สนามรบของแม่ทัพประยุทธ์! : สุรชาติ บำรุงสุข

หากพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองและการอภิปรายในสภาที่รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเผชิญในปัจจุบันแล้ว ดูจะไม่แตกต่างกับสถานการณ์สงคราม หรืออาจเปรียบได้ว่า วันนี้ “แม่ทัพประยุทธ์” อยู่ในสนามรบ ที่กองทัพข้าศึกพยายามที่จะรุกใหญ่เพื่อเปิดการรบแตกหัก และเอาชนะในขั้นสุดท้ายให้ได้

ถ้าคิดในมิติของสงคราม เราจะเห็นได้ว่าในสนามรบของสงครามทางบกที่เป็น “เหล่าทางทหาร” ของแม่ทัพประยุทธ์นั้น มียุทธวิธีหลักที่ใช้กันมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์สงคราม 3 ประการ คือ

– จู่โจม
– โอบปีก
– ตีตลบหลัง

สามยุทธวิธีที่กล่าวนี้ถือได้ว่า เป็นพื้นฐานของการสงครามทางบก และเป็นกลยุทธ์ที่นักการทหารใช้ในการบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามมาอย่างยาวนาน

Advertisement

สนามรบทางการเมือง

ฉะนั้น ถ้าคิดถึงปัญหาต่างๆ ที่กำลังรุกเข้าตีรัฐบาลแล้ว คงไม่ต่างกับการเข้าตีของ “ข้าศึก” ในสนามรบ สมมุติถ้าลองเปรียบเทียบในแบบวิชาทหาร เราอาจพออนุมานได้ว่า ข้าศึกมี 3 ทัพใหญ่ และใช้ 3 ยุทธวิธีหลักในการดำเนิกลยุทธ์

– กองทัพใหญ่ของข้าศึกชุดแรกคือ “กองทัพเชื้อโรค” ซึ่งเปิดโจมตีด้วยการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่สร้างปัญหาต่างๆ ให้แก่รัฐและสังคมไทยอย่างรุนแรง มิใช่เพียงการระบาดของเชื้อไวรัสเท่านั้น หากยังนำพาปัญหาอื่นๆ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจและความยากจนตามมา จนต้องถือว่า การเปิดการรบของข้าศึกชุดนี้ เป็นสงครามที่หนักหน่วงที่สุดในยุคปัจจุบัน โดยกองทัพเชื้อโรคเปิด “จู่โจม” ด้วยการเข้าตีรัฐบาลเป็น “ระลอกใหญ่” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และการโจมตียังไม่มีท่าทีที่จะยุติลงแต่อย่างใด

Advertisement

– ข้าศึกชุดที่สองคือ “กองทัพแห่งความคับข้องใจ” อันเป็นผลจากการบริหารภาครัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงนโยบาย ส่งผลให้สังคมหลายส่วนเกิด “ความคับข้องใจทางการเมือง” ต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล และนำไปสู่การเกิดแรงต่อต้านจากประชาชนในหลายภาคส่วนมากขึ้น การโจมตีของข้าศึกที่เกิดจากความคับข้องใจนี้ บั่นทอนเครดิตและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลงทุกวัน ความคับข้องใจเป็นข้าศึกที่น่ากลัวอีกแบบ เพราะหากเกิดสิ่งนี้ในอารมณ์และจิตใจของผู้คนในสังคมแล้ว ย่อมกลายเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” ในทางการเมือง ภาวะเช่นนี้จึงเสมือนกับการเข้าตีทางยุทธวิธีแบบ “โอบปีก” และบีบกระชับเพื่อทำลายโอกาสความอยู่รอดของแม่ทัพรัฐบาลอย่างชัดเจน

– ข้าศึกชุดที่สามเป็น “กองทัพกบฏ” อันเกิดปัญหาการก่อ “กบฏภายใน” พรรครัฐบาล และส่งผลอย่างมากต่อปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล และไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองหรือการทหาร “ข้าศึกภายใน” เป็นข้าศึกที่น่ากลัวที่สุด เพราะเป็นกบฏที่เกิดจากภายในของตัวรัฐบาลเอง จะส่งผลให้เสมือนเกิด “สงครามทอนกำลัง” ต่อสถานะของรัฐบาลโดยตรง และข้าศึกชุดนี้เสมือนเปิดศึกในแบบของการ “เข้าตีตลบหลัง” ในทางยุทธวิธี จนสร้างความรวนเรกับทัพใหญ่ของแม่ทัพประยุทธ์อย่างเห็นได้ชัด และต้องยอมรับว่า “สงครามกบฏ” ในพรรครัฐบาลยังไม่จบ

สามทัพใหญ่ของข้าศึกที่เปิดการเข้าตีเช่นนี้ ทำให้สถานะความอยู่รอดของ “แม่ทัพใหญ่” อย่างพลเอกประยุทธ์ ตกอยู่ในความล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง… การจู่โจมของข้าศึกจาก “กองทัพเชื้อโรค” และการโอบล้อมของ “กองทัพแห่งความคับข้องใจ” ได้สร้างความรวนเรให้แก่แม่ทัพรัฐบาลอย่างมากในเวลานี้ ในอีกส่วนคือ การรุกของ “กองทัพกบฏ” ที่ดูเหมือนจะชลอตัวลงบ้างในยามนี้ แต่ในการสงคราม ไม่มีอะไรน่ากลัวมากเท่ากับ “ข้าศึกฝ่ายเดียวกัน” ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่า ปืนในมือของกบฏ จะหันปากกระบอกเข้าหาฝ่ายใด

อย่างไรก็ตาม สงครามการเมืองล้วนดำเนินไปไม่ต่างจากสงครามการทหาร และทางเลือกทั้งทางการเมืองกับการทหารก็อาจไม่แตกต่างกันด้วย

