เปิดประตูสงคราม! : สุรชาติ บำรุงสุข

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวพรมแดนยูเครน-รัสเซีย ทำให้เช้าวันอังคารที่ 22 ตามเวลาในประเทศไทย ไม่ใช่วันที่สดใสเท่าใดนัก โดยเฉพาะข่าวสำคัญที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือ รัสเซียประกาศ “ผนวกดินแดน” ในภาคตะวันออกของยูเครนคือ ลูฮันสก์ (Luhansk) และโดเนตสก์ (Donetsk) การประกาศในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเปราะบางของสถานการณ์การเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลอย่างมากว่า การผนวกดินแดนสองส่วนนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ของดอนบาส (Donbas) คือ การ “ยกระดับ” สถานการณ์ความขัดแย้งโดยตรง เสมือนเป็นการ “เปิดประตูสงคราม” และในทางกลับกัน เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า ความหวังที่จะ “ลดระดับ” ความตึงเครียดของปัญหาอาจจะดูห่างไกลออกไป

การประกาศผนวกดินแดนครั้งนี้ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย หลายฝ่ายประเมินมาก่อนแล้วว่า เมื่อประธานาธิบดีปูติน ตัดสินใจเคลื่อนกำลังรบขนาดใหญ่ของรัสเซีย ที่มีตัวเลขประมาณการราว 1 แสน 5 หมื่นนายของกำลังทางบก เข้าประชิดแนวชายแดนของยูเครน สุดท้ายแล้ว รัสเซียคงต้องเข้ายึดและผนวกดินแดนบางส่วน ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้น่าจะเป็น “ความต้องการขั้นต่ำ” ซึ่งในด้านหนึ่ง ผลจากการผนวกดินแดนนี้ จะมีส่วนช่วยในการตอบสนองต่อกระแสชาตินิยมที่ถูกสร้างมาอย่างต่อเนื่องในการเมืองรัสเซีย อีกทั้ง เราอาจจะต้องถือว่า ประธานาธิบดีปูตินเองก็เป็นตัวแทนของกระแสชาตินิยมรัสเซียในปัจจุบันด้วย ซึ่งการผนวกดินแดนเช่นนี้จะมีส่วนในการเสริมสร้างสถานะของปูตินในการเมืองรัสเซียโดยตรง ในอีกด้านหนึ่งคือ การส่งสัญญาณว่า ตัวเขามี “ภารกิจทางประวัติศาสตร์” ในการฟื้นสถานะของรัสเซีย ที่ตกต่ำลงอย่างมากในยุคหลังสงครามเย็น และด้วยบุคลิกแบบปูติน เขาจะต้องมุ่งมั่นในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ถ้อยแถลงของเขาในคืนวันจันทร์ตามเวลาของยุโรป คือ คำยืนยันที่ชัดเจนถึงภารกิจในการ “กอบกู้” รัสเซีย

หากมองจากมุมของฝ่ายยูเครนและฝ่ายตะวันตกแล้ว การผนวกดินแดนคือ “สัญญาณขั้นต้น” ของการเตรียมเปิดปฎิบัติการทางทหารเพื่อที่จะทำการรุกเข้าตียูเครน เพราะการผนวกดินแดนที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปฎิบัติการทางทหารของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนภาคตะวันออก ซึ่งกลุ่มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลรัสเซีย ดังนั้น การผนวกดินแดนจะเปิดโอกาสให้รัสเซียมีข้ออ้างที่จะวางกำลังปิดล้อมยูเครนได้มากขึ้น และยังกลายเป็นโอกาสสำคัญให้รัสเซียจัดตั้งฐานทัพในดินแดนดังกล่าวอีกด้วย
เนื่องจากนับจากนี้ไป การวางกำลังดังกล่าวถือว่าอยู่ในพื้นที่ของรัสเซียเองแล้ว แม้ครั้งหนึ่งพื้นที่ของดอนบาสจะเคยเป็นของยูเครนก็ตาม แต่รัฐสภารัสเซียได้ประกาศรับรองการผนวกดังกล่าว จึงส่งผลให้ดินแดนนี้มีสถานะเป็นของรัสเซียอย่างเป็นทางการด้วย อีกทั้ง รัสเซียยังกล่าวอ้างอีกว่า กำลังที่ส่งมานี้ เป็นการเข้ามาเพื่อดำเนินภารกิจ “ปฎิบัติการรักษาสันติภาพ” อันเป็นผลจากสถานการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยรัสเซียได้กล่าวตอบโต้ว่า ทางฝ่ายยูเครนเองเป็น “ตัวปัญหา” ที่มีการนำกำลังติดอาวุธเข้าไปในพื้นที่นี้จนเกิดเป็นความรุนแรง และทำให้ต้องมีการอพยพคนบางส่วนที่เป็นผู้สูงอายุและเด็กออกไปไว้ในรัสเซีย นอกจากนี้ รัสเซียยังกล่าวหารัฐบาลยูเครนถึงการดำเนินนโยบายแบบ “สุ่มเสี่ยงทางทหาร” ที่ส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งนี้ขยายตัวมากขึ้น และทำให้รัสเซียจำเป็นต้องก้าวเข้ามาเพื่อรักษาสันติภาพในพื้นที่นี้

