ขอพูดเรื่องโซตัสด้วยคน : โดย ไพฑูรย์ ปานสูง

“โซตัส” ที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นคราวอยู่ในสื่อ และเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผมขอพูดบ้างนี้ ทำให้คนเกลียด เพราะดูเหมือนระบบนี้ ไม่เคารพในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะการรับน้องด้วยความรุนแรง ทำให้มีอุบัติเหตุแก่ชีวิตร่างกาย ผมว่ามัน “ไม่ใช่เรื่องของโซตัส” นะ ผมเองก็ไม่รู้ว่าระบบนี้เกิดมายังไง แต่อ่านหนังสือพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ จึงทราบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่จุฬาฯ (จริงแท้ประการใดก็ไม่ทราบ) ผมว่าคนรุ่นต่อๆ มา นำมาประยุกต์ใช้ให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก นี่แหละคือสาเหตุของความเสื่อมของ “โซตัส” ผมจึงขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวบ้าง

โรงเรียนประจำจังหวัดที่บ้านผมตอนโน้นมีชั้นสูงสุดคือ ม.6 เทียบตอนนี้เท่ากับ ม.4 พอเรียนจบก็ต้องหาที่เรียนใหม่ ตามมีตามเกิดเพราะไม่มีอาจารย์แนะแนว มีให้เลือกแค่ 2 ทางคือ จะต่ออาชีวะ หมายถึงช่างกล, อุเทน, พาณิชยการ (ร.ร.นายสิบ, ร.ร.จ่าทหารเรือ ก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้) หรือต่อ ม.7-8 (เตรียมอุดม) เพื่อต่อมหาวิทยาลัย หรือเอาชัวร์หน่วยสำหรับคนเรียนดีก็ไปต่อฝึกหัดครูและมีทุนให้

ผมรู้จักจุฬาฯครั้งแรกในชีวิตตอนเรียน ม.4 สมัยนี้เป็น ม.2 ครูใหญ่เป็นคนเล่าให้ฟังในชั้นเรียน ซึ่งมีประมาณ 30 คน ว่าจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศตั้งขึ้นมาโดยพระเจ้าแผ่นดิน เขามีการปกครองแบบพี่ดูแลน้อง จึงอบอุ่น และเมื่อจบแล้วส่วนใหญ่จะมีงานทำเพราะบริษัทฝรั่งเขาจะมาจองตัว ท่านหมายถึงคณะวิศวะ ทำให้ผม (ตอนนั้นอายุ 13 ปี) ซึ่งเกลียดระบบราชการมากอยู่แล้ว อยากเรียนจุฬาฯขึ้นมาทันที เพราะตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่จบ ป.4 ว่าชีวิตนี้จะไม่รับราชการ (เรื่องมันยาวทั้งที่พ่อ-อา-น้า เป็นครูหมด)

แล้วก็เข้าจุฬาฯได้ดังใจหวัง รวมทั้งเพื่อนรุ่นเดียวกันเข้าจุฬาฯได้อีก 3 คน ตอนเป็นน้องใหม่ ได้รับการรับน้องจากพวกพี่ๆ อย่างอบอุ่น ทั้งงานคณะและงานสโมสร ตลอด 4 ปีที่เรียน ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากพวกพี่ๆ อย่างดี อย่างเดียวกันเมื่อพ้นสภาพจากน้องใหม่แล้ว) ตัวผมเองทำตัวเป็นน้องนิสิตที่ดีปฏิบัติตามกฎระเบียบที่คณะ ส่วนใหญ่พวกรุ่นพี่ๆ นี่แหละ ได้วางเอาไว้เป็นต้นว่า ห้ามเดินทางเดินบางช่วง (ซึ่งมีทางเลือกอยู่เยอะ) เพราะสงวนไว้สำหรับรุ่นพี่ๆ การประชุมเชียร์ก็เข้าทุกครั้งเพราะพี่ๆ ที่เป็นประธานเชียร์ เขาจะอบรมสั่งสอนเราให้เป็นคนตรงเวลา โดยเฉพาะตอนเข้าเชียร์ ต่อไปเราจบออกไปทำงานแล้ว การเป็นคนทำงานตรงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ตอนแรกๆ พวกเรา (น้องใหม่) ทุกคนเกลียดประธานเชียร์กันทั้งนั้น ตอนนั้นไม่รู้จักคำว่าว้ากเกอร์เพราะไม่มี พอเราเข้าใจวัตถุประสงค์ของการประชุมเชียร์ ความเกลียดชังก็ทุเลาเบาบางลงในที่สุดเปลี่ยนเป็นความสนุกสนานเข้ามาแทน