ทางเลือกในสนามรบ

ผู้นำหน่วยทหารในสนามรบ ตั้งแต่นายทหารระดับล่างจนถึงแม่ทัพใหญ่นั้น มักมีทางเลือกใน 4 หนทางปฎิบัติ ได้แก่

1) ลุยสู้: เมื่อถูกปิดล้อม การนำกำลังลุย “ตีฝ่า” วงล้อมของข้าศึกออกไปเป็นยุทธวิธีพื้นฐาน ความสำเร็จของการเจาะแนวการปิดล้อมของกองทัพข้าศึกคือ โอกาสของความอยู่รอด ซึ่งยุทธวิธีในการตีฝ่าวงล้อมทางการเมือง อาจหมายถึง “การยุบสภา” เพราะการยุบสภาน่าจะเป็นทางเดียวที่แม่ทัพประยุทธ์จะฝ่าแนวปิดล้อมของฝ่ายตรงข้ามได้ แต่ก็มีการประกาศอย่างชัดเจนจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า เขาจะไม่เลือกหนทางปฎิบัติเช่นนี้

2) สู้ต่อ: การรวบรวมสรรพกำลังในมือและสร้าง “แนวรับใหม่” เป็นความพยายามที่จะดำรงการต่อสู้ต่อไป การตัดสินใจรบต่อเป็นทางเลือกในทางยุทธวิธีอีกประการ แต่การจะปักหลักสู้ต่อได้ต้องมีเงื่อนไข “อำนาจของฝ่ายรับ” ซึ่งในทางการเมืองอาจมีนัยหมายถึง การรวบรวม สส. ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างแนวป้องกันที่แข็งแรงให้แก่อนาคตของพลเอกประยุทธ์ การปักหลักสู้ต่อคือ ความพยายามที่จะ “ลาก” การเมืองเดิมต่อไปให้ได้ แน่นอนว่า การต้องพึ่งพาพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหากพรรคร่วมตัดสินใจก่อ “กบฏ” ด้วยแล้ว แนวตั้งรับของแม่ทัพประยุทธ์จะถูกทำลายลงทันที ฉะนั้น วันนี้จึงไม่แปลกที่แม่ทัพซึ่งเคยเป็น “ราชสีห์” แห่งบูรพาพยัคฆ์นั้น อาจต้องพึ่ง “หนู” เพื่อความอยู่รอด แต่จะเป็นความอยู่รอดที่เปราะบางอย่างยิ่ง สุดท้ายแล้ว อาจเป็นนิทานอีสปในการเมืองไทยที่ “ราชสีห์ต้องยืมจมูกหนู” หายใจ

3) สู้ตาย: การเข้าทำการรบโดยตรงกับกำลังของข้าศึกที่ปิดล้อมไว้ทุกด้าน มีนัยถึงการปักหลัก “สู้ตาย” เพราะไม่มีหนทางปฎิบัติอื่นเหลือ ซึ่งในทางการเมืองคือ การเดินหน้าชนกับฝ่ายตรงข้ามที่เหนือกว่า และอาจจบลงด้วยความพ่ายแพ้ เช่น อาจหมายถึงการถูก “บีบให้ลาออก” กลางสภา เพราะโอกาสที่จะเปิดการรุกกลับในยามนี้ ดูจะไม่ง่ายนัก ความอ่อนแอของรัฐบาลและความนิยมที่ลดลงในหมู่ประชาชนในขณะนี้ได้ทำลายการเป็นผู้กุมความริเริ่มของแม่ทัพประยุทธ์ในสนามรบไปหมดแล้ว

4) ไม่สู้: แม่ทัพอาจต้อง “ยอมถอย” เพื่อที่จะไม่ทำการรบต่อ เพราะมองไม่เห็นหนทางของชัยชนะ การถอยเช่นนี้ในทางการเมือง อาจมีนัยหมายถึง “การลาออก” ด้วยความสมัครใจ เพื่อไม่ให้ตนเองบอบช้ำมากเกินไป เพราะยิ่งต่อสู้ อาจจะยิ่งแพ้ อีกทั้งแรงกดดันของสถานการณ์รอบตัวได้ถูกยกระดับขึ้นตลอดเวลา จนแม่ทัพประยุทธ์ไม่มีโอกาสที่จะเป็นฝ่ายที่ดำรงความริเริ่มในการต่อสู้ไว้ต่อไปได้อีก นอกจากจะต้องยอมถอยออกไป แต่จากท่าทีที่ปรากฏในช่วงที่ผ่านมานั้น การลาออกคงเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับการไม่ยุบสภา

ฉากสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถเดาใจได้ว่า “แม่ทัพประยุทธ์” จะเลือกเดินในหนทางปฎิบัติเช่นไรในฉากทัศน์สุดท้าย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความพยายามที่ดำรงสภาพการรบและปักหลักสู้ต่อไปให้ได้ ทั้งที่เวลาของเขาในสนามรบครั้งนี้เหลือน้อยลงเต็มที เพราะข้าศึกทั้งสามทัพบีบรัดและกระชับกำลังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทัพต่างๆ ของฝ่ายข้าศึกพร้อมแล้วในการเตรียมเปิดการรบใหญ่ในช่วงเวลาข้างหน้า ดังนั้น อนาคตของ “การรบแตกหัก” ที่เดิมพันด้วยความอยู่รอดของแม่ทัพประยุทธ์ น่าจะอยู่ไม่ห่างไกลนัก อีกทั้ง ในสภาพเช่นนี้ แม่ทัพประยุทธ์ไม่มีเงื่อนไขที่จะเป็นผู้กุมความริเริ่มในสนามรบได้อีกต่อไปแล้ว… การศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image