สุจิตต์ วงษ์เทศ : 14 ตุลาคม 2516 รอดตายเพราะชดใช้กรรมยังไม่หมด

โปสเตอร์การเมือง 14 ตุลาคม 2516 ของแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย โดย สิงห์น้อย ฟูสวัสดิ์สถาพร

ก่อน 14 ตุลาคม 2516 ขรรค์ชัย บุนปาน ทำงานประจำไทยรัฐ (ถนนวิภาวดี หรือซูเปอร์ไฮเวย์) เขียนคอลัมน์สังคม นามปากกา “หวานเย็น” หน้า 4 ทุกวัน

ส่วนผมทำงานรับจ้างดูแลโรงพิมพ์พิฆเณศ (ใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาว สี่กั๊กเสาชิงช้า) รับพิมพ์หนังสือทุกชนิด (หนังสือโป๊ก็ไม่เว้น)

เมื่อมีเหตุการณ์เดินขบวนของนิสิตนักศึกษาประชาชน ขรรค์ชัยพาผมเข้าไปสำนักงานไทยรัฐ เพื่อติดตามข่าวสารสถานการณ์ความเคลื่อนไหวตามสันดานคนหนังสือพิมพ์

จนเย็นย่ำค่ำคืน ขรรค์ชัยพาผมนั่งรถตู้ไทยรัฐออกตระเวนข่าวไปตามถนนสายต่างๆ ตั้งแต่ย่านดินแดง มุ่งหน้าลานพระบรมรูปฯ เข้าสะพานมัฆวาน ผ่านสนามมวยราชดำเนิน จะถึงสี่แยกจักรพรรดิพงษ์ก็ชะงักตรงนั้น เพราะข้างหน้าเป็น บช.น. แต่มืดสนิทดำมิดหมี ไม่มีแสงไฟฟ้า ไม่น่าวางใจ

Advertisement

ขรรค์ชัยบอกคนขับรถตู้ไทยรัฐ เลี้ยวซ้ายไปทางนางเลิ้ง แม้นศรี ผ่านวรจักร อ้อมหลายแห่งถึงเจริญกรุง กลับโรงพิมพ์พิฆเณศ แล้วแยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน

รุ่งเช้าถึงรู้ข่าวจากไทยรัฐ, เดลินิวส์, และฉบับอื่นๆ ตรงกันว่าเมื่อคืนใครผ่าน บช.น. ถูกเอ็ม 16 และสารพัดอาวุธสงครามถล่มตายหมด ไม่มีรอด เพราะเป็นเขตสังหาร

ชดใช้กรรมยังไม่หมด เลยต้องมีชีวิต

Advertisement

 

ก่อนจะถึง 14 ตุลาคม 2516

14 ตุลาคม 2516 มีเหตุจากการสั่งสมซ้ำซากมากกว่า 16 ปี ที่ต้องอึดอัดขัดข้องหมองใจต่ออำนาจเผด็จการทหารกินบ้านกินเมือง

แล้วมีเหตุอื่นๆ สมทบอีก ทั้งจากภายนอกและภายใน เช่น สงครามเย็น, ความขัดแย้งกันเองของกลุ่มคนชั้นนำยุคนั้น ซึ่งคนธรรมดาสามัญชนรู้ไม่ทั่วถึง ผมจึงรู้ไม่เท่าทัน

แต่จำเหตุการณ์ที่สร้างความอึดอัดได้แม้ไม่หมดทุกอย่าง เพราะออกจากดงศรีมหาโพธิ์ (จ. ปราจีนบุรี) ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 เข้าไปเป็นเด็กวัดย่านประตูผี (ถนนมหาไชย)เพื่อเรียนชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนวัดย่านสะพานมัฆวาน (ถนนราชดำเนินนอก) ใจกลางพื้นที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคโน้น

แต่ไร้เดียงสามหาศาล เลยไม่รู้อะไร และไม่รู้สึกอะไรกับทหารขี่รถถังจังก้ามากลางถนน เพราะคุ้นมาก แล้วตื่นเต้นดี เหมือนในหนังสือสงครามโลก

ปัญหาคือไม่ซึมซับในสันดานเรื่องการบ้านการเมือง เพิ่งทบทวนได้ตอนนี้ เพราะมีหนังสือลำดับเหตุการณ์ไว้เปิดดูเป็นแนว

[ที่ลำดับเหตุการณ์มานี้ไม่ได้จำ และจำไม่ได้ เพราะไม่ท่องจำ แต่เปิดดูจากหนังสือ  กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555)]

จะยกเท่าที่สำคัญ ดังนี้

 

16 ปี ใต้อำนาจเผด็จการ

20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ถนนมิตรภาพ เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการจากสระบุรี “เลี้ยวขวา” ขึ้นที่ราบสูงโคราชสู่อีสาน

ถนนมิตรภาพ สร้างด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐ ทั้งงบประมาณและเทคนิควิทยาการก่อสร้างทันสมัยที่สุดในยุคนั้น

17 กันยายน 2500 ยึดอำนาจโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ผู้บัญชาการทหารบก) ทำรัฐประหารขับไล่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรี) และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ (อธิบดีกรมตำรวจ)

เป็นที่รู้ทั่วกันว่ารัฐบาลสหรัฐรับรู้ก่อนการยึดอำนาจครั้งนี้และครั้งต่อไป เพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์โซเวียตกับจีน

20 ตุลาคม 2501 ปฏิวัติโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำซ้ำ

ครั้งนี้บุกรุกคุกคามสำนักงานหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาจีน แล้วจับกุมคุมขังนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนที่ต่อต้านการยึดอำนาจ จึงถูกกล่าวหาเป็นฝ่ายซ้าย เลื่อมใสลัทธิคอมมิวนิสต์

อเมริกันไนซ์ นับแต่นี้ไปไทยอยู่ใต้อิทธิพลทุกอย่างของสหรัฐ ทั้งการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ผู้เติบโตในยุคนี้ต่างมีจิตสรรเสริญเจริญพรยกย่องสหรัฐอย่างสุดจิตสุดใจ แล้วคลั่งวัฒนธรรมอเมริกันขึ้นสมอง ยกย่องสหรัฐเป็นซูเปอร์แมนของโลก

นับเป็นเริ่มต้นยุค “ทันสมัย แต่ไม่พัฒนา” หรือ “ทันสมัย แต่ไร้สมอง” ที่ต้องการจะหมายถึง “ทันสมัย แต่ไม่มีความเป็นสมัยใหม่”

ใครเลื่อมใสแนวทางโซเวียตกับจีน จะถูกข้อหาคอมมิวนิสต์ แล้วถูกจับติดคุก “ขังลืม” (หมายถึง ไม่มีกำหนดพ้นโทษออกจากคุก)

17 พฤศจิกายน 2514 ยึดอำนาจตัวเองโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ. ประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบก

เท่ากับกระชับอำนาจมากขึ้นของยุคถนอม-ประภาส จนถูกเรียกเป็นทรราช

 

ในที่สุดก็ถึง 14 ตุลา 2516

ความอัดอั้นตันอกหมกไหม้ไส้ขมของคนที่อยู่ใต้อำนาจเผด็จการทหารนานถึง 16 ปี ในที่สุดก็ค่อยๆ ระบายผ่านขบวนการนักศึกษาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นปี  เช่น กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อ 29 เมษายน 2516, กรณีจับผู้นำนักศึกษา เมื่อ 6 ตุลาคม 2516 ข้อหาเผยแพร่แจกจ่ายเอกสารเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

ในที่สุดก็ระเบิดเปิดเปิงเป็นจลาจล 14 ตุลา 2516

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image