ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมือง โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์(แฟ้มภาพ)

ลูกศิษย์ของผู้เขียนคนหนึ่งมาปรึกษากับผู้เขียนเรื่องจะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง (political ideology) ซึ่งเขามีข้อสงสัยที่ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นมันต่างกับปรัชญาทางการเมือง (political philosophy) และทฤษฎีทางการเมือง (political theory) อย่างไร? ซึ่งก็เป็นเรื่องยาวครั้นผู้เขียนอธิบายเสร็จแล้วก็เลยคิดว่าไหนๆ ก็คุยไปเสียยาวแล้วเลยจะขอเอามาเขียนสู่กันอ่านแก่ท่านผู้อ่านที่เคารพเพื่อให้เหมาะสมกับบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันที่กำลังพิจารณาถกเถียงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างขึ้นมาให้ครึกครื้นกันหน่อยคงไม่เสียหายอะไร

ว่ากันง่ายๆ เลยคือปรัชญาทางการเมืองมีฐานรากมาจากวิชาปรัชญา (philosophy) ซึ่งวิชาปรัชญานั้น ศึกษาอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ

1) อะไรคือความจริง (ontology หรือ metaphysics)

2) อะไรคือความรู้ (epistemology)

Advertisement

3) อะไรคือคุณค่า (axiology) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สาขาคือ 3.1) จริยศาสตร์ (ethics) คืออะไรคือความดีกับ 3.2) สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) คืออะไรคือความงาม (สวย) นั่นแหละ

เรื่องปรัชญานี่นะครับคนที่เรายกย่องว่าเป็นนักปรัชญาทุกคนที่เคยได้ยินชื่อกันคุ้นหู อาทิ เพลโต, อริสโตเติล, ขงจื๊อ, เดวิด ฮูม, อิมมานูเอล คานท์,

ฟรีดริช นิทเช่ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เขียนเรื่องความจริงคืออะไร ความรู้คืออะไร และอะไรคือคุณค่าโดยเฉพะอย่างยิ่งเรื่องจริยศาสตร์กันทุกคนและที่สำคัญก็คือจะกล่าวถึงปรัชญาการเมืองในเรื่องจริยศาสตร์กันทั้งนั้นแหละครับว่ารัฐที่ดีควรเป็นอย่างไร? รูปแบบการปกครองที่ดีเป็นอย่างไร? ผู้นำที่ดีควรเป็นคนอย่างไร? พูดง่ายๆ คือว่าด้วยการเมืองที่ดีนั้นควรจะเป็นยังไงนั่นเอง แต่บทสรุปของนักปรัชญาการเมืองทุกท่านนั้นเต็มไปด้วยเหตุผลตามหลักตรรกศาสตร์ทั้งสิ้นไม่ใช่ทึกทักกันว่าเป็นคนดีแบบมั่วๆ เหมือนบ้านเราทุกวันนี้ที่ไม่สามารถให้คำจำกัดความว่าคนดีนั้นดีอย่างไร โดยเฉพาะพวกคนดีที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นคนดีนั้นแต่ละคนนั้นมีเบื้องหลังฉาวโฉ่แทบทุกคน พอถูกถามว่าคนดีเป็นอย่างไรที่จะให้ปกครองบ้านเมืองก็ตอบไม่เห็นได้สักที ยิ่งเรื่องเหตุผลและตรรกศาสตร์นั้นแทบไม่มีเลยครับ

Advertisement

ยกตัวอย่างเรื่องประชาธิปไตยที่เพลโตเขียนไว้ในหนังสือชื่อว่า “Republic” ได้อธิบายถึงระบอบการปกครองที่ดีและเลว โดยจัดให้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นระบอบการปกครองที่ดีเป็นอันดับสามอันดับสุดท้ายหรือจะเรียกว่าเป็นแบบดีชนิดเลวก็ได้ ซึ่งข้อเสียชัดๆ ของระบอบประชาธิปไตยคือความโอ้เอ้ล่าช้านั่นเอง

อย่างว่าแหละครับวิชาปรัชญาการเมืองนี่ออกจะยากสักหน่อยในการศึกษา คนไทยส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยจะสนใจเรียนรู้กัน น่าเสียดาย

อีทีนี้ก็เรื่องทฤษฎีการเมืองที่จัดเป็นสาขาหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ซึ่งทฤษฎีในทางรัฐศาสตร์นั้นคือองค์ความรู้ที่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ ให้เป็นที่เข้าใจได้ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องดีเรื่องเลวมากนักวิธีการศึกษาเรื่องทฤษฎีทางการเมืองนั้นส่วนใหญ่ก็จะยืมวิธีการของวิชาสังคมวิทยา (Sociology) มาซึ่งส่วนใหญ่ก็เอาเรื่องปทัสถาน (norm) มาเป็นหลัก ต่อมาก็มีพวกที่ใช้ทฤษฎีทางการเมืองเป็นจำนวนมากก็ไปยืมวิธีของวิชาทางจิตวิทยาที่เรียกว่าพฤติกรรมศาสตร์กันมากขึ้นนั่นเอง ว่าไปแล้วทฤษฎีทางการเมืองก็คือการเอาวิธีทางวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นมุมมองทางสังคมการเมืองในช่วงเวลาต่างๆ ที่แตกต่างกันไปซึ่งต่างกับปรัชญาทางการเมืองที่ใช้วิธีทางตรรกศาสตร์

ครับ ! คราวนี้ก็มาถึงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นความเชื่อในความคิดชุดหนึ่งที่มีความปรารถนาที่จะให้สังคมในอนาคตเป็นไปตามชุดของแนวความคิด พูดง่ายๆ คือการวาดภาพสังคมในอุดมคติไว้ล่วงหน้าว่าควรจะเป็นสังคมที่รูปแบบอย่างไรและดำเนินการที่จะให้เป็นไปตามแนวความคิดชุดนั้นนั่นเอง เอาตัวอย่างจริงๆ ของอุดมการณ์ทางการเมืองของเมืองไทยในปัจจุบันก็ได้ คือผู้คนสองฝ่ายต่างมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็น 2 แบบคือมีอุดมการณ์อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยพวกหนึ่งกับอีกฝ่ายหนึ่งมีอุดมการณ์อยากให้สังคมไทยเป็นสังคมคณาธิปไตยพวกหนึ่งโดยอุดมการณ์ทางการเมืองนี้มีกลไกและอารมณ์อันรุนแรงเป็นแรงผลักดันและขับเคลื่อน

สำหรับปัญหาของอุดมการณ์ทางการเมืองในบ้านเรานี้คือเรื่องของคำจำกัดความของศัพท์เฉพาะเช่น ประชาธิปไตย เผด็จการ หรือคำจำกัดความของคำว่า “ชาติ” นี่นะครับไม่ค่อยพูดให้เข้าใจตรงกันดังนั้นการอ้างอุดมการณ์ทางการเมืองจึงมั่วกันในคำศัพท์เฉพาะต่างๆ เหล่านี้มีคำจำกัดความต่างกันหรือไม่ก็ลักไก่เอา เช่น ฝ่ายอุดมการณ์คณาธิปไตยชอบใช้อยู่เสมอคือเรื่อง “ชาติ (nation)” ซึ่งพอถูกถามว่าชาติคืออะไร? ก็มักจะตอบไม่ได้จึงใช้อารมณ์โกรธเข้ากลบเกลื่อนเป็นต้น

ครับ ! อุดมการณ์ทางการเมืองนี่ไม่ค่อยจะเป็นวิชาการเท่าไรหรอกครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image