ว่าด้วย”ทาน”และการรู้จัก”รัก” โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“ทาน” คือการให้ เราจะเห็นว่าหลักธรรมหลายข้อของพระพุทธเจ้าจะขึ้นต้นด้วย “ทาน”

คนเราล้วนมีกิเลส ซึ่งกิเลสตัวแรกที่มักเจอคือ ความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น ฉะนั้นเมื่อมีความอยากได้ ก็เกิดความไม่อยาก “ให้” ดังนั้น “ทาน” จึงอยู่เป็นข้อเบื้องต้นในหลักธรรมต่างๆ โดยเฉพาะการอยู่ “ร่วมกัน”

สังคมไทยในอดีตอยู่ร่วมกันแบบ “วัฒนธรรมไทย” ที่ดีงาม และยึดหลักตามแนวพุทธที่ว่า “ทาน ศีล ภาวนา” คนเราจะมีศีลและเกิด “ภาวนา” ปฏิบัติ เพื่อให้เป็นคนที่มีสติ สมาธิ ปัญญาที่บริสุทธิ์ได้ ต้องรู้จักการ “ให้” หรือ “ทาน” เป็นเบื้องต้น

จะเห็นได้ว่าคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนใจบุญ ดังคำสอนของพระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม มักพูดกับญาติโยมที่มากราบไหว้หลวงพ่อว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้” ท่านจะเน้นเรื่อง “ทาน” เป็นอันดับแรกๆ คือการให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อ แบ่งปันของๆ ตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ไม่ตระหนี่ขี้เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว อันเป็นหนึ่งในสังคหวัตถุ 4 ที่ว่า “ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา” ฉะนั้น “ทาน” จึงเป็นหัวข้อแรก และเป็นคุณธรรมที่จะช่วย “กล่อมเกลา” ชีวิตคนตั้งแต่เด็กเล็ก วัยหนุ่มสาว วัยทำงาน ไปจนแก่เฒ่า ไม่ให้เป็นคนละโมบ “ไม่เห็นแก่ตัว” เพราะทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำเอาติดตัวไปได้ ถ้าเราแบ่งปันผู้อื่นได้ ก็จะเกิดความรู้จักคิด ละ เลิก ลด “อัตตา” ตัวตนของเรา จุนเจือเอื้อเฟื้อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน “ทาน” นั้นยังมีอิทธิพลกว้างใหญ่ไพศาล นับแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสังคมโลก และสังคมจะอยู่รอดไม่รอดก็เพราะ “ทาน”

Advertisement

“ทาน” แปลว่า การให้ การเสียสละ การแบ่งปัน สังคมอย่างไร?…

1.ทาน เป็นหนทางแห่งความดี 2.ทาน เป็นกุญแจแห่งไมตรี 3.ทาน เป็นบารมีของนักบริหาร 4.ทาน เป็นบันไดไต่ไปสวรรค์ 5.ทาน เป็นสะพานข้ามโอฆสงสาร 5 ข้อนี้คือความสำคัญของ “ทาน”

ทานเป็นกุญแจแห่งไมตรี เป็นกุญแจไปสู่ “ความรัก” ความเป็นกัลยาณมิตร ความใกล้ชิดสนิทสนม การที่เรานึกถึงซึ่งกันและกัน ไม่ลืมซึ่งกันและกัน ก็เพราะ “ทาน” ประหนึ่งเป็น “ลิ่มสลักใจ” เป็นโซ่คล้องใจกันไว้ ในการอยู่ร่วมกันของครอบครัวหรือชุมชน

Advertisement

ถ้าจะพูดว่า “การให้คือหัวใจ” ของการอยู่ร่วมกันน่าจะถูกที่สุด เกิดมาเพื่อ “การให้” นั้นประเสริฐ คนเราถ้าเกิดมามุ่งแต่กอบโกย โกงกัน ทุจริต คอร์รัปชั่นสถานเดียว ไม่มีใครอยากจำ ที่ถูกจำตลอดชีวิต ตายแล้วยังสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้กราบไหว้บูชาถึงทุกวันนี้ เพราะเกิดมาเป็นผู้ให้ ดังเช่น “พระพุทธเจ้าของเรา ทุกภพทุกชาติมีแต่ให้” โดยเฉพาะชาติสุดท้ายก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า เสวยพระชาติเป็น “พระเวสสันดร” ทรงเป็นยอดนักเสียสละของโลก ทรงสละทุกอย่างที่มีผู้ขอ ให้ทุกอย่างทั้งทานภายนอก และให้ทั้งทานภายใน

อย่างไรก็ตาม การให้โดยเฉพาะ “การให้ความรัก” ควรไปในทิศที่ถูกต้อง ไม่ผิดทิศทาง อย่าเป็น “กระทงหลงทาง” เรือไปไม่ถูกทิศ ก็ไปสู่ท่าที่จอดไม่ได้ เดี๋ยวไปชนโขดหิน หรือไปชนกับเรือลำอื่น จะมีปัญหาได้

ในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ มี 2 วันสำคัญของทางโลกและทางธรรม

14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก

22 กุมภาพันธ์ วันมาฆบูชา

14 กุมภาพันธ์ เป็นวันแห่งความรัก ที่ถ่ายทอดมาจากวัฒนธรรมฝรั่ง เป็นวันแห่งการแสดงความรัก ส่วนใหญ่คนวัยหนุ่มสาวจะเลือกเอาวันนี้เป็นวันบอกรัก มอบดอกกุหลาบสีแดง หรือของขวัญแสดงสัญลักษณ์แห่งความรักให้แก่กัน

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็น “วันมาฆบูชา” เป็นวันรักสากล เป็นวันสันติภาพ เป็นวันสันติสุข เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นครั้งแรกแก่พระภิกษุสงฆ์ 1,250 รูป ที่มาประชุมโดยมิได้นัดหมาย เกิดหัวใจพระพุทธศาสนา คือ ละเว้นความชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส คนไทยเราจะปีติ มีการทำบุญตักบาตรตอนเช้า ฟังธรรมตอนเย็น พาครอบครัวไปเวียนเทียนให้ใจเป็นสมาธิ สว่าง สะอาด สงบ เกิดปัญญา “อิ่มบุญ” สุขใจ

ทั้งสองวันจึงมีความคล้ายในเรื่องของ “ความรัก” แต่แตกต่างในเรื่องรายละเอียด

ความรักนั้นมีหลายแบบ พอจะอนุมานได้ว่ามี 3 แบบ คือ 1.รักเมตตา 2.รักบูชา 3.รักเสน่หา

“รักเมตตา” : รักแบบผู้ใหญ่ เป็นการมุ่งให้ความสุขแก่บุคคลที่ตนเข้าไปรัก เช่น พ่อแม่รักลูก ปู่ย่าตายายรักหลาน ครูบาอาจารย์รักศิษย์ “รัก”…ชนิดนี้ ยิ่งรักยิ่งเสียสละ ยิ่งรักยิ่งให้ เพราะมุ่งความสุขแก่บุคคลที่ตนเข้าไปรัก

“พ่อแม่รักลูก” ก็ปรารถนาให้ลูกมีความเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า มีอะไรก็ประดังประเด ประเคนให้หมดตัว ไม่ตระหนี่ขี้เหนียว ขออย่างเดียว ขอให้ “ลูก” เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เข้าลักษณะอุ้มไม่หนัก เหนื่อยไม่พัก รักไม่ลวง ห่วงไม่เลิก เบิกไม่คิด ผิดไม่แค้น ที่สำคัญคือตายแทนลูกได้ ยิ่งรักยิ่งให้ ยิ่งให้ยิ่งหลง เพราะมุ่งหมายให้ “คน” คือ “ลูก ที่ตนเข้าไปรัก มีความสุข มีความเจริญ” นี่แหละ “รักเมตตา”

“รักบูชา” : รักบูชา คือ ผู้น้อยรักผู้ใหญ่ รักออกจากความบริสุทธิ์และจริงใจ เช่น “ลูก” รัก “พ่อแม่” หลานรัก ปู่ ย่า ตา ยาย ศิษย์รักครูบาอาจารย์ อย่างนี้เป็นต้น “ยิ่งรัก ยิ่งเทิดทูนบูชา” คารวะให้เกียรติ ไม่เหยียบย่ำ ไม่เหยียดหยาม ไม่ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก…ไม่ต่อหน้าแตงโม ลับหลังแตงเน่า เพราะเป็น “ความรัก” ที่ออกมาจากความบริสุทธิ์ใจ และความจริงใจที่นอบน้อม คารวะ ยกย่อง รักบูชา เทิดทูน จากน้ำใสใจจริง

“รักเสน่หา” : รักที่เจือด้วยกิเลสตัณหา รักของคู่หญิงชายต่างมารดา ความรักของสามีภรรยา รักหนุ่มรักสาว ยิ่งรัก ก็ยิ่งต้องการไปขุดเอาความสุขจากผู้ที่ตนเข้าไปรัก รักชนิดนี้ให้อย่างแต่ต้องการอีกอย่าง เป็นรักที่มีเล่ห์เหลี่ยม หรือรักซ่อนเร้น เป็นรักที่เจือด้วยกิเลส “ตัณหา” แต่รักสองอย่างข้างต้น เป็นรักที่เจือด้วย “คุณธรรม” ล้วนๆ อย่างแรก “เมตตา” อย่างที่สอง “กตัญญูบูชา” แล้วอย่างที่สาม “เจือด้วยกิเลสตัณหา”

รักอย่างนี้ยังเป็นอันตราย มีสมหวัง มีผิดหวัง มีหัวเราะ มีร้องไห้ ผิดหวัง กินยาฆ่าตัวตาย ผูกคอตาย เพราะเป็นความรัก ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดๆ เรียกว่าหน้ามืด ตามัว พ่อแม่เตือนก็ไม่ได้ พ่อแม่พูดต่อว่าก็ไม่ฟัง พ่อแม่สั่งห้ามก็ไม่เชื่อ ช้างฉุดไม่อยู่ ซึ่งความรักแบบนี้มักจะมี “ปัญหา” ตั้งแต่ต้น และคนข้างเดียว

“รักที่เป็นผลร้าย” : คือ การให้ท้ายแก่คนที่ตนรัก เป็นความรักชนิดหนึ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ยิ่งในสังคมปัจจุบันคือการให้ท้ายแก่คนที่ตนรัก เช่น พ่อแม่รักลูก รักน่ะดี แต่ไปถือหางทุกอย่าง ลูกจะทำอะไร ลูกจะเอาอะไร ตามใจทุกอย่าง อย่างนี้เขาเรียกรักลูกแบบหลง หน้ามืดตามัวกู่ไม่กลับ อย่างนี้ลูกรักของเราจะเข้ารกเข้าพง เสียผู้เสียคน กลายเป็นที่มาของพ่อแม่รังแกฉัน

ฉะนั้นถ้าพ่อแม่รักลูก ปู่ย่าตายายรักหลาน บางอย่างก็ต้องหัดพูด ฝืนใจก็ต้องยอม ถ้ารักลูกหลานจริงๆ ก็ต้องรู้จักการปฏิเสธโดยมีเหตุมีผลประกอบ เพื่อให้ลูกหลานได้เข้าใจ

วันวาเลนไทน์: เป็นวันที่วัยรุ่นหนุ่มสาวอยากให้มาถึงเร็วไว แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นวันที่พ่อแม่สะพรึงกลัว กลัวอะไร? กลัวพฤติกรรมที่จะมากับวันวาเลนไทน์ ถ้ามอบดอกไม้ มอบของขวัญธรรมดาก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าชวนกันไปทำอะไรไม่ถูกไม่ควร “ชิงสุกก่อนห่าม” แล้วก็เข้าตำรา “เพราะรักสนุก จึงต้องทุกข์ถนัด” ทั้งทุกข์จากท้องไม่พร้อม หรือติดโรคร้ายแรง จึงเป็นวันที่พ่อแม่เศร้า สะพรึงกลัวมากที่สุด

บางท่านก็เอาวันนี้เป็น “จุดสตาร์ต…เริ่มต้นชีวิตให้มีความมั่นคง” แต่งงานกัน เดี๋ยวนี้วิวาห์กันทั้งบนบกและในน้ำ บางรายก็พิสดาร ว่ากันไปตามกระแส แต่งและจดทะเบียนกันในน้ำ วันนี้เป็นวันที่มีการจดทะเบียนสมรสกันมากที่สุด และเขตที่ชนะเลิศทุกปี ไม่มีใครลบสถิติได้คือ “เขตบางรัก” เพราะชื่อช่วยสื่อ ชื่อเป็นมงคล รองลงมาคือ “เขตบางซื่อ” แม้ “เขตบางพลัด บางจาก บางซ่อน” ยังต้องคิดกลยุทธ์เรียกลูกค้ามาใช้บริการ

“รักที่จีรังยั่งยืน” ต้องรักกันแบบ “วันมาฆบูชา” ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ สอนไว้ แม้จะดูเหมือนโบราณๆ แต่มีคุณค่ายิ่ง สำหรับชีวิตคนเรา ท่านสอนไว้ว่าจะไปไหน จะอยู่กับใคร จะอยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ให้ปฏิบัติดังนี้ แล้วท่านจะรักกันยืด ยั่งยืนยาวนาน เป็นวันรักสากล รักจีรังตลอดไป ไม่ใช่รักชั่วครู่ชั่วยาม

ให้รู้จักประมาณตน ประมาณตัว ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน ไม่เป็นคนเห็นแก่กาม อย่าเป็นคนเห็นแก่นอน อยู่ที่ไหนรู้จักอยู่แบบคนสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน อยู่กับใครก็อยู่ร่วมกันฉันมิตร

รู้จักควบคุมจิตใจให้สงบจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง รักษาจิตใจให้ดี ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ความมัวหมองจะหมดไป

มองโลกในแง่ดี อย่ามองโลกในแง่ร้าย อย่าอคติต่อกัน แล้วท่านจะมีความสุข หยุดโจมตีกันด้วยปาก ถากถางกันด้วยสายตา ความสงบปรองดอง สมานฉันท์ก็ไม่เกิดในชาตินี้และชาติหน้า ขอสรุปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า รักให้ถูก รักให้เป็น “รักที่ทรงคุณค่า” ในวันมาฆบูชา ด้วยคำกลอนที่ว่า…

รักพ่อแม่ ให้กตัญญู รักครู ให้พากเพียร

รักเพื่อน ให้น้ำใจ รักชาติไทย ให้สามัคคี

รักในหลวงพระราชินี ให้จงรักภักดี รักเป็นคนดี ให้มีศีลมีธรรมนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image