Advertisement

ผมอยากเข้าจุฬาฯเริ่มจากข้อมูลที่ครูใหญ่นำมาจุดประกาย เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนั้นเลย เราชอบมหาวิทยาลัย เราชอบเครื่องแบบ เราชอบสัญลักษณ์ และเราชอบหลายอย่างที่มีในจุฬาฯ (ตามที่ครูใหญ่เล่า แต่ท่านไม่ได้จบจุฬาฯ ท่านจบจากสวนกุหลาบ) เราจึงสอบเข้า

พอเข้าได้ เราก็ปฏิบัติตามสิ่งที่เขาทำกันต่อๆ มา เป็นประเพณีเช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า WHEN YOU ARE IN ROME DO AS A ROMAN DO. ผมรู้สึกว่า รุ่นพี่ๆ เขาดีกับเราและเราก็ดีต่อรุ่นน้องๆ มีความรู้สึกเท่ ตอนเป็น SENIOR คือรู้ว่าปีหน้าจะเป็นบัณฑิตแล้ว (โว้ย)

เมื่อเรียนจบ ผมไปหารุ่นพี่ๆ ตามที่ทำงานเพราะผมเป็นเด็กบ้านนอกไม่รู้จักใคร ผมได้งานทำจากการฝากฝัง (สมัยก่อนการจะสมัครงานไม่มีสื่อมากอย่างเช่นสมัยนี้ เราไม่รู้หรอกว่าที่ไหนเขาต้องการพนักงานระดับไหนบ้าง) ก็ได้ทำงานกับรุ่นพี่รุ่นน้องมาตลอด ชีวิตการทำงานก็เจริญรุ่งเรือง จนสามารถสร้างครอบครัวได้อย่างมั่นคง แม้แต่ในวันนี้ผมยังระลึกถึงความมีน้ำใจของพวกพี่ๆ และความร่วมมือของรุ่นน้องๆ ในการทำงาน และยังรำลึกถึงบุญคุณของสถาบันว่าถ้าเราไม่มีสถาบันนี้ เราก็ไม่มีวันนี้

Advertisement

สิ่งหนึ่งที่ผมถือเป็นคติและปฏิบัติมาตลอดชีวิตคือ เราไม่ยกย่องสถาบันของเราว่าเหนือกว่าสถาบันใดๆ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่จะตัดสินคน อยู่ที่ตัวคนคนนั้นเองไม่เกี่ยวกับสถาบัน

เมื่อผมมองโซตัสปัจจุบันนี้บอกตรงๆ ว่าเป็นคนละโซตัสกับตอนที่ผมเรียน ผมสงสัยว่ามันใช่อันเดียวกันกับที่เราเคยผ่านมาหรือเปล่า หรือว่ากาลเวลามันเนิ่นนาน ทุกอย่างย่อมมีเปลี่ยนแปลง (ซึ่งผมยอมรับได้) แต่ควรจะเปลี่ยนแปลงในทางที่จะทำให้ “โซตัส” ดีกว่าที่ผมเคยเห็น

เพราะระบบการทำงานและการบริหารย่อมมีระดับผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา และทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ก็ดีที่สุดแล้ว

ไพฑูรย์ ปานสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image