ท่าที’อาการ’ ‘ร่าง’รัฐธรรมนูญ รีบร้อน เร่งรัด

ทั้งๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่กำหนดวันลง “ประชามติ” ว่าจะเป็นวันใดภายในเดือนกรกฎาคม

ทั้งๆ ที่ “ร่าง” อันมาจาก “กรธ.” ถือว่าเป็นร่างแรก ยังไม่สมบูรณ์

เพราะต้องรอรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะไม่ว่าจะจาก “คสช.” ไม่ว่าจะจาก “รัฐบาล” ไม่ว่าจะจาก “พรรคการเมือง” ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์

จากนั้น จะนำไปสู่การ “ประมวล” และ “สรุป”

Advertisement

คำมั่นอันมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็คือ จะนำเอาทุก “ความเห็น” แล้วไปพิจารณาเพื่อ “ปรับแก้”

ให้เป็น “ร่าง” รัฐธรรมนูญ ที่ “สมบูรณ์”

ฉบับที่สมบูรณ์ตามบทสรุปขั้นสุดท้ายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญภายในเดือนมีนาคมนั้นแหละคือตัวจริง ของจริงที่จะนำไปสู่การทำ “ประชามติ”

Advertisement

แต่ความน่าสนใจก็คือ บางส่วนเริ่ม “ขยับ” แล้ว

เห็นได้จากการขยับของบางส่วนใน “คสช.” เห็นได้จากการขยับของบางส่วนใน “กองทัพบก” ในลักษณะอาจเรียกได้อย่างเต็มปาก เต็มคำว่า

ACTION

ขอให้ดู “รายงานข่าว” จากโรงแสดงหนังใหญ่วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์

นั่นก็คือ การสนธิกำลัง 3 ฝ่าย

1 พล.ต.เจษฎา เปรมนิรันดร์ ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 1 ค่ายศรีสุริยวงศ์ 1 พ.อ.เอกธนา เสนานนท์ รอง ผอ.รมน.จ.ราชบุรี 1 นายธรรมนูญ แก้วคำ นายอำเภอโพธาราม

เปิดเวทีที่เรียกว่า สร้างการรับรู้ร่างรัฐธรรมนูญ

ปรากฏว่า มีประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน เข้าร่วม

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะอุดช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในทุกด้าน จะแจกจ่ายให้ประชาชนไปศึกษาข้อมูลได้ทุกหลังคาเรือนภายในวันที่ 27 เมษายน”

เป็น “การันตี” จาก พล.ต.เจษฎา เปรมนิรันดร์

ความน่าสนใจมิได้อยู่ที่ว่า เป็น ACTION อันเกิดขึ้นหลังวันที่ 29 มกราคม และก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ตามกำหนดนัดหมายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประการเดียว หากดำเนินไปตามบทสรุปอันรวบรัดจาก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าในสถานะแห่งรองหัวหน้า คสช. ไม่ว่าในสถานะแห่งรองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าในสถานะแห่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ว่า

“ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้วภาพรวมรับได้”

เมื่อภาพรวมอันมาจากรองหน้า คสช. อันมาจากรองนายกรัฐมนตรี อันมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ

“รับได้”

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ในฐานะแห่งผู้บัญชาการทหารบกจะมอบหมายให้ทุกภาคส่วนเริ่ม “ปฏิบัติการ”

คำถามก็คือ “ปฏิบัติการ” อย่างไร

คำตอบหากศึกษาผ่านท่าทีท่วงทำนองของ “โฆษก” อันอยู่ใน คสช. หากศึกษาผ่านท่าทีท่วงทำนองของผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) หากศึกษาผ่าน ACTION อันสัมผัสได้ที่โรงแสดงหนังใหญ่วัดขนอน ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ย่อมอนุวัตไปตาม “บทสรุป” อันรวบรัดแห่ง “รับได้”

ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครรู้เลยแม้แต่น้อยว่า ท่าทีและทางออกของ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ “กรธ.” ภายหลังจากวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จะเป็นอย่างไร

นายกรัฐมนตรียังจะมาจาก “คนนอก” หรือไม่

บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะยอมรับ “สิทธิชุมชน” หรือไม่ การได้มาของ ส.ว.จะยังถือเอาวิธีการ “สรรหา” หรือ “เลือกตั้ง” และอำนาจ “องค์กรอิสระ” จะยังล้นฟ้าครอบจักรวาลหรือไม่

เรียกตาม “สำนวนไทย” แต่โบราณก็คือ ยัง “รวบรัดสะบัดธง”

ท่วงทำนอง “รวบรัดสะบัดธง” นั้นมีเป้าหมายเพื่อให้เรียบร้อย ราบคาบ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว “สมใจนึก”

แต่คนจีนก็มีบทสรุปอันผ่านการพิสูจน์มาแล้วหลายพันปีว่า ที่อยากจะเร็วกลับจะกลายเป็นช้า ที่อยากจะเบากลับกลายเป็นหนัก ที่อยากจะเรียบร้อยกลับกลายเป็นยุ่งเหยิง

สรรพสิ่งมี “วิถี” เป็นของตนเอง และยากแก่การ “ควบคุม” บังคับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image