รอยพระบาทยาตราคือจารึก: โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รอยพระบาทยาตราคือจารึก   ให้ข้าไทสำนึกในศักดิ์ศรี
ให้อยู่อย่างพอเพียงเลี้ยงชีวี   ร่มเย็นในพระบารมี…พระภูมิพล
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

ในหลวงของเรานั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการ มีทั้งพระเดชและพระคุณ ทำให้ประเทศชาติภายใต้ร่มโพธิสมภารอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าเป็นสมัยราชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ทรงใช้ทั้งพระเดชและพระคุณปกครองประเทศชาติ

แต่ปัจจุบันพระเดชของพระมหากษัตริย์ได้ถูกนำไปใช้ โดยอำนาจ “บริหาร” รัฐบาลเป็นผู้ใช้ อำนาจ “นิติบัญญัติ” รัฐสภาเป็นผู้ใช้ อำนาจ “ตุลาการ” ศาลเป็นผู้ใช้ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมเท่าที่ควร ความร่มเย็นของประชาชนจึงขาดๆ เกินๆ แต่เดชะบุญ ยังเป็นโชคดีของประชาชนอยู่บ้าง พระคุณของพระมหากษัตริย์ไม่มีใครแย่งไปจากพระองค์ได้ พระองค์จึงปกครองประเทศด้วยพระคุณ อันนำมาซึ่งความสุข เย็น ชื่นใจ ทั่วหน้ากัน

พระคุณของพระองค์มีมากมายสุดจะพรรณนา จะขอยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมสัก 3-4 ประการเพื่อเห็นภาพ

Advertisement

1. ความกตัญญู ในหลวงนอกจากเป็นยอดพระมหากษัตริย์ ตามอุดมคติแล้ว ยังทรงเป็นแบบอย่างแห่งพระราชโอรสที่ทรงกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง ทรงทำหน้าที่ของบุตรได้สมบูรณ์

เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประชวรที่ศิริราช ในหลวงของเราไปเฝ้าไข้ “ไปกินข้าวมื้อเย็นกับแม่” สัปดาห์ละ 5 วัน ทุกครั้งที่ไปก็ประทับอยู่นานๆ

คราวหนึ่งทั้งสองพระองค์ทรงพระประชวรอยู่ที่ศิริราชเหมือนกัน นางพยาบาลเข็นรถสมเด็จย่าอยู่ พอทอดพระเนตรเห็นเท่านั้น ในหลวงทรงออกจากห้องมาแย่งพยาบาลเข็นรถ มหาดเล็กกราบทูลว่า ไม่ต้องเข็น มีพยาบาลเข็นให้อยู่แล้ว ในหลวงรับสั่งว่า “แม่ของเรา เราเข็นเองได้”

Advertisement

การที่ทรงแสดงความกตัญญูกตเวทีออกมาให้ปรากฏแต่นี้ เป็นคุณสมบัติของมหาบุรุษของโลก พระราชจริยวัตรแต่ละอย่าง การเคลื่อนไหวแต่ละอย่างเป็นมิใช่เพียงเรื่องเฉพาะตัว แต่ทรงทำเพื่อเป็นเนตติ (แบบอย่าง) แก่อนุชนรุ่นหลังมากกว่า กล่าวสั้นๆ คือ ทรงแสดงตัวอย่างแห่งความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณให้ผู้อื่นได้ทำตาม

พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง ทรงยกย่องทองแดงและสุนัขตัวอื่นที่ทรงเลี้ยงไว้ ว่ามีความกตัญญูต่อแม่มันและต่อพระองค์ผู้ทรงชุบเลี้ยง ส่วนหนึ่งเป็นพระกรุณาของพระองค์ต่อทองแดงและสุนัขตัวอื่น แต่สาระที่แท้จริง ทรงต้องการสื่อไปยังพสกนิกรของพระองค์คือคุณธรรมจริยธรรม ว่าแม้แต่สุนัขยังมีความกตัญญูรู้คุณแม่มันและเจ้าของที่ชุบเลี้ยง แล้วพสกนิกรของพระองค์ล่ะ สำนึกในคุณข้อนี้บ้างไหม ถ้าไม่รู้คุณค่าของกตัญญูกตเวทิตาธรรม ก็สู้สุนัขไม่ได้ ในโอกาสปีใหม่ พ.ศ.หนึ่ง ทรงพระราชทาน ส.ค.ส. แก่ปวงชนชาวไทย เป็นภาพวาดสัตว์สี่เท้า มีข้อความว่า “สี่เท้าดีที่สุด” ทรงเตือนสติว่าให้มีคุณธรรม หาไม่ก็จะสู้สี่เท้าไม่ได้

2. ความอ่อนน้อม อ่อนโยน พระคุณข้อนี้ปรากฏชัดมาก พระราชจริยวัตรของในหลวงของเรา ไม่ว่า ณ สถานการณ์ไหน ณ เวลาไหน ต่อใคร ทรงมีความอ่อนน้อม อ่อนโยนเสมอกันหมด ดูแล้วเย็นตา เย็นใจ ไม่เบื่อที่จะดูจะชม เป็นความอ่อนน้อม อ่อนโยนโดยธรรมชาติ อันเกิดจากการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะสมาธิวิปัสสนา

เวลาในหลวงเสด็จ ไปนมัสการพระเถระผู้ใหญ่ หรือพระสงฆ์ทั่วไปจะเห็นพระคุณสมบัตินี้ชัดแจ้ง พระองค์ทรงกราบ ทรงนั่งพับเพียบเรียบร้อย งดงามอย่างยิ่ง ไม่คิดว่าพุทธศาสนิกชนที่ไหนจะกระทำได้เรียบร้อย นุ่มนวล งดงามดังพระองค์ท่าน

ยิ่งกับสมเด็จย่าด้วยแล้ว ทรงนอบน้อม อ่อนโยน ต่อแม่ท่านอย่างยิ่ง ไม่ว่าการทรงกราบ การจุมพิต การกอดรัดด้วยความรัก การประคองสมเด็จย่า มีความนุ่มนวล อบอุ่น และงดงามอย่างยิ่ง ดูอย่างไรๆ ก็ไม่เบื่อ

กับพสกนิกรทั่วไปก็เช่นเดียวกัน ภาพที่ทรงคุกเข่าสนทนากับชาวบ้านทั่วไป กับคนชราภาพประทับนั่งสนทนากับชาวเขาอย่างไม่ทรงถือพระองค์ อย่างกับเพื่อนสนิทคุยกัน

3. ความอดกลั้น ความอดทน ความพากเพียร พระคุณนี้คล้ายกัน สอดประสานกันในแง่ปฏิบัติ เพราะทรงฝึกสมาธิวิปัสสนาประจำ และทรงปฏิบัติธรรมตลอด ทำให้พระองค์ทรงมีความอดกลั้น อดทน และพากเพียรเยี่ยงมหาบุรุษ ชนิดที่คนทั่วไปนึกไม่ถึง

ในงานพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาทุกสถาบัน ถ้าจะสังเกตให้ดี พระองค์ประทับบนพระเก้าอี้ประทับเป็นเวลานานติดต่อกัน 2-3 ชั่วโมง ในท่าเดิม พระราชทานปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ขณะอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ยื่นถวายใบปริญญาบัตรให้พระองค์ ต้องเปลี่ยนคนแล้วคนเล่า แต่ในหลวงประทับนั่งในท่าเดิม ไม่เคลื่อนไหว นิ่ง สงบ พระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระอาการสงบนิ่ง น่าอัศจรรย์ มิหนำซ้ำ เมื่อเสด็จกลับถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแล้ว ยังเสด็จฯไปทรงวิ่งบริหารพระวรกายอีกด้วย

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เล่าว่า ครั้งหนึ่งมีงานวันครบรอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีงานพระราชทานเลี้ยง ณ วังไกลกังวล เป็นธรรมเนียมพอเสวยเสร็จก็จะทรงดนตรีร่วมกับคณะนักดนตรี อ.ส. ดนตรีเริ่มเวลาสามทุ่ม พระองค์ประทับอยู่บนเวทีไม่ทรงลุกไปไหนเลย ขณะที่นักดนตรีคนแล้วคนเล่าพากันถวายบังคมถอยออกไปเข้าห้องน้ำ หรือเปลี่ยนอิริยาบถเป็นครั้งคราว พอสว่างพระองค์จึงทรงลุกจากเวที แทนที่จะทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถ กลับเสด็จลงชายหาดแล้วทรงเรือใบต่ออีก

อาจารย์วสิษฐสงสัยว่า ทำได้อย่างไร แล้วก็ได้คำตอบว่า ที่ทรงทำได้เพราะทรงฝึกฝนพระองค์ให้มีความอดกลั้น อดทน และพากเพียร ด้วยการฝึกสมาธิภาวนานั่นเอง

พระวิริยาธิคุณของพระองค์ แสดงออกชัดแจ้งในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ถามว่าทำไมต้องพระราชนิพนธ์พระมหาชนก คำตอบก็คือพระองค์ทรงมีพระวิริยอุตสหะ อันเป็นพระคุณสมบัติส่วนพระองค์ครบถ้วนแล้ว หากทรงมีพระมหากรุณาต้องการเผื่อแผ่แก่พสกนิกรของพระองค์ พูดง่ายๆ ว่า “ทรงต้องการให้พสกนิกรของพระองค์มีความพากเพียรด้วย” จึงทรงใช้พระมหาชนกเป็นสื่อ และทรงเตือนว่าความพากเพียรอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องใช้ปัญญาด้วย

4. เป็นอุบาสกแก้ว ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ได้ปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนาและนำเอาหลักพุทธธรรมไปใช้ในการปกครองประเทศ สมพระนามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เป็น “อุบาสกรัตนะ” หรืออุบาสกแก้ว ถามว่าพระองค์ทรงเติบโตในต่างประเทศ แต่ทำไมเวลาเข้าพระเข้าเจ้าจึงทรงนุ่มนวล งดงาม และทรงรอบรู้พระพุทธศาสนาทั้งในแง่ทฤษฎี และการปฏิบัติ และทรงเลือกหลักธรรมมาใช้ได้เหมาะเจาะกับเหตุการณ์ คำตอบก็คือ เพราะพระองค์ทรงโชคดีที่ได้ “แม่ดี”

สมเด็จย่าทรงฝึกฝนอบรมลูกๆ ของท่าน พระราชโอรสของสมเด็จย่าเป็นลูกเจ้า แต่สมเด็จย่าทรงเลี้ยงดูอย่างสามัญชน ให้เท้าติดดินที่สุด ทรงเตือนว่า ชื่อของลูกคือภูมิพล แปลว่าแผ่นดิน ลูกจะต้องติดดิน สมเด็จย่าทรงเล่าว่า ตอนเรียนหนังสือที่สวิส ในหลวงยังเล็กทรงอยากได้จักรยาน เพราะเพื่อนๆ เขามีจักรยานทั้งนั้น สมเด็จย่าตรัสว่า “ลูกอยากได้จักรยานก็เก็บสตางค์ที่แม่ให้เป็นค่าขนมซิ”

คุณธรรมพื้นฐานนี้ที่ได้รับปลูกฝังตั้งยังทรงพระเยาว์ ทำให้ติดมาเป็นพระนิสัยมาจนบัดนี้ ใครๆ ก็คงนึกว่าพระมหากษัตริย์ของเมืองไทย ทรงสมบูรณ์ด้วยโภคสมบัติมากมาย พระองค์คงจะทรงใช้เงินทองอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา หามิได้เลย ทรงประหยัดอย่างที่สุด

พื้นฐานในทางธรรมสมเด็จย่าทรงปูให้ พระองค์จึงทรงใฝ่ใจศึกษาพระพุทธศาสนาจนเชี่ยวชาญทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ โดยเฉพาะทางด้านปฏิบัติ พระองค์ทรงฝึกสมาธิวิปัสสนาอย่างจริงจัง

เพราะทรงทศพิธราชธรรม และทรงเป็นพุทธศาสนิกอย่างมั่นคง พระองค์ก็ทรงเผื่อแผ่พระบารมีไปยังศาสนิกศาสนาอื่นๆ โดยพระราชทานความอุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนาเหล่านั้นโดยทั่วถึงกัน เมืองไทยจึงเป็นประเทศเดียวในโลกที่ศาสนิกต่างศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างสมัครสมานปรองดอง เพราะพระบารมีของในหลวงของปวงชนชาวไทยโดยแท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image