เดือนหน้าประวัติศาสตร์อเมริกา จะเปลี่ยนแปลงไหม : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

อีกเพียง 25 วัน ประชากรโลกจะได้รับทราบว่า ชาวอเมริกันจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดีบริหารประเทศในอีก 4 ปีข้างหน้า และจะเป็นผู้ตัดสินปัญหาโลกหลายปัญหาที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาทั้งสร้างและผูกไว้

จากการ (น่าจะเรียกว่า “โต้วาที” โดยแท้) ดีเบตเมื่อครั้งหลังสุด วันที่ 9 ตุลาคม ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่าย โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ยังคงเมินเฉยที่จะแสดงความสำนึกผิดกรณีเคยกล่าวถึงผู้หญิงในทางหยาบคายเมื่อครั้งก่อนๆ แล้วพูดถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤตของสหรัฐและของโลก

แต่กลับเป็นการโต้กับ ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครต

ทรัมป์นอกจากจะไม่กล่าวแก้ไขเรื่องที่เคยพูดถึงผู้หญิงเมื่อครั้งก่อน แต่ยังกล่าวถึงพฤติกรรมของ บิล คลินตัน สามีของฮิลลารีในอดีตที่เคยมีประวัติล่วงเกินทางเพศมาแล้ว

Advertisement

เช่นเดียวกับฮิลลารี เป็นการโต้ตอบในเรื่องที่ทรัมป์พูดมากกว่าจะว่าถึงแนวทางนโยบายและการแก้ปัญหาประเทศและวิกฤตโลก

เอาเป็นว่า กลายเป็นทั้งสองฝ่าย “โต้วาที” ด้วยคารมโต้ตอบซึ่งกันและกัน ในสายตาของอเมริกันชน ตลอดเวลา 90 นาที ไม่น่าจะมีประโยชน์ในความคิดเห็นที่ดีสักเท่าใด

การกล่าวหาเรื่องส่วนตัวเป็นสำคัญ อาจทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของฝ่ายหนึ่งพึงพอใจที่เห็นข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่ง ดูจะเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงของนักการเมืองไม่ว่าประเทศไหน

Advertisement

แม้แต่ผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการยึดอำนาจ ยังพยายามตอบโต้ผู้สื่อข่าวในเรื่องส่วนตัวออกทุกบ่อย แทนที่จะว่าถึงการแก้ปัญหาอันเป็นรูปธรรมให้ประชาชนผู้เดือดร้อน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 20 มกราคม 2560

กำหนดการของการปกครองแบบสาธารณรัฐมีกำหนดชัดเจนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น เช่น สหรัฐมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี 4 ปีครั้ง เมื่อเป็นประธานาธิบดีแล้วมีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกวาระหนึ่ง และจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่เกิน 2 วาระ คือ 8 ปี

กำหนดการเลือกตั้งมีในเดือนพฤศจิกายนของปีที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง และเข้าดำรงตำแหน่งเดือนมกราคมปีรุ่งขึ้น

หลังจากผ่านการแข่งขันได้รับการเลือกจากพรรคเป็นที่สุดให้ส่งลงรับเลือกเป็นประธานาธิบดี ผู้สมัครมีการหาเสียงได้ตามที่ต้องการ เช่นตระเวนไปตามมลรัฐ โดยเฉพาะในมลรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญ เพื่อให้ผ่านการพิจารณาของมลรัฐนั้น

ประการสำคัญ หลังจากพรรคส่งชื่อแล้ว ผู้สมัครจะต้องมีรายการ “ดีเบต” ผ่านสถานีโทรทัศน์พร้อมกันตามที่มีผู้สมัคร ส่วนใหญ่มีเพียง 2 คน จาก 2 พรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งกันมานาน คือ พรรครีพับลิกัน กับ พรรคเดโมแครต ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีผู้สมัครคนอื่น เพียงแต่ว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่ง ผู้สมัครที่เป็นอิสระมักถอนตัว ไม่ลงแข่งขัน จึงไม่มีการดีเบตระหว่างกัน

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมีความหมายของแต่ละประเทศไม่เท่าเทียมกัน เช่นประเทศไทยอาจมีความหมายมากสักหน่อย เพราะสหรัฐกับประเทศไทยคบหาสมาคมกันมานาน แต่มีความหมายกับประเทศทั่วโลกพอสมควร

การ “ดีเบต” เมื่อครั้งก่อน ฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนิยมมากถึง 62% แต่ครั้งนี้ได้รับความนิยมลดลงเหลือเพียง 57% ขณะที่ทรัมป์ยังไม่ขยับขึ้นลงมากน้อยสักเท่าใด คงอยู่ในระดับ 34%

แม้จะยังมีการ “ดีเบต” อีกครั้ง ผู้ที่มีวิสัยเป็นกลางยังไม่ตัดสินใจเลือกใครระหว่างทรัมป์กับฮิลลารี วันเลือกตั้ง (ตามระบบของสหรัฐ) คือวันที่อเมริกันชนต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดี มีการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่หรือไม่ที่จะมีประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรก เหมือนครั้งก่อนซึ่งเลือกคนผิวสีเป็นครั้งแรก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image