ร้อยตรี ยอด สังข์รุ่งเรือง ทหารผ่านศึกสงครามโลก 1

ภาพที่ปรากฏแก่สายตาท่านผู้อ่านขณะนี้ คือ อนุสาวรีย์ขนาดกะทัดรัด อยู่บริเวณหน้าโรงละครแห่งชาติ และภาพถัดมาคือ ร้อยตรี ยอด สังข์รุ่งเรือง ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 คนสุดท้ายของไทยที่เสียชีวิตลงเมื่อ 9 ตุลาคม 2546 ครับ ไม่ต้องเล่าย้อนประวัติศาสตร์ให้เสียเวลาครับ…สรุปว่าฝรั่งในยุโรปแข่งกันเป็นใหญ่ แค้นฝังหุ่นกันมานาน แบ่งเป็น 2 พวกชัดเจน เกิดการลอบสังหารบุคคลสำคัญของออสเตรีย จนเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่สงครามระเบิดขึ้น วันที่ 28 กรกฎาคม 2457 ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.6 ในช่วงแรกสยามประกาศวางตัวเป็นกลางไม่สนับสนุนฝ่ายใด

รูป2 น.7 จัน 17 ตค.

22 กรกฎาคม 2460 หลังจากทางการสยามเฝ้ามองสถานการณ์ในยุโรปที่เค้ารบกันมาราว 3 ปี รัฐบาลจึงตัดสินใจประกาศสงครามกับเยอรมัน กระทรวงกลาโหมประกาศรับสมัครชายหนุ่มเพื่อไปทำสงครามในยุโรป มีคนมาสมัคร 1,385 คน คัดแล้วเหลือ 1,284 คน

นายทหารหนุ่ม 3 ท่านจากสยามที่ไปฝึกเป็นนักบินรบมาจากฝรั่งเศสคือ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุนี สุรรณประทีป) ร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) และร้อยโททิพย์ เกตุทัต ผู้มีความคุ้นเคยกับกองทัพฝรั่งเศสเป็นอย่างดี จึงทำหน้าที่เป็นมันสมองวางแผนการส่งกองทหารไปร่วมรบในฝรั่งเศส

Advertisement

พลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้บัญชาการกองพลที่ 4 ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นหัวหน้าทูตทหารออกเดินทางเป็นส่วนล่วงหน้าไปฝรั่งเศสเพื่อเตรียมการเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2460 ส่วนนายทหารชั้นรองลงไป มีพันโทพระทรงสุรเดช พันโทหม่อมเจ้าฉัตรมงคล พันตรีหม่อมเจ้าอมรทัต เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทูตทหาร

มีนายทหารประสานงานอีก 8 นาย คือ ร้อยเอกสาย บุณณะภุม ร้อยโทเมี้ยน โรหิตเศรนี ร้อยตรี ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์ ร้อยตรีกมล โชติกเสถียร ร้อยตรีเภา เพียรเลิศ
ร้อยตรีภักดิ์ เกษสำลี ร้อยตรีชั้น ช่วงสุคนธ์ และร้อยตรีวัลย์

กองทหารอาสาจากสยามที่ผ่านการฝึกเบื้องต้นแล้ว (กำลังส่วนใหญ่) ออกเดินทางด้วยเรือจากท่าราชวรดิษฐ์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พุทธศักราช 2461 โดยเรือศรีสมุทรและเรือกล้าทะเลลำเลียงทหารอาสาไปส่งที่เกาะสีชัง เรือเดินสมุทรชื่อเอ็มไพร์ของฝรั่งเศสลำเลียงทหารกล้าออกจากน่านน้ำสยาม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2461 ใช้เวลาเดินทาง 41 วัน ถึงเมืองมาแซลล์ จากนั้นกองทหารจากสยามแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง

Advertisement

ทหารอาสาที่เป็นหน่วยบินทหารบกจากสยามยังไม่พร้อมบินรบ กองทัพอากาศฝรั่งเศสจับฝึกให้ใหม่ แยกเป็นนักบินฝึกทิ้งระเบิดไปที่ เมืองเลอโครตัว
(Le Crotoy) ฝึกบินลาดตระเวนไปที่เมืองชับแปลลาแรนน์ (Chapelle – La – Reine) ฝึกบินทำการรบไปที่เมืองปิออกซ์ (Piox) และฝึกพลปืนประจำเครื่องบินที่เมือง บิสคารอส (Biscarosse)

โรงเรียนการบินกองทัพฝรั่งเศสฝึกและทดสอบเด็กหนุ่มจากสยาม ผลปรากฏว่าผ่านเกณฑ์เป็นนักบิน 95 นาย พอฝึกจบหลักสูตรได้ 1 สัปดาห์ กำลังจะออกทำการรบซะหน่อย เยอรมันดันยอมแพ้สงคราม

ส่วนทหารเหล่าขนส่งและทหารเสนารักษ์ของสยามถูกส่งไปในสนามรบทางตะวันตกของฝรั่งเศสทันทีโดยไม่ต้องฝึกไม่ต้องหัด ถือว่าเป็นมืออาชีพ ทหารเสนารักษ์จากสยามได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธภูมิอาค์กอนน์ (Argonne) และชองปาญญ์ (Champagne) ที่กำลังสู้รบและสูญเสียอย่างหนัก สงครามโลกครั้งที่ 1 รบราฆ่าฟันกันในยุโรปนาน
4 ปี เมื่อสงครามยุติลงเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2461 คาดว่ามีคนตายไปราว 40 ล้านคน ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามรวมทั้งทหารเหล่าขนส่งและและหน่วยบินของสยาม ได้รับเกียรติไปเดินสวนสนามเท่ระเบิดที่ปารีส ลอนดอน และบรัสเซลล์ (สวนสนามฉลองชัยชนะใน 3 เมือง) พร้อมธงชัยเฉลิมพล หลังเสร็จพิธีอวดธงไทยใน 3 ประเทศ กองทหารอาสาจากสยามเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2462 ในหลวง ร.6 เสด็จมาต้อนรับกำลังพล

ทหารเสนารักษ์จากสยามต้องถอนตัวออกจากฝรั่งเศสเดินทางกลับมาตุภูมิเป็นหน่วยสุดท้าย ฝรั่งเรียกว่า First In – Last Out สงครามยุติลงแล้ว
แต่ทหารที่บาดเจ็บที่ต้องดูแลต่ออีกจำนวนมหาศาล เป็นที่น่าเสียดายที่ทหารเสนารักษ์หมวดนี้เลยไม่ได้ไปเดินสวนสนามฉลองชัยชนะลอดใต้ประตูชัยในกรุงปารีส

ข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมอีกประการหนึ่งจากต่างประเทศคือ หมวดทหารเสนารักษ์จากสยาม แต่ไม่ทราบจำนวนและไม่มีรายละเอียด น่าภูมิใจนะครับ

พันเอกพระเฉลิมอากาศ (สุนี สุวรรณประทีป) นายทหารที่สำเร็จหลักสูตรการบินจากฝรั่งเศสเป็น ผบ.กองทหารอาสา กองทหารที่ส่งไปร่วมรบ
ในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 กอง และ 1 หมวดพยาบาล คือ

1.กองบินทหารบก (ปัจจุบัน คือกองทัพอากาศ) มี พ.ต.หลวงทยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต) เป็น ผบ.กองบิน

2.กองทหารบกรถยนต์ (ปัจจุบัน คือกรมการขนส่งทหารบก) มี ร.อ.หลวงรามฤทธิรงค์ (ต๋อย หัสดิเสวี) เป็น ผบ.กองบิน

3.หมวดพยาบาล มี ร.ต.ชุ่ม จิตต์เมตตา เป็น ผบ.หมวด

ในกองบินใหญ่แต่ละกอง มีนายทหาร นายสิบ และพลทหาร นักบิน ช่างเครื่องยนต์ แพทย์และพลพยาบาล ประมาณ 135 คน รวมทั้ง 3 กองบินใหญ่
มีกำลังพลประมาณกว่า 500 คน

กองทหารบกรถยนต์ (เหล่าทหารขนส่ง) มีกำลังพลทั้งหมดประมาณ 850 คน แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ
8 กอง แต่ละกองมีนายทหาร นายสิบ และพลทหาร ประมาณ 100 คน

รายชื่อของทหารอาสายังคงเก็บรักษาไว้ในสมุดขนาดมหึมาในห้องสมุด กระทรวงกลาโหมครับ
(ตามภาพ) และหนึ่งในนั้นทหารอาสาคือ พลทหาร ยอด สังข์รุ่งเรือง

ย้อนอดีตกลับไปครั้งเมื่อกระทรวงกลาโหมประกาศรับทหารอาสาไปร่วมรบ เด็กหนุ่มชื่อนาย ยอด สังข์รุ่งเรือง อายุประมาณ 20 ปี จากจังหวัดพิษณุโลก เป็นคนหนึ่งที่เข้ามาสมัครไปรบในยุโรป พลทหาร ยอด ได้รับคัดเลือกให้ไปทำงานในกองบินทหารบก เมื่อขึ้นบกที่ฝรั่งเศส พลทหาร ยอด ถูกส่งไปทำงานในตำแหน่งช่างเครื่องของหน่วยบินฝรั่งเศส ที่เมืองยีงกีร์รัง และต่อมาย้ายไปที่เมืองอาร์วอย ปฏิบัติงานอยู่ 1 ปี สงครามจึงยุติลง

วันที่ 21 กันยายน 2462 เรือเดินสมุทรกลับถึงสยาม กำลังพลทุกนายรวมทั้งพลทหาร ยอดฯ ได้มีโอกาสเข้ารับพระราชทานเหรียญสมรภูมิจากพระหัตถ์ของในหลวง ร.6 จากนั้นปลดประจำการเป็นทหารกองหนุน พลทหาร ยอด สร้างเนื้อสร้างตัวใน ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ทำนาด้วยความขยัน มานะ อุตสาหะ จนได้รับเลือกเป็นชาวนาดีเด่นและได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ท่าโพธิ์ ต่อมาอีก 3 ปีได้รับตำแหน่งเป็นกำนัน ต.ท่าโพธิ์ และได้รับเลือกเป็นกำนันดีเด่น ปฏิบัติงานจนอายุครบ
70 ปี จึงได้ลาออกจากกำนัน

สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงไปแล้ว 80 ปี รัฐบาลฝรั่งเศสติดตามตรวจสอบหาทหารจากทุกประเทศที่เคยเข้าไปร่วมรบช่วยฝรั่งเศสกู้ชาติ เพื่อขอมอบอิสริยาภรณ์ ทางราชการไทยตรวจสอบแล้วพบว่ามีทหารผ่านศึกสงครามโลกที่ 1 ชื่อ ยอด สังข์รุ่งเรือง เหลืออยู่ที่ จ.พิษณุโลกเพียงคนเดียว

ฯพณฯ เจอร์ราด โคสต (Gerard Coste) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้แทน
ของ ฯพณฯ ฌากส์ ชีรัก ปธน.ฝรั่งเศส ได้เดินทางไปมอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลจิย็องด็อนเนอร์ (de la Legion d’ honneur) ระดับชั้นอัศวิน (Chevalier) ของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งมอบให้แก่นักรบสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 1 ที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกประเทศ เพื่อตอบแทนความดีงาม พลทหาร ยอด สังข์รุ่งเรือง เป็นทหารไทยเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีอายุครบ 100 ปีพอดีในพุทธศักราช 2542

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศร้อยตรี แก่ พลทหาร ยอด สังข์รุ่งเรือง เป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2542 โดยพิธีในค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิษณุโลก

ร้อยตรี ยอด สังข์รุ่งเรือง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2546 เมื่ออายุ 104 ปี

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

aislogo

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image