจะชี้หน้ากล่าวโทษเอาแก่พ่อค้าแม่ค้าที่ยกแผงมาตั้งเกะกะกีดขวางทางสัญจรของประชาชนได้ เพราะนี่เป็นเหมือนนิติกรรมสองฝ่าย ที่มีคนขาย ก็เพราะมีคนซื้อและยิ่งมีคนซื้อมากพอจนเกิดอุปสงค์ คนขายรายใหม่ๆ ก็จะก้าวเข้ามาเพิ่มอุปทาน และนั่นก็ย่อมจะ “เรียก” ผู้ซื้อเข้ามามากขึ้นไปอีก เกิดเป็นตลาดละเมิดกฎหมายที่มีเงินสะพัดนับล้าน

ประกอบด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่จริงจังในช่วงที่ผ่านมา มีการกำหนดจุดผ่อนผันซึ่งผ่อนผันแบบไม่มีเวลาจำกัด จนเกิดสภาพที่ “ข้อยกเว้น” กลายเป็น “หลัก” กลายเป็นสิทธิเรียกร้องของฝ่ายผู้ขายที่จะขอให้มีการ “ผ่อนผัน” ให้มีขายกันต่อไป จนเมื่อฝ่ายบ้านเมืองจะเลิก “ผ่อนผัน” เช่นว่านั้นก็ไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายเสียแล้ว

Advertisement

ในสายตาของผู้ที่ศึกษาเรื่องความเป็นธรรมของการกระจายทรัพยากร เริ่มแรกทีเดียวแผงลอยนั้นเกิดจากความ “เหลื่อมล้ำ” ในการเข้าถึงทรัพยากรคือสถานที่ทำมาหากิน หาบเร่แผงลอยในระยะแรกเป็นภาพของคนยากจนที่ไม่อาจหาที่หาทางเปิดร้านหรือเปิดแผงอย่างถูกต้องในอาคารพาณิชย์ได้ ก็เลือกวิธีการที่มาใช้ “ทรัพยากร” ส่วนรวมนั้นเป็น “ที่ทำกิน”

ในส่วนนี้หลายคนอาจจะเถียงว่าหาบเร่แผงลอยที่เป็นผลพวงมาจากความเหลื่อมล้ำดังว่านั้นเป็นตำนานไปหมดแล้ว ปัจจุบันผู้ค้าแผงลอย โดยเฉพาะในย่านทำเลทองหรือถนนสีลมนั้นก็คือผู้ประกอบการที่อาจจะร่ำรวยยิ่งกว่าพนักงานมนุษย์เงินเดือนผู้เป็นลูกค้าเสียอีก และข้ออ้างเรื่องไม่มีที่มีทางทำมาหากินจึงต้องมาค้าขายแบบแผงลอยนั้นก็เป็นข้ออ้างแบบ “โลกสวย” เพราะเป็นที่ทราบกันว่า “ค่าที่ค่าทาง” ที่ไม่ได้อยู่ในระบบกฎหมายนั้นอาจจะมีมูลค่าสูงยิ่งกว่าการไปเช่าแผงในตลาดนัดย่านชานเมืองเป็นไหนๆ

การแก้ปัญหาแผงลอยรุกล้ำทางเดินเท้าด้วยการจัดหาพื้นที่ใหม่ให้เขาได้ค้าขายนั้นก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ที่ทำให้ผู้ค้าพอใจ เพราะตลาดนั้นไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นได้ด้วยการนำป้ายไปปักตั้งแล้วประกาศว่าที่นี่คือพื้นที่ตลาด และให้ผู้ค้าไปขายของ แต่ตลาดจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญคือ “ผู้ซื้อ”

จริงหรือว่าคนไทยส่วนใหญ่ “ไม่เอาหาบเร่แผงลอย” หรือ จริงหรือที่ว่าคนส่วนใหญ่นั้นอยากได้บาทวิถีที่ราบโล่งศิวิไลซ์ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว สิ่งที่จะขับไล่แผงลอยที่รุกล้ำทางเท้าลงไปได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจรัฐสนธิกำลังกันมาไล่ ก็คือการ “ปฏิเสธ” การซื้อของจากหาบเร่แผงลอยที่เกะกีดขวางทางเดินนั้น หากไม่มีคนซื้อ คนขายก็น่าจะลดลงจนหายไปได้เอง เหมือนเช่นที่ตลาดจัดตั้งหลายที่นั้นเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีคนไปเดินหรือจับจ่ายซื้อของ

เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่ทำให้แผงลอยนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และไม่ดับไปง่ายๆ นั้นอาจจะเป็นเพราะแท้จริงแล้วการมีอยู่ของหาบเร่แผงลอยนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตอบสนองความต้องการตาม “ธรรมชาติ” ของสังคมของเราทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายนั่นเอง ดังวรรคหนึ่งของโคลงโลกนิติที่ว่า “…หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้านแสลงดิน…” นั่นคือพืชที่ขึ้นบนดินใดย่อมบอกคุณภาพของดินนั้น

ความพยายามเอาชนะ “ธรรมชาติ” เช่นนั้นในวันนี้ ก็อาจจะเป็นผลดีอยู่ เหมือนการแข็งใจถางหญ้าที่รกเรื้อรุงรังในสนามหลังบ้านมาหลายปี แต่ก็ต้องระวังว่าถ้าในดินนั้นยังมีหน่อเชื้อของหญ้าอยู่ ไม่นานหลังจากฝนตก ต้นหญ้าเหล่านั้นก็จะงอกงามกลับขึ้นมาใหม่ การจะกลับมา “งอกใหม่” ของแผงลอยบนทางเดินก็เช่นกัน ก็ต้องขึ้นกับความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ว่าจะจริงจังต่อเนื่องอย่างไร และความร่วมมือของ “ประชาชน” คนที่อาจจะเป็น “ลูกค้า” อย่างเราๆ ท่านๆ ว่ายังจะอุดหนุนการค้าขายบนพื้นทางอยู่หรือไม่

ในตอนนี้เราก็คงได้เพียงปลาบปลื้มใจกับภาพสยามสแควร์ที่เป็น “ระเบียบเรียบร้อย” ในวันนี้ และมาลุ้นกันอีกทีในอีกสักเดือนสองเดือนข้างหน้าว่าแผงลอยจะกลับมางอกงามบนผิวทางที่เดิมหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image