บทนำมติชน : รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ 70 ปี-เพื่อประโยชน์สุข แห่งมหาชนชาวสยาม

เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย เมื่อทราบถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อตอนบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา

ทรงครองราชย์ 70 ปี ยาวนานที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ความทรงจำของคนไทยที่มีต่อพระองค์ก็คือ พระองค์ได้เสด็จฯไปยังท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทรงงานเพื่อพสกนิกรของพระองค์อย่างไม่หยุดหย่อน

ข่าวพระราชสำนัก ข่าวพระราชกรณียกิจ ที่ปรากฏในแต่ละวัน ได้บอกเล่าว่าแต่ละวันได้เสด็จฯไปยังที่ใด และเมื่อพระสุขภาพไม่อำนวย ได้ทรงมอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯแทน

ดูเหมือนว่า ความทุกข์ร้อน ชีวิตความเป็นอยู่ ความยากลำบาก ของพสกนิกรจะอยู่ในสายพระเนตรของพระองค์ตลอดเวลา

Advertisement

โครงการพระราชดำริ ได้ทำหน้าที่ยกระดับความเป็นอยู่แก้ปัญหาต่างๆ ในเรื่องการทำมาหากินให้กับพสกนิกรมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงพระนามเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช”

Advertisement

พระชนมายุได้ 4 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ ต่อจากนั้น เสด็จฯไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ทรงรอบรู้หลายภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และละติน

ในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลซาน

ทรงได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2478 เมื่อพระบรมเชษฐาธิราชได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี

พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ด้วยพระชนมพรรษา 18 พรรษา ทรงเป็นยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระองค์ที่ 2 แห่งราชสกุลมหิดล

วันที่ 19 สิงหาคม 2489 ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซาน แม้พระองค์จะโปรดวิชาวิศวกรรมศาสตร์ แต่เพื่อประโยชน์ในการปกครองประเทศได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาวิชากฎหมาย คือ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆ พร้อมกับทรงศึกษาด้านอักษรศาสตร์จนทรงเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ละติน เป็นต้น

ทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492

วันที่ 24 มีนาคม 2493 เมื่อเสด็จฯนิวัติพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ วังสระปทุม

และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493

วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

พระองค์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ในพระบรมมหาราชวัง ประทับเหนือราชอาสน์บัลลังก์ทอง เฉลิมพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

จากนั้นมาตลอด 7 ทศวรรษแห่งการครองราชย์ ทุกพระราชกรณียกิจ ล้วนเป็นไปเพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกร

ภายในเขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็นไปดังที่ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ระบุว่าเป็น “พระราชวังที่ไม่เหมือนพระราชวังแห่งใดในโลก”

พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพ ซึ่งราษฎรได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน

ปวงชนชาวไทยได้แสดงความจงรักภักดี และเฉลิมฉลองวาระต่างๆ ได้แก่ ศุภวาระเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 25 ปี พระราชพิธีรัชดาภิเษก 9 มิถุนายน 2514

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530

พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทรงดำรงสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ 2 กรกฎาคม 2531

มหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539

พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

และพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี วันที่ 8-13 มิถุนายน 2549

พระมหากษัตริย์ 25 ประเทศ จากทั้งสิ้น 29 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมพระราชพิธี

นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก

เบื้องหน้าความสูญเสียครั้งนี้ นอกเหนือจากความเศร้าสลดเสียใจ คนไทยทุกผู้นาม พึงน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

ศึกษาพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อใช้เป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิตและการทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ตามที่ได้ทรงเหน็ดเหนื่อยตรากตรำพระวรกาย ทรงปูพื้นฐานไว้

และปฏิบัติตนตามแนวทางที่ได้มีพระราชดำริไว้

จะเป็นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยอย่างดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image