แน่นอนว่า สหรัฐและฝ่ายตะวันตกไม่มีทางที่จะยอมรับข้ออ้างในการรักษาสันติภาพของรัสเซียได้เลย และมองไม่เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นปฎิบัติการรักษาสันติภาพได้อย่างไร ในทางตรงข้าม การเคลื่อนกำลังในภารกิจนี้คือ การเปิดโอกาสให้กองทัพรัสเซียกระชับกำลังเพื่อกระทำต่อยูเครนได้มากขึ้น ซึ่งผู้นำยูเครนได้ตอบโต้ด้วยการออกโทรทัศน์ กล่าวหารัสเซียถึงการละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้ง ยังได้การมีการนำเอาวิกฤตครั้งนี้ เข้าสู่การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งคุณมนตรีฯ ได้ใช้เวลาในการถกแถลงราว 90 นาที พร้อมกับเรียกร้องให้มีการใช้มาตรการทางการเมืองและการทูตเพื่อสร้างสันติภาพในวิกฤตนี้ มากกว่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของการใช้มาตรการทางทหารในการแก้ปัญหา ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดของสงคราม แต่กระนั้น ทุกฝ่ายยังหวังว่า “หน้าต่างทางการทูต” จะไม่ถูกปิดลง

Advertisement

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้นำยูเครนเรียกร้องมาโดยตลอดให้โลกตะวันตกออกมาตรการ “แซงชั่น” เพื่อกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ในที่สุด สหรัฐและพันธมิตรจึงได้ออกมาตรการแซงชั่นเพื่อตอบโต้รัสเซียในวันอังคารที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหารในการห้ามทำการค้าและการลงทุนในรัสเซียและในดินแดนที่ถูกผนวก ซึ่งคำสั่งนี้ย่อมจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของรัสเซียในทางหนึ่งทางใดได้ด้วย อันอาจทำให้รัสเซียต้องหันไปกระชับมิตรภาพและความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น

การแซงชั่นเช่นนี้อาจไม่ต่างจากวิกฤตจอร์เจียในปี 2008 และวิกฤตไครเมียในปี 2014 ซึ่งในด้านหนึ่งก็มีคำถามตามมาอย่างมากว่า การแซงชั่นจะยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกดดันรัสเซียได้จริงเพียงใด เพราะรัสเซียเองเคยถูกกดดันทางเศรษฐกิจจากโลกตะวันตกมาแล้ว และไม่ใช่เรื่องใหม่ที่รัสเซียไม่เคยเผชิญ และการแซงชั่นนี้น่าจะถูกตอบกลับด้วยการตัดการส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซียให้แก่ยุโรป แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลเยอรมันได้ประกาศชลอการก่อสร้างโครงการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (โครงการนอร์ด สตรีม 2) ซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การผนวกดินแดนในครั้งนี้ ในอีกส่วนหนึ่งได้สร้างความกังวลให้รัฐอิสระในพื้นที่ดังกล่าวอย่างมาก นายกรัฐมนตรีของลิทัวเนียได้ออกมาประนามการกระทำครั้งนี้ เพราะเกรงว่า การขยายอิทธิพลของรัสเซียเพื่อหวนกลับคืนสู่การเป็น “ผู้ควบคุมและครอบครอง” ดินแดนแถบนี้จะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของรัฐริมชายฝั่งทะเลบอลติกทั้งสาม ซึ่งถือเสมอว่า ตนเองเป็นรัฐเอกราชมาก่อน แต่ต้องตกอยู่ไปอยู่ภายใต้การปกครองของสหหภาพโซเวียตในยุคก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มขึ้นในปี 1939

Advertisement

หากพิจารณาในมุมของฝ่ายตะวันตกแล้ว การผนวกดินแดนครั้งนี้อาจถือเป็น “สัญญาณเริ่มต้น” ของการเตรียมเปิดการรุกใหญ่ในทางทหาร ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้กำลังสร้างความกังวลอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ จนอาจจะต้องกล่าวด้วยสำนวนการเมืองว่า สถานการณ์ที่ยูเครนครั้งนี้ ทำให้ “เมืองหลวงต่างๆ ของโลกไม่อาจเข้านอนหลับได้อย่างสบายใจ” ในค่ำคืนวันอังคารนี้

นอกจากนี้ เราคงพอคาดเดาได้ไม่ยากว่า ผลของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะตามมาด้วยความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่มีท่าทีจะฟื้นได้จริงจากวิกฤตโควิค-19 ซึ่งเท่ากับเป็นคำตอบสำหรับอนาคตที่ไม่สดใสนักว่า โลกจากนี้ไปอาจต้องเผชิญกับทั้งวิกฤตความมั่นคงที่ยูเครน และวิกฤตโควิดพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกคู่ขนานกันไป อีกทั้งวิกฤตพลังงานก็เริ่มก่อตัวด้วย ดังนั้น จึงแน่นอนว่า ไม่มีทางที่โลกจะนอนหลับสบายได้เลยในยามนี้!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image