งานหนัก รัฐบาล เศรษฐกิจ วูบหวิว ไหวหวั่น เปราะบาง

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม 2559 ที่ระดับ 1504.34

พลันที่เปิดการซื้อขายสัปดาห์ต่อมา ดัชนีก็ตกมาอยู่ที่ 1457.02 ในวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม และลงมาอีกที่ 1442.21 ในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม ก่อนจะตกลงอย่างรุนแรงอีกครั้งในวันพุธที่ 12 ตุลาคม โดยถึงเวลาเพียงช่วงเที่ยงวัน ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาอยู่ที่ 1400

ประมาณว่าเพียงสองวันครึ่งของการซื้อขายดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ลดลงไปแล้วกว่า 100 จุด

ข้อมูลที่รับรู้กันอยู่โดยเปิดเผยก็คือ ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น และพยุงเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่ประการ

Advertisement

1 คือรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

1 คือการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย

1 คือเงินตราต่างประเทศที่ยังไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ แทนการเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานหรือทำการผลิตอื่นๆ โดยตรง

แต่พลันที่การกวาดล้าง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เป็นไปอย่างเอาจริงเอาจัง

ถึงขนาดจองจำผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของกิจการที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้อง โดยมี “นโยบาย” สั่งห้ามประกันตัวในชั้นสอบสวน ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจท่องเที่ยวก็แผ่กระจายกว้างขวางทั้งกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ซึ่งแม้จะเป็นภาวะ “ชั่วคราว” แต่ก็ยังสะท้อนสะเทือนไปถึงส่วนอื่นๆ

ไม่ว่าร้านค้า ร้านอาหาร สายการบิน กิจการขนส่ง ไปจนกระทั่งถึงผู้ผลิตสินค้าที่ระลึกทั้งรายใหญ่และรายเล็ก

ตัวเลขมากน้อยเท่าใด สอบถาม 3-4 ธนาคารใหญ่ที่ติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด น่าจะประเมินได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด

มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านช่องทางของกระทรวงการคลังและมือไม้แขนขา

เมื่อประสบเข้ากับภาวะราคาพืชผลตกต่ำ สัมฤทธิผลของเงินกระตุ้นที่จับจ่ายลงไปก็พลอยลดน้อยถอยลงด้วย

เงินชดเชยให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของราคาข้าวที่ตกลงเกือบครึ่ง หรือตกลงมากที่สุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตามคำบอกเล่าของ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ยิ่งเมื่อผ่านภาวะแล้งจัดที่ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้มาหลายรอบฤดูกาลเพาะปลูก

ติดตามด้วยภาวะน้ำท่วม ที่ทำให้ข้าวซึ่งเพิ่งออกรวงได้รับความเสียหาย

ความเดือดร้อนของชาวนา โดยเฉพาะในภาคกลางยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ

อันหมายถึงภาระในการเข้าไปโอบอุ้มของรัฐบาลยิ่งต้องมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ถามว่ารัฐบาลมีงบประมาณใช้จ่ายได้ไม่จำกัดหรือ?

ขณะที่ความคึกคักของตลาดหลักทรัพย์นั้น

ในด้านหนึ่งนอกจากเป็น “ตัวล่อ” ให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาบ้าง แม้เป็นระยะสั้นก็ยังดี แล้ว

ยังทำให้นักเล่นหุ้นจำนวนไม่น้อยมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย อันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงธุรกิจการค้าในระดับหนึ่ง

ความตกต่ำของดัชนีราคาหรือภาวะวิกฤตในตลาดหุ้นแต่ละครั้ง ส่งผลอย่างไรกับการใช้จ่ายของ “คนเมือง-นักเล่นหุ้น” ทั้งหลาย

ลองสอบถามสถาบันการเงินที่ให้บริการบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลดูก็จะรู้ได้ว่าสัดส่วนของ “สินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้” ในรอบปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงใด

และอัตราส่วนการใช้งานบัตรเครดิต หรือวงเงินในการใช้จ่ายแต่ละครั้ง เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปิดบังอำพรางกันได้

เศรษฐกิจและธุรกิจไทยในภาพรวมที่ประกาศโดยรัฐบาลอาจจะดูสดใสกาววาว แต่ไส้ในยังอยู่ในภาวะ “เปราะบาง” ยิ่งโดยเฉพาะกับปัจจัยในเรื่องของ “ความเชื่อมั่น” ทั้งความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐ และความเชื่อมั่นในประเด็นอื่นๆ

ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยอื่นๆ เพิ่มขึ้น ยัง “ละเอียดอ่อน” ปานนี้

หากมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ย่อมได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะเตรียมการ-ทำการบ้านล่วงหน้าเอาไว้บ้างแล้ว

ว่าจะประคับประคองเศรษฐกิจและปากท้องคนไทยต่อไปอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image