สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระเจ้าแผ่นดินสมัยก่อน มีหลายพระนาม ตามวิธีเรียกของคนแต่ละกลุ่ม

ภาพพิมพ์พระนารายณ์ (ซ้าย) เสด็จออกรับราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (ขวา) ตามจินตนาการของจิตรกรชาวฝรั่งเศส

คนแต่ก่อนมีประเพณีเอ่ยพระนามพระเจ้าแผ่นดินได้หลายวิธี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้แล้ว และเคยคัดโดยสรุปแล้วเมื่อวานนี้ มีผู้อยากอ่านเนื้อหาเรื่องนี้ทั้งหมด ซึ่งมีหลายหน้า

แต่สรุปเบื้องต้นตามสมเด็จฯ ว่า เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งไทยทั้งพม่ารามัญ ตามที่เรียกกันแต่ก่อนมา ลัทธิของชาวประเทศทางนี้ มีวิธีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินถึง 5 อย่างต่างกัน คือ

(1). พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ (2.) พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ (3.) พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ (4.) พระนามตามที่ปากตลาดเรียกกันเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว (5.) พระนามที่เรียกในราชการในเวลาเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว

มีพรรณนารายละเอียดไว้ด้วยจำนวน 5 หน้า A4 ใครจะไม่อ่านก็ได้ หรือว่างเมื่อไรถึงอ่าน

Advertisement

พระนามพระเจ้าแผ่นดิน

พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[จาก อธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

Advertisement

หนังสือ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1

กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2542 หน้า 189-193]

 

เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งไทยทั้งพม่ารามัญ ตามที่เรียกกันแต่ก่อนมา ลัทธิของชาวประเทศทางนี้ มีวิธีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินถึง 5 อย่างต่างกันคือ

  1. พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏนั้น

ตามราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณ เมื่อจะทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ขึ้นผ่านพิภพ สมณพราหมณาจารย์และเสนาพฤฒามาตย์ที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ประชุมปรึกษากันถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น จารึกลงในแผ่นทองถวายเมื่อทำพิธีราชาภิเษก มักเป็นพระนามมีสร้อยยืดยาวมาก

  1. พระนามพิเศษที่ถวายเพิ่มพระเกียรติยศนั้น

คือถ้าในแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอันเป็นพระเกียรติยศพิเศษ จึงถวายพระนามพิเศษเฉลิมพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น เช่น พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี จึงถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นว่า “พระเจ้าช้างเผือก” นี้ เป็นต้น —–

พระนามที่เรียกว่าพระมหาจักรพรรดินั้น รู้ได้แน่ว่าเป็นพระนามพิเศษ แม้ต้นตำราพราหมณ์หรือตำราที่มาในพระพุทธศาสนา ก็ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินต่อบางพระองค์จึงจะเป็นจักรพัตราธิราช พระนามนี้ชั้นกรุงเก่าเห็นจะถวายเมื่อมีช้างเผือกถึง 7 ช้าง วิเศษกว่าที่จะเรียกเพียงพระเจ้าช้างเผือก

พระนามที่เรียกว่าพระเจ้าทรงธรรมนั้น มาแต่คำว่าธรรมราชาแน่ พระนามที่เรียกว่า “ธรรมราชา” มูลเหตุเดิมน่าจะเกิดขึ้นแต่ครั้งพระเจ้าอโศก ด้วยเหตุแสดงพระองค์เป็นธรรมราชา —–

พระนามนี้พระเจ้าแผ่นดินในลังกาทวีปคงจะเอามาใช้ และพวกลังกาพาเข้ามาในประเทศนี้ ยกย่องว่าคู่กับจักรพรรดิราชา ปรากฏว่าได้ถวายพระนามนี้แก่พระเจ้าลิไทยกรุงสุโขทัยเป็นครั้งแรก เห็นจะถวายพระนามนี้แก่พระเจ้าทรงธรรมกรุงศรีอยุธยา เนื่องในเหตุที่พบรอยพระพุทธบาท ได้พบในหนังสือจดหมายเหตุของวันวลิตวิลันดา ว่าเรียกกันมาแต่ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ —–

พระนามที่เรียกว่าพระนารายณ์นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามพิเศษ ด้วยได้พบในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเป็นฉบับหลวง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า” ทุกแห่ง

และพบหนังสือตำนานแต่งกรุงเก่า ราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศอีกเรื่องหนึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เมืองหาง” หมายความว่าสมเด็จพระนารายณ์พระองค์ที่สวรรคตที่เมืองหาง หนังสือนี้ทำให้เข้าใจว่าเวลาเมื่อจะแต่งจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่าพระนารายณ์มากกว่าพระองค์เดียว (คือมีพระนารายณ์ลพบุรีขึ้นอีกองค์หนึ่ง) จึงเรียกพระนารายณ์เดิมว่า พระนารายณ์เมืองหาง

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงเข้าใจว่าพระนามที่เรียกพระนารายณ์นั้นเป็นพระนามพิเศษ

ครั้งหลังที่ถวายพระนามพิเศษอย่างอธิบายมานี้ คงยังจำกันได้อยู่โดยมาก คือ ที่ได้ถวายพระนาม “ปิยมหาราชาธิราช” แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติยืนนานยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ในสยามประเทศ ครั้งทำพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2451 เพราะพระองค์เป็นที่รักของประชาชนทั่วไป พระนามนี้จารึกอยู่ที่ฐานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งประชาชนชาวสยามพร้อมกันทำถวายสนองพระเดชพระคุณ ยังอยู่ที่หน้าพระลานสวนดุสิตจนทุกวันนี้

  1. พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกในเวลาเสด็จดำรงพระชนม์อยู่นั้น

มักเรียกเหมือนกันทุกพระองค์ คือผู้ที่เป็นข้าขอบขัณฑสีมาก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินของตนว่า ขุนหลวง หรือพระเป็นเจ้า หรืออย่างเราเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัว มิได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์

ถ้าชาวเมืองอื่นก็มักจะเรียกตามนามเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ ครอง ดังเช่นเรียกว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าอังวะ เป็นต้น

บางทีก็เรียกตามพระนามเดิมของพระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ เช่น เรียกว่า พระร่วง พระยาอู่ พระเจ้ามังลอง ดังนี้

พระนามที่เรียกตามนามเดิมหรือตามพระนามเดิมอย่างนี้ ล้วนเป็นคำของพวกเมืองอื่นเรียก

  1. พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น

ดังเช่นเรียกว่า ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัดและพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้วพระองค์ใดเรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน

ดังเช่น เรียกว่าขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เป็นที่พระเพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ เรียกว่าขุนหลวงเสือ ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินนั้นร้ายกาจ เรียกว่าขุนหลวงท้ายสระ ก็เพราะเสด็จอยู่พระที่นั่งข้างท้ายสระ เรียกขุนหลวงทรงปลา ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงชอบตกปลา

พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลังในกรุงเก่าที่ได้ทรงพระโกศ) คนคงเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือในพระโกศมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว

ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิตเมื่อเสวยราชย์ อยู่ในราชสมบัติไม่ช้าก็ละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัดมาแต่ครั้งกรุงเก่า ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทร์นั้น ครั้งกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่าขุนหลวงหรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งนั้น

ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่าขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงเก่า

ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดอย่างนี้ มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ ซึ่งเป็นราชโอรสรับราชสมบัติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าเชลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวรถูกเอาไปกักไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต และพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกว่าพาคยีดอ แปลว่าพระเจ้าอา ดังนี้ก็มี

  1. พระนามที่เรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว

เกิดแต่ความจำเป็นที่จะต้องเรียกพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ให้ปรากฏพระนามผิดกัน เพราะพระนามตามพระสุพรรณบัฏมักจะเหมือนกันโดยมากจึงต้องสมมติพระนามขึ้นสำหรับเรียกเฉพาะพระองค์

เรื่องนี้มีความลำบากเป็นอุทาหรณ์ แม้ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง คือเมื่อรัชกาลที่ 2 เรียกรัชกาลที่ 1 ว่าแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็เป็นอันถูกต้องเรียบร้อยมาตลอดรัชกาลที่ 2

ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 มีรัชกาลที่ล่วงแล้วเป็น 2 รัชกาลขึ้น เกิดเรียกกันขึ้นว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พอพระราชหฤทัยรับสั่งว่าถ้ารัชกาลที่ 1 เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ 2 เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ 3 จะกลายเป็นแผ่นดินสุดท้าย เป็นอัปมงคล จึงประกาศให้เรียกรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ตามพระนามพระพุทธรูปซึ่งทรงสร้างขึ้นเป็นพระบรมราชูทิศไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

มาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าเรื่องนามแผ่นดินควรจะกำหนดให้เป็นยุติเสียแต่แรกทีเดียว จึงถวายพระนามรัชกาลที่ 3 ว่า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนรัชกาลของพระองค์เอง ให้เรียกว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาจนบัดนี้

พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงรัชกาลไปแล้ว ซึ่งสมมติเรียกในรัชกาลครั้งกรุงเก่า เรียกตามต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏบ้าง เรียกตามพระนามพิเศษบ้าง แต่โดยมากนั้นเรียกตามพระนามเดิมที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายเมื่อก่อนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ได้ผ่านพิภพ

ยกตัวอย่าง ดังพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่า พระราเมศวร พระมหินทร พระนเรศวร พระเอกาทศรถ พระรัษฎา พระยอดฟ้า พระเชษฐา พระอาทิตยวงศ์ เจ้าทองจัน เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ เจ้าฟ้าชัย เหล่านี้เป็นพระนามแต่ครั้งยังเป็นลูกหลวงทั้งนั้น

พระนามที่เรียกว่า พระบรมราชา พระรามราชา พระอินทรราชา พระไชยราชา พระมหาธรรมราชา พระศรีสุธรรมราชา เหล่านี้บรรดาที่ใช้คำว่า “ราชา” ไว้ท้าย ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามสำหรับเจ้าครองเมือง

พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าที่เรียกพระนามพิเศษ และเรียกอย่างปากตลาดอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร มาปรากฏสมมติใช้ในราชการเป็นอย่างอื่น มีอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าหลายพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอนุมัตินำมาใช้ในพระราชนิพนธ์คือ

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ใช้ว่าสมเด็จพระรามาธิเบศร์

สมเด็จพระเพทราชา ใช้ว่าสมเด็จพระธาดาธิเบศร์

สมเด็จพระเจ้าเสือ ใช้ว่าสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ใช้ว่าสมเด็จพระภูมินทราชาธิราช

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ใช้ว่าสมเด็จพระมหาบรมราชา

(แต่พระนามนี้ เมื่อได้ต้นฉบับพม่ามาแปลสอบใน พ.ศ. 2455 เรียกพระนามพระเจ้าบรมโกศในบางแห่งว่า พระมหาธรรมราชาเรียกพระนามพระมหาธรรมราชา ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรว่า พระสุธรรมราชา ดังนี้)

พระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า พระองค์ใดจะมีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าอย่างไร จะทราบในเวลานี้ไม่ได้แน่นอนอยู่เอง